“คุณหญิงทองทิพ” นำทีมแจงผลสอบน้ำมันดิบไหลลงทะเล พบปริมาณที่รั่ว 5.43 หมื่นลิตร ใช้สาร Slicgone Ns 3.06 หมื่นลิตร และ Super-Dispersant 25 ปริมาณ 6.9 พันลิตร และพบเหตุท่อรั่วไม่ได้เกิดจากปัจจัยภายนอกใดๆ โดยเฉพาะความผิดพลาดของคน จึงต้องสอบเทคนิคต่อ แนะ 6 แนวทางรัฐเร่งแก้ไข “พงษ์ศักดิ์” เล็งรายงานผลสอบ “นายกฯ” ย้ำสารปรอทจากน้ำมันดิบไม่ได้เกินมาตรฐาน งง คพ.เก็บตัวอย่างแบบไหนแน่
คุณหญิงทองทิพ รัตนะรัต ผู้เชี่ยวชาญอุตสาหกรรมปิโตรเลียมและปิโตรเคมี ในฐานะประธานคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงเหตุการณ์น้ำมันดิบรั่วไหลของ บมจ.พีทีทีโกลบอลเคมีคอล หรือ PTTGC เปิดเผยว่า จากการลำดับขั้นตอนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นซึ่งนำข้อมูลจากทุกด้าน ทั้งผู้ปฏิบัติงาน เจ้าหน้าที่รัฐ เอกชน ได้ประมาณการปริมาณน้ำมันดิบที่รั่วไหลออกขณะปิดวาล์วจ่ายบนเรือในเวลา 20 วินาทีบนสมมติฐานให้ท่อ 24 นิ้วให้น้ำมันไหลออกถึง 60% และท่อ 16 นิ้วให้น้ำมันไหลออกทั้งหมดซึ่งถือเป็นกรณีที่เลวร้ายสุดแล้ว พบว่าน้ำมันที่คาดว่าจะรั่วไหลมีปริมาณทั้งสิ้น 54,341 ลิตร
สำหรับการคำนวณการขจัดคราบน้ำมันระหว่างวันที่ 26-27 ก.ค. 56 มีการใช้สาร 2 ชนิดคือ Slickgone NS 30,612 ลิตร โดย 12,000 ลิตรทางอากาศ และ 18,612 ลิตรทางเรือ และ Super-dispersant 25 จำนวน 6,930 ลิตร ซึ่งสารทั้ง 2 อยู่ภายใต้การควบคุมของกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ซึ่งถือว่ามีพิษน้อยสุดแล้ว เมื่อมีการตรวจสอบและการป้องกันท่อก็เป็นไปตามมาตรฐาน จึงสรุปได้ว่าเหตุที่ทำให้น้ำมันรั่วไหลในทะเลเกิดจากท่อรั่ว หรือ Material Error ซึ่งคณะทำงานต้องส่งต่อให้พิจารณาทางเทคนิคต่อไป
“เมื่อพิจารณาจากการปฏิบัติงานของ PTTGC ก่อนการเกิดเหตุเป็นไปตามทุกกระบวนการทุกขั้นตอน และไม่พบปัจจัยภายนอกที่ทำให้ท่อแตกหรือ Human Error ส่วนการใช้สารกระจายคราบน้ำมันไม่ได้ประสิทธิภาพเท่าที่ควรเนื่องจากสภาพอากาศที่มีคลื่นลมแรงขณะนั้นถึง 2 เมตรและเครื่องบินที่มาจากสิงคโปร์เพื่อมาโปรยสารเคมีและขั้นตอนศุลกากรทำให้ล่าช้าไป 9 กว่าชั่วโมงทำให้น้ำมันขึ้นฝั่งที่อ่าวพร้าว และการใช้สารเคมีมีความจำเป็นเพราะคลื่นลมที่แรงทุ่นกักน้ำมันหรือบูมไม่สามารถเอาอยู่ และถ้าปล่อยให้น้ำมันดิบในกรณีไม่ทำอะไรเลยจะลำบากเพราะน้ำมันดิบจะรวมกันเป็นก้อน ถึงตรงนั้นจะอันตรายกว่ามาก” คุณหญิงทองทิพกล่าว
ทั้งนี้ คณะทำงานได้เสนอให้บริษัท 1. ควรตั้งคณะทำงานเพื่อสอบสวนเพื่อหาสาเหตุการแตกของท่อโดยผู้เชี่ยวชาญทางเทคนิคต่อไป 2. ควรตั้งคณะทำงานเพื่อประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและจัดทำแผนฟื้นฟูทั้งระยะสั้นและยาว 3. ควรมีการทบทวนเตรียมพร้อมในการปฏิบัติงานของสมาคมอนุรักษ์สภาพแวดล้อมของกลุ่มอุตสาหกรรมน้ำมัน 4.หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรมีการทบทวนแผนตอบโต้สภาวะฉุกเฉินระดับจังหวัดและแผนระดับชาติ 5. หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรจัดทำแผนปฏิบัติการน้ำมันเมื่อขึ้นฝั่งและมีการซ้อมแผนอย่างจริงจัง 6. ควรตั้งคณะกรรมการเพื่อประสานความร่วมมือแก้ไขปัญหาจากหน่วยงานต่างๆ ของรัฐเพื่อพร้อมต่อการปฏิบัติการอย่างมีประสิทธิภาพ
นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวหลังการรับฟังคำชี้แจงผลสอบท่อน้ำมันดิบรั่วกลางทะเลจากคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงว่า ผลสรุปจากการสอบสวนแล้วได้ยืนยันปริมาณน้ำมันดิบที่รั่วไหลลงสู่ทะเล 54,341 ลิตรโดยไม่ได้เกิดจากการกระทำจากบุคคลหรือปัจจัยภายนอก แต่เกิดจากท่อรั่วซึ่งเป็นภายใน
ดังนั้น ทาง PTTGC ได้ตั้งคณะทำงานที่ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิ 5 ท่านจากวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย (วสท.) และคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่มี ผศ.ดร.ก่อเกียรติ บุญชูกุศล เป็นประธานเพื่อดูในเชิงเทคนิคต่อไป ซึ่งคาดว่าจะสรุปได้ภายใน 1 เดือน
“รายงานดังกล่าวผมจะนำเรียนต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี หรือ ครม. เพื่อให้นายกรัฐมนตรีได้รับทราบและหาแนวทางที่จะร่วมมือต่อมาตรการอื่นๆ ให้เป็นทางเดียวกันต่อไป ซึ่งรายงานนี้ได้ระบุอย่างละเอียดว่าไม่ใช่จากปัจจัยภายนอกหรือเกิดจากความผิดพลาดของคนซึ่งคงต้องไปดูเทคนิคต่อ โดยท่อยี่ห้อดังกล่าวขณะนี้ก็ได้สั่งระงับการใช้งานแล้ว ส่วนข้อเสนอที่ให้ซื้อเครื่องบินเห็นด้วยว่าจำเป็น อย่างน้อยคงจะต้องมี 2 ลำ ผู้ค้าน้ำมันคงต้องไปพิจารณาร่วมกัน” นายพงษ์ศักดิ์กล่าว
สำหรับกรณีที่กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ได้เผยถึงการตรวจสอบคุณภาพน้ำทะเลชายหาดและพื้นที่อ่าวต่างๆ รอบเกาะเสม็ด จ.ระยอง พบว่าบริเวณอ่าวพร้าวและอ่าวทับทิมมีปริมาณสารปรอทเกินค่ามาตรฐานที่กำหนดเอาไว้ ซึ่งค่ามาตรฐานปรอทในคุณภาพน้ำทะเลนั้นต้องไม่เกิน 0.1 ไมโครกรัมต่อลิตร แต่พบว่าที่อ่าวพร้าวมีค่าสูงถึง 2.9 ไมโครกรัมต่อลิตร โดยเป็นการเก็บตัวอย่างเมื่อวันที่ 3 ส.ค.นั้นก็ไม่ได้อยากไปแทรกแซงการทำงาน แต่ขณะเดียวกันได้มอบให้ PTTGC ไปเก็บน้ำมันดิบมาทดสอบก็พบว่ามีสารปรอทเฉลี่ย 1.5-2.8 ไมโครกรัมต่อลิตรเท่านั้น ซึ่งเมื่อลงสู่ทะเลค่าก็ควรจะต่ำกว่านี้ จึงไม่ทราบสาเหตุว่า คพ.มีการเก็บตัวอย่างน้ำมันดิบอย่างไรกันแน่ จึงให้ประสานไปยัง คพ.เพื่อดูรายละเอียดอีกครั้ง