xs
xsm
sm
md
lg

“อาชญากรรมสิ่งแวดล้อม” PTTGC อย่าหวังลอยนวล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นายศรีสุวรรณ จรรยา
นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน
www.thaisgwa.com

วิกฤตการณ์น้ำมันดิบรั่วไหลจากเรือขนส่งน้ำมันขนาดใหญ่ลงสู่ท้องทะเลมาบตาพุด เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้ชื่อว่าเป็นเหตุการณ์ที่ก่อให้เกิดผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมที่รุนแรงที่สุดเท่าที่เคยเกิดเหตุการณ์ประเภทนี้ในประเทศไทย และผู้ที่ก่อเหตุอาจถือได้ว่าเป็น “อาชญากรรมด้านสิ่งแวดล้อม” ประเภทหนึ่งในคดีอาญา ที่มีกฎหมายหลายฉบับบัญญัติการกระทำดังกล่าวให้มีโทษต่อผู้กระทำ ผู้ปฏิบัติ ผู้สนับสนุน รวมทั้งบริษัท เจ้าของ หรือผู้ประกอบการ

เหตุน้ำมันดิบรั่วไหลลงทะเลที่จังหวัดระยองในเบื้องหน่วยงานรัฐมี่เกี่ยวข้องออกมาแถลงถึงความผิดตามกฎหมาย ในกฎหมายไทยที่มีมากมายหลายฉบับ อาทิ DSI หรือกรมสอบสวนคดีพิเศษได้แถลงว่า อาจมีการกระทำความผิดที่เข้าข่ายการกระทำโดยประมาท ตาม พระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ.2556 มาตรา 119 ทวิ พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2505 มาตรา 16(4) พระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ.2535 มาตรา 23 ประกอบมาตรา 73 และประมวลกฎหมายอาญามาตรา 360

สมมติฐานในความผิดทางอาญาอันอาจเนื่องมาจากความประมาท ที่เกิดจากบุคคลที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย 1.พนักงานที่ควบคุมการโหลดน้ำมันดิบจากเรือบรรทุกน้ำมันที่ไม่ตัดวาล์วน้ำมันจากเรือเมื่อมีการรั่วไหล 2.พนักงานของบริษัทผู้ก่อเหตุไม่ตรวจสอบประสิทธิภาพของสายส่งน้ำมันให้อยู่ในสภาพที่ใช้งานได้ตามปกติ 3.ผู้ควบคุมเรือบรรทุกน้ำมันประมาทในการเทียบเรือกับทุ่น อาจดึงสายน้ำมันฉีกขาดแล้วทำให้น้ำมันรั่ว 4.เจ้าของกิจการผู้ก่อเหตุรวมทั้งเจ้าของผลิตภัณฑ์สายน้ำมันที่อาจไร้คุณภาพ และ 5.บุคคลอื่นที่ส่อแสดงถึงความประมาทเลินเล่อในเหตุการณ์ครั้งนี้ด้วย

ทั้งนี้ ประเด็นที่น่าสนใจของเหตุที่เกิด คือ ท่อสายน้ำมันที่ฉีกขาดนั้น จำเป็นที่จะต้องนำไปพิสูจน์ในห้องปฏิบัติการทางวิศวกรรม เพื่อตรวจรอยฉีกของท่อว่าเกิดจากแรงดันน้ำมันดิบภายในท่อทำให้ฉีกขาดจากภายในหรือเกิดจากแรงกระทำภายนอกที่ทำให้ท่อน้ำมันฉีกขาดกันแน่ สำหรับท่อน้ำมันที่เกิดเหตุพบว่ามีเส้นผ่าศูนย์กลาง 16 นิ้ว มีความยาว 300 เมตร ตัวท่อทำมาจากยางเสริมใยเหล็ก 7-10 ชั้น สามารถทนแรงดันของน้ำมันได้ 10 ปอนด์ต่อตารางนิ้ว ท่อยางดังกล่าวใช้เชื่อมต่อกับทุ่นลอยทะเลไว้ให้เรือบรรทุกน้ำมันต่าง ๆ ใช้เชื่อมขนถ่ายน้ำมันดิบจากเรือขนส่งขนาดใหญ่ลงสู่ท่อหลักใต้ทะเล เพื่อส่งต่อมาขึ้นฝั่งที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดนั่นเอง

สาเหตุการแตกของท่อส่งน้ำมันดิบครั้งนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องสอบสวนสืบสวนให้ได้ความจริงโดยเร็วว่าเกิดจากแรงอัดที่เกินหรือไม่ หรือมีการกระชากของเรือในขณะนั้นหรือไม่ หรือเป็นอุบัติเหตุ หรือว่าเป็นเพราะอะไร เพื่อสามารถที่จะใช้ตอบโจทย์ต่อสังคมได้ และใช้เป็นฐานข้อมูลในการดำเนินการป้องกันแก้ไขปัญหาในอนาคต

นอกจากนั้น จะต้องตรวจสอบด้วยว่า ท่อยางดังกล่าวที่ฉีกขาดใครเป็นผู้ผลิต และผลิตได้ตามมาตรฐานหรือไม่ รวมทั้งจะตรวจสอบประวัติการบำรุงรักษาของท่อน้ำมันที่ฉีกขาด เพื่อวิเคราะห์ประมวลว่าสาเหตุกรณีน้ำมันดิบรั่วลงทะเลครั้งนี้ เกิดจากอุบัติเหตุหรือเกิดจากความประมาท ใครต้องรับผิดชอบในแต่ละภาคส่วน โดยการสอบสวนต้องใช้หลักนิติวิทยาศาสตร์ยืนยันให้ได้ในทุกขั้นตอน

นอกจากความผิดในทางอาญาตามที่กล่าวแล้วข้างต้น ยังมีกฎหมายที่ระบุในความรับผิดชอบทางแพ่ง อีกฉบับ คือ พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2535 มาตรา 96 และมาตรา 97 ที่กำหนดให้ผู้กระทำหรือละเว้นการกระทำด้วยประการใดโดยมิชอบด้วยกฎหมาย หรือผู้ก่อให้เกิดการแพร่กระจายของมลพิษ ทำให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่ชีวิต ร่างกาย และสุขภาพอนามัย หรือทำให้ทรัพย์สินเสียหาย ไม่ว่าจะเป็นบุคคล หรือทรัพยากรธรรมชาติ สาธารณสมบัติของแผ่นดิน มีหน้าที่ที่จะต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้เสียหาย และหรือให้แก่รัฐตามมูลค่าของความเสียหายที่เป็นจริงทั้งหมด

ในทางแพ่งนั้นผู้ที่ได้รับผลกระทบจากกรณีน้ำมันรั่วไหล สามารถที่จะยื่นข้อเรียกร้องไปยังบริษัทผู้ก่อเหตุให้รับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายตามความเสียหายที่เป็นจริงได้ ทั้งกลุ่มชาวประมงพื้นบ้าน กลุ่มเลี้ยงกุ้ง หอย ปูปลาในกระชัง กลุ่มอาชีพต่อเนื่องจากการทำประมง กลุ่มพ่อค้าแม่ค้า กลุ่มเจ้าของโรงแรม รีสอร์ท บ้านพัก บังกะโล พนักงาน ลูกจ้างที่ขาดรายได้ในช่วงระยะเวลาดังกล่าว รวมทั้งกลุ่มอาชีพที่เกี่ยวข้องกับการบริการการท่องเที่ยวด้วย เช่น แม้ค้าขายข้าวเหนียว ส้มตำ ไก่ย่าง ตามชายหาด หรือาชีพนวดแผนโบราณตามชายหาด ฯลฯ

ส่วนความเสียหายที่เกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติ อันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน เช่น น้ำทะเล ชายหาด ปะการัง หญ้าทะเล สัตว์ทะเล กุ้ง หอย ปู ปลา ฯลฯ ซึ่งไม่มีผู้ใดเป็นเจ้าของเป็นการเฉพาะ หน่วยงานรัฐที่เป็นผู้มีอำนาจในการกำกับ ดูแล และเป็นเจ้าของพื้นที่ ต้องเป็นผู้มีหน้าที่ในการคิดคำนวณเรียกความเสียหายในทางแพ่ง ผนวกกับต้องร้องเรียนกล่าวโทษความผิดกังกล่าวในทางอาญาด้วย เนื่องจากเป็นกรณีความผิดของแผ่นดิน เช่น คณะกรรมการ กปน. กรมเจ้าท่า กรมควบคุมมลพิษ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมประมง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กรมส่งเสริมการท่องเที่ยว กรมการปกครอง และองค์กรปกครองท้องถิ่นในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำมันรั่วไหลดังกล่าวด้วย

นอกจากนั้น ในขณะที่ทำการขจัดคราบมลพิษตลอดระยะเวลากว่า 10 วันที่เกิดเหตุ มีการใช้สรรพกำลัง บุคลากร และวัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ ของภาครัฐโดยเฉพาะจากกองทัพเรือ จากกรมเจ้าท่า จากกรมอุทยานฯ กรมการปกครอง องค์กรปกครองท้องถิ่น ฯลฯ ไปดำเนินการขจัดปัดเป่า ควบคุมปัญหาอีกมากมาย ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นค่าใช้จ่ายที่สามารถคิดคำนวณได้ทั้งสิ้น ทั้งค่าแรง ค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าน้ำมัน ค่าวัสดุอุปกรณ์ ค่าล่วงเวลา รวมทั้งค่าเสื่อมราคาของวัสดุอุปกรณ์ที่นำไปใช้ทั้งหมดด้วย ซึ่งเป็นหน้าที่ของหน่วยงานเหล่านั้นที่จะต้องคิดคำนวณค่าใช้จ่ายเหล่านั้นไปดำเนินการเบิกคืนจากบริษัทผู้ก่อเหตุ ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่สำรองออกไปก่อน ตามระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ.2546 และระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยการจ่ายเงินทดรองราชการเพื่อการป้องกันและขจัดภาวะมลพิษทางทะเลเนื่องจากน้ำมัน พ.ศ.2527

ความเสียหายส่วนบุคคลที่เป็นของประชาชนหรือเอกชนนั้น อาจจะคิดคำนวณมูลค่าความเสียหายในระยะสั้นได้ ในช่วงระยะเวลาที่เกิดเหตุ จนถึงวันที่ความเดือดร้อนและเสียหายได้หมดสิ้นไปแล้ว ซึ่งน่าจะอยู่ที่ประมาณ 30 วันบวกลบ
แต่ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม อันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินนั้น ไม่สามารถคิดสรุปรวบยอดของมูลค่าความเสียหายได้ภายในระยะเวลาที่รวดเร็วได้ แต่จะต้องมีการแบ่งรอบของความเสียหายที่เกิดขึ้นเป็น 3 ส่วน คือ 1)ความเสียหายระยะสั้นในช่วงเผชิญเหตุจนถึงเหตุการณ์คลี่คลายยุติ 2)ความเสียหายระยะปานกลาง ที่ทรัพยากรเริ่มมีผลกระทบในระยะเวลา 6 เดือนถึง 1 ปี และ 3)ระยะยาวคือตั้งแต่ 1 ปีถึง 5 ปี หรืออาจมากถึง 10 ปีก็เป็นได้ เป็นต้น ซึ่งจะต้องมีการทำข้อตกลงกับผู้ก่อเหตุให้ชัดแจ้ง รวมทั้งค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในการศึกษา วิจัย และการได้มาซึ่งข้อมูลความเสียหายทั้งหมด

มูลค่าความเสียหายเหล่านี้ ผู้ที่ก่อเหตุต้องรับผิดชอบทั้งหมดทั้งในทางอาญา และทางแพ่ง และเป็นหน้าที่ของหน่วยงานภาครัฐในทางปกครอง ดังได้กล่าวแล้วข้างต้น ที่มีหน้าที่จะต้องติดตามในทางการบังคับใช้กฎหมาย หรือในทางคดีแทนประชาชน และต้องรายงานให้ประชาชนทราบอย่างต่อเนื่อง ไม่มีคำว่าเกี๊ยะเซียะกันเป็นอันขาด ไม่เช่นนั้นต้องเจอดีกับสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนเป็นแน่แท้
กำลังโหลดความคิดเห็น