ปัญญาพลวัตร
โดย...พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต
ในช่วงสองปีเศษที่ผ่านมา แม้ว่าสังคมมีการวิพากษ์วิจารณ์การบริหารประเทศของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ว่าประสบความล้มเหลวและสร้างความหายนะแก่ประเทศชาติและประชาชนอย่างรอบด้านในทุกมิติของการดำรงชีวิต แต่รัฐบาลก็ยังปากแข็งยืนกรานอย่างดื้อด้านว่าตนเองประสบความสำเร็จในการบริหารประเทศเป็นอย่างดียิ่ง สร้างความสุขแก่คนเป็นจำนวนมาก แม้แต่นายกรัฐมนตรีก็มีความสุข สำราญเป็นอย่างยิ่ง ถึงกับการเดินทางไปต่างประเทศเป็นว่าเล่น
ยิ่งไปกว่านั้นบรรดาผู้คนรอบข้างที่ห้อมล้อมอยู่รอบตัว อันเป็นข้าทาส สมุนบริวารทั้งในรัฐสภาและนอกรัฐสภาต่างประจบสอพลออยู่ทุกวี่วัน ถึงความสวยงาม ความฉลาดปราดเปรื่อง และความสามารถของนายกรัฐมนตรี ได้ยินได้ฟังคำหวานหูและได้ดูได้เห็นแต่สิ่งรื่นรมย์ กิเลสความหลงตนองย่อมขยายตัวออกไป
รอยยิ้มแห่งความยินดีและความปลื้มปีติเกิดขึ้นทุกครั้งทุกคราเมื่อได้ยินได้ทราบว่า สมุนบริวารทั้งที่เป็นตำรวจและเหล่าอันธพาลเสื้อแดง ประสบความสำเร็จในการปราบปราม จับกุม ข่มขู่ และทำร้ายประชาชนผู้คัดค้านต่อต้านได้อย่างราบคาบ จนดูเหมือนไม่มีประชาชนนอกสภากลุ่มใดที่มีพลังเพียงพอต่อการทำให้เสถียรภาพของรัฐบาลสั่นคลอนได้อีกต่อไป
ความรู้สึกมั่นคงผนึกแน่นมากยิ่งขึ้นเมื่อสามารถประสานสมานสามัคคีกับกลุ่มชนชั้นนำ ขุนทหาร และบรรดาอำมาตย์ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นอุปสรรคขวากหนามในการกระทำตามอำเภอใจลุแก่อำนาจ เพียงเติมรอยยิ้มโปรยเสน่ห์ ทวนเหล็ก กระบอกปืน รถถังที่แข็งแกร่งก็กลายเป็นขี้ผึ้งและแปรสภาพประดุจเป็นของเล่นสำหรับทารกโดยฉับพลัน ดูหนทางราบรื่นราวกับเดินบนพรมแดงโปรยด้วยดอกกุหลาบของสำนักธรรมกาย
ทว่ารูปปั้นดินเผาเปราะบางฉันใด รัฐบาลที่ไร้แก่นแท้ย่อมเปราะบางฉันนั้น เมื่อนำเครื่องสำอางมาตบแต่งฉาบหน้าผู้คน ความสวยงามแบบจอมปลอมย่อมบังเกิดขึ้นชั่วคราว แต่สิ่งใดที่มิใช่ธรรมชาติอันเป็นธาตุแท้ ในท้ายที่สุดก็ต้องเผยโฉมออกมา จะโดยรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม
และแล้วคำสารภาพอันสะท้อนถึงการบริหารประเทศที่ล้มเหลวก็ถูกประกาศออกมาอย่างเป็นทางการ โดยการจัดตั้งสภาปฏิรูปประเทศและเสนอแนวทางหลัก 7 ประการในการปฏิรูป หากบริหารประสบความสำเร็จจริงดังที่พยายามพูดออกมาหลายครั้งก่อนหน้านั้น ก็ย่อมไม่มีความจำเป็นใดที่ต้องปฏิรูปประเทศ แต่เมื่อยอมรับว่าจำเป็นต้องปฏิรูปประเทศก็เท่ากับว่ายอมรับว่าตนเองประสบความล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงในการบริหารประเทศ
เอกสารแนวทางหลัก 7 ประการที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ประกาศออกมาภายหลังการประชุมสภาปฏิรูปประเทศที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2556 จึงเป็นเอกสารทางประวัติศาสตร์ที่เป็น “คำประกาศสารภาพ” ต่อสาธารณะอย่างเป็นทางการว่า สองปีเศษของการบริหารประเทศ รัฐบาลประสบความล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง
แนวทางหลัก 7 ประการ ประกอบด้วย 1.การทำให้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ ทรงเป็นประมุขมีความมั่นคงแข็งแรง 2.ต้องมีความเท่าเทียม เสมอภาค ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ตามสิทธิที่แต่ละกลุ่มควรได้รับ 3.มีกลไกการทำงานที่โปร่งใสตรวจสอบได้ตามหลักธรรมาภิบาลที่ดี 4.สร้างกระบวนการให้เกิดความยุติธรรม ความเสมอภาคเท่าเทียมในสิทธิขั้นพื้นฐานที่แต่กลุ่มในสังคมควรได้รับ ตามหลักนิติรัฐ นิติธรรม 5.มีประชาธิปไตยที่ผ่านการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ยึดเสียงส่วนใหญ่ รับฟังเสียงส่วนน้อย 6.สร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ และบรรยากาศที่ดีของการไว้วางใจกัน และ 7.ยึดผลประโยชน์ส่วนรวมบนความถูกต้อง
ข้อแรก “การทำให้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ ทรงเป็นประมุขมีความมั่นคงแข็งแรง” บ่งบอกว่าสองปีเศษที่ผ่านมารัฐบาลยอมรับว่า ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขมีความอ่อนแอ ใครละที่ทำให้เกิดภาวะเช่นนั้นขึ้นมา หากมิใช่รัฐบาลที่ให้ท้ายอันธพาลเสื้อแดงในการใช้อำนาจเถื่อนและกฎหมู่คุกคามสิทธิเสรีภาพของประชาชน รวมทั้งละเลยเพิกเฉยต่อการจาบจ้วงล่วงละเมิดสถาบันพระมหากษัตริย์ มิได้ใช้กลไกรัฐและกฎหมายบ้านเมืองจัดการกับกลุ่มเหล่านี้อย่างเอาจริงเอาจัง ตรงกันข้ามกลับใช้อำนาจรัฐจัดการกับผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์นายกรัฐมนตรีอย่างดุดันเข้มงวด ประเภทที่ว่าใครแตะเธอเป็นไม่ได้ สิ่งที่รัฐบาลกระทำอย่างกระตือรือร้นในช่วงสองปีที่ผ่านมาจึงเป็นเรื่องการสร้างความมั่นคงเข้มแข็งแก่ “ระบอบอำนาจนิยมและเผด็จการเสียงข้างมากของวงศ์ตระกูล” เสียเป็นหลัก
ข้อสอง “ต้องมีความเท่าเทียม เสมอภาค ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ตามสิทธิที่แต่ละกลุ่มควรได้รับ” ข้อนี้เป็นคำสารภาพอย่างชัดเจนว่า รัฐบาลสร้างความไม่เท่าเทียมและขยายความเหลื่อมล้ำทางสังคมอย่างเป็นจงใจ โดยนำเงินของประเทศจำนวนหลายแสนล้านบาทปรนเปรอกลุ่มประชากรที่เป็นฐานเสียงและหัวคะแนนของตนเองบางกลุ่ม เช่น ชาวนา โรงสี อุตสาหกรรมรถยนต์ และกลุ่มนายทุน ขณะเดียวกันก็ละทิ้งเกษตรกรกลุ่มอื่นๆ เช่น ชาวสวนยาง สวนปาล์ม และยังละทิ้งคนไทยที่เป็นผู้บริโภคทั่วไปโดยการทำให้สินค้าอุปโภคและบริโภค ทั้งน้ำมัน ก๊าซ ผัก ไข่ และข้าวราดแกงขึ้นราคาสูงลิ่วอย่างต่อเนื่อง
ข้อสาม “มีกลไกการทำงานที่โปร่งใสตรวจสอบได้ตามหลักธรรมาภิบาลที่ดี” เท่ากับเปลือยตนเองอย่างล่อนจ้อนว่า สองปีที่ผ่านมาการบริหารงานของรัฐบาลมีกลไกการทำงานที่ “ทึบแสง” “ดำมืด” ฝ่ายค้านและประชาชนไม่อาจตรวจสอบได้ ถูกปิดปากทุกวิถีทางทั้งในสภาผู้แทนราษฎรและนอกสภาผู้แทนราษฎร ถึงกับมีการให้ท้ายตำรวจออกมาข่มขู่ผู้ที่ตรวจสอบรัฐบาลเป็นระยะ ทั้งยังบ่งบอกว่า ที่ผ่านมารัฐบาลใช้การบริหารแบบ “อธรรมาภิบาล” มาโดยตลอด มีการทุจริตแพร่ระบาดในทุกวงการทุกหน่วยงานโดยคนในรัฐบาลเป็นทั้งผู้ริเริ่ม สร้างและส่งเสริมนโยบายที่ง่ายต่อการทุจริตเป็นจำนวนมากขึ้นมา เช่น การจำนำข้าวซึ่งได้รับประเมินทางวิชาการว่ามีการทุจริตนับแสนล้านในกระบวนการดำเนินงานนโยบายนี้
ข้อสี่ “สร้างกระบวนการให้เกิดความยุติธรรม ความเสมอภาคเท่าเทียมในสิทธิขั้นพื้นฐานที่แต่กลุ่มในสังคมควรได้รับตามหลักนิติรัฐ นิติธรรม” ข้อนี้ก็เป็นที่ประจักษ์ว่าสองปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้ทำลายกระบวนการยุติธรรม ยุยงส่งเสริมอันธพาลเสื้อแดงข่มขู่ศาลเป็นเนืองนิตย์ ให้อภิสิทธิ์แก่คนเสื้อแดงเหนือกลุ่มคนอื่นๆ ทำหลายหลักนิติรัฐและนิติธรรม โดยใช้อำนาจเสียงข้างมาก ทรราชรัฐสภา ออก พ.ร.บ. นิรโทษกรรมล้างความผิดและความชั่วช้าของนักโทษหนีคุกและอาชญากรก่อการร้ายเผาบ้านเผาเมืองเพียงไม่กี่คนที่เป็นเครือญาติและพรรคพวกของตนเอง
ข้อห้า “มีประชาธิปไตยที่ผ่านการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ยึดเสียงส่วนใหญ่ รับฟังเสียงส่วนน้อย” ข้อนี้เท่ากับสารภาพว่า ที่ผ่านมารัฐบาลใช้ประชาธิปไตยที่ผ่านการมีส่วนร่วมจาก “คนเสื้อแดงและหัวคะแนนพรรคเพื่อไทย” เท่านั้น และในทางกลับกันก็กีดกันประชาชนส่วนอื่นๆไม่ให้เข้าเข้าร่วม หรือ หากใครหลงไปเข้าร่วมก็จะกลายตรายางประทับเพื่อสร้างความชอบธรรมแก่เสียงข้างมากที่รวมตัวกันลากถูตามอำเภอใจ ส่วนการฟังเสียงข้างน้อยที่พูดนั้น รัฐบาลก็ทำหูทวนลม ได้ยินแต่เสียง แต่ไม่เข้าความหมาย และไม่เคยแยแสมากแต่ไหนแต่ไร
ข้อหก “สร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ และบรรยากาศที่ดีของการไว้วางใจกัน” ข้อนี้เป็นการยอมสารภาพว่า ที่ผ่านมารัฐบาลได้สร้างแต่ความหวาดระแวงและสร้างบรรยากาศแห่งความหวาดกลัวขึ้นมาอย่างทั่วถึง โดยการสั่งให้ตำรวจปราบปรามผู้ชุมนุมคัดค้านอย่างรุนแรง การใช้เสื้อแดงไปรังควาญผู้ไม่เห็นด้วยในทุกเวที และการใช้อำนาจรัฐแก้รัฐธรรมนูญเพื่อรวบรวมอำนาจอย่างเบ็ดเสร็จ
และข้อเจ็ด “ยึดผลประโยชน์ส่วนรวมบนความถูกต้อง” ข้อนี้ชี้ว่า ที่ผ่านมารัฐบาลบริหารประเทศโดยยึดประโยชน์ส่วนตน วงศ์ตระกูล และพวกพ้องเป็นหลัก อีกทั้งกระทำไปโดยปราศจากความถูกต้องชอบธรรมอีกด้วย หาไม่แล้วจะมีแนวทางเช่นนี้ออกมาได้อย่างไร
การปฏิรูปประเทศทั้ง 7 แนวทางของรัฐบาล จึงเป็นการสารภาพอย่างหมดเปลือก และยอมรับต่อสังคมว่า รัฐบาลล้มเหลวในการบริหารประเทศอย่างสิ้นเชิง และอยากที่จะแก้ตัวปรับปรุงพฤติกรรมที่ไร้จริยธรรมของตนเองโดยการปฏิรูปประเทศ แต่ใครละที่จะไปเชื่อและไว้วางใจว่า ผู้ที่กระทำความผิดต่อประเทศอย่างอุฉกรรจ์และบูรณาการทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ตามที่ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ชอบท่องวันละ สามครั้งนั้น จะมีเจตจำนงที่จริงใจ มีความมุ่งมั่นเพื่อปรับปรุงตนเอง ปรารถนาจะลดอำนาจตนเอง สร้างความเท่าเทียม ความยุติธรรม เคารพกฎหมาย ยึดหลักนิติธรรม มีความซื่อสัตย์ โปร่งใสจริงใจมีธรรมาภิบาล ลดความเป็นอันธพาล ไม่กีดกันการมีส่วนร่วม ไม่สร้างความหวาดระแวง และไม่ยึดผลประโยชน์ตนเองเป็นที่ตั้ง
คงจะไม่มีใครที่ยังมีสติปัญญาคิดได้และมีเหตุผลจะเชื่อคำลวงที่รัฐบาลประกาศออกมา และดูเหมือนว่าความสำเร็จของการปฏิรูปประเทศไทยที่นำโดยยิ่งลักษณ์ ชินวัตรและนักการเมืองน้ำเน่าทั้งหลาย จะมีความยากยิ่งกว่าการที่มนุษยชาติส่งยานอวกาศไปนอกระบบสุริยะจักรวาลเสียอีก