xs
xsm
sm
md
lg

ท่อผิด!ปตท.ไม่ผิด ดาหน้าโต้ไร้สารปรอท

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-“คุณหญิงทองทิพ” กางผลสอบทะเลสีดำที่ระยอง เกิดจากท่อ ไม่พบคนผิดพลาด ยันมีน้ำมันรั่วแค่ 5.43 หมื่นลิตร เสนอ PTTGC ตั้งคณะทำงานสอบเชิงเทคนิคต่อ คนรัฐจี๊ด! กรมควบคุมมลพิษแฉพบสารปรอทเกินมาตรฐาน โดดอุ้ม ปตท. กันเป็นแถว หมอจี้ "ชูวิทย์-ปลอด" พบหมอตรวจฉี่ แพทย์ห่วงปนเปื้อนในสัตว์น้ำ ปชป.ขย่มอีก รัฐอย่าทำตัวเป็นสุนัขรับใช้ปตท.

คุณหญิงทองทิพ รัตนะรัต ผู้เชี่ยวชาญอุตสาหกรรมปิโตรเลียมและปิโตรเคมี ในฐานะประธานคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงเหตุการณ์น้ำมันดิบรั่วไหลของ บมจ.พีทีที โกลบอลเคมีคอล หรือ PTTGC เปิดเผยว่า ผลจากการตรวจสอบเหตุที่ทำให้น้ำมันรั่วไหลในทะเลเกิดจากท่อรั่ว หรือ Material Error และไม่พบปัจจัยภายนอกที่ทำให้ท่อแตก ขณะที่การปฏิบัติงานของพนักงานก่อนการเกิดเหตุเป็นไปตามกระบวนการทุกขั้นตอน จึงไม่ใช่ความผิดพลาดของคนหรือ Human Error จึงเสนอให้มีการตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาหาสาเหตุท่อแตกทางเทคนิคต่อไป

สำหรับแนวทางการตรวจสอบได้ลำดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตั้งแต่น้ำมันดิบรั่วเวลา 06.30 น.ของวันที่ 27 ก.ค. และมีการสั่งปิดวาล์ทั้งหมดในเวลา 06.45 น. ทำให้น้ำมันในเรือไม่สามารถรั่วไหลอีก และท่อใต้ทะเลก็ไม่ไหลย้อนกลับมา มีเพียงน้ำมันที่ค้างอยู่ระหว่างจุดเชื่อมต่อท่อน้ำมันบนเรือและทุ่นเท่านั้น ดังนั้น ได้กำหนดให้ท่อ 24 นิ้วยาว 245 เมตร โดยตั้งสมมติฐานให้น้ำมันไหลออก 60% และท่อ 16นิ้วยาว 55 เมตร ให้น้ำมันไหลออกทั้งหมด ซึ่งถือเป็นกรณีที่เลวร้ายสุด และประมาณการน้ำมันไหลออกขณะปิดวาล์ว เวลา 20 วินาที ให้อัตราการสูบถ่ายเมื่อวาล์วเปิดเต็มที่ 1,111 ลิตรต่อวินาทีต่อท่อแล้ว พบว่าน้ำมันที่คาดว่าจะรั่วไหลมีปริมาณทั้งสิ้น 54,341 ลิตร

ส่วนการใช้สารกำจัดคราบน้ำมัน มีการใช้ 2 ชนิด คือ Slickgone NS 30,612 ลิตร โดย 12,000 ลิตรทางอากาศ และ 18,612 ลิตรทางเรือ และ 2.Super-dispersant 25 จำนวน 6,930 ลิตร ซึ่งสารทั้ง 2 อยู่ภายใต้การควบคุมของกรมควบคุมมลพิษ(คพ.) ซึ่งถือว่ามีพิษน้อยสุด โดยการขจัดคราบน้ำมันวันที่ 28 ก.ค. มีการขจัดคราบน้ำมันรวมทั้งสิ้น 42,568 ลิตร สันนิฐานว่าจะขึ้นอ่าวพร้าว เกาะเสม็ด 11,773 ลิตร และสาเหตุที่จำเป็นต้องใช้สารเคมีดังกล่าว โดยเฉพาะSuper dispersant เนื่องจากแสคลื่นขณะนั้นสูงถึง 2 เมตร ไม่สามารถใช้บูมกั้นได้ และการใช้สาร ก็เพื่อให้ไปย่อยโมเลกุลน้ำมันให้เล็ก เพื่อให้แบคทีเรียและแสงแดดกำจัดไปโดยธรรมชาติได้ง่ายขึ้น

“เวลา 15.40 น. ของวันที่ 27 ก.ค. มีการรายงานว่าน้ำมันกำลังเคลื่อนตัวไปทางใต้ของเกาะเสม็ด หากไม่ทำอะไรจะขึ้นเกาะมันนอก วันที่ 30 ก.ค. และขึ้นฝั่งอ่าวทุ่งกระเบน 31 ก.ค. ซึ่งการทำงานไม่ต้องการให้ขึ้นฝั่ง เพราะจะอันตรายกว่ามาก เพราะไม่สามารถจะใช้สารเคมีใดๆ ได้ เพราะจะอันตรายกว่า จึงแจ้งนำเครื่องบินจากสิงคโปร์มาโปรยสารเคมีเพิ่ม เพราะเรืออย่างเดียวไม่พอแต่เครื่องบินก็มาช้ากว่าแผน และเมื่อรวมขั้นตอนศุลกากรเลยช้าไปถึง 9 ชั่วโมงกว่า และมาถึงก็เริ่มปฏิบัติงาน แต่ก็ยังมีน้ำมันเล็ดลอยขึ้นอ่าวพร้าว ส่วนการตรวจสอบท่อก็เป็นไปตามมาตรฐานอุตาหกรรมทุกด้าน”คุณหญิงทองทิพกล่าว

ทั้งนี้ คณะทำงานได้เสนอให้ 1.PTTGC ตั้งคณะทำงานเพื่อสอบสวนเพื่อหาสาเหตุการแตกของท่อโดยผู้เชี่ยวชาญทางเทคนิคต่อไป 2.ตั้งคณะทำงานเพื่อประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและจัดทำแผนฟื้นฟูทั้งระยะสั้นและยาว 3.ควรมีการทบทวนเตรียมพร้อมในการปฏิบัติงานของสมาคมอนุรักษ์สภาพแวดล้อมของกลุ่มอุตสาหกรรมน้ำมัน 4.หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรมีการทบทวนแผนตอบโต้สภาวะฉุกเฉินระดับจังหวัดและแผนระดับชาติ 5.หน่วยงานที่เกียวข้องควรจัดทำแผนปฏิบัติการน้ำมันเมื่อขึ้นฝั่งและมีการซ้อมแผนอย่างจริงจัง 6.ควรตั้งคณะกรรมการเพื่อประสานความร่วมมือแก้ไขปัญหาจากหน่วยงานต่างๆ ของรัฐเพื่อพร้อมต่อการปฏิบัติการอย่างมีประสิทธิภาพ

***"เพ้ง"จี๊ด คพ.ปล่อยข่าวสารปรอทเกินค่า

นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวหลังการรับฟังคำชี้แจงว่า PTTGC ได้ตั้งคณะทำงานที่ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิ 5 ท่านจากวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย (วสท.) และคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่มีผศ.ดร.ก่อเกียรติ บุญชูกุศล เป็นประธาน เพื่อดูในเชิงเทคนิคต่อไป ซึ่งคาดว่าจะสรุปได้ภายใน 1 เดือนนี้ ส่วนข้อเสนอที่ให้ซื้อเครื่องบินเพื่อนำมาใช้เองนั้น เห็นด้วยว่าจำเป็น อย่างน้อยคงจะต้องมี 2 ลำ ผู้ค้าน้ำมันคงต้องไปพิจารณาร่วมกัน”นายพงษ์ศักดิ์กล่าว

สำหรับกรณีที่กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ได้เผยถึงการตรวจสอบคุณภาพน้ำทะเลชายหาดและพื้นที่อ่าวต่างๆ รอบเกาะเสม็ด จ.ระยอง พบว่าบริเวณอ่าวพร้าวและอ่าวทับทิม มีปริมาณสารปรอทเกินค่ามาตรฐานที่กำหนดเอาไว้ ซึ่งค่ามาตรฐานปรอทในคุณภาพน้ำทะเลต้องไม่เกิน 0.1 ไมโครกรัมต่อลิตร แต่พบว่าที่อ่าวพร้าวมีค่าสูงถึง 2.9 ไมโครกรัมต่อลิตร โดยเป็นการเก็บตัวอย่างเมื่อวันที่ 3 ส.ค. ก็ไม่ได้อยากไปแทรกแซงการทำงาน แต่ขณะเดียวกันได้มอบให้ PTTGC ไปเก็บน้ำมันดิบมาทดสอบก็พบว่ามีสารปรอทเฉลี่ย 1.5-2.8 ไมโครกรัมต่อลิตรเท่านั้น ซึ่งเมื่อลงสู่ทะเล ค่าก็ควรจะต่ำกว่านี้ จึงไม่ทราบสาเหตุว่า คพ. มีการเก็บตัวอย่างน้ำมันดิบอย่างไรกันแน่ จึงให้ประสานไปยังคพ.เพื่อดูรายละเอียดอีกครั้ง

***"ปลอด"สั่งรื้อระเบียบใช้ล้อมคอก

นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงแผนฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมที่เกาะเสม็ด หลังเหตุการณ์น้ำมันรั่วว่า ทั้งหมดจะทำตามกรอบที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ไว้ โดยจะแก้ไขระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีให้มีความทันสมัย มีประสิทธิภาพและทันต่อเวลา เนื่องจากระเบียบฉบับเดิมมีมานานและไม่เคยใช้ โดยระเบียบใหม่นี้จะแบ่งงานออกเป็น 2 ด้าน คือ 1.ด้านการเผชิญเหตุ เมื่อเกิดเหตุก็สามารถแก้ไขปัญหาได้ทันที เพื่อลดผลกระทบเฉพาะหน้า โดยมีกองทัพเรือเป็นผู้รับผิดชอบ 2.ด้านการฟื้นฟู ที่มีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นผู้รับผิดชอบ

ส่วนการตรวจสอบสารปรอทของกรมควบคุมมลพิษ จะนำข้อมูลที่เก็บตัวอย่างในวันที่ 3 ส.ค. มาพูดวันที่ 14 ส.ค. ไม่ได้ เพราะจะทำให้ประชาชนตกใจ โดยยืนยันว่าวันนี้ ที่เกาะเสม็ดปลอดภัย สามารถลงเล่นน้ำได้ตามปกติ เพราะถ้าอันตราย ตนไปว่ายน้ำมา 3-4 วันแล้ว ถ้าตาย ตนก็ตายไปเรียบร้อยแล้ว

***สธ.ออกตัวรับแทน ปตท. อีกราย

นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า จากการตรวจปัสสาวะคนมากกว่า 1,000 คน พบมีสารอนุพันธ์ของเบนซีนเกินค่ามาตรฐานที่เฝ้าระวังเพียง 1 คน ส่วนการตรวจอาหารทะเลกว่า 1,000 ตัวอย่าง ก็ยังไม่พบสารตกค้างเช่นกัน ซึ่งเรื่องนี้ขอให้ประชาชนวางใจ เพราะรัฐบาลไม่มีการเอาเรื่องรายได้จากการท่องเที่ยวมาแลกกับสุขภาพของประชาชนอย่างแแน่นอน และยืนยันว่า ปตท. พร้อมที่จะให้ความรับผิดชอบอย่างเต็มที่

***หมอจี้ "ปลอด-ชูวิทย์"ตรวจฉี่

นพ.ปรีชา เปรมปรี ผู้อำนวยการสำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมโรค กล่าวว่า นักการเมืองที่ลงเล่นน้ำโชว์ทั้งนายปลอดประสพ สุรัสวดี นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ก็ควรมาตรวจร่างกายเพื่อความปลอดภัย ทั้งการตรวจเลือด และปัสสาวะ หาสารปรอทตกค้าง

***น่าห่วงผลกระทบตกค้างในสัตว์น้ำ

นพ.วินัย วนานุกุล ผู้อำนวยการศูนย์พิษวิทยา รพ.รามาธิบดี กล่าวว่า ผลกระทบจากการเล่นน้ำ ไม่น่าห่วงเท่ากับการปนเปื้อนในห่วงโซ่อาหารของสัตว์น้ำ เพราะทำให้ร่างกายของปลาหรือสัตว์น้ำมีสารตกค้าง คนรับประทานก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน โดยสารที่คาดว่าจะตกค้างในอาหารทะเลที่น่าจะพบมากที่สุด ได้แก่ เนื้อปลา หน่วยงานของรัฐจึงควรเร่งสำรวจสารตกค้างในอาหารทะเลในพื้นที่ดังกล่าว

***"ชูวิทย์"แขวะเรียก"ปลอด"พบหมอ

นายชูวิทย์ กมลวิศิษฐ์ หัวหน้าพรรครักประเทศไทย โพสต์ข้อความลงบนเฟซบุ๊กส่วนตัว "ชูวิทย์ I'm No.5" ว่า กำลังไปตรวจเช็คร่างกาที่ ร.พ.กรุงเทพ หลังจากที่เมื่อ2อาทิตย์ก่อนไปดำน้ำที่อ่าวพร้าวเพื่อพิสูจน์คราบน้ำมัน ดังนั้น จึงต้องไปตรวจว่าในร่างกายมีสารปรอทหรือไม่ หลังจากที่กรมควบคุมมลพิษออกมาระบุว่า ทะเลในอ่าวพร้าวมีปริมาณของสารปรอทมากกว่าปกติ 29เท่า พร้อมทั้งขอให้นายปลอดประสพไปตรวจด้วย เพราะลงไปว่ายน้ำเหมือนกัน

****ปชป.จี้PTTGCจริงใจเยียวยาผู้เสียหาย

นายสาธิต ปิตุเตชะ ส.ส.ระยอง พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการแก้ไขปัญหาน้ำมันรั่วที่เกาะเสม็ด จ.ระยองว่า ตนขอเรียกร้องความจริงใจจากบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) ที่ประกาศจะรับผิดความเสียหายที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์ดังกล่าวทั้งหมด เพราะขณะนี้การจ่ายเงินชดเชยเยียวค่าเสียหาย มีความพยายามจะจ่ายให้น้อยที่สุด เร่งให้ประชาชนมารับค่าเสียหายโดยเร็ว ทั้งที่ชาวบ้านยังไม่ทราบว่าในระยะยาวจะได้รับผลกระทบอะไรบ้าง จึงไม่เดินทางไปรับค่าเสียหายในช่วงนี้ รวมทั้งการระบุว่าหากไม่พอใจให้ชาวบ้านยื่นอุทธรณ์นั้น ถือเป็นเรื่องยุ่งยาก เพราะชาวบ้านเข้าถึงเรื่องนี้ได้ยาก

"ขอเรียกร้องรัฐบาลอย่าทำตัวเป็นสุนัขรับใช้ ปตท. โดยต้องเรียร้องค่าเสียหายให้ประชาชน เนื่องจาก ปตท. ก็ไม่ได้จ่ายค่าเสียหายเอง มีบริษัทประกันภัยจากต่างประเทศเป็นผู้จ่ายเงิน ซึ่งการที่รัฐบาลเรียกร้องไม่ให้ชาวบ้านฟ้อง ปตท. ถือว่าผิดหลักการ"
กำลังโหลดความคิดเห็น