xs
xsm
sm
md
lg

“ปลอดประสพ” มั่นใจ! ปัดอ่าวพร้าวมีสารปรอท บอกถ้าตายก็ไปนานแล้ว-กวักมือเรียก “สุขุมพันธุ์” ซักงบน้ำท่วม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพจากสำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดระยอง
รองนายกฯ เดินหน้าล้อมคอกน้ำมันรั่วเกาะเสม็ด เสนอเพิ่มเรือประจำทุ่น ติดตั้งจ่ายน้ำมันสองระบบ โต้กรมควบคุมมลพิษปูดสารปรอท อ้างวันนี้อ่าวพร้าวไม่มีอะไร บอกถ้าตายก็ตายไปนานแล้ว อีกด้านจ่อเรียกผู้ว่าฯ กทม. ซักปมเงิน กทม.500 ล้าน อ้างให้ไปแก้น้ำท่วม ดันไปทำสนามฟุตซอล

วันนี้ (14 ส.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงแผนฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมที่เกาะเสม็ดหลังเหตุการณ์น้ำมันรั่วว่า ทั้งหมดจะทำตามกรอบที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ไว้ โดยจะแก้ไขระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีให้มีความทันสมัย มีประสิทธิภาพและทันต่อเวลา เนื่องจากระเบียบฉบับเดิมมีมานานและไม่เคยใช้ โดยระเบียบใหม่นี้จะแบ่งงานออกเป็น 2 ด้าน คือ 1. ด้านการเผชิญเหตุ เมื่อเกิดเหตุก็สามารถแก้ไขปัญหาได้ทันที เพื่อลดผลกระทบเฉพาะหน้าโดยมีกองทัพเรือเป็นผู้รับผิดชอบ 2. ด้านการฟื้นฟู ที่มีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นผู้รับผิดชอบ

ทั้งนี้ ระเบียบสำนักนายกฯ ฉบับเดิมได้มีการรวมเรื่องการเผชิญเหตุ การฟ้องร้อง และการฟื้นฟูที่เป็นคนละสายงานไว้ด้วยกัน จึงส่งผลให้การดำเนินการให้ล่าช้า อีกทั้งท่อส่งน้ำมันก็มีมานาน และสมัยนั้นไม่มีการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ซึ่งทำให้ไม่มีการติดตามการทำงาน จึงกลายเป็นช่องว่าง ดังนั้นจึงต้องสร้างกระบวนการติดตามการใช้งานของอุปกรณ์เหล่านี้ขึ้นมา เพราะเห็นแล้วว่ามีโอกาสเสี่ยง และตนได้เสนอให้เพิ่มเรือประจำทุ่นจากเดิมที่มีอยู่แล้ว 1 ลำเข้าไปอีก 1 ลำเพื่อใช้ในการเผชิญเหตุ และการขนถ่ายน้ำมันต้องดำเนินการช่วงกลางวันห้ามทำช่วงกลางคืน รวมถึงการจ่ายน้ำมันต้องมีทั้งระบบแมนวล (Manual) และออโตเมติก (Automatic) ทั้งที่ตัวเรือและท่าเรือ และต้องมีการตรวจสอบอุปกรณ์ก่อนใช้งานทุกครั้ง รวมถึงต้องกำหนดอายุการใช้งานของท่อขนส่งน้ำมันอย่างชัดเจน และต้องเปลี่ยนตามอายุอย่างเคร่งครัด นอกจากนี้ กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเรือ ท่าเรือ และการขนถ่ายน้ำมันทางเรือ เป็น พ.ร.บ.ที่เกี่ยวข้องกับกรมเจ้าท่า จึงได้ขอให้กรมเจ้าท่าแต่งตั้งหน่อยงานอื่นที่เกี่ยวข้องเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ เช่นกรมควบคุมมลพิษเป็นต้น เพราะไม่เช่นนั้นแล้ว การจะเข้าไปปฏิบัติงานก็ไม่สามารถทำได้

นายปลอดประสพยังกล่าวถึงกรณีที่นายวิเชียร จุ่งรุ่งเรือง อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แถลงผลการตรวจสอบน้ำรอบเกาะเสม็ด ที่เก็บตัวอย่างในวันที่ 3 ส.ค. โดยระบุว่ามีสารปรอทเกินค่ามาตรฐานที่กำหนดไว้ว่า การจะนำข้อมูลของวันที่ 3 มาพูดวันที่ 14 ไม่ได้ เพราะจะทำให้ประชาชนตกใจ นอกจากนี้การวัดคุณภาพน้ำจะต้องเน้นสารที่มาจากน้ำมันโดยตรง เช่น ไฮโดรคาร์บอน ไม่ใช่สารปรอท และสภาพน้ำที่เกาะเสม็ดปลอดภัยสามารถลงเล่นน้ำได้อย่างปกติ

“เรื่องสารปรอทที่ว่ามี มันมีเมื่อน้ำมันยังดำอยู่ เมื่อ 9 วันที่แล้ว ไม่ใช่วันนี้ วันนี้มันไม่มีอะไรแล้ว และผมก็ไปว่ายน้ำมา 3-4 วัน ถ้าตายผมก็ตายไปเรียบร้อยแล้ว” รองนายกฯกล่าว และว่าส่วนผลกระทบอาหารทะเลนั้นเป็นเรื่องระยะยาวที่เราไม่ประมาท และจากนี้ทาง ปตท.จะตั้งหน่วยปฏิบัติการที่จะมีห้องให้หน่วยงานต่างๆ เข้ามาใช้งานในการตรวจสภาพแวดล้อม

นายปลอดประสพ ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) เปิดเผยว่าภายใน 3 เดือน ร่างสัญญาโครงการบริหารจัดการน้ำ 3 แสนล้านบาทจะแล้วเสร็จเฉพาะในส่วนโมดูลที่ไม่เกี่ยวกับกระบวนการจัดทำศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) และผลกระทบด้านสุขภาพ (เอชไอเอ) และในการยกร่างสัญญากับ 4 กลุ่มบริษัท ทาง กบอ. จะแยกสัญญาเป็น 9 โมดูล เช่น โมดูล เอ 6 บี 4 คลังข้อมูล เป็นต้น

“อยากเตือนกลุ่มคัดค้านโครงการอ่างเก็บน้ำว่าค้านหาอะไร เพราะเป็นกลุ่มคนที่หวังดีประสงค์ร้าย เนื่องจากประเทศไทยเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาน้ำท่วมได้ตลอดเวลา แต่คนกลุ่มนี้กลับออกมาคัดค้าน ในขณะที่เกิดปัญหาน้ำท่วมขึ้นมาคนกลุ่มนี้กลับไม่เคยออกมารับผิดชอบใดๆ” นายปลอดประสพกล่าว

ทั้งนี้ ได้ทำหนังสือเชิญ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการจังหวัดกรุงเทพมหานคร มาหารือแผนบริหารจัดการน้ำกทม.จะต้องสอดคล้องกับแผนบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาทของรัฐบาล เนื่องจากที่ผ่านมาพบว่า กทม.นำงบประมาณที่รัฐบาลอนุมัติในการบริหารจัดการน้ำพื้นที่ กทม.ไปใช้ผิดประเภท อาทิ งบ 500 ล้านบาท ที่รัฐบาลอนุมัติ กทม.แก้ปัญหาน้ำท่วม กทม. แต่ผู้ว่าฯ กทม.กลับไปใช้ก่อสร้างสนามกีฬาฟุตซอลหนองจอก จำนวน 200 ล้านบาท แทนที่จะนำไปเสริมคูคลองเป็นคอนกรีตระบายน้ำ หรือ โครงการก่อสร้างอุโมงค์ยักษ์ระบายน้ำ กทม. 2.5 พันล้านบาท ราคาแพงเกินจริง การก่อสร้างล่าช้า และไม่สามารถแก้ปัญหาน้ำท่วมได้ แต่ กบอ.เห็นว่าควรเน้นการก่อสร้างท่อคอนกรีตแบบฝาเปิดซึ่งจะสามารถระบายน้ำในช่วงฤดูฝน ได้ และคุ้มค่าและสามารถแก้ปัญหาได้ดีกว่า

นายสุพจน์ โตวิจักษณ์ชัยกุล เลขาธิการสำนักงานนโยบายและบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ (สบอช.) กล่าวว่า ได้ประสานกับ 4 สถาบันการศึกษา คือ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยราชภัฎทั่วประเทศดำเนินการรับฟังความคิดเห็น 41 จังหวัด ตั้งแต่ต้น กลางและปลายน้ำ

ทั้งนี้ กลุ่มเป้าหมายที่เข้าร่วมจะเป็นประชาชนในพื้นที่เพื่อชี้แจงให้ข้อมูลเกี่ยวกับพื้นที่โครงการ ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและขอบเขตการศึกษาของโครงการ โดยจะใช้เวลา 3 เดือนในการดำเนินการ


กำลังโหลดความคิดเห็น