กาญจนบุรี - เผย 15 ปีผ่านไป “ลำห้วยคลิตี้” อำเภอทองผาภูมิ กาญจนบุรี ที่ได้รับผลกระทบจากโรงแต่งแร่ตะกั่วริมเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรปล่อยน้ำหางแร่ลงสู่ลำห้วย จนก่อให้เกิดสารตะกั่วปนเปื้อนในลำห้วยคลิตี้ จนถึงวันนี้การฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ยังไม่เริ่ม
จากเหตุการณ์โรงแต่งแร่ตะกั่วริมเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ปล่อยน้ำหางแร่จนก่อให้เกิดสารตะกั่วปนเปื้อนลำห้วยคลิตี้ ต.ชะแล อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี ตลอดสาย และชาวกะเหรี่ยงแห่งบ้านคลิตี้ล่างเจ็บป่วยล้มตาย จนเป็นข่าวใหญ่ในปี 2541 ผ่านไปร่วม 15 ปี แต่การฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ก็ยังไม่ได้เริ่มแต่อย่างใด
ขณะที่ปริมาณสารตะกั่วในเลือดของชาวคลิตี้ล่างก็ยังไม่ลดลง ขณะเดียวกัน กลับมีคนทยอยเจ็บป่วยล้มตายเป็นระยะ เนื่องจากชาวบ้านยังมีสารตะกั่วปนเปื้อนในเลือดสูง และปรากฏสภาพอาการเจ็บป่วยคล้ายคลึงกัน เช่น มีอาการถ่ายท้อง ปวดท้อง ปวดหัว ปวดกระดูก เจ็บตามข้อ ชาตามร่างกาย บวมตามแขนขา มือเท้าไม่ค่อยมีแรง ผู้หญิงหลายคนแท้งลูก เด็กที่เกิดใหม่มีสุขภาพไม่แข็งแรง บางรายมีความผิดปกติทางด้านร่างกาย มีพัฒนาการทางสมองช้า และบางรายต้องสังเวยชีวิต
โดยในปี 2542 หน่วยแพทย์เคลื่อนที่ กรมอนามัย ได้เข้าไปตรวจเลือดชาวบ้านคลิตี้ล่างเพื่อหาระดับสารตะกั่วในเลือด พบว่า ชาวบ้านทั้งเด็ก และผู้ใหญ่มีระดับสารตะกั่วในเลือดสูง โดยเด็กอายุ 0-6 ปี มีระดับตะกั่วในเลือดเฉลี่ย 23.56 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร, เด็กอายุ 7-15 ปี มีระดับตะกั่วในเลือดเฉลี่ย 28.30 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร และผู้ใหญ่ตั้งแต่อายุ 16 ปีขึ้นไป มีระดับตะกั่วในเลือดเฉลี่ย 26.31 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ขณะที่การสำรวจระดับตะกั่วในเลือดเฉลี่ยของคนไทยทั่วไปเมื่อปี 2538-2539 โดยกองอาชีวอนามัย พบว่า มีค่า 4.29 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร
กรมควบคุมมลพิษได้ตรวจสภาพแวดล้อมในลำห้วยคลิตี้ พบว่า ตะกอนธารน้ำมีตะกั่วจากกิจกรรมเหมืองแร่ปนเปื้อนจำนวนมาก สัตว์น้ำ จำพวกปลา กุ้ง หอย มีตะกั่วปนเปื้อนในเนื้อเกินค่ามาตรฐานมาก ความเสียหาย และสูญเสียที่ชาวบ้านคลิตี้ได้รับ ทำให้ชาวบ้านคลิตี้ล่าง 151 คน ยื่นฟ้องต่อศาลจังหวัดกาญจนบุรีเพื่อเรียกค่าเสียหายจากบริษัทผู้ก่อมลพิษ ซึ่งศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้บริษัทจ่ายชดใช้ค่าเสียหายรวม 36,050,000 บาท ต่อมา ในชั้นอุทธรณ์ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนจำนวนค่าเสียหายให้บริษัทจ่ายตามศาลชั้นต้น
ปัจจุบัน คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ส่วนกรณีชาวกะเหรี่ยงบ้านคลิตี้ยื่นฟ้องให้บริษัทดำเนินเร่งฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ให้คืนสู่สภาพเดิมโดยเร็ว ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งยกฟ้อง โดยให้เหตุผลว่า พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 ไม่ได้บัญญัติให้สิทธิโจทก์มีอำนาจขอให้บังคับจำเลยร่วมกันแก้ไขฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ได้ แต่เป็นหน้าที่ของกรมควบคุมมลพิษที่จะฟื้นฟู และเรียกค่าใช้จ่ายจากจำเลยผู้ก่อมลพิษ
แต่ปรากฏว่า กรมควบคุมมลพิษไม่ได้เข้าฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ เป็นเหตุให้นายยะเสอะ นาสวนสุวรรณ ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านคลิตี้พร้อมกับแกนนำหมู่บ้านรวม 22 ราย ได้ยื่นฟ้องกรมควบคุมมลพิษต่อศาลปกครองกลาง ซึ่งศาลปกครองชั้นต้นตัดสินให้กรมควบคุมลพิษเร่งฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ และชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ชาวบ้านทั้ง 22 ราย
กรมควบคุมมลพิษอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด จนวันที่ 10 มกราคม 2556 ศาลปกครองสูงสุดอ่านคำพิพากษาให้กรมควบคุมมลพิษกำหนดแผนงาน วิธีการ และดำเนินการฟื้นฟูตรวจและวิเคราะห์ตัวอย่างน้ำ ดิน พืชผัก และสัตว์น้ำในลำห้วยคลิตี้ให้ครอบคลุมทุกฤดูกาลอย่างน้อยฤดูกาลละ 1 ครั้ง จนกว่าจะพบว่าค่าสารตะกั่วในน้ำ ดิน พืชผัก และสัตว์น้ำในลำห้วยคลิตี้ไม่เกินค่ามาตรฐาน เป็นเวลาอย่างน้อย 1 ปี และให้ชดใช้ค่าเสียหายให้ผู้ฟ้องคดีทั้ง 22 คน เป็นเงินรายละ 177,199.55 บาท
ล่าสุดวันที่ 27 สิงหาคม 2556 ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีอนุมัติงบประมาณประจำปี 2556 งบกลางวงเงิน 11,850,000 บาท ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ เพื่อใช้ดำเนินโครงการกำหนดแนวทางฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ จากการปนเปื้อนสารตะกั่ว เงินจำนวนนี้เป็นเพียงเงินในการศึกษาแนวทางในการฟื้นฟูเท่านั้น แม้คำพิพากษาจะผ่านมาถึง 8 เดือนแล้ว แต่ไม่มีท่าทีของกรมควบคุมมลพิษจะลงมือในการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้เลย ทั้งที่เคยมีแผนการฟื้นฟูตั้งแต่ปี 2541 เมื่อเริ่มทราบเรื่อง โดยทำทางน้ำอ้อมแล้วดูดตะกอนตะกั่วออก โดยใช้งบประมาณ 100 ล้านบาท แต่ก็ระงับไปเมื่อบริษัทผู้ก่อมลพิษไม่ให้ความร่วมมือ
หากไม่เร่งฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ ปัญหาในอนาคตข้างหน้าจะไม่ใช่เฉพาะชาวบ้านคลิตี้ หรือชาว จ.กาญจนบุรี เท่านั้นที่จะได้รับผลกระทบจากพิษสารตะกั่ว น้ำในลำห้วยคลิตี้ที่ปนเปื้อนสารตะกั่วได้ไหลลงสู่แม่น้ำแม่กลอง ซึ่งน้ำจากแม่น้ำแม่กลองที่ อ.ท่าม่วง จ.กาญจนบุรี ได้ผันลงสู่คลองมหาสวัสดิ์ เพื่อเป็นน้ำดิบที่นำไปผลิตน้ำประปาให้คนกรุงเทพฯ และคนฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาใช้ ซึ่งคนกรุงเทพฯ และปริมณฑล อาจจะได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน หากไม่มีการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ ตะกอนตะกั่วจากลำห้วยคลิตี้ที่ไหลลงในแม่น้ำแม่กลองก็จะไหลลงสู่อ่าวไทย ซึ่งเป็นแหล่งผลิตอาหารที่สำคัญที่สุดของประเทศ
ดังนั้น อยากเรียกร้องไปยังกรมควบคุมมลพิษเร่งฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ เพราะพิษตะกั่วที่สะสมยังส่งผลกระทบทั้งต่อคน และสิ่งแวดล้อม ยิ่งปล่อยนานออกไปสารตะกั่วจะไหลไปตามลำห้วย และลงสู่แหล่งน้ำ ทั้งอ่างเก็บน้ำ แม่น้ำสายสำคัญ และหากปล่อยให้เกิดการสะสมมากขึ้นอาจจะส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องดูแลประชาชน และเป็นหน้าที่ของกรมควบคุมมลพิษ จะต้องปฏิบัติตามคำพิพากษาอย่างเคร่งครัด โดยรัฐบาลต้องเร่งจัดงบประมาณเพื่อให้กรมควบคุมมลพิษฟื้นฟูอย่างจริงจังโดยด่วน