ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-23 สิงหาคม 2556 การปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐและผู้ชุมนุมกลุ่มเกษตรกรชาวสวนยางและสวนปาล์มน้ำมัน กลายเป็นประวัติศาสตร์การต่อสู้ของเกษตรกรอีกหน้าหนึ่งที่จะต้องถูกบันทึกไว้ ท่ามกลางความขัดแย้งในสังคมการเมืองสยามประเทศที่ยังยากจะพบเจอแสงสว่างปลายอุโมงค์
เกษตรกรชาวสวนยางได้รับความเดือดร้อนโดยไม่ได้รับการเหลียวแลจากรัฐบาล และยังเพิ่มแรงกดดันให้เกิดวิกฤติ ความแตกร้าวในสังคมมากยิ่งขึ้น ภาพการทำร้ายกลุ่มผู้ชุมนุม การปะทะที่โต้ตอบกันด้วยความเคืองแค้นเป็นเครื่องหมายว่าการต่อสู้ระลอกใหม่ใช่ว่าจะเป็นเรื่องราวที่จบอย่างง่ายดาย ท่ามกลางยุทธการในการแบ่งแยกเพื่อปกครองของฝ่ายรัฐที่สอดแทรกไปในสังคมไทยทุกหัวระแหง ประวัติศาสตร์หน้านี้กำลังถูกจารึก
ท่ามกลางปัญหาเศรษฐกิจในระดับจุลภาคที่ค่อยก่อตัวจนถึงระดับหนึ่ง ความเดือดร้อนของชาวสวนยางพ่อค้าแม่ค้าในอำเภอชะอวด จังหวัดนครศรีธรรมราช ก่อตัวสะสมมาคู่ขนานกันนับแต่ราคายางพาราพืชเศรษฐกิจหลักของประเทศไทย และเป็นเสมือนสายเลือดที่หล่อเลี้ยงชีวิตของครอบครัวเกษตรกรผู้ที่เลือกเดินเส้นทางสายนี้ตกต่ำลงอย่างต่อเนื่อง หน้าตาที่เคยยิ้มแย้ม แจ่มใส รายได้ที่เพิ่มพูนทุกสิ่งค่อยๆลดลงจนสภาพเศรษฐกิจครอบครัวอยู่ในภาวะวิกฤติหนี้สินที่เพิ่มสูงขึ้น รายจ่ายค่าครองชีพที่ถีบตัวสูงขึ้นตามนโยบายกระชากค่าครองชีพ พ่อค้าแม่ค้าขายของได้อย่างยากลำบากทุนหายกำไรหด ความคับแค้นข้องใจถูกก่อตัวขึ้นจนนำไปสู่การนัดหมายพบกันที่ตลาดควนหนองหงส์ ตำบลควนหนองหงส์ อำเภอชะอวด จังหวัดนครศรีธรรมราช
2 สิงหาคม 2556 เป็นวันดีเดย์บ่ายของวันนั้นหลังจากเสร็จภารกิจกรีดยางทำแผ่นดิบ ขายน้ำยางสด หรือทำยางก้นถ้วยแล้วแต่วิธีถนัดของชาวสวนยางทำกัน ชาวสวนยางกลุ่มเล็กๆกลุ่มหนึ่งเริ่มจับกลุ่มกันพูดคุยกันเรื่องยางพาราที่ไร้การเหลียวแลแก้ไขปัญหาจากรัฐบาล ขณะที่ข้าวพืชเศรษฐกิจหลักอีกตัวของประเทศไทยกลับถูกอุ้มชูจนทำลายกลไกตลาดเสียจนยับเยิน กระเทือนถึงภาวะการเงินการคลังของประเทศ รัฐบาลนี้ยังไม่สน แต่เหตุใดยางพาราในประเทศเดียวกันกลับไม่ได้รับสิทธิในมาตรฐานนั้น
จากสองเป็นสี่จากสี่เป็นแปดและทวีคูณนับเนื่องมารวมตัวหลังจากทราบความถึงการพุดคุยพบปะระบายความคับแค้นราวไฟสุมอยู่ในอกของชาวสวนยางที่นี่ แกนนำไม่มี ไมโครโฟนไม่มี ลำโพงไม่มา เต๊นท์ไม่มี ทุกอย่างไม่ได้เตรียมการมา เอกสารข้อเรียกร้องไม่มี ใครไม่ได้มาสนใจจากกลุ่มคนพุดคุย หารือแลกเปลี่ยนลุกลามจนปิดถนนสายนี้อย่างสิ้นเชิง ตำรวจที่ถูกระดมเข้าควบคุมกลับเริ่มมีความตึงเครียดกลุ่มเกษตรกรและลุกหลานเริ่มเขม็งเครียดตั้งแนวปะทะแต่คลี่คลายไปได้ ผู้บริหารทุกระดับจึงนั่งอยู่ไม่ติดหน่วยข่าวทุกหน่วยจึงเริ่มทะลักลงพื้นที่หาข้อมูล
ความผิดพลาดระลอกแรกเริ่มขึ้นอย่างเงียบๆ จะต้องการเอาหน้า หรือเลียนายเป็นเรื่องที่สุดแท้แต่จะคิด มวลชนชาวเกษตรกรเหล่านี้ถูกผลักดันให้เป็นเรื่องของการเมือง
“พวกนี้มันกลุ่มหน้ากากขาว นักการเมืองประชาธิปัตย์อยู่เบื้องหลัง เป็นพวกต่อต้านล้มล้างรัฐบาล”
ข้อความนี้ถูกรายงานไปให้ “นาย”ทุกระดับไปตามลำดับชั้นหรือจะข้ามชั้นเพื่อหน้าตาของผู้รายงาน แต่ชาวบ้านที่ร้อนรุ่มกับความเดือดร้อนที่ได้รับกำลังถูกผลักให้เป็นศัตรูของฝ่ายรัฐไปแล้วอย่างเงียบๆโดยที่ไม่ได้มีมูลแห่งความเป็นจริง จุดยืนของกลุ่มเกษตรกรที่นี่บอกว่าเป็นเรื่องของชาวบ้าน การเมืองไม่เกี่ยว ขณะที่กลุ่มหน้ากากขาวพยายามเข้ามาต่อสายเข้าร่วมแต่กลับต้องล้มไม่เป็นท่าเมื่อถูกชาวบ้านตะเพิดออกไปจนเมื่อเอกสารหลักฐานที่เป็นทางการถูกนำออกมาเผยแพร่เมื่อนั้นจึงรู้ว่าทางการตั้งแต่ระดับจังหวัดคิดอย่างไรกับกลุ่มผู้ชุมนุมกลุ่มนี้ วันแรกของการชุมนุมจึงถูกทอดทิ้งอย่างไม่ใยดีไร้คนสนใจมีเพียงแค่ ทรงพล สวาสดิ์ธรรม รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช มาด้อมๆ มองๆ พยายามเจรจาหาทางออกให้เปิดถนนแต่ไม่ได้รับการตอบรับ
การปิดถนนยังคงเป็นไปอย่างต่อเนื่อง บ่ายๆวันนั้น วิโรจน์ จิวะรังสรรค์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช ลงมาเจรจากับกลุ่มผู้ชุมนุม ที่ส่งกลุ่มนำมาพุดคุยจนได้ข้อตกลงเรื่องของข้อเสนอแล้วเอกสารจึงถูกทำขึ้นอย่างเป็นทางการ ด้วยราคายางแผ่นดิบที่ 120 บาท น้ำยางสด 100 บาทต่อกิโลกรัม ยางก้นถ้วยกิโลกรัมละ 50 บาท ราคาปาล์มน้ำมันที่ 4.50 บาทโดยให้มีผลภายใน 15 วัน และไม่เอาผิดกับผู้ชุมนุมที่ปิดกั้นการจราจร ต่อมานายวิโรจน์ได้เข้าเจรจากับกลุ่มผู้ชุมนุมแต่หาได้พูดถึงความเดือดร้อนใดๆไม่กลับเล่าความหลังครั้งเป็นนายอำเภอ และบอกถึงพระธาตุกำลังจะเป็นมรดกโลก
แต่เมื่อชาวบ้านบอกว่าไม่รู้เรื่องแต่เรื่องราคายางนี้จะทำอย่างไร พ่อเมืองนครศรีธรรมราชคนนี้พูดด้วยน้ำเสียงสั่นเครือและน้ำตาคลอเบ้า เพื่อให้ผู้ชุมนุมยอมสลายการ ชุมนุมและเปิดการจราจร แต่ผลประกฎว่าหลังจากที่นายวิโรจน์ได้เจรจา กลุ่มผู้ชุมนุมได้ถามกลับมาว่าหากภายใน 15 วันไม่ประสบความสำเร็จผู้ว่าราชการจังหวัดพร้อมที่จะมานั่งร่วมชุมนุมกับประชาชนหรือไม่ ปรากฏว่านายวิโรจน์ตอบว่าสามารถเดินทางมาชะอวดได้ตลอดเวลา ทำให้กลุ่มผู้ชุมนุมไม่พอใจสถานการณ์จึงพลิกกลับและยืนยันว่าจะเดินหน้าในการชุมนุมอย่างต่อเนื่อง ไม่นานนักนายวิทยา แก้วภราดัย ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ที่ถูกขอร้องให้ช่วยแก้ปัญหามาถึงได้มาหารือกับนายวิโรจน์ก่อนที่จะขึ้นเวทีเพียงไม่กี่ประโยคชาวบ้านจึงยอมเปิดถนนและรอกำหนด 15 วัน
19 ส.ค.56 13.00 น.ได้เวลานัดหมายที่ห้องประชุมสภา อบต.นาหมอบุญ ต.นาหมอบุญ อ.จุฬาภรณ์ จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นสถานที่นัดหมายของชาวสวนยางในอำเภอชะอวด จ.นครศรีธรรมราช ที่ได้ประท้วงปิดถนนเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา ยื่นหนังสือให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาราคายางและปาล์มน้ำมัน ซึ่งครบกำหนดที่ทางการจะต้องมาชี้แจงให้แกนนำและชาวบ้านรับฟังในวันนี้ โดยนายวิโรจน์ จิวะรังสรรค์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้มอบหมายให้ พ.อ.ชาญวิทย์ ปิ่นมณี รอง ผอ.รมน.นครศรีธรรมราช (รองผู้ว่าราชการฝ่ายทหาร) เป็นประธานเข้าเจรจาชี้แจงพร้อมกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเช่นนายสมพงษ์ จันทร์ทอง ผอ.สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรกรเขต 8 สุราษฎร์ธานี และผู้อำนวยการ สกย.พื้นที่นครศรีธรรมราช นายอำเภอชะอวด นายอำเภอจุฬาภรณ์ พล.ต.ต.รณพงศ์ ทรายแก้ว ผบก.ภ.นครศรีธรรมราช
เจรจาเบื้องต้นนั้นกลุ่มผู้นำเกษตรกรนำโดยนายสวาท สุวรรณพฤติ นายประจวบ ชูทอง ในฐานะตัวแทนได้เข้ามารับฟังและสอบถามถึงผลการยื่นหนังสือที่ได้ยื่นไปเมื่อวันที่ 3 สิงหาคมที่ผ่านมาหลังจากเกษตรกรจำนวนมากได้ร่วมกันชุมนุมประท้วง และยื่นข้อเรียกร้องไปยังรัฐบาล แต่ปรากฏว่ามีการเริ่มชี้แจงโดยนายสมพงษ์ จันทร์ทอง ผอ.สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 8 สุราษฎร์ธานี ในทำนองถึงข้อเสนอในการช่วยเหลือที่จะสนับสนุนเงินค่าปุ๋ยให้กับเกษตรกรชาวสวนยางในราคาไร่ละ 1 พันบาทเศษ โดยไม่ได้ชี้แจงถึงข้อเสนอของชาวบ้าน และยังระบุถึงยางพาราในสต๊อกของรัฐบาลจำนวนกว่า 2 แสนตัน เริ่มเสียรูปหรือเริ่มเสื่อมสภาพเป็นปัญหาหลักที่จะต้องแก้ไข
ในขณะที่ พล.ต.ต.รณพงศ์ ทรายแก้ว ผบก.ภ.นครศรีธรรมราช ได้ตัดบทและแนะนำให้ชี้แจงให้ตรงประเด็นเพื่อจะได้ไปชี้แจงกับประชาชนที่รออยู่ ขณะที่มีรายงานจากจังหวัดสุราษฎร์ธานี ในข้อเสนอของผู้ชุมที่ยื่นไปยังรัฐบาล เพื่อมาประกอบให้เสนอข้อเสนอนี้ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน จนในที่สุดกลุ่มข้าราชการตัวแทนของผู้ว่าราชการจังหวัด และส่วนที่เกี่ยวข้องได้ลงมาเพื่อขึ้นเวทีชี้แจงกับเกษตรกรที่รออยู่บริเวณลานหน้าที่ทำการ อบต.ปรากฏว่าเมื่อมาถึงทั้งตัวแทนผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้อำนวยการสำนักเศรษฐกิจ และผู้ที่เกี่ยวข้องอื่นๆต่างเกี่ยงที่จะขึ้นชี้แจงกับเกษตรกรที่รออยู่ จน พล.ต.ต.รณพงศ์ ทนดูไม่ได้ต้องเดินไปขึ้นเวทีชี้แจงกับชาวบ้านด้วยตัวเองถึงข้อเสนอของผู้ชุมนุมในจังหวัดสุราษฎร์ธานี และเสนอให้ผู้ชุมนุมเห็นด้วยกับข้อเสนอดังกล่าวเพื่อให้ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราชยืนยันไปทางรัฐบาลอีกครั้ง เหล่านี้คือคำตอบที่กลุ่มเกษตรกรได้รับ
หลังจากความล้มเหลวในครั้งนั้นผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราชออกประกาศพื้นที่ชุมนุมห้ามการชุมนุมในพื้นที่สาธารณะ 23 ส.ค.56 จึงเป็นวัดนัดหมาย ปรากฏว่ากลุ่มเกษตรกรได้ทยอยกันมารวมตัวยังจุดนัดหมายเดิม ขณะที่ วิโรจน์ จิวะรังสรรค์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช พล.ต.ต.รณพงศ์ ทรายแก้ว ผบก.ภ.นครศรีธรรมราช สั่งการนำกำลังกองร้อยปราบจลาจลจากหลายพื้นที่มารอรับอยู่แล้ว และทันทีที่ชาวบ้านทยอยมาจนล้นผิวการจราจร 1 ช่องทางการจราจรเริ่มชะลอตัวการสั่งใช้กำลังจึงเริ่มขึ้น
น้ำผึ้งหยดเดียวจึงถูกหยดลงไปอย่างเป็นทางการการกระทบกระทั่งเกิดขึ้นเป็นระลอก จน บานปลายสู่การปะทะลูกหลานชาวบ้านในย่านนั้นทะลักออกมาและพร้อมเข้าปะทะกับตำรวจ จนเวลา 16.00 น.แนวปะทะดุเดือดที่สุด ภาพความรุนแรงเริ่มถูกกระจายไปในสังคมออนไลน์ ความโกรธแค้นส่งผลให้กลุ่มชาวบ้านเริ่มทยอยมารวมตัวกันมากขึ้น ความตึงเครียดเขม็งเกลียวเพิ่มขึ้นตามลำดับ ตำรวจเริ่มรับรู้สัญญาณนี้ทั้งหมดจึงถูกสั่งถอนกำลังออกจากจุดชุมนุม จนในวันรุ่งขึ้นการสั่งถอนกำลังอย่างเป็นทางการ
สิ่งที่ยิ่งสร้างความโกรธแค้นเพิ่มมากขึ้นเมื่อนักการเมืองฝ่ายรัฐบาลพยายามผูกโยงว่ากลุ่มผู้ชุมนุมเป็นการชุมนุมเคลื่อนไหวทางการเมือง ด้วยความผิดพลาดทางการข่าวที่รายงานนับเนื่องขึ้นไปตั้งแต่ระดับจังหวัดนครศรีธรรมราช จนถึงรัฐบาลเป็นเสมือนเชื้อไฟที่ยิ่งโหมกระพือให้กลุ่มผู้ชุมนุมคั่งแค้น
นายถาวร เสนเนียมรองหัวหน้าพรรค ปชป.และทีม ส.ส.ภาคใต้ นายวิทยา แก้วภราดัย,นายชินวรณ์ บุญยเกียรติ,เทพไท เสนพงศ์,นายอภิชาต การิกาญจน์และนายนิพิฐ อินทรสมบัติ ได้ร่วมกันเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยเหลือชาวสวนยางที่เดือดร้อนจากปัญหาราคายางพาราตกต่ำโดยขอให้รัฐบาลส่งตัวแทนมาพบกับชาวสวนยางอย่างเร่งด่วนและรับข้อเสนอของชาวสวนยางทั้งหมด,อย่าใช้กำลังตำรวจในการสลายการชุมนุมและ,ให้จ่ายเงินเยียวยาผู้บาดเจ็บจากการสลายการชุมนุมเทียบเท่ากับคนเสื้อแดง ส่วนการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าซึ่งมีความเป็นไปได้ในการแก้ปัญหาเรื่องของชาวสวนยางนั้นอยากจะให้รัฐบาลชดเชยราคายางในราคากก.ละ 84 บาทโดยราคานี้ได้มีการคำนวณจากต้นทุนของชาวสวนยางที่กก.ละ 64 บาทบวกอีก 30% คือ 84 บาทซึ่งเงื่อนไขราคานี้ชาวสวนยางรับได้โดยชดเชยทั้งตัดยางหรือไม่ได้ตัดยางซึ่งจะใช้งบประมาณ 2 หมื่นล้านบาทเท่านั้นอย่าเพิ่งขายยางในสต๊อกทำแบบนี้สัก 2-3 เดือน ราคายางในตลาดก็จะดีขึ้นอย่างแน่นอน
“แต่วันนี้ปัญหาทุกอย่างของชาวสวนยางที่ไม่ได้รับการแก้ปัญหาเพราะรัฐบาลปฎิเสธทุกเงื่อนไขทุกข้อเรียกร้องและจะปล่อยให้ทุกอย่างเป็นไปตามเงื่อนไขกลไกตลาด การที่นายกรัฐมนตรีและรมต.เกษตรได้ออกมาพูดแบบนี้ถือเป็นการปฎิเสธข้อเรียกร้องของชาวสวนยางทั้งหมดทำให้ชาวสวนยางลุกฮือขึ้นทั่วประเทศ และการที่ พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รองนายกรัฐมนตรีได้ออกมาพูดว่าม็อบสวนยางเป็นม็อบการเมืองนั้นถือเป็นการดูถูกประชาชนชาวสวนยาง ตนขอยืนยันว่าม็อบสวนยางเป็นม๊อบที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติจริงๆเกิดจากความเดือดร้อนของประชาชนจริงๆ ไม่การเมืองหนุนหลังและขอยืนยันว่าพรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้อยู่เบื้องหลังม็อบชาวสวนยางในครั้งนี้ แต่ในฐานะที่เป็นสส.พื้นที่ในเมื่อรัฐบาลปฎิเสธ การช่วยเหลือชาวสวนยางเช่นนี้ เราจะขอเดินเคียงข้างชาวสวนยางด้วย”
นายถาวรยังได้กล่าวอีกว่า ในส่วนของการช่วยเหลือชาวสวนยางที่ได้รับผลกระทบจากการสลายไม่ว่าจะเป็นผู้บาดเจ็บหรือทรัพย์สินเสียหายจะมอบให้นายนิพิฐ อินทรสมบัติ ส.ส.พัทลุงจัดทีมทนายความเข้าไปช่วยเหลือชาวสวนยาง
ขณะนายชินวรณ์ บุญยเกียรติ รัฐมนตรีเงากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ระบุว่า รัฐบาลมีสองมาตรฐานในการช่วยเหลือประชาชนตอนที่แทรกแซงราคาข้าวรัฐมีมติครม.แทรกแซงตันละ15,000 บาทพอชาวนาประท้วง 2 วัน รัฐบาลก็เปลี่ยนมติครม.เป็น 15,000 บาท
“ผมอยากจะเตือนรัฐบาลให้ระวังเส้นยางจะรัดคอตายและดอกยางจะบานผิดฤดูในทุกพื้นที่
เพราะตอนนี้ชาวสวนยางทั่วมีอยู่ทั่วประเทศ 56 จังหวัดไม่ใช่เฉพาะชาวใต้เท่านั้นซึ่งการที่รัฐบาลปฏิเสธการช่วยเหลือเพราะมองว่าภาคใต้ไม่ใช่ฐานเสียงของรัฐบาลคงเป็นการคิดที่ผิด เพราะการชุมนุมจะลามไปทุกจังหวัดในไม่ช้า”
นายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง พร้อมด้วยคณะได้เดินทางมาเจรจากับแกนนำกลุ่มผู้ชุมนุมที่ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนตำบลนาหมอบุญ อ.จุฬาภรณ์ จ.นครศรีธรรมราช ห่างจากจุดชุมนุมกว่า 10 กิโลเมตร โดยการเจรจาเป็นไปอย่างเคร่งเครียด
ขณะที่นายสุพรกล่าวภายหลังการประชุมกับตัวแทนเกษตรกร ที่ อบต.นาหมอบุญ อ.จุฬาภรณ์ว่า นายกรัฐมนตรีมอบหมายให้ลงมารับข้อเรียกร้องของเกษตรกรชาวสวนยางพาราและปาล์มน้ำมันที่ชุมนุมปิดถนนสาย 41 เพื่อแก้ปัญหาให้เกษตรกรโดยเร็วที่สุด ได้พูดคุยหาทางออกเรื่องราคายางพาราร่วมกันแล้ว ได้ให้ผู้ประสานงานนำไปหารือกับในที่ชุมนุม เพื่อให้มีความเห็นตรงกัน จากนั้นนำเรื่องที่ได้ข้อยุติเสนอนายกรัฐมนตรี นำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายยางพาราแห่งชาติ หรือ กนย.โดยเร็วที่สุด จะต้องมีข้อสรุปก่อนวันที่ 3 กันยายนนี้ เพื่อช่วยเหลือชาวสวนยางพาราภาคใต้และชาวสวนยางทั่วประเทศ เมื่อด้าคาเป็นที่พอใจแล้ว จะได้เปิดถนนเพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ต้องใช้เส้นทางสาย 41ที่เป็นถนนสายเศรษฐกิจของภาคใต้สัญจรไปมา
ขอยืนยันว่า ไม่ได้นิ่งนอนใจกับปัญหาที่เกิดขึ้น เข้าใจว่าเป็นเรื่องความเดือดร้อน ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง หากเกษตรกรพอใจแล้ว ควรเปิดถนน ถือว่าเป็นเกษตรกรที่มีความเดือดร้อนอย่างแท้จริง หากยังปิดถนนอยู่จะถูกมองว่าเป็นเกมกรเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง
รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อได้ประชุมกับผู้ประสานงานของผู้ชุมนุมที่ไปสอบถามความคิดเห็นในที่ชุมนุม ได้ข้อยุติแล้ว จะไปที่เวทีชุมนุม ชี้แจงเจตนารมณ์ของรัฐบาล ที่ต้องการช่วยเหลือเกษตรกร คาดว่าประชาชนจะให้ความร่วมมือ ประกันราคา ขี้ยาง กก.ละ 40 บาท ยางแผ่นดิบ กก.ละ 80 บาท และน้ำยางสด กก.ละ 70 บาท จากนั้นให้ผู้ประสานงานเกษตรกรนำไปเสนอในที่ชุมนุมว่าเห็นด้วยกับราคาดังกล่าวหรือไม่โดยในที่ชุมนุมมีมติไม่เห็นด้วยกับราคายางแผ่นดิบที่กิโลกรัมละ 80 บาทแต่ควรเป็นกิโลกรัมละ 100 บาทโดยการประกันราคา ขณะที่ราคายางก้นถ้วยและราคาน้ำยางสดนั้นยังรับได้
ไม่นานหลังจากนั้นธาตุแท้แห่งความหวาดกลัวปรากฏเมื่อมีลูกชายอดีตนักการเมืองท้องถิ่นผู้กว้างโชว์พาวสะกิดนายสุภรณ์ แล้วบอกว่า “นายม็อบกำลังจะมาบุกที่นี่นายรีบไปผมดูแลนายเอง”สิ้นเสียง สุภรณ์หน้าตาเลิ่กลั่กหมดลายนักไฮปาร์คเจ้าของฉายาแรมโบ้อีกสาน วิ่งขึ้นรถยนต์เร่งเครื่องหนีหายไปจาก อบต.นาหมอบุญไปตั้งหลักในอำเภอทุ่งสงห่างไปกว่า 30 กิโลเมตร
ยงยศ แก้วเขียว นายกสมาคมกำนันผู้ใหญ่บ้านแห่งประเทศไทย พร้อมด้วยนางเพ็ญศรี ทองบุญยังประธานชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้านอำเภอชะอวด และกำนันผู้ใหญ่บ้านใน อ.จุฬาภรณ์ อ.ชะอวด ร่วมแถลงข่าวประณามการกระทำของกลุ่มม็อบที่ปิดถนนสาย 4151 บ่อล้อ-ชะอวด และทางข้ามรถไฟบริเวณแยกบ้านควนเงิน ต.บ้านตูล ส่งผลให้การจราจรทั้งรถยนต์และรถไฟไม่สามารถใช้การได้
เพ็ญศรีระบุว่าการเรียกร้องของกลุ่มผู้ชุมนุมในขณะนี้ทำให้ประชาชนได้รับความเดือนร้อนและผิดกฎหมาย ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลมีความจริงใจในการลงมาแก้ปัญหาแล้วแต่ผู้ชุมนุมบางส่วนกลับไม่ยอมรับโดยการกระทำที่เกิดขึ้นเชื่อว่าเป็นการกระทำจากบุคคลภายนอกที่เข้ามาสร้างความวุ่นวายทั้งนี้กำนันผู้ใหญ่บ้านทั้ง 23 อำเภอได้พร้อมใจกันที่จะกลับไปทำความเข้าใจกับลูกบ้านของตนเองให้เข้าใจข้อเท็จจริง
และไม่เข้าร่วมการชุมนุมดังกล่าว ประชาชนในพื้นที่ที่ได้เดินทางมาร่วมชุมนุมแล้วก็ขอให้เดินทางกลับบ้านของตนเองดีกว่าเพราะหากการชุมนุมยังคงยืดเยื้อจะส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจโดยภาพรวมนอกจากนี้ประชาชนในพื้นที่ก็ได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมากโดยเฉพาะนักเรียนที่ได้รับความลำบากในการเดินทางไปโรงเรียนที่ต้องผ่านเส้นทางดังกล่าวและบางโรงเรียนเช่นโรงเรียนบ้านควนเงินก็ต้องปิดการเรียนการสอนเพราะหวั่นนักเรียนได้รับอันตรายจากการชุมนุม
นายยงยศ แก้วเขียว นายกสมาคมกำนันผู้ใหญ่บ้านแห่ประเทศไทย กล่าวว่า
เรายอมไม่ได้ ขอให้หยุดการกระทำเช่นนี้เรายอมรับไม่ได้มวลชนชาวชะอวดจะออกมาคัดค้าน
และหากว่ายังอยากที่จะประท้วงก็ให้กลับไปประท้วงที่บ้านของเขาอยู่พัทลุงก็ไปจัดที่พัทลุง สงขลา ตรัง ก็ให้ไปที่ตรงนั้นเรายอมไม่ได้หากม็อบนี้เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมการเมืองเป็นเครื่องมือของนักการเมือง
แม้สื่อมวลชนยังถูกคุกคาม ทั้งนี้ กำนันผู้ใหญ่บ้านทั้ง 23 อำเภอมีมติร่วมกันที่จะจัดส่งตัวแทนเข้าไปร่วมเจรจากับผู้ชุมนุมเพื่อขอร้องให้ยุติการชุมนุมและคืนพื้นที่การจราจรให้กับประชาชนในวันที่ 28 ส.ค.56และหากการเจรจาไม่เป็นผลก็จะรวมพลคนรักชะอวดร่วมผลักดันกลุ่มผู้ชุมนุมออกจากพื้นที่อำเภอชะอวด
ยุทธการแยกเพื่อปกครองกำลังเริ่มขึ้นในอำเภอชะอวดแล้ว