ปิดวงปาหี่ “ปู” ชงตั้งคณะปฏิรูป 3 ด้าน “การเมือง-เศรษฐกิจ-สังคม” ให้ผู้เข้าร่วมแจ้งอยากอยู่คณะไหน มอบ “บรรหาร” ตัวกลางประสาน วาง 7 กรอบการทำงาน หยอดลูกอ้อนทิ้งท้าย “อย่าเพิ่งทิ้งกันเลย” ด้าน “อุทัย” ย้ำต้องเร่งแก้ปัญหาเฉพาะหน้า “หลงจู๊” ดี๊ด๊าตอบรับทันควัน ส่วน “พงศ์เทพ” วอนที่ประชุมชวนคนมาเพิ่ม เล็งเดือนหน้านัดถกอีกรอบ “ประทีป” เหิมชงออก กม.ห้ามชูภาพในหลวง อ้างอย่านำสถาบันมาแปดเปื้อน
วันนี้ (25 ส.ค.) เมื่อเวลา 15.55 น.ที่ตึกสันติไมตรีหลังนอก ทำเนียบรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวในช่วงสรุปผลการหารือแลกเปลี่ยนและให้ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับข้อเสนอทางออกของประเทศไทย “เดินหน้า ปฏิรูปประเทศไทย พัฒนาประชาธิปไตยและประเทศร่วมกัน” ว่า จะมีการนำโจทย์จากที่ประชุมวันนี้มาเป็นตัวตั้งในการทำงานร่วมกัน และขอเสนอกรอบในการทำงานที่จะมีเป้าหมายร่วมกันในองค์รวมภายใต้ 7 หลักใหญ่ คือ 1.หลักการเสริมสร้างระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขให้มีความมั่นคงแข็งแรง 2.หลักความเท่าเทียมกันและแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ 3.หลักการทำงานที่โปร่งใสตรวจสอบได้ ตามหลักธรรมาภิบาลที่ดี 4.หลักการความยุติธรรมและความเสมอภาคในทุกมิติตามหลักนิติรัฐนิติธรรม 5.หลักประชาธิปไตยที่ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม 6.หลักของการไว้เนื้อเชื่อใจ และการให้อภัยซึ่งกันและกัน และ 7.หลักของประโยชน์ส่วนรวมและหลักของความถูกต้อง
น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้แนวทางการทำงานจะไม่ให้ผลการศึกษาของคณะกรรมการหลายๆ ชุด หรือของสถาบันการศึกษาสูญเปล่า จะมีการรวบรวมผลศึกษาของทุกแห่งมาศึกษาร่วมกัน และนำข้อคิดเห็นที่เห็นชอบในทิศทางเดียว และไม่มีความขัดแย้งแล้ว รวมทั้งสามารถดำเนินการได้เลย จะมานำมาเสนอต่อที่ประชุม เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาเร่งด่วนของสังคม จากนั้นจะนำผลการศึกษาที่อาจจะต้องไปทำเพิ่มเติม ซึ่งจะมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อไป นอกเหนือจากปัญหาข้อขัดแย้งแล้ว ก็จะมีการพูดคุยถึงปัญหารากเหง้าของเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง คืออะไร เพื่อที่จะเป็นโจทย์ในการทำโรดแมประยะยาวต่อไป โดยจะขอเชิญตัวแทนของคณะกรรมการหรือสถาบันการศึกษาที่ได้มีผลการศึกษามาทำงานร่วมกัน เพื่อหารือเป็นข้อสรุปต่อไป
นายกฯ กล่าวด้วยว่า สำหรับแนวทางในการศึกษาโรดแมปของการปฏิรูปประเทศไทย เสนอให้มีการแบ่งออกเป็น 3 คณะ คือ คณะปฏิรูปการเมือง คณะปฏิรูปเศรษฐกิจ และคณะปฏิรูปสังคม โดยจะขอความร่วมมือผู้เข้าร่วมหารือในครั้งนี้แจ้งความจำนงว่าจะเสียสละเวลาเข้าร่วมในคณะใด เพื่อที่จะได้มีเวทีในการพูดคุยกัน และในฐานะที่ นายบรรหาร ศิลปอาชา อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีประสบการณ์ในการทำงานด้านปฏิรูปมาก่อน จึงขอเสนอให้เป็นผู้ประสานงานในองค์รวมของทั้ง 3 คณะดังกล่าว และเชื่อมโยงให้ประชาชนมีส่วนร่วม ให้เกิดการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม โดยฝ่ายอำนวยการจะเป็นในส่วนของ นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี นายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทั้งนี้จะมอบมายให้ นายธงทอง จันทรางศุ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ทำหน้าที่ในการอำนวยความสะดวกต่างๆ
“เวทีนี้พร้อมที่จะเปิดรับทุกฝ่ายทุกเมื่อ เราถือว่าเป็นเวทีของทุกท่าน ขอถือโอกาสนี้ขอบคุณทุกท่านที่ให้เกียรติรัฐบาลเสียสละเวลามาครั้งนี้ ถือว่าทุกข้อคิดเห็นมีค่ามาก และขอยืนยันว่าเราจะร่วมกันทำงานอย่างแน่นอน งานทั้งหมดเป็นที่อยากจะเห็นเพื่อประชาชน สุดท้ายก็ขอกำลังใจซึ่งกันและกัน และขอที่ประชุมว่า อย่าเพิ่งทิ้งกันเลย เราจะได้ร่วมกันมุ่งมั่นแก้ปัญหาเพื่ออนาคตของประเทศไทยและเพื่อประชาชนลูกหลานของต่อไป” น.ส.ยิ่งลักษณ์ ระบุ
ด้าน นายอุทัย พิมพ์ใจชน อดีตประธานรัฐสภา ได้กล่าวเสริมว่า ปัญหาทางออกของประเทศมี 2 ระดับ คือ ปัญหาเฉพาะหน้า กับปัญหาระยะยาว อยากเสนอคณะทำงานที่ตั้งขึ้นได้ศึกษาทำงานแยกส่วนระหว่างปัญหาเฉพาะหน้า กับปัญหาระยะยาว ก่อนที่จะส่งให้ที่ประชุมพิจารณาต่อไป
ขณะที่ นายบรรหาร กล่าวว่า ยินดีที่นายกฯ มอบหมายให้เป็นผู้ประสานงานภาพรวม โดยส่วนตัวเห็นด้วยกับนายอุทัย ที่เสนอให้มีการหยิบยกการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้ามาทำทันที ซึ่งบางอย่างจะเชื่อมโยงไปถึงการทำงานของรัฐบาล ส่วนปัญหาระยะยาวในเรื่องโรดแมปที่ นายพิชัย รัตตกุล อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นผู้เสนออาจจะใช้เวลา 10-20 ปี ถือเป็นเรื่องที่ไม่ง่าย แต่ก็ต้องร่วมกันทำเพื่ออนาคตของประเทศและลูกหลาน
นายพงศ์เทพ กล่าวสรุปว่า จากนี้จะมีการรวบรวมความคิดเห็นต่างในการจัดตั้งกลไกของคณะกรรมการทั้ง 3 คณะ โดยจะได้สอบถามผู้เข้าร่วมประชุมมีความประสงค์เข้าร่วมทำงานในด้านใด และจะขอให้คณะทำงานเชิญชวนผู้อื่นที่มีความเหมาะสมมาเข้าร่วมเพิ่มเติมด้วย โดยในเดือน ก.ย.นี้จะมีการเชิญมาประชุมคณะใหญ่กันอีกครั้ง ส่วนผลการประชุมในครั้งนี้จะมีการสรุปและส่งให้ผู้ที่ได้รับเชิญทุกคน ไม่ว่าจะมาร่วมประชุมครั้งนี้หรือไม่ก็ตาม
ก่อนหน้านี้ในช่วงบ่าย ภายหลังผู้เข้าร่วมพักรับประทานอาหารกลางวันร่วมกัน ก็ได้เปิดการระชุมอีกครั้ง โดยได้เปิดโอกาสให้ตัวแทนภาคส่วนต่างๆได้แสดงเความคิดเห็น ซึ่งส่วนใหญ่สนับสนุนการเปิดเวทีเพื่อหาทางออกในการปฏิรูประเทศไทย โดยการดึงตัวแทนจากทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม รวมทั้งได้มีการเสนอแนกข้อคิดเห็นต่างๆอย่างกว้างขวาง
โดยนายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ แกนนำพรรคชาติพัฒนา กล่าวช่วงหนึ่งว่า ข้อเสนอแนะในการประชุมครั้งนี้อาจจะเป็นจริงขึ้นมาได้ หากรูปแบบขององค์กรที่จะจัดตั้งขึ้นมีข้อสรุปชัดเจน และสร้างความเชื่อมั่นให้กับภาคประชาชนและนักวิชาการที่ไม่มีโอกาสมาร่วม ซึ่งคณะกรรมการที่มาในวันนี้ต้องไปเชื้อเชิญภาคส่วนต่างๆเข้าร่วมเพิ่มเติม และเห็นว่าการเจรจาเป็นวิธีแก้ไขปัญหาบ้านเมืองที่ดีที่สุด ทั้งในทางเปิดเผยและไม่เปิดเผย โดยอาศัยผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองได้เข้าไปพูดคุย และทำความเข้าใจกับผู้ที่ไม่ได้มาในเวทีนี้ให้มากขึ้น เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมในวงกว้างมากขึ้น เชื่อว่าอุณหภูมิความขัดแย้งจะลดลงได้ อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาเราอาจจะให้น้ำหนักว่าการเมืองคือ ปัญหาหลักของประเทศไทย เพราะคิดว่านักการเมืองเสียงดัง แต่ตนคิดว่าทางออกของประเทศไทยต้องมีความร่วมมือทั้งภาคการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ซึ่งเป็นเรื่องที่มีความเชื่อมโยงกันทั้งหมด โดยต้องทำให้มีความสมดุลย์เหมาะสมกัน
นายกฤช อาทิตย์แก้ว ส.ว.กำแพงเพชร กล่าวว่า ส่วนตัวเคยร่วมทำงานในคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งคณะดังกล่าวได้เคยเสนอให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศมาก่อน แต่ข้อเสนอก็ถูกพับเก็บไว้ แล้วมีการไปตั้งคณะกรรมการต่างๆออกมาแทน ทำให้วัตถุประสงค์บิดเบี้ยวไป อย่างไรก็ตามเห็นว่าแนวทางการแก้ไขปัญหาประเทศไทยจะต้องเริ่มจากการขจัดความเหลื่อมล้ำ โดยทำให้ประชาชนเข้าใจว่าทุกคนเท่าเทียมกัน ไม่มีใครสูงส่งหรือต้อยต่ำ คณะทำงานต้องออกคัมภีร์เพื่อเป็นหลักขอการปฏิรูป ซึ่งแตกต่างจากรายงานการวิจัยที่เล่มหนาเข้าใจยาก คัมภีร์ที่ออกมานี้จะต้องมีเนื้อหาที่เข้าใจง่าย เพื่อให้สามารถนพมาประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทั่วไปมีความเข้าใจ รวมไปถึงจะต้องส่งให้ผู้ที่ไม่ตอบรับเข้าร่วมประชุมให้ถึงมือ เพื่อจะดูว่าคนเหล่านั้นแสดงความเห็นแย้งอย่างไร แล้วคณะทำงานก็ต้องนำมาปรับปรุง รวมทั้งอาจจะส่งคนไปอ้อนวอนให้มาเข้าร่วมอีกครั้ง เพื่อชักชวนคนเหล่านั้นมาร่วมแก้ไขปัญหาบ้านเมือง
นายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา กล่าวช่วงหนึ่งว่า ตั้งใจว่าจะไม่พูด แต่เกรงว่าจะถูกนำไปตีความในทางเสียหาย เพราะมีแต่ ส.ว.เลือกตั้งเท่านั้นที่มาเข้าร่วม ส่วน ส.ว.สรรหานั้นไม่ ทั้งที่ตนเป็นคนบอกให้นายพงศ์เทพ และนายวราเทพ ออกหนังสือเชิญทั้ง 2 ส่วนๆละ 5 คน เมื่อเชิญแล้วก็ถือว่าหมดภาระ เพราะได้เชิญแล้ว การที่ใครจะเข้าหรือไม่เข้าร่วมก็ถือเป็นสิทธิ ทั้งนี้ ส.ว.สรรหามาบอกตนว่า ไม่ให้แสดงความคิดเห็นในฐานะของวุฒิสภา ให้พูดในฐานะส่วนตัวเท่านั้น แต่ตนถือว่ามีสิทธิในฐานะประธานวุฒิสภา ซึ่งเพื่อนสมาชิกเสียงส่วนใหญ่เลือกมา
“เห็นด้วยกับวิธีการเปิดเวทีปฏิรูป เพราะเชื่อว่าการหันหน้าเข้าหากันเป็นเรื่องดี ซึ่งเริ่มมองเห็นแสงสว่างของประเทศแล้ว จึงขอให้นายกทำหน้าที่ในการสร้างความเชื่อมั่น พร้อมเชื่อมั่นว่ายามบ้านเมืองคับขัน สตรีเท่านั้นที่จะช่วยได้” นายนิคม ระบุ
ส่วน นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา ได้ใช้สิทธิ์พาดพิงที่ผู้อภิปรายหลายคนกล่าวถึงความวุ่นวายในการประชุมสภา โดยชี้แจงว่า จากปัญหาที่เกิดขึ้นในที่ประชุมสภาฯ ตนรู้สึกละเหี่ยใจ แต่ไม่รู้จะทำอย่างไร เพราะลำพังแค่ตัวเองก็ไม่รู้จะเอาตัวรอดย่างไร
ต่อมา นางประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ เลขาธิการมูลนิธิดวงประทีปและประธานกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี กทม.กล่าวว่า ที่ผ่านมาสังคมไม่มีความยุติธรรม ผู้ชุมนุมทางการเมืองกลุ่มหนึ่งได้รับประกันตัว ไม่ติดคุก แต่อีกกลุ่มหนึ่งกลับติดคุกมากว่า 3 ปีแล้ว เมื่อไม่มีความยุติธรรม จะหาทางออกให้กับประเทศได้อย่างไร อย่างไรก็ตามขอให้กำลังนายกฯ เพราะเห็นว่าเดินมาถูกทางแล้ว ทั้งนี้ในเรื่องของสถาบันเบื้องสูง อยากเสนอให้ ออกกฎหมาย ห้ามนำสถาบันเบื้องสูงมายุ่งเกี่ยวกับการเมือง เช่นกรณีการนำพระบรมฉายาลักษณ์ออกมาชู หรือแสดงในการเคลื่อนไหวทางการเมือง เพราะเป็นสิ่งที่ไม่สมควร อย่านำสถาบันมาแปดเปื้อน นอกจากนี้ยังเห็นว่า ควรต้องปฏิรูปสถาบันตุลาการ การให้ความเป็นธรรม กับผู้ที่ต้องคดีทางการเมือง ที่ยังถูกคุมขัง ในขณะนี้ ควรต้องเร่งช่วยเหลือให้ได้รับความเป็นธรรมโดยเร็วด้วย
นายอนุทิน ชาญวีรกุล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า ในฐานะที่เป็นฝ่ายค้านพรรคเดียวที่อยู่ในที่นี้ ซึ่งภายในพรรคภูมิใจไทยเองก็มีการพูดกันใน 2 แนวทาง ทั้งต่อต้านและสนับสนุนการเข้าร่วมเวทีปฎิรูปการเมืองของรัฐบาล ฝ่ายต่อต้านก็บอกว่าเราเป็นพรรคฝ่ายค้าน ส่วนฝ่ายสนับสนุนก็มีบอกเป็นครั้งแรกที่คนของพรรคเพื่อไทยมาเยือนพรรคภูมิใจไทย ซึ่งถือเป็นพรรคที่มีความขัดแย้งกัน แต่ในฐานะคนไทย ถึงแม้ตนเป็นฝ่ายค้านก็จะค้านเฉพาะเรื่องที่รัฐบาลทำไม่ถูก แต่ในเรื่องปฏิรูปการเมืองถือว่ารัฐบาลทำถูกแล้ว
นายอนุทิน กล่าวต่อว่า ทุกวันนี้ดูการประชุมสภาแล้วคิดว่าเรื่องการเมืองเป็นเรื่องของการจับผิดไม่ใช่เรื่องของการตรวจสอบ ทำอะไรก็ผิดไปหมด เพราะเป็นเรื่องที่ฝ่ายตรงกันข้ามเขาคิดอยู่ วันนี้เมื่อรัฐบาลใจกว้างเปิดเวทีให้มีทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำมารวมอยู่ครบแล้ว จึงไม่ควรเสียเวลาและถึงเวลาแล้วที่ทุกคนจะร่วมมือกันคนละไม้คนะละมือในการหาทางออกให้ประเทศ พรรคตนมี 34 เสียงในทางการ ไม่เป็นทางการอาจจะน้อยกว่านั้น แต่คิดว่าทั้งทางการและไม่เป็นทางการของพรรคตนสนับสนุนนโยบายปฏิรูปประเทศไทย อย่างน้อยตนมี 34 คนและอีกประมาณ 2-3 ล้านเสียงของสมาชิกและผู้ที่เลือกพรรค ทุกคนยินดีนำประเทศไทยออกจากความตกต่ำความขัดแย้ง ไร้สามัคคี พรรคตนใช้สโลแกนว่าดึงฟืนออกจากไฟ และจะไม่เติมเชื้อไฟ ขอยืนยันกับนายกรัฐมนตรีในเรื่องนี้
นายอนุทิน กล่าวด้วยว่า อีกไม่กี่สัปดาห์ก็ไม่รู้จะมีพรรคภูมิใจไทยเหลือในระบบของพรรคการเมืองไทยหรือเปล่า เพราะมีคนไปร้องในการใช้จ่ายเงินบริหารพรรค ค่าใช้จ่ายในการหาเสียงบกพร่อง แต่ก็ไม่เป็นไร เหมือนอย่างที่นายสุวัจน์ บอกว่าภาพลักษณ์การเมืองตกต่ำมาก ทำอะไรนิดหน่อยก็ประหารชีวิตอย่างเดียว คนทำผิดไม่กี่คนแต่คนที่ไม่เกี่ยวข้องก็โดนหมด การเมืองจึงได้เป็นอย่างทุกวันนี้ ถ้าตนจะโดนยุบพรรคอีกครั้งก็เป็นแฮตทริก ครั้งที่ 3 แต่ครั้งนี้ตนคงไม่ถูกเว้นวรรค 5 ปี เพราะเป็นเรื่องกรรมการบริหารพรรคชุดเดิม หากเกิดอะไรขึ้นคุณพ่อ (นายชวรัตน์ ชาญวีรกุล) ก็รับไป