ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-น่าอเนจอนาถใจอย่างยิ่ง เมื่อกรมควบคุมมลพิษ สรุปผลพบบริเวณอ่าวพร้าวและอ่าวทับทิม มีค่าสารปรอทสูงเกินมาตรฐานเตือนหลีกเลี่ยงลงเล่นน้ำ แล้วกลับปรากฏว่ามีนักการเมือง ดาหน้าออกมาแก้ต่างและปกป้องเครือปตท.อย่างน่าเกลียด จนนายสาธิต ปิตุเตชะ ส.ส.ระยอง อดไม่ได้ที่จะออกมาเรียกร้องรัฐบาลอย่าทำตัวเสมือนเป็นสุนัขรับใช้ปตท. เช่นเดียวกับผลสอบน้ำมันดิบรั่วจากคนกันเองที่อวยปตท.โกลบอลเคมีคอล (พีทีทีจีซี) ชนิดไม่ผิดคาด
นายวิเชียร จุ่งรุ่งเรือง อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แถลงเมื่อวันที่ 13 ส.ค. 56 ถึงผลการตรวจสอบคุณภาพน้ำทะเล ชายหาดและอ่าวต่างๆ รอบเกาะเสม็ด จ.ระยอง จากการเฝ้าระวังเนื่องจากกรณีเหตุการณ์ท่อส่งน้ำมันดิบรั่วไหลในทะเล จังหวัดระยอง ผลการตรวจสอบคุณภาพน้ำทะเลชายฝั่งบริเวณรอบเกาะเสม็ด จังหวัดระยอง จำนวน 12หาด ที่เก็บตัวอย่างในวันที่ 3 ส.ค. 56 ปรากฏว่า ค่าความเป็นกรด - ด่าง ค่าออกซิเจนละลายน้ำ มีค่าปกติไม่เกินค่ามาตรฐานที่กำหนดไว้
ผลการตรวจวัดโลหะหนัก ทั้ง 12 หาด พบว่า สารหนูมีค่าไม่เกินค่ามาตรฐานคุณภาพน้ำ ทะเลที่กำหนดไว้ที่ 10 ไมโครกรัมต่อลิตร แคดเมียมมีค่าไม่เกินค่ามาตรฐานคุณภาพน้ำทะเลที่ กำหนดไว้ที่ 0.5 ไมโครกรัมต่อลิตร และค่าปรอทส่วนใหญ่มีค่าไม่เกินค่ามาตรฐานคุณภาพน้ำ ทะเลที่กำหนดไว้ 0.1 ไมโครกรัมต่อลิตร ยกเว้นอ่าวทับทิม มีค่า 0.25 ไมโครกรัมต่อลิตร และอ่าวพร้าวมีค่า 2.9 ไมโครกรัมต่อลิตร หรือ 29 เท่าจากค่ามาตรฐาน
การทำหน้าที่ของกรมควบคุมมลพิษ ถือเป็นการคุ้มครองประชาชนให้ปลอดภัยจากสารพิษที่เป็นผลสืบเนื่องมาจากเหตุการณ์น้ำมันดิบรั่วกลางทะเลระยองของพีทีทีจีซี เว้นเสียแต่ จะมีใบสั่งจากเบื้องบนปิดปากอธิบดีและเจ้าหน้าที่ของกรมควบคุมมลพิษ หรือกดดันให้พวกเขาทรยศต่อการทำหน้าที่ปกป้องคุ้มครองระบบนิเวศน์ สิ่งแวดล้อม และชีวิตประชาชน จนทำให้ผลการสำรวจตรวจสอบและประเมินความเสียหายระบบนิเวศน์ท้องทะเลและชายหาดที่ต้องมีการติดตามอยู่เป็นระยะและเฝ้าระวังผลกระทบในระยะยาวด้วยนั้น ออกมาแบบไร้ปัญหา อย่างที่นักการเมืองที่มีพฤติกรรมรับใช้เครือปตท.อยากให้เป็น
ไม่เพียงแค่ผลตรวจสอบจากกรมควบคุมมลพิษ เท่านั้น ที่น่าวิตกกังวล การตรวจสอบด้านทรัพยากรทางทะเลก็ออกมาไม่แตกต่างกัน โดยนายนิพนธ์ พงษ์สุวรรณ นักวิชาการประมงชำนาญการพิเศษ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ให้ข้อมูลว่า ทาง ทช. สำรวจพบปะการังเกิดการฟอกขาวใน 4 จุด คือ อ่าวน้อยหน่า ประมาณ 5 เปอร์เซ็นต์ อ่าวพร้าวด้านเหนือ 5-10 เปอร์เซ็น อ่าวพร้าวด้านใต้ 70 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นจุดที่น้ำมันมากองรวมกันมากที่สุดในช่วง 2-3 วันแรก และบริเวณอ่าวปลาต้ม 10-20 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งทางกรมจะตรวจสอบอย่างต่อเนื่องอย่างน้อยเป็นเวลาอีก 1 ปี เพื่อดูว่าปะการังที่ฟอกขาวเหล่านี้จะตายลงหรือไม่
“ฟันธงว่าการฟอกขาวครั้งนี้เกิดจากน้ำมันรั่วแน่นอน ซึ่งการฟอกขาวเกิดจากปะการังมีภาวะเครียด และมีฟองน้ำบางส่วนตาย”
หากไม่แกล้งโง่ดักดานเกินไปนัก นักการเมืองที่รับใช้ปตท. ก็ควรรู้ว่า น้ำมันดิบนั้นมีสารที่เป็นพิษต่อร่างกายและสิ่งแวดล้อม ดังเช่นที่ ดร.อาภา หวังเกียรติ อาจารย์วิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต บอกว่า น้ำมันดิบมีองค์ประกอบที่เป็นสารพิษอยู่หลายตัว มีสารอินทรีย์ระเหยง่าย อย่างเบนซิน โทลูอีน ไซลีน ซึ่งเป็นสารที่ทำให้ชาวบ้านมาบตาพุดเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวจำนวนมาก จากการที่มีโรงกลั่นน้ำมันตั้งอยู่
อีกทั้งยังมีโลหะหนักบางตัว เช่น นิกเกิล โครเมียม ปรอท หรืออาจมีสารบางตัว เช่น ซัลไฟด์ องค์ประกอบพวกโลหะหนักนั้นมันจะเพิ่มขยายเท่าตัวในสิ่งมีชีวิต เช่น สัตว์ตัวใหญ่กินตัวเล็กสารพิษก็จะเพิ่มเท่าตัว แล้วคนก็เป็นอันดับสุดท้ายในห่วงโซ่อาหาร ฉะนั้นคนก็จะได้รับสารพิษในระดับเข้มข้นมากที่สุด การที่สารเคมีตกค้างในห่วงโซ่อาหารเป็นผลกระทบระยะยาวมาก ด้วยตัวน้ำมันดิบเองก็อันตรายอยู่แล้ว นี่ยังไปเพิ่มสารอันตรายคือสารที่ใช้สลายคราบน้ำมันเข้าไปอีก
สารพิษจากน้ำมันดิบและสารเคมีสลายคราบน้ำมันมีอันตรายแน่นอน แต่ยังมีนักการเมืองบางคนออกมาหลอกหลวงประชาชน ดรามากันถึงขั้นถอดเสื้อผ้าใส่ชุดว่ายน้ำลงเล่นน้ำทะเลที่อ่าวพร้าวพร้อมขุดทรายโชว์ โดยเจ้าเก่า นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี ที่ลงมาติดตามกู้คราบน้ำมันดิบเมื่อวันที่ 8 ส.ค. 56 ที่ลงเล่นน้ำทะเลพร้อมกับนายบวร วงศ์สินอุดม กรรมการผู้จัดการใหญ่ พีทีทีจีซี ซึ่งยืนยันว่าน้ำทะเลและหาดทรายที่อ่าวพร้าวใสสะอาดปลอดภัยแล้ว
ต่อมา เมื่อคพ.แถลงว่า อ่าวพร้าวมีสารปรอทเกินค่ามาตรฐาน นายปลอดประสพ ก็แสดงอาการยั๊วะตามนิสัยเพื่อกลบเกลื่อนความจริง “เรื่องสารปรอทที่ว่ามี มันมีเมื่อน้ำมันยังดำอยู่ เมื่อ 9 วันที่แล้ว ไม่ใช่วันนี้ วันนี้มันไม่มีอะไรแล้ว และผมก็ไปว่ายน้ำมา 3-4 วัน ถ้าตายผมก็ตายไปเรียบร้อยแล้ว” คำสัมภาษณ์ของนายปลอดประสพ ที่สะท้อนรอยหยักในสมองได้เป็นอย่างดี
ประเด็นความเป็นพิษของสารปรอทที่เกินค่ามาตรฐานนั้น ไม่ใช่อันตรายจากการสัมผัสลงเล่นน้ำทะเล หรือการเกิดพิษเฉียบพลันแต่ประการใด แต่อยู่ที่การปนเปื้อนในห่วงโซ่อาหารของสัตว์น้ำ ดังเช่นที่ดร.อาภา กล่าวไว้ข้างต้น และ นพ.วินัย วนานุกูล ผอ.ศูนย์พิษวิทยา รพ.รามาธิบดี ที่บอกว่า ผลกระทบจากการเล่นน้ำ ไม่น่าห่วงเท่ากับการปนเปื้อนในห่วงโซ่อาหารของสัตว์น้ำ เพราะทำให้ร่างกายของปลาหรือสัตว์น้ำมีสารตกค้าง คนรับประทานก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน โดยสารที่คาดว่าจะตกค้างในอาหารทะเลที่น่าจะพบมากที่สุด ได้แก่ เนื้อปลา หน่วยงานของรัฐจึงควรเร่งสำรวจสารตกค้างในอาหารทะเลในพื้นที่ดังกล่าว
นั่นเป็นความเห็นและข้อแนะนำของคุณหมอที่มีจรรยาบรรณวิชาชีพ แต่สำหรับคุณหมอนักการเมือง อย่างเช่น นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สาธารณสุข แล้ว กลับออกมาเล่นลิ้นว่า สารปรอทที่กรมควบคุมมลพิษตรวจพบเกินค่ามาตรฐานนั้น ต้องดูก่อนว่าการมีสารปรอทปนเปื้อนในทะเลนั้นเป็นปัญหาดั้งเดิมของพื้นที่อยู่แล้วหรือไม่ อย่าเพิ่งสรุปว่าเป็นการเกิดจากปัญหาคราบน้ำมัน
ประชาชนเราท่านจึงได้แต่มึนงงสับสนว่า ขณะนี้เครือปตท.มีรัฐมนตรีประจำสำนักงานที่คอยแก้ต่างแก้ข่าวอยู่หลายคนทีเดียว
เช่นเดียวกับคุณหญิงทองทิพ รัตนะรัต ผู้เชี่ยวชาญอุตสาหกรรมปิโตรเลียมและปิโตรเคมี ที่นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานพีทีทีจีซี แต่งตั้งให้เป็นประธานคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงเหตุการณ์น้ำมันดิบรั่ว ที่ออกมาบอกว่า เหตุที่เกิดนั้นเป็นเพราะท่อผิด คนไม่ผิดหรือพูดชัดๆ ก็คือ ปตท.โกลบอลเคมีคอล ไม่ผิด
ถ้อยแถลงของคุณหญิงทองทิพ สรุปว่า ผลจากการตรวจสอบเหตุที่ทำให้น้ำมันรั่วไหลในทะเลเกิดจากท่อรั่ว หรือ Material Error และไม่พบปัจจัยภายนอกที่ทำให้ท่อแตก ขณะที่การปฏิบัติงานของพนักงานก่อนการเกิดเหตุเป็นไปตามกระบวนการทุกขั้นตอนจึงไม่ใช่ความผิดพลาดของคนหรือ Human Error และประมาณการน้ำมันที่คาดว่าจะรั่วไหลมีปริมาณทั้งสิ้น 54,341 ลิตร
ส่วนการใช้สารกำจัดคราบน้ำมัน มีการใช้ 2 ชนิด คือ Slickgone NS 30,612 ลิตร โดย 12,000 ลิตรทางอากาศ และ 18,612 ลิตรทางเรือ และ 2.Super-dispersant 25 จำนวน 6,930 ลิตร ซึ่งสารทั้ง 2 อยู่ภายใต้การควบคุมของกรมควบคุมมลพิษ ซึ่งถือว่ามีพิษน้อยสุด โดยการขจัดคราบน้ำมันวันที่ 28 ก.ค. มีการขจัดคราบน้ำมันรวมทั้งสิ้น 42,568 ลิตร สันนิฐานว่าจะขึ้นอ่าวพร้าว เกาะเสม็ด 11,773 ลิตร และสาเหตุที่จำเป็นต้องใช้สารเคมีดังกล่าว โดยเฉพาะSuper dispersant เนื่องจากแสคลื่นขณะนั้นสูงถึง 2 เมตร ไม่สามารถใช้บูมกั้นได้ และการใช้สารก็เพื่อให้ไปย่อยโมเลกุลน้ำมันให้เล็ก เพื่อให้แบคทีเรียและแสงแดดกำจัดไปโดยธรรมชาติได้ง่ายขึ้น
คุณหญิงทองทิพ ยอมรับว่าปริมาณสารเคมีที่ใช้สลายคราบน้ำมันเกิดการใช้มากกว่ามาตรฐานที่กำหนด ตามสัดส่วนใช้สารเคมี 1 ส่วนต่อน้ำมัน 10 ส่วน หรือควรจะใช้สารเคมีเพียงแค่ 5,000 ลิตรต่อปริมาณน้ำมันที่รั่วกว่า 50,000 ลิตร แต่สภาพคลื่นทะเลและความเร็วลมแรงกว่าปกติ ทำให้จำเป็นต้องเร่งใช้สารเคมีกำจัดน้ำมันโดยเร็ว แต่ยืนยันว่าสารเคมีดังกล่าวไม่เป็นอันตรายต่อสัตว์น้ำ เพราะสารเคมีที่ใช้ได้ผ่านการตรวจสอบมาตรฐานสากลและเป็นที่ยอมรับจากทั่วโลกว่าปลอดภัย ไม่ก่อให้เกิดมะเร็งหรือการขยายพันธุ์สัตว์น้ำแต่อย่างใด
แต่ไม่ว่าคณะกรรมการฯ ชุดคนกันเองของพีทีทีจีซี จะรับประกันเช่นใด เครือปตท.ก็ไม่อาจสร้างความไว้วางใจต่อสาธารณชนได้อีกต่อไปแล้ว ยิ่งรัฐบาลและเครือปตท.ต้องการกลบเกลื่อนให้เรื่องนี้จบลงโดยเร็ว และเมินเฉยข้อเรียกร้องของประชาชนที่ต้องการให้ตั้งคณะกรรมการกลาง มีตัวแทนจากหลายภาคส่วนเข้ามาตรวจสอบให้สิ้นสงสัยและวางแผนแก้ไขปัญหา ก็เท่ากับว่าเครือปตท.กำลังเดินเข้าสู่เส้นทางความไร้ธรรมาภิบาล ซึ่งเวลานี้ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ก็สั่งชะลอรางวัล “องค์กรโปร่งใส เกียรติยศแห่งคุณธรรมและจริยธรรมและความซื่อสัตย์สุจริต” ประจำปี 2555 ที่พีทีทีซีจี เป็น 1 ใน 17 บริษัทที่ได้รับรางวัลนี้ ออกไปก่อนเพื่อรอดูความรับผิดชอบของพีทีทีจีซีต่อสังคมว่ายังสมควรที่จะได้รับรางวัลนี้อยู่หรือไม่?