เกิดเป็นกระแสการทวงถามความรับผิดชอบจากบริษัท ปตท.โกลบอล เคมีคอล หรือ พีทีทีจีซีขึ้นอีกครั้งว่า แล้วไงต่อ..ใครจะรับผิดชอบ..?! เมื่อกรมควบคุมมลพิษออกมาบอกว่า น้ำทะเลอ่าวพร้าว มีค่าปรอทสูงเกิน 29 เท่าจากค่ามาตรฐาน ในขณะที่ PTTGC ไม่เชื่อว่า สารปรอทที่ตรวจพบ มาจากน้ำมันดิบรั่วไหลลงทะเล..เห็นทีเรื่องนี้คงไม่จบลงง่าย ๆ เสียแล้ว
โอ้อ่าวพร้าว พบสารปรอทเกิน 29 เท่า!
กลายเป็นเรื่องขึ้นมาทันที เมื่อ วิเชียร จุ่งรุ่งเรือง อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ออกมาแถลงผลการตรวจสอบคุณภาพน้ำทะเล ชายหาดและอ่าวต่างๆ รอบเกาะเสม็ด จ.ระยอง จำนวน 12 หาด ซึ่งเก็บตัวอย่างในวันที่ 3 ส.ค. ปรากฏความเป็นกรด-ด่าง ค่าออกซิเจนละลายน้ำ มีค่าไม่เกินค่ามาตรฐานที่กำหนดไว้ ผลการตรวจโลหะหนัก ทั้ง 12 หาด พบสารหนูมีค่าไม่เกินมาตรฐานคุณภาพน้ำทะเลที่กำหนดไว้ 10 ไมโคกรัมต่อลิตร ในขณะที่แคดเมียมมีค่าไม่เกินค่ามาตรฐานคุณภาพน้ำทะเลที่กำหนดไว้ที่ 0.5 ไมโครกรัมต่อลิตร
ส่วน "ค่าปรอท" ส่วนใหญ่มีค่าไม่เกินค่ามาตรฐานคุณภาพน้ำทะเลที่กำหนดไว้ 0.1 ไมโครกรัมต่อลิตร ยกเว้นที่ "อ่าวพร้าว" มีค่า 2.9 ไมโครกรัมต่อลิตร หรือ 29 เท่า และอ่าวทับทิม มีค่า 0.25 ไมโครกรัมต่อลิตร
สำหรับผลการตรวจวัดโพลีไซคลิก อะโรมาติก ไฮโดรคาร์บอน (PAHs) อยู่ในระดับค่าไม่เกินมาตรฐาน (มาตรฐานของ USEPA ที่กำหนดไว้ ระดับต่ำสุดที่มีผลกระทบต่อสัตว์น้ำ 300 ไมโครกรัมต่อลิตร) สำหรับผลการตรวจวัดปิโตรเลียมไฮโดรคาร์บอน ( TPH) ในขณะนี้ยังวิเคราะห์ผลไม่แล้วเสร็จ และคาดว่าจะแถลงผลการตรวจวิเคราะห์ให้ทราบในวันที่ 15 ส.ค.นี้
ทั้งนี้ในส่วนของ "อ่าวทับทิม" ที่มีค่าสารปรอทเกินค่ามาตรฐานนั้น ทางกรมควบคุมมลพิษระบุว่า ไม่ได้เกิดจากการรั่วไหลของน้ำมันในอ่าวไทย แต่คาดว่าจะเกิดจากกิจกรรมการปล่อยน้ำเสียลงหาด ทางคพ. จะติดตามตรวจสอบอย่างละเอียดและมีมาตรการดำเนินการอีกครั้ง ส่วนจะต้องปิดอ่าวห้ามนักท่องเที่ยวเข้าพื้นที่หรือไม่ ไม่ใช่อำนาจของกรมควบคุมมลพิษ แต่เป็นอำนาจของกรมอุทยานฯ
"ส่วนตัวเห็นว่า ยังไม่ควรเปิดอ่าวพร้าวให้ประชาชนเข้าไปท่องเที่ยว ซึ่ง คพ. จะนำผลวิเคราะห์ครั้งนี้ส่งไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเช่น กรมอุทยานฯ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กรมประมง กรมเจ้าท่า ต่อไป" อธิบดีกรมควบคุมมลพิษเผย
อย่างไรก็ดี ผลการเก็บตัวอย่างน้ำทะเลข้างต้น เป็นการเก็บตัวอย่างครั้งแรกเมื่อวันที่ 3-4 ส.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งคาดว่าตัวเลขสารต่างๆ น่าจะลดลงตามลำดับ ขอแนะนำให้ประชาชน และนักท่องเที่ยวควรหลีกเลี่ยงการเล่นน้ำในพื้นที่อ่าวพร้าว และอ่าวทับทิมของเกาะเสม็ดไปก่อน จนกว่าจะทราบผลการตรวจวิเคราะห์คุณภาพน้ำครั้งที่ 2 ที่เก็บตัวอย่างเมื่อวันที่ 8 ส.ค. ที่คาดว่าจะทราบผลในวันที่ 15 ส.ค.
ทางที่ดี อย่าเพิ่งแตกตื่น เพราะสถานการณ์อาจเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ และมีแนวโน้มว่าจะดีขึ้นจากการฟื้นฟูคุณภาพน้ำทะเลอย่างต่อเนื่อง โดยทางกรมควบคุมมลพิษจะเก็บตัวอย่างน้ำทะเลจากแหล่งเดิม เพื่อนำมาตรวจสอบทุกสัปดาห์ และจะประกาศผลการตรวจสอบต่อสาธารณะอย่างต่อเนื่อง
ส่วนอันตรายจากสารปรอทในน้ำ หากอยู่ในระดับเกิน 0.1 ไมโครกรัมต่อลิตร เมื่อลงไปเล่นน้ำหรือแช่น้ำนานๆ อาจทำให้เกิดการระคายเคืองผิวหนังได้ หากกลืนน้ำทะเลที่มีสารปรอทปนเปื้อนเข้าไป อาจจะส่งผลกระทบต่อร่างกายรุนแรงในระยะยาวจนเป็นโรคมินามาตะ เหมือนที่เคยเกิดในญี่ปุ่น
เมื่อ PTTGC ไม่เชื่อ! สารปรอทมาจากน้ำมันรั่ว
ต่อกรณีผลตรวจสอบคุณภาพน้ำทะเลที่เกิดขึ้น ได้เกิดกรณีไม่เชื่อจากฝั่งของบริษัท ปตท.โกลบอล เคมีคอล หรือ พีทีทีจีซี (PTTGC) โดย บวร วงศ์สินอุดม กรรมการผู้จัดการใหญ่ พีทีทีจีซี ได้ออกมาชี้แจงผ่านไทยรัฐออนไลน์เมื่อวันที่ 13 ส.ค.ว่า ยังไม่ได้รับรายงานผลตรวจสอบจากกรมควบคุมมลพิษแต่อย่างใด และไม่เชื่อว่า สารปรอทในน้ำทะเลอ่าวพร้าวเกิดจากน้ำมันรั่ว เพราะน้ำมันดิบที่นำเข้ามา เป็นน้ำมันจากแหล่งตะวันออกกลาง ซึ่งไม่มีสารปรอทปนเปื้อนในเนื้อน้ำมัน แต่เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชนและนักท่องเที่ยว ทางพีทีทีจีซี จะตรวจสอบเรื่องดังกล่าวให้เกิดความชัดเจนต่อไป
สำหรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ก็อดห่วงไม่ได้ต่อกรณี นายปลอดประสพ ลงว่ายน้ำ และเล่นน้ำบริเวณอ่าวพร้าว เกาะเสม็ด จ.ระยอง พร้อมด้วยนายบวร วงศ์สินอุดม กรรมการผู้จัดการใหญ่ บ.พีทีทีจีซี เมื่อวันที่ 8 ส.ค. ที่ผ่านมา ทั้งยังได้ขุดทรายโชว์ให้ผู้สื่อข่าวดูด้วย โดยยืนยันว่า น้ำทะเลที่อ่าวพร้าวแห่งนี้ใสสะอาดปลอดภัย และหาดทรายขาวสะอาดแล้ว ซึ่งได้รับการฟื้นฟูจนกลับคืนสู่สภาพปกติเกือบจะ 100 เปอร์เซ็นต์แล้ว
แต่เมื่อมีผลตรวจคุณภาพน้ำทะเลในบริเวณดังกล่าวออกมาแบบนี้ แม้ทางบ.พีทีทีจีซี จะยืนยันไม่เชื่อว่าเป็นผลมาจากน้ำมันดิบรั่วไหลกลางทะเลตามที่เป็นข่าวใหญ่ไปทั่ว ก็คงต้องติดตามดูอาการหลังจากนี้ด้วยความลุ้นระทึกกันต่อไป
ส่วน ชูวิทย์ กมลวิศิษฐ์ หัวหน้าพรรครักประเทศไทย ล่าสุดได้โพสข้อความลงบนเฟซบุ๊กส่วนตัว "ชูวิทย์ Im No.5" ว่ากำลังไปตรวจเช็คร่างกายที่ร.พ.กรุงเทพ หลังจากที่เมื่อ 2 อาทิตย์ก่อนไปดำน้ำที่อ่าวพร้าวเพื่อพิสูจน์คราบน้ำมัน ดังนั้นจึงต้องไปตรวจว่าในร่างกายมีสารปรอทหรือไม่ หลังจากที่กรมควบคุมมลพิษออกมาระบุว่า น้ำทะเลในอ่าวพร้าวมีปริมาณของสารปรอทมากกว่าปกติ 29 เท่า
แท้จริงแล้ว สารปรอทมาจากไหน?
เป็นอีกหัวข้อที่ใครหลายคนเกิดความสงสัยว่าแท้จริงแล้วสารปรอทมาจากไหนกันแน่ เพราะทางบ.พีทีทีจีซียืนยันว่า น้ำมันดิบที่นำเข้ามา และเกิดการรั่วไหล ไม่มีสารปรอทปนเปื้อนในเนื้อน้ำมัน โดยเรื่องนี้ ทีมข่าว ASTVผู้จัดการ Live ได้สอบสอบถามไปยัง นพ.วิวัฒน์ เอกบูรณะวัฒน์ แพทย์อาชีวเวชศาสตร์และเวชศาสตร์สิ่งแวดล้อม ให้ข้อมูลในภาพรวมต่อกรณีที่เกิดขึ้นว่า โดยทั่วไป สารปรอทจะมีตามธรรมชาติ และปะปนอยู่ในน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติจากบางแหล่ง ซึ่งในกรณีนี้ไม่อาจชี้ชัดว่า มาจากน้ำมันรั่วครั้งล่าสุดหรือไม่ แต่ตามหลักแล้ว การขนน้ำมันเข้ามา จะผ่านการตรวจวัดสารต่าง ๆ ซึ่งทางบ.พีทีทีจีซี ต้องนำข้อมูลดังกล่าวมากางให้เห็นว่า ไม่มีสารปรอทปนเปื้อนในเนื้อน้ำมันตามข่าว
นอกจากนี้ มีหลายฝ่ายตั้งคำถามถึงสารปรอทที่อาจมาจากสารเคมีที่ทางบ.พีทีทีจีซีใช้ในการสลายคราบน้ำมัน ซึ่งเป็นไปได้หรือไม่ นพ.วิวัฒน์ ให้เหตุผลส่วนตัวว่า ไม่น่าจะมีสารปรอทในสารเคมีสลายคราบน้ำมันดังกล่าว
อย่างไรก็ดี มีข้อมูลเพิ่มเติมจาก นพ.วิวัฒน์ เกี่ยวกับการปนเปื้อนของสารปรอทในอาหารที่มักจะเกิดจากแหล่งน้ำที่เป็นแหล่งของปลา หอย หมึก สัตว์น้ำและสัตว์ทะเลต่างๆ มีการปนเปื้อนของน้ำทิ้งและของเสียจากโรงงานอุตสาหกรรม อีกทั้งการพัฒนาด้านอุตสาหกรรมยังทำให้มีสารเคมีต่างๆ รวมทั้งปรอทเข้าสู่สิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่องด้วย ซึ่งหากแหล่งน้ำมีการปนเปื้อนของปรอท สัตว์น้ำที่อยู่ในบริเวณแหล่งน้ำนั้นก็ปนเปื้อนปรอทตามไปด้วย
ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อมนุษย์นำสายแร่ปรอทมาใช้ประโยชน์กันมากขึ้น ธรรมชาติก็จะยิ่งมีการปนเปื้อนของสารปรอทในดินและน้ำทั่วไป ไอปรอทจากอุตสาหกรรมจะลอยสู่ในอากาศ เมื่อถูกน้ำฝนตกชะลงมาจะตกลงในน้ำหรือลงดินโดยเฉพาะผิวดินที่อยู่ตื้นๆ เมื่อธาตุปรอทปะปนอยู่ในน้ำจะเกิดกระบวนการเปลี่ยนแปลงกลายเป็นปรอทอินทรีย์ โดยสัตว์น้ำขนาดเล็ก จากนั้นจะเข้าสู่ห่วงโซ่อาหาร จากในสัตว์น้ำขนาดเล็ก ไปสะสมในปลาเล็ก ในปลาใหญ่ โดยมีความเข้มข้นมากขึ้นเรื่อยๆ ในปลาขนาดใหญ่บางชนิด เช่น ปลาปากดาบที่กินปลาเล็กอื่นๆ อาจสะสมสารปรอทเอาไว้ในเนื้อเยื่อในความเข้มข้นสูงได้ อันจะนำไปสู่การได้รับสารปรอทเมื่อมนุษย์บริโภคปลาเหล่านี้เข้าไป
ไม่แปลก ที่สารปรอทจะเป็น 1 ใน 4 สารพิษอันตรายที่อาจพบได้ภายในที่อยู่อาศัยของมนุษย์ ได้แก่ ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ ควันบุหรี่ เชื้อรา และสารปรอท โดยแหล่งสารปรอทในบ้านมักมาจากการปนเปื้อนในอาหาร โดยเฉพาะในปลาทะเลตัวใหญ่ เช่น ฉลาม ปลาทูน่า เนื่องจากปลาใหญ่เหล่านี้ จะมีช่วงชีวิตที่ยืนยาว และกินปลาเล็ก ๆ เป็นอาหาร ดังนั้นจึงมีโอกาสที่จะมีสารปรอทสะสมอยู่ในตัวมันค่อนข้างมาก
"สารปรอท" อันตรายที่ควรทราบ
ลึกลงไปถึงอันตรายจากสารปรอท (Mercury) มีข้อมูลจากศูนย์ข้อมูลพิษวิทยา ให้ความรู้ว่า ปรอทเป็นโลหะสีขาวคล้ายเงิน เป็นของเหลวที่อุณหภูมิปกติ สามารถทำให้เป็นของแข็งได้แต่เปราะที่อุณหภูมิปกติ ปรอทสามารถระเหยกลายเป็นไอได้ ทำให้เป็นอันตรายต่อร่างกายได้ง่ายขึ้น
พิษจากสารปรอท สามารถทำอันตรายต่อร่างกายมากน้อยเพียงใด ขึ้นอยู่กับเหตุการณ์และปัจจัยดังนี้ คือ 1. ทางที่พิษเข้าสู่ร่างกาย เช่น ทางผิวหนัง ทางระบบหายใจ หรือทางระบบย่อยอาหาร 2. ปริมาณที่ได้รับเข้าสู่ร่างกาย และ 3. ชนิดของสารปรอทที่ได้รับเข้าสู่ร่างกาย และอวัยวะส่วนใดของร่างกายที่ได้รับพิษของปรอทในรูปเมทธิลหรืออัลคิล เป็นสารประกอบอินทรีย์ที่มีพิษมากที่สุด
การเกิดพิษจากสารปรอทมีทั้งชนิดเฉียบพลัน และเรื้อรัง พิษชนิดเฉียบพลันมักเกิดจากอุบัติเหตุโดยการกลืนกินสารปรอทเข้าสู่ร่างกาย ซึ่งปริมาณปกติที่ได้รับเข้าสู่ร่างกายและทำให้คนตายได้ โดยเฉลี่ยประมาณ 0.02 กรัม อาการที่เกิดจากการกลืนกินปรอท คือ
- อาเจียน ปากพอง แดงไหม้ อักเสบและเนื้อเยื่ออาจหลุดออกมาเป็นชิ้นๆ
- เลือดออก ปวดท้องอย่างแรง เนื่องจากปรอทกัดระบบทางเดินอาหาร
- มีอาการท้องร่วงอย่างแรง อุจจาระเป็นเลือด
- เป็นลม สลบเนื่องจากร่างกายเสียเลือดมาก
- เมื่อเข้าสู่ระบบหมุนเวียนโลหิต ปรอทจะไปทำลายไต ทำให้ปัสสาวะไม่ออกหรือปัสสาวะเป็นเลือด
- และเสียชีวิตในที่สุด
ส่วนพิษชนิดเรื้อรัง เมื่อปรอทเข้าสู่ร่างกายจะไปทำอันตรายต่อระบบประสาทส่วนกลาง ได้แก่ สมอง และไขสันหลัง ทำให้เสียการควบคุมเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของแขน ขา การพูด และยังทำให้ระบบประสาทรับความรู้สึกเสียไป เช่น การได้ยิน การมองเห็น ซึ่งอันตรายเหล่านี้ เมื่อเป็นแล้วไม่สามารถรักษาให้กลับดีดังเดิมได้ อาการที่เป็นพิษมากเกิดจากการหายใจ ปอดอักเสบ มีอาการเจ็บหน้าอก มีไข้ แน่นหน้าอก หายใจไม่ออกและตายได้
สำหรับการป้องกันอันตรายจากปรอท ทำได้ง่าย ๆ คือ
- ใช้สารอื่นที่เป็นพิษน้อยกว่าแทนสารปรอท เช่น ใช้สารแอมโมเนียของเงินแทนสารประกอบของปรอทในการทำกระจกเงา
- ในกรณีที่มีการรั่วของปรอทให้นำภาชนะที่มีน้ำมารองรับเพื่อป้องกันการระเหยของปรอท
- สวมเสื้อคลุมและถุงมือ เมื่อต้องจับหรือสัมผัสปรอท
- จัดให้มีการระบายอากาศในบริเวณที่ต้องใช้ปรอทเพื่อดูดเอาไอของปรอทที่กระจายอยู่ในบรรยากาศออกไปและทำการกักเก็บมิให้ฟุ้งกระจายไปยังที่อื่น เพื่อให้อากาศในบริเวณพื้นที่ใช้งานบริสุทธิ์ หรือควรมีการกำจัดปรอทอินทรีย์จากโรงงานอุตสาหกรรมที่ถูกต้อง
- ตรวจสอบหาปริมาณของปรอทในบรรยากาศบริเวณใช้งานให้อยู่ในมาตรฐานที่ควบคุมอยู่เสมอ
- สารปรอทและสารประกอบของปรอทควรเก็บในภาชนะที่ปิดสนิทเพื่อป้องกันการระเหยของปรอท
เปิดบทเรียน "พิษปรอท" ในญี่ปุ่น
ทั้งนี้ ยังมีตัวอย่างเหตุการณ์พิษจากปรอทมาให้อ่านเป็นกรณีศึกษา ซึ่งสะกิดให้เห็นการกลับมาห่วงใยสิ่งแวดล้อมมากกว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะโรงงานอุตสาหกรรมที่ผุดขึ้นเป็นจำนวนมาก
เห็นได้จาก โรคมินามาตะ ในปี ค.ศ.1959 เป็นภาวะมลพิษที่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งชื่อ โรคมินามาตะ มาจากชื่อของหมู่บ้านเล็ก ๆ บนเกาะทางตอนใต้ของประเทศญี่ปุ่น ชาวบ้านส่วนใหญ่มีอาชีพเป็นชาวประมง แต่พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ตั้งของโรงงานผลิตปุ๋ยเคมี และสารเคมีชื่อว่า บริษัทนิปปอนชิมโสะ
คนในหมู่บ้านส่วนหนึ่งทำงานอยู่ในโรงงานนี้ ต่อมาเกิดโรคประหลาดขึ้นกับคนในหมู่บ้านแห่งนี้จนกลายเป็นข่าวดังไปทั่วโลก เมื่อมีผู้ป่วยมาพบแพทย์ด้วยอาการเดินเซ ไม่สามารถยืนได้ด้วยด้วยเอง ชาตามแขนขา หูตึง มองเห็นภาพแคบลง พูดไม่ชัด มือสั่น กลืนอาหารลำบาก บางครั้งคลุ้มคลั่ง และมักจะส่งเสียงดังตะโกนคล้ายคนบ้าตลอดเวลา มีอาการนอนไม่หลับ ชักบ่อยๆ แขนขาบิดเบี้ยวคล้ายคนพิการ เพราะกล้ามเนื้อส่วนต่างๆของร่างกายทำงานไม่ประสานกัน อาการทุกอย่างจะรุนแรงขึ้นและเสียชีวิตในเวลาต่อมา ซึ่งแพทย์ไม่สามารถวินิจฉัยได้ว่าเป็นโรคอะไร
จากการสังเกตเห็นความผิดปกติของสัตว์บริเวณนั้น คือ ปลาว่ายน้ำแบบนอนหงายท้องขึ้นและว่ายน้ำช้าลงจนามารถจับได้ด้วยมือเปล่า นกทะเลว่ายน้ำจะบินดิ่งหัวตกทะเล แมวซึ่งเป็นสัตว์เลี้ยงในบ้านก็มีอาการเซ น้ำลายไหล ชัก และตายในเวลาต่อมาจึงเรียกอาการดังกล่าวว่า "โรคแมวเต้น"
ดังนั้น จึงสันนิษฐานกันว่า โรคนี้น่าจะเกิดจากสารเคมี ที่สะสมอยู่ในสัตว์ทะเล และเมื่อคนรับประทานอาหารทะเลเข้าไป ก็จะส่งผลกับร่างกาย หลังจากได้มีการทดลองกับสัตว์และคน ผลที่ได้สามารถสรุปได้ตามที่สันนิษฐานไว้ ในเวลาต่อมาได้มีการนำดินจากบริเวณที่ทิ้งน้ำเสียของโรงงานมาตรวจ พบว่ามีสารปรอทอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งตรงกับการตรวจพบสารปรอทในอวัยวะส่วนต่างๆ ของผู้ป่วยที่ตาย
สรุปได้ว่า โรคมินามาตะ เกิดจากผู้ป่วยได้รับสารปรอทอินทรีย์ที่เกิดจากโรงงานปล่อยน้ำเสียที่มีสารปรอทปนเปื้อนดังที่กล่าวมา โรคนี้ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ เนื่องจากสารปรอทได้เข้าทำลายระบบประสาท และสมอง นอกจากนี้ยังมีผลต่อทารกที่อยู่ในครรภ์มารดา กล่าวคือ มารดาที่รับประทานอาหารทะเลที่ปนเปื้อนสารปรอทเข้าไปแล้ว สารปรอทจะผ่านไปทางรกเข้าสู่สมองเด็ก ทำให้เด็กที่เกิดมามีอาการพิการทางสมองตั้งแต่เกิด เด็กจะมีอาการปัญญาอ่อน
เหตุการณ์ในครั้งนั้น ทำให้รัฐบาลญี่ปุ่นได้นำประสบการณ์ที่ขมขื่นมาเป็นพื้นฐานในการเปลี่ยนแปลงนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมที่สำคัญ ทั้งนี้ความสูญเสียอย่างมหาศาลที่เกิดขึ้น เพราะการพัฒนาประเทศได้มั่งเน้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจ โดยไม่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ทำให้ไม่เพียงสูญเสียชีวิตมนุษย์แต่ยังทำลายสิ่งแวดล้อมด้วย
ส่วนเรื่องสารปรอทของไทยในตอนนี้ เป็นเรื่องที่หน่วยงานควบคุมทางด้านสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงหน่วยงานรัฐต้องเข้ามาช่วยเหลือ ด้วยการตรวจวัดระดับปรอทในน้ำและอากาศอย่างสม่ำเสมอ กรณีที่เกิดปัญหาปรอทปนเปื้อนต้องงดใช้น้ำจากแหล่งที่ปนเปื้อน หรืออาจงดกินปลาและสัตว์น้ำที่จับมาจากแหล่งน้ำที่ปนเปื้อน
แม้จะยังไม่แน่ชัดเรื่องสารปรอทว่ามาจากกรณีน้ำมันดิบรั่วไหลหรือไม่ ก็คงต้องสืบหาความจริงกันต่อไป แต่ก็อดสงสัยไม่ได้ว่า ทำไมตรวจพบสารปรอทที่อ่าวพร้าว (บริเวณที่เกิดน้ำมันดิบรั่วไหล) ซึ่งมีค่าเกิน 2.9 ไมโครกรัมต่อลิตร หรือ 29 เท่า ขณะที่บริเวณอื่น ๆ ไม่พบตัวเลขที่น่าตกใจเช่นนี้
ท้ายที่สุดแล้ว ถ้าพิสูจน์ชี้ชัดว่า สารปรอทมาจากน้ำมันรั่วจริง ถึงเวลาต้องเอาจริงกับ "พีทีทีจีซี" สักที อย่าปล่อยให้ผ่านเลยไปจนเสียนิสัยเด็ดขาด..
ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ Live