xs
xsm
sm
md
lg

“ปู” ย้ำปาหี่หาทางออก ปท.“บัง” หนุนรื้อ รธน.ใหม่ “โคทม” ชงคณะมนตรีฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


อดีตประธาน คมช.ให้กำลังใจนายกฯ ลุยปฏิรูป จี้เอาผลสรุปไปใช้จริงจัง หนุนรื้อ รธน.ทั้งฉบับ “โคทม” แนะสร้างสัญญาประชาคมใหม่ ผุดโครงสร้างคณะมนตรีเพื่อการปฏิรูปประเทศ “วุฒิสาร” ชู 3 เรื่อง ยุติเงื่อนไขที่ไม่ไว้วางใจกัน ปธ.สศช.จี้ตั้ง กก.รับฟังปัญหาปากท้อง เรียกฝ่ายค้านมาคุย “พิชัย” ชง “ปู” สร้างพิมพ์เขียวประเทศใน 20 ปี “อุทัย” ถามเชิญมาในฐานะอะไร “ยิ่งลักษณ์” ตอบ หวังหารือทางออกประเทศ

วันนี้ (25 ส.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล เวทีปฏิรูปการเมือง ที่มี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุม พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าพรรคมาตุภูมิ กล่าวว่า ในชีวิตของตนเอง เห็นปัญหาของประเทศมาทุกรูปเบบ ทั้งระดับสูง ถึงระดับราก ซึ่งไม่เคยเห็นประเทศไทยมีวีรบุรุษ โดยคนเป็นนายกรัฐมนตรีมักโดนตำหนิเสียหายจนเกือบเอาตัวไม่รอด ใครก็ตามที่เป็นผู้นำ หรือเป็นวีรบุรุษ เราควรให้กำลังใจ เพราะเราจะนำความเจริญในวันข้างหน้า และที่ผ่านมา เรามีการปฏิรูปประเทศกันหลายครั้ง ทำหลายอย่าง แต่ก็หายเงียบไป ดังนั้นในนิยามของตน ปัญหาเกิดจากหลายอย่าง ทั้งเรื่องการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ที่ถือว่าเป็นปัญหาหลัก จะต้องมีการปฏิรูปปัญหาการเมือง การปกครอง ที่ในวันนี้ยังหาความลงตัวไม่ได้ ทั้งยังไม่รู้ว่าจะเป็นประชาธิปไตยอย่างไร จึงต้องมาร่วมกันคิด โดยอยากเป็นรูปแบบของไทย ไม่ใช่ไปหยิบของต่างประเทศมาอย่างเดียว

อดีตประธาน คมช.กล่าวว่า ขณะที่เรื่องเศรษฐกิจก็เป็นส่วนสำคัญในการสร้างอำนาจของชาติ ไม่เช่นนั้นความเป็นอยู่คนในประเทศจึงเหลื่อมล้ำ ส่วนสังคมไทยก็ยังมีความแตกแยกเห็นได้ชัด และยังมองข้ามทหารว่าไม่มีประโยชน์ เพราะในวันข้างหน้าอาจต้องมีการสู้รบกันเพื่อแย่งทรัพยากร อย่างไรก็ตาม การที่ นายบรรหาร ศิลปอาชา ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา ระบุถึงการแก้ไขปัญหา จะต้องมองตั้งแต่เรื่องเรื่องต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เช่นเดียวกับนายกรัฐมนตรีดำริเรื่องต้นน้ำ ซึ่งพวกเรามานั่งตรงนี้ เปรียบเสมือนกลางน้ำ ส่วนปลายน้ำอยู่ที่นายกฯ ดังนั้นอยากให้นายกฯ นำผลสรุปเวทีนี้ไปใช้อย่างจริงจัง และการปฏิรูป ถ้าทำได้เท่ากับเราได้มีวีรบุรุษใหม่ นอกจากนี้เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เก่าแล้ว ก็ต้องดำเนินการแก้ไขทั้งฉบับ

นายโคทม อารียา ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า เราจะต้องกรอบความคิดในเชิงเป้าหมาย เพราะจากการวิเคราะห์ เรามีทั้งสิ่งที่คุกคามและสิ่งที่เป็นประโยชน์ ซึ่งสิ่งที่เป็นประโยชน์คือการเปิดประเทศสู่ประชาคมอาเซียน แต่หากไม่ระวังให้ดีฝ่ายที่มีอำนาจรัฐและทุนจะรังแกฝ่ายพลเมือง ฉะนั้นเป้าหมายของการปฏิรูปการเมือง คือการสร้างสัญญาประชาคมใหม่ระหว่างรัฐ ทุน และพลเมือง ว่าทั้งหมดนี้จะร่วมกันตอบสนองความจำเป็นพื้นฐานของมนุษย์ ซึ่งหลักในการทำงานจะต้องมีทุกฝ่ายเข้าร่วม และมีกระบวนการทำงานที่สามารถนำไปใช้ได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยตนเสนอว่าเราจะหาแนวเลือกหลักๆ แล้วเอาไปพูดคุยกันในพื้นที่แล้วเอาประเด็นที่พูดคุยในรอบแรกๆ มากำหนดเป็นประเด็นทางเลือกพิจารณาข้อดี ข้อเสียของแต่ละทางเลือก จากนั้นจึงจะสามารถความคิดเห็นนี้ได้อย่างเป็นรูปธรรม และนำเสนอต่อผู้ที่มีอำนาจหน้าที่ต่อไป

นายโคทม กล่าวว่า หากต้องการให้คณะทำงานของเราได้ผล เราจะต้องมีโครงสร้างการทำงานที่ชัดเจน อย่างคณะกรรมการที่ทำหน้าที่อำนวยการ อาจจะตั้งชื่อว่าเป็นคณะมนตรีเพื่อการปฏิรูปการเมือง โดยมีหน้าที่อำนวยการกำหนดแนวเรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการชุดต่างๆ เพื่อเอาแนวเลือกไปศึกษาแบบมีส่วนร่วม มีการตั้งคณะกรรมการที่นำผลการศึกษาของหลายฝ่ายไปศึกษา รวมถึงให้มีอาสาสมัครปฏิรูปการเมืองเพื่อที่จะไปถึงในระดับอำเภอ โดยคณะกรรมการนี้จะต้องมีสำนักงานสนับสนุน และจำเป็นต้องมีการสื่อสารระหว่างคณะกรรมการปฏิรูปการเมืองและประชาชนโดยมีอาสาสมัครเป็นตัวประสาน

นายวุฒิสาร ตันไชย รองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า กล่าวว่า ตนมองขอบเขตเวทีปฏิรูปการเมืองอยู่ 3 เรื่อง คือการปฏิรูปประเทศ การปฏิรูปการเมือง การสร้างความปรองดอง การปฏิรูปประเทศมีความหมายและกว้างขวางกว่าการปฏิรูปการเมืองอย่างเดียว ซึ่งจะมีความครอบคลุมเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจ สังคม การแก้ไขปัญหาที่เป็นพื้นฐานที่สุด และเป็นการสร้างอนาคตร่วมของประเทศในระยะยาว ดังนั้นการปฏิรูปประเทศ ควรมีเป้าหมายในการสร้างความเป็นธรรม สร้างสุขภาวะของคนในทุกมิติ และการลดช่องว่าง ซึ่งเงื่อนไขสำคัญคือการเปลี่ยนแปลงประเทศที่มองอยู่ภายใต้พระมหากษัตริย์เป็นพระประมุข ซึ่งตรงนี้เป็นโจทย์สำคัญที่จะต้องมาพูดคุยกันก่อนว่าจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงตรงนี้

นายวุฒิสาร กล่าวว่า การปฏิรูปการเมืองมีอะไรที่มากกว่าการปฏิรูปกฎหมายและโครงสร้าง แต่หมายถึงระบบการสร้างวัฒนธรรม และแนวทางประชาสังคมของคนที่จะเข้ามามีส่วนทางการเมือง ตรงนี้เป็นอีกเรื่องที่น่าจะให้ความสำคัญ ซึ่งเราต้องคำนึงประชาชนที่เข้าใจวิถีชีวิตที่เข้าใจประชาธิปไตยจริงๆ และเรื่องความปรองดองก็เป็นผลลัพธ์ของการปฏิรูปประเทศทางการเมือง ซึ่งเงื่อนไขของความสำเร็จนี้จะต้องสร้างความเข้าใจที่ตรงกัน การปฏิรูปประเทศไม่ใช่หน้าที่ของคนใดคนหนึ่ง ไม่ใช่เรื่องของนักวิชาการ ไม่ใช่เรื่องการเมืองอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายที่ต้องทำ ถ้าทุกคนเห็นตรงกันในเรื่องนี้ ยุติเงื่อนไขต่างๆ ที่ทำให้เกิดความไม่วางใจกัน เป็นเรื่องที่สำคัญมากต่อการปฏิรูป เพราะวันนี้สังคมอยู่บนพื้นฐานที่ไม่ไว้วางใจกันและคิดว่าเอกภาพมีความจำเป็นที่ต้องทำ ดังนั้นกระบวนการปฏิรูปอาจจะต้องใช้มาตรการทางธุรกิจบ้าง และต้องมีการทำให้เป็นรูปธรรมที่มีความสำเร็จเป็นระยะ

นายโอภาส เตพละกุล ประธานที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า ตนขอเป็นตัวแทนภาคเอกชนในการเสนอแนวทางการแก้ปัญหาประเทศ เช่น ปัญหาการเดินขบวนออกมาเรียกร้องปัญหาปากท้อง หรืออื่นๆ ของประชาชน รัฐบาลควรตั้งคณะทำงานขึ้นมารับฟังปัญหา และก็เชิญตัวแทนภาคประชาชนที่เดือดร้อนเข้ามาพูดคุยว่าเขาต้องการอะไร โดยปัญหาทางการเมืองที่ขัดแย้ง รัฐบาลอาจต้องเชิญฝ่ายค้านร่วมพูดคุยด้วยเช่นกันว่า จะแก้อย่างไรให้เกิดทางออก ซึ่งถ้าหากมีเวทีแบบนี้ การบริหารก็จะเกิดประโยชน์ และการเดินขบวนเพื่อเรียกร้องก็จะน้อยลง อีกทั้งทำให้บริหารประเทศได้ง่าย และรัฐบาลจะเดินหน้าได้เร็ว เช่น ปัญหาเรื่องยางพารา ตนเห็นว่า มีผู้รู้ปัญหาในเรื่องนี้หลายคนออกมาให้ความรู้ และวิธีแก้ปัญหาที่ถูกต้อง แต่การที่แก้ไขยังไม่ตรงจุด เพราะรัฐบาลไม่ได้ยินคนพวกนี้พูด ผู้มีอำนาจสั่งการไม่ได้ยิน จึงไม่เกิด แต่ถ้าเปิดเวทีรัฐบาล ให้ผู้มีอำนาจโดยตรงไปฟังผู้มีปัญหา รัฐบาลก็จะรู้ทุกปัญหา นี่คือสิ่งที่อยากดูว่า ทำได้หรือไม่ และถ้าทำได้อยากให้รัฐบาลเปิดเวทีแบบนี้ทุกสัปดาห์ ซึ่งถึงเหนื่อยมาก็ต้องยอมเพราะปัญหาประเทศมีมาก

นายพิชัย รัตตกุล อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า เชื่อเหลือเกินว่า ก่อนที่เราจะมานั่งที่นี่กัน คงไม่มีใครทราบว่า รูปแบบการประชุมวันนี้จะเป็นเช่นไร ตนคนหนึ่งที่โง่เหลือเกินที่นึกไม่ออก แต่เมื่อมาฟังหลายคนพูด ให้ความเห็น ก็พอจับประเด็นได้ว่า รูปจะเป็นแบบใด โดยเฉาพะอย่างยิ่ง ต้องขอชมสถาบันพระปกเกล้า นายโคทม, คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อความปรองดองแห่งชาติ (คอป.) และ นายลิขิต ธีรเวคิน ราชบัณฑิต ว่าได้พูดให้เห็นเป็นรูปธรรมก่อนเข้าประชุม นอกจากนี้ยังเห็นว่า หากในที่ประชุมนี้จะลงลึกในรายละเอียดเรื่อง การปกครอง การศึกษา คงไม่สามารถใช้เวทีนี้มาปรึกษาชัดเจนได้ว่า ประเด็นนั้นๆ จะเสนอรัฐบาลอย่างไร

นายพิชัย กล่าวว่า ถึงตนจะเห็นด้วยถึงข้อเสนอของนายอุทัย ที่แนะนำว่า ใครสนใจเรื่องอะไรก็เสนอรัฐบาล ทั้งนี้ถึงข้อเสนอนี้จะดี แต่ว่าไม่เหมาะสม เพราะว่าไม่เวทีนี้คงไม่สามารถพูดคุยกันครั้งละหลายๆ เรื่อง เช่นเรื่อง ต่างประเทศ สมมติว่าเรื่องปัญหาชายแดนใต้ อาจมีการตั้งกลุ่มพูดคุยขึ้นมาและเชิญคนที่เชี่ยวชาญมานั่งด้วย และให้ข้อมูลที่ดี ตนจึงเสนอเช่นนี้

นายพิชัย กล่าวต่อว่า ต่อไปคือ คิดว่าคนไทยไม่อยากเห็นการแก้ไขเฉพาะหน้า แต่อยากเห็นการมองอนาคต ซึ่งการที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ บอกว่าจะเน้นเรื่องอนาคต ไม่มีคำว่าปฏิรูปเลย ซึ่งตนอยากเน้นว่า อยากให้นายกฯ ทำโรดแมปของเมืองไทยจากนี้อีกยี่สิบปีข้างหน้าจะไปทางไหน ไม่ว่าจะเป็นการศึกษา สังคม การเมือง ถ้าทำเช่นนี้ได้ เชื่อว่าความขัดแย้งจะลดลงโดยอัตโนมัติ โดยประกอบกับถ้าเราวางแผนระยะยาว บวกกับแผนระยะสั้น ก็จะเดินไปได้ลงตัวมากขึ้น โดยการวางแผนระยะยาว การควบคุมงบประมาณนั้นสำคัญมาก ซึ่งหากบริหารไม่ดี จะเดินไปสู่โรดแมปยาก และตนอยากให้ดูตัวอย่างประเทศมาเลเซีย ที่เมื่อก่อนล้าหลังเรา แต่ตอนนี้เขานำหน้าเราไปมาก เพราะเขามีโรดแมปชัดเจนมานานแล้ว

นายอุทัย พิมพ์ใจชน อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า มีคนเรียกเวทีปฏิรูปการเมืองว่าสภาผู้เฒ่า แล้วก็บอกว่าบ้านเมืองเป็นเรื่องของคนรุนใหม่ แต่ตนเห็นว่าผู้เฒ่าก็ไม่กินข้าวอย่างเดียว แต่กินประสบการณ์ กินความรู้มากมาย วันนี้ประเทศเราเดินไปสู่ความเสื่อมเกือบทุกเรื่อง ทั้งเรื่องการเมือง เศรษฐกิจ การค้า วัฒนธรรม ประเทศไทยกำลังถอยหลัง และอาจจะวิ่งตามเขาไม่ทันด้วย ตนอยากจะถามนายกรัฐมนตรีว่าให้เรามาอยู่ในฐานะอะไร ตอนที่ตนตอบรับเข้าเวทีปฏิรูป มีแต่คนถามว่าเข้ามาทำไม ซึ่งตนก็บอกไปว่า เบื้องต้นเราไม่ได้เข้ามารับใช้รัฐบาล ไม่ได้มาเป็นที่ปรึกษารัฐบาล ไม่ได้เข้าไปแก้ปัญหาที่รัฐบาลเห็นว่าเป็นปัญหา แต่เข้ามาแก้ปัญหาของประเทศ เราต้องจัดรูปแบบคณะทำงาน โดยดูในเรื่องหลักเช่น เรื่องความมั่นคงก็แบ่งกลุ่มไปศึกษา หรือเรื่อง สังคม เศรษฐกิจ

ด้าน น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า ที่ได้เชิญทุกคนมานั้น เพื่อมาหารือ หาแนวทางออกให้กับประเทศร่วมกัน ซึ่งรัฐบาลไม่สามารถดำเนินการได้เพียงคนเดียว และกลไกต่างๆ จะต้องเดินหน้าต่อไป ทั้งนี้เห็นความแตกต่างทางด้านสังคม ยอมรับว่า ปัญหาทั้งหมดที่รัฐบาลได้แก้ปัญหาที่ปลายทาง ซึ่งสังคมได้มีการเปลี่ยนแปลงไปมากจะต้องเปลี่ยนแปลงที่ต้นทาง จึงได้เชิญทุกคนเข้ามาร่วมแสดงความคิดเห็น

กำลังโหลดความคิดเห็น