xs
xsm
sm
md
lg

หน.พลังงานไทย ยื่นผู้ตรวจฯ สอบปตท.ทำน้ำมันรั่ว ส.ว.เชื่อทะลัก 3.5 แสนลิตร ผิด 51 พ.ร.บ.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายวิวัฒน์ชัย กุลมาตย์ หัวหน้าพรรคพลังงานไทย
หัวหน้าพลังงานไทย ยื่นผู้ตรวจการแผ่นดิน สอบปตท.ทำน้ำมันรั่ว จี้จ่าย 7 หมื่นล้านเหมือนกรณีออสเตรีย ด้านฝั่ง ส.ว.เผยผลลงพื้นที่อ่าวพร้าว เชื่อรั่วจริงร่วม 3.5 แสนลิตร ระบุผิดกม. 51 ฉบับ หนุนราชการฟ้องแหลก เตือนรัฐอย่าตั้ง กก.เป็นเขาวงกต จ่อนัดแจง กมธ.สัปดาห์หน้า

วันนี้ ( 2 ส.ค.) ที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน นายวิวัฒน์ชัย กุลมาตย์ หัวหน้าพรรคพลังงานไทย ได้เข้ายื่นหนังสือต่อผู้ตรวจการแผ่นดินผ่านนายเฉลิมศักดิ์ จันทรทิม เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้ตรวจสอบกรณีบริษัทพีทีที โกบอล เคมีคอล จำกัด มหาชน ซึ่งเป็นบริษัทลูกของของบริษัท ปตท. จำกัด มหาชน ทำน้ำมันดิบรั่วไหล บริเวณอ่าวพร้าว เกาะเสม็ด จ.ระยอง เนื่องจากเห็นว่าการรั่วไหลดังกล่าวยังไม่มีใครทราบว่า เกิดขึ้นเมื่อใด รั่วไหลจากจุดใด ประชาชนไม่สามารถจะตรวจสอบได้ แต่ผลคือทำให้เกิดความเสียหายต่อธุรกิจท่องเที่ยว การประมง สภาพแวดล้อมทางทะเล การดำเนินชีวิตประจำวันของประชาชน จึงขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินดำเนินการตรวจสอบหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องว่า บริษัทพีทีที โกบอล เคมีคอล จำกัด มหาชน ได้มีการทำน้ำมันรั่วไหลเมื่อใด จุดใด น้ำดิบดังกล่าวมาจากแหล่งใด ปริมาณเท่าใด มีสัญญาซื้อขายถูกต้องหรือไม่ กองทัพเรือที่รับผิดชอบน่านน้ำมีการตรวจสอบหรือไม่ว่า มีการรั่วของท่อส่งน้ำมันจุด และได้มีการปิดท่อเรียบร้อยแล้วหรือไม่ และเรือขนน้ำมันดิบที่ล่มเป็นเรือสัญชาติใด ใช่สัญชาติโอมานหรือไม่ เพราะหากใช่จะต้องให้โอมานเป็นผู้ชดใช้ค่าเสียหาย รวมทั้งกรมอุทยานป่าไม้ กรมเจ้าท่า กรมควบคุมมลพิษ ซึ่งเป็นผู้มีหน้าที่ดูแลสิ่งแวดล้อม ดูแลทะเล ถือเป็นผู้เสียหายโดยตรง ได้มีการร้องทุกข์กล่าวโทษต่อผู้ทำความเสียหาย และเรียกร้องค่าเสียหายที่ถูกต้องหรือไม่ ประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ มีการร้องให้หน่วยงานใดรับผิดชอบและมีการดำเนินการหรือไม่ มีการประกันอุบัติเหตุหรือไม่สำหรับเรือที่จะเข้ามาสร้างความเสียหายในอ่าวไทย

นอกจากนี้ยังเห็นว่าปตท.ควรที่จะชดใช้ค่าเสียหายปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างเต็มที่ ไม่ควรมีการต่อรอง เหมือนกับที่ปตท.ได้จ่ายชดใช้ค่าเสียหายกรณีทำน้ำมันรั่วที่ประเทศออสเตรีย 7 หมื่นล้านบาท เมื่อต้นปีที่แล้วโดยไม่มีการต่อรอง แต่คราวนี้กลับต่อรองว่าจะขอจ่ายชดใช้ค่าเสียหายเพียง 50 ล้านบาท

ด้านนายเฉลิมศักดิ์ กล่าวว่า ประเด็นที่ร้องชัดเจนว่าเป็นหาร้องหน่วยงานภาครัฐว่าปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย ซึ่งถือว่าอยู่ในอำนาจตรวจสอบของผู้ตรวจการแผ่นดิน รวมทั้งคำร้องยังมีชี้ประเด็นค่อนข้างชัดเจน น่าที่ผู้ตรวจการแผ่นดินจะสามารถตรวจสอบได้เร็วยิ่งขึ้น

ขณะที่รัฐสภา นายประสาร มฤคพิทักษ์ ส.ว.สรรหา ในฐานะประธาน ในฐานะประธานคณะอนุกรรมาธิการ (กมธ.) เสริมสร้างธรรมาภิบาลด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และนายสุรจิต ชีรเวทย์ ส.ว.สมุทรสงคราม ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา ร่วมกันแถลงถึง การลงพื้นที่เกาะเสม็ด เพื่อตรวจสอบกรณีน้ำมันดิบ ของบริษัทพีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด(มหาชน) รั่วไหล

นายประสาร กล่าวว่า จากการลงพื้นที่พบว่าน้ำทะเลที่อยู่ตรงชายหาดยังขุ่นอยู่มาก คราบน้ำมันยังจับอยู่บนโขดหิน ซึ่งตนคิดว่าข้อมูลที่ ปตท. แถลงว่ามีน้ำมันรั่ว 50,000 ลิตร นั้นยังไม่มีความกระจ่างชัด เพราะ ปตท. ยอมรับแล้วว่าใช้สารเคมีละลายคราบน้ำมัน 35,000ลิตร ซึ่งโดยอัตราส่วนการใช้ 1 ต่อ 10 แล้ว แสดงว่าต้องมีน้ำมันรั่วไหลมากกว่า 350,000 ลิตร หาก ปตท.มีความใจกว้าง และต้องการรับผิดชอบต่อสังคมจริง ก็ต้องแสดงความรับผิดชอบที่เป็นรูปธรรม ไม่ใช่เพียงแค่จัดโครงการปลูกป่า โฆษณา ประชาสัมพันธ์ เพียงอย่างเดียว เช่น อาจมีการตั้งกองทุนขึ้นมาสัก 1,000 ล้านบาท เพื่อเป็นงบประมาณในการช่วยเหลือเยียวยาชดเชย ทั้งหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องอย่าง กรมอุทยาน กรมการท่า หรือประชาชนในพื้นที่ อย่างสมาคมชาวประมง ที่ได้รับผลกระทบ มิเช่นนั้นจะเป็น ปตท.เองที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด เนื่องจากตามหลักการแล้วไม่ว่าจะเกิดเหตุโดยสุดวิสัยจากธรรมชาติ หรือมนุษย์ แต่ผู้ก่อมลพิษจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ

ด้าน นายสุรจิต กล่าวว่า กรณีที่เกิดขึ้นต้องใช้หลักกฎหมายส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ซึ่งมีหลักนิยามชัดเจนว่า ผู้ก่อมลพิษจะต้องรับผิดชอบเต็มจำนวน อย่าไปสับสนกับคดีทางแพ่ง ที่อ้างว่าต้องไปพิสูจน์ว่าเกิดจากความเลินเล่อหรืออุบัติเหตุ และไม่ต้องรอการชดเชยของบริษัทประกันภัยซึ่งเขาจะชดใช้ค่าเสียหายโดยมีเงื่อนไข

นายสุรจิต กล่าวว่า หากพิจารณาดูแล้วจะพบว่าเป็นการกระทำผิดต่อ พ.ร.บ.ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องประมาณ 51 ฉบับ ซึ่งหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องต้องดำเนินการฟ้องร้องทุกหน่วยงาน ไม่ใช่ปล่อยให้กรมอุทยานไปห้องอยู่หน่วยงานเดียว ทั้งนี้เพื่อแสดงให้เห็นถึงศักยภาพในการปกป้องความเสียหาย และอยากขอเตือนให้ ปตท. รีบเร่งแก้ปัญหา เพราะหากปล่อยไว้ต่อไปนับจะเข้าสู่ช่วงเวลาน้ำขึ้นและลง ซึ่งก็จะยิ่งทำให้คราบน้ำมันที่รั่วออกมาขยายขอบเขตออกไปไกลขึ้นอีก อย่างในวันพรุ่งนี้ปริมาณน้ำขึ้นสูงสุดก็จะอยู่ 1.70 เมตร แต่หากปล่อยไปถึงกลางเดือนระดับน้ำขึ้นสูงสุดจะอยู่ที่ 2 เมตร และหากกระจายออกไปบริเวณน้ำลึกการแยกน้ำมันออกจากน้ำก็ยิ่งทำได้ยาก อีกทั้งภาพถ่ายทางดาวเทียมจาก จิสด้า ยังพบว่าคราบน้ำมันมีพื้นที่ใหญ่กว่าเกาะเสม็ดอยู่มาก โดย ปตท. ควรประสานกับชาวประมงในพื้นที่ในการหาทางแก้ไปไขปัญหา เพราะชาวประมงในพื้นที่จะมีความรู้เรื่องระยะเวลาน้ำขึ้นน้ำลง ลมทะเล ก็จะสามารถช่วยกันแก้ไขปัญหามลพิษที่กำลังขยายตัวออกไปได้

“ช่วงที่ผ่านมาเป็นช่วงที่น้ำทะเลนิ่ง น้ำขึ้นน้ำลงมีน้อย แต่จากนี้จะเป็นช่วงน้ำขึ้นน้ำลง ซึ่งชาวประมงก็รู้ว่าน้ำขึ้นสูงตอนกลางคืน ถ้าเอาตัวอย่างน้ำตอนกลางวันที่บริเวณอ่าวพร้าวไปตรวจจะพบคราบน้ำมันน้อย เพราะไหลไปที่อื่น แต่ตอนกลางคืนจะไหลกลับมาใหม่ และยิ่งในช่วงน้ำขึ้นลงสูงสุดในรอบหน้า น้ำจะสูงถึง 1,099 ถึง 2.1 เมตร ทำให้การไหลของน้ำทะเลเวลาขึ้นลงอาจพาเอาคราบน้ำมันไปมาระหว่างหาดแสงจันทร์ถึงเพ และพบว่าการจับตัวของคราบน้ำมันยังเป็นก้อนลูกบอลแข็ง ซึ่งหากยังอยู่ในน้ำก็ยังมีโอกาสที่แบตทีเรียจะช่วยย่อยสลาย แต่หากขึ้นฝั่งจะจับเป้นก้อน ต้องใชข้เวลาสลายกันเป็นปี” นายสุรจิตกล่าว

นายสุรจิต กล่าวต่อว่า หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องอย่างน้อย 5 หน่วยงาน ทั้งกรมอุทยานสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กรมควบคุมมลพิษ กรมเจ้าท่า กรมทรัพยากรทะเลและชายฝั่ง และกรมประมง ต้องร่วมกันเอาความชำนาญ ความเชี่ยวชาญของแต่ละฝ่ายมาร่วมเป็นเจ้าภาพในการประเมิณความเสียหาย ทั้งระยะสั้น ระยะยาว และเรียกร้องความเสียหายให้หน่วยงานรัฐและประชาชน ส่วนรัฐบาลก็ควรบูรณาการแก้ปัญหา

ส.ว.สมุทรสงครามกล่าวด้วยว่า รัฐบาลไม่จำเป็นจะต้องตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ขึ้นมาดูแล เพราะมีระเบียบประจำสำนักนายกรัฐมนตรี 3 ฉบับ ประกอบด้วย 1. ระเบียบฯ ว่าด้วยการป้องกัน และขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมัน พ.ศ.2547 2. ระเบียบฯ ว่าด้วยนโยบายและการฟื้นฟูทะเลไทย พ.ศ.2539 และ 3. ระเบียบฯ ว่าด้วยการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพ พ.ศ.2543 ซึ่งมีทั้งโครงสร้างกรรมการที่มีนายก ฯ เป็นประธาน และมีกลไกการทำงานอย่างเป็นระบบเอาไว้แล้ว และถ้าหากรัฐบาลตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ขึ้นมาแล้วแต่งตั้งกรรมการอย่างไม่เป็นกลาง ก็จะส่งผลต่อความน่าเชื่อถือในการตรวจสอบ สังคมก็จะเกิดความสงสัยต่อไป

“การตั้งคณะกรรมการมาเป็นเขาวงกตเพื่อหาตัวนายกฯ หาตัวรัฐมนตรีไม่เจอ เหมือนอย่างกรณีปัญหาภัยพิบัติน้ำท่วมใหญ่ที่ผ่านมาซึ่งจนป่านนี้ยังจ่ายค่าชดเชยไม่หมด แบบนั้นไม่อยากให้เกิดขึ้นอีก” นายสุรจิตกล่าว

รองประธานกรรมาธิการสิ่งแวดล้อมกล่าวอีกว่า ในสัปดาห์หน้า กมธ. ทรัพยากรธรรมและสิ่งแวดล้อม และกมธ.ศึกษาตรวจสอบฯ วุฒิสภา จะเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูล เพื่อตรวจสอบวิธีปฏิบัติว่าหน่วยงานรัฐละเลย ละเว้น การทำหน้าที่หรือไม่ เพื่อเป็นบรรทัดฐานต่อไป หากเกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้ขึ้นมาอีก



นายประสาร มฤคพิทักษ์ ส.ว.สรรหา (แฟ้มภาพ)
กำลังโหลดความคิดเห็น