ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-งานนี้เรียกว่า “ไม่ด้านจริงทำไม่ได้” เพราะหลังจากที่พยายามทุกวิถีทางในการผลักดัน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เข้าสู่การพิจารณาของสภา โดยไม่สนใจเสียงคัดค้านและกระแสต้านจากสังคม ตามด้วยการแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญในประเด็นที่มาและคุณสมบัติของสมาชิกวุฒิสภา ให้มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด พร้อมเปิดทางให้พ่อแม่ ลูก ภรรยา สามี ของ ส.ส.ลงสมัคร ส.ว.ได้ เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย 'สภาผัว-เมีย' เต็มรูปแบบ จนมีเสียงก่นด่าตามมาทั้งประเทศแล้ว รัฐบาลเพื่อไทยภายใต้ระบอบทักษิณก็เปิด “มหกรรมปาหี่ปฏิรูปการเมือง” เชื้อเชิญผู้คนที่มีชื่อเสียงจากทั่วทุกสารทิศ ทั้งภาคการเมือง นักวิชาการ นักกฎหมาย และภาคประชาสังคม มาเจรจาหารือภายใต้ชื่อเข้มขลังว่า “สภาปฏิรูปการเมือง”เพื่อสร้างภาพให้ประชาชนที่ไม่รู้ประสีประสาเข้าใจว่ารัฐบาลนี้ตั้งใจที่จะพัฒนาการเมืองไทยให้ใสสะอาดและให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมอย่างเต็มที่
เริ่มจาก นายกรัฐมนตรี “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ที่ไปนั่งอ่านโพย เป็นประธานในเวทีสภาปฏิรูปการเมือง “เดินหน้าปฏิรูปประเทศไทย พัฒนาประชาธิปไตย และประเทศร่วมกัน” ท่ามกลางผู้เข้าร่วมวงถกกว่า 70 ชีวิต โดยนั่งยันนอนยันว่ามีความจริงใจในการปฏิรูปการเมือง พร้อมระบุเสียด๊าย...เสียดาย..ที่กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยและพรรคการเมืองใหญ่อย่างประชาธิปัตย์ไม่เข้าร่วมปาหี่ปฏิรูปด้วย และไม่ใช่แค่ 2 กลุ่มนี้เท่านั้น กลุ่ม 40 ส.ว.ซึ่งมีความชัดเจนในเรื่องของการต่อต้านคอร์รัปชั่นและการใช้อำนาจโดยมิชอบก็ไม่เข้าร่วมเช่นกัน
และเพื่อให้การปฏิรูปดูน่าเชื่อถือนายกฯนกแก้วจึงอุปโลกน์คณะทำงานขึ้นมา 3 คณะ คือ คณะปฏิรูปการเมือง คณะปฏิรูปเศรษฐกิจ และคณะปฏิรูปสังคม แต่ที่ทำเอางวยงงสงสัยกันไปทั้งประเทศก็คือการแต่งตั้งให้ “นายบรรหาร ศิลปะอาชา” ประธานที่ปรึกษาพรรคชาติไทยพัฒนา อดีตหัวหน้า “พรรคปลาไหล” เป็นผู้ดูแลภาพรวมในการปฏิรูป เพราะใครๆก็รู้ว่าฉายาพรรคปลาไหลเมื่อครั้งยังเป็นพรรคชาติไทยนั้น มิได้ได้มาเพราะโชคช่วย แต่ด้วยพฤติกรรมทางการเมืองที่ลื่นไหลไร้จุดยืน พร้อมจะร่วมกับใครก็ได้ที่ให้ผลประโยชน์ที่ดีกว่า เป็น “พรรคจอมเสียบ” ที่พร้อมจะอยู่ข้างใครก็ได้ที่ได้เป็นรัฐบาล และเป็นพรรคการเมืองที่แทบไม่เคยมีคำว่า “ฝ่ายค้าน” อยู่ในสาระบบ จึงมีคำถามตามมาว่าการให้ 'นักการเมืองเขี้ยวลาก' มาดูแลการปฏิรูปการเมือง แล้วมันจะนำไปสู่การปฏิรูปได้อย่างไร !?
อย่างไรก็ดี การปฏิรูปการเมืองครั้งนี้นายกรัฐมนตรีที่มีพี่ชายเป็น 'นักโทษหนีคดีคอร์รัปชั่น' ได้ตั้งเป้าหมายในการปฏิรูปไว้ 7 ประการ คือ 1.การทำให้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ ทรงเป็นประมุข มีความมั่นคงแข็งแรง 2.ต้องมีความเท่าเทียม เสมอภาค ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ตามสิทธิที่แต่ละกลุ่มควรได้รับ 3.มีกลไกการทำงานที่โปร่งใสตรวจสอบได้ตามหลักธรรมาภิบาลที่ดี 4.สร้างกระบวนการให้เกิดความยุติธรรม ความเสมอภาคเท่าเทียมในสิทธิขั้นพื้นฐานที่แต่ละกลุ่มในสังคมควรได้รับ ตามหลักนิติรัฐ นิติธรรม 5.มีประชาธิปไตยที่ผ่านการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ยึดเสียงส่วนใหญ่ รับฟังเสียงส่วนน้อย 6.สร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ และบรรยากาศที่ดีของการไว้วางใจกัน และ 7.ยึดผลประโยชน์ส่วนรวมบนความถูกต้อง
แต่เมื่อพิจารณาเป้าหมายแต่ละข้อแล้วก็ได้แต่หัวเราะอยู่ในใจถึงอาการ 'สตอร์เบอร์รี่ลงตับ' ของรัฐบาล เพราะแต่ละเรื่องนั้นรัฐบาลสามารถดำเนินการได้อยู่แล้วโดยไม่ต้องรอตั้งคณะกรรมการปฏิรูปปฏิแหลใดๆทั้งสิ้น แต่ที่ผ่านมารัฐบาลก็ไม่ได้ให้ความสำคัญหรือดำเนินการใดๆทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น “การทำให้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ ทรงเป็นประมุข มีความมั่นคงแข็งแรง” เพราะรัฐบาลนอกจากจะปล่อยให้มีการหมิ่นสถาบันกันอย่างออกหน้าออกตาแล้ว แกนนำ นปช.บางคนซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นเนื้อเดียวกับพรรคเพื่อไทยก็มีพฤติกรรมจาบจ้วงล่วงละเมิดจนกลายเป็นโลโก้ของพรรคก็ว่าได้
เมื่อพูดถึง “ความเท่าเทียม เสมอภาค ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ตามสิทธิที่แต่ละกลุ่ม ควรได้รับ” ก็คงต้องหันกลับมาพิจารณาการแก้ไขปัญหาราคายางตกต่ำ ซึ่งเกษตรกรส่วนใหญ่อยู่ในภาคใต้ ฐานเสียงใหญ่ของพรรคประชาธิปัตย์ กับการแก้ไขปัญหาราคาข้าว ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าเกษตรกรส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ซึ่งเป็นฐานเสียงของพรรคเพื่อไทย คือในภาคอีสาน ภาคเหนือ และภาคกลาง ซึ่งเห็นได้ชัดเจนว่าในส่วนของปัญหาราคาข้าวนั้นรัฐบาลทุ่มงบประมาณรับซื้อไม่อั้น ภายใต้โครงการ 'รับจำนำข้าว' ที่ตั้งราคาให้สูงลิ่วถึงตันละ 15,000 บาท ขณะที่ปัญหาราคายางนั้นรัฐบาลไม่ได้สนใจที่จะแก้ไขปัญหา แม้ชาวสวนยางจะยื่นหนังสือถึงรัฐบาลมาหลายครั้งหลายหนแต่ก็ไม่รับการเหลียวแล จนต้องตบเท้าออกมาประท้วงปิดถนนเพื่อให้รัฐบาลส่งตัวแทนลงมาเจรจา โดยขอให้รัฐบาลช่วยประกันราคาในกิโลกรัมละ 120 บาท แต่แทนที่จะให้ รมว.หรือ รมช. ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงลงไปพูดคุยกับเกษตรกรที่ปักหลักชุมนุมอยู่ที่อำเภอชะอวด จ.นครศรีธรรมราช กลับสั่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้ความรุนแรงสลายการชุมนุม ชนิดที่เรียกว่า 'รุมกระทืบม็อบ' ดังที่มีภาพปรากฏหราบนหน้าหนังสือพิมพ์หลายฉบับ กระทั่งเหตุการณ์บานปลายจึงได้ให้นายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ลงไปเจรจา และรวบรัดตัดความว่าเกษตรกรพอใจที่กิโลกรัมละ 80 บาท ตามที่รัฐบาลเสนอ ทั้งที่เกษตรกรส่วนใหญ่ไม่ยอมรับ ขณะเดียวกันก็ปล่อยข่าวกดดันว่าจะมีการสลายการชุมนุมอยู่ตลอดเวลา อีกทั้งยังกล่าวหาว่าเกษตรที่ไม่ยอมรับข้อเสนอนั้นเป็นชาวสวนยาง'ตัวปลอม' ?
ขณะที่ “การทำงานที่โปร่งใสตรวจสอบได้ตามหลักธรรมาภิบาล” ก็ดูจะไม่มีให้เห็นในรัฐบาลชุดนี้ เพราะที่ผ่านมานั้นมีปัญหาคอร์รัปชั่นในสารพัดโครงการ ทั้ง โครงการรับจำนำข้าว โครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้าน โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้าน ที่วางแผนกู้เงินมหาศาลทั้งที่ไม่ได้มีการวางแผนหรือศึกษารายละเอียดใดๆในโครงการ ส่วนเป้าหมายที่จะมีประชาธิปไตยที่ผ่านการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ยึดเสียงส่วนใหญ่ รับฟังเสียงส่วนน้อยนั้น ก็คงไม่ต้องฟื้นฝอยให้เสียเวลา เพราะเห็นอยู่แล้วว่ารัฐบาลเพื่อไทยใช้เสียงข้างมากลากไปในทุกเรื่อง แก้ผิดให้เป็นถูกได้เพียงแค่อ้างว่ามาจาก
ปฏิบัติการปาหี่ปฏิรูปการเมืองครั้งนี้รัฐบาลเพื่อไทยไม่ได้แค่เกณฑ์ผู้คนจากสารพัดภาคส่วนมาช่วยสร้างภาพเท่านั้น แต่ยังว่าจ้างฝรั่งตาน้ำข้าวอย่าง 'นายโทนี แบลร์' อดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษ ให้มาปาถกฐาปาหี่ปฏิรูปด้วย ที่สำคัญสนนราคาในการว่าจ้างครั้งนี้นั้นสูงถึง 20 ล้านบาทเลยทีเดียว ซึ่งกรณีนี้นอกจากจะเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางว่าเอาเงินงบประมาณที่มาจากภาษีประชาชนไปผลาญเพื่อการสร้างภาพ กระทั่งมีการรวมตัวกันตบเท้าเดินทางไปชุมนุมที่บริเวณหน้าสถานเอกอัครราชทูตสหราชอาณาจักรประจำประเทศไทยเพื่อประท้วงคัดค้านกันเลยทีเดียว
แต่คนกลุ่มหนึ่งที่รัฐบาลมิได้ชายตาแล ไม่ได้ชักชวนถามไถ่ให้เข้าไปมีส่วนร่วมในการปฏิรูปการเมือง ขณะที่พวกเขาคือภาคส่วนที่ใหญ่ที่สุดในสังคม นั่นก็คือ 'ภาคประชาชน' ซึ่งเป็นเจ้าของประเทศตัวจริง งานนี้ไม่มีตัวแทนเกษตรกร ตัวแทนแรงงาน หรือตัวแทนจากสาขาอาชีพต่างๆเข้าไปมีส่วนร่วม ไม่มีการสำรวจความเห็นว่าประชาชนคนไทยอยากให้การปฏิรูปการเมืองเป็นไปในทิศทางใด มีปัญหาอะไรที่ต้องแก้
ทั้งนี้ หากถามความเห็นของคนไทยทั้งประเทศอาจได้คำตอบที่เหมือนกันอยู่หลายประการ ไม่ว่าจะเป็น ไม่อยากให้มี 'นักการเมืองคอร์รัปชั่น' ไม่อยากให้มีการซื้อเสียง ไม่อยากให้มีกลุ่มทุนการเมืองเข้ามาแสวงอำนาจ อยากได้นักการเมืองที่มีจริยธรรม เข้ามาทำงานเพื่อประชาชน ไม่เอื้อประโยชน์ให้พวกพ้อง ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน อยากให้เลิกระบบเสียงข้างมากลากไป อยากให้ระบบถ่วงดุลและระบบตรวจสอบสามารถทำงานได้จริง ไม่ใช่เข้าชื่อถอดถอน 2 หมื่นคน พอเรื่องถึงวุฒิสภาแล้วเงียบหาย อยากให้เลิกใช้อำนาจเผด็จการรัฐสภา เลิกระบบสภาผัว-เมียที่มีบรรดาเครือญาติของนักการเมืองเข้ามาสืบสานผ่องถ่ายอำนาจกันสนุกมือ อยากให้ฟังเสียงประชาชนทุกครั้งที่มีการออกกฎหมายหรือนโยบายต่างๆ อยากให้บังคับใช้กฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน อยากให้ดำเนินการเอาผิดกับนักการเมืองและข้าราชการระดับสูงที่กระทำผิดอย่างเด็ดขาดจริงจัง อยากให้นักการเมืองไทยมี 'ยางอาย'
หากแต่ความหวังของประชาชนดังกล่าวนั้นคงเลือนลาง และไม่มีทางจะเกิดขึ้นจริง ตราบใดที่ยังมีนักการเมืองสายพันธุ์เดิมๆนั่งหน้าสลอนในสภา วิธีที่ง่ายที่สุดโดยไม่ต้องไปเสียเวลาปฏิรูปการเมืองให้เปลืองงบประมาณก็คือการให้นักการเมืองเหล่านี้ 'ลาออก' ให้หมด และห้ามกลับเข้ามาเล่นการเมืองอีก แล้ววางโครงสร้างและวิธีสรรหานักการเมืองเลือดใหม่ที่เป็นตัวแทนภาคประชาชนอย่างแท้จริงเข้ามาทำงานแทน !!