หน.ปชป.ไม่คาดหวังเวทีปฏิรูปการเมือง อ้างไม่ลาออก ส.ส.เพราะยังต้องใช้เวทีสภาเคลื่อนไหว หวังมวลชน พธม.มาร่วมเวทีผ่าความจริงมากขึ้น “องอาจ” ชี้กว่าครึ่งเป็นฝ่ายรัฐบาล ตั้งธงชำเรารัฐธรรมนูญทั้งฉบับ อีกด้าน ปชป.ขอพิจารณากระทู้สดช่วยพี่น้องสวนยาง 29 ส.ค. แทนถกแก้รัฐธรรมนูญที่มา ส.ว.
วันนี้ (25 ส.ค.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงเวทีปฏิรูปการเมืองที่รัฐบาลจัดขึ้นในวันนี้ ว่ายังไม่สามารถคาดหวังอะไรได้ เพราะเป็นคนกลุ่มเดียวกับรัฐบาล และยังไม่มีการตอบรับข้อเสนอจากหลายกลุ่มที่เคยเสนอเพื่อลดความขัดแย้ง พร้อมทั้งเชื่อว่าเป้าหมายสุดท้ายของเวทีปฏิรูปการเมือง คือการรื้อรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ดังนั้นจึงยืนยันว่าจะเดืนหน้าคัดค้านต่อไป และจะไม่ลาออกจากการเป็น ส.ส.เพราะการทำหน้าที่ในสภายังมีความหมาย และมีความจำเป็นโดยมีหลายเรื่องที่รัฐบาลพยายามผลักดัน รวมทั้งร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม จึงจะต้องใช้เวทีสภาในการคัดค้าน รวมถึงยังต้องใช้สิทธิของการเป็น ส.ส.ในการยื่นหลายประเด็นที่อาจส่อว่าขัดรัฐธรรมนูญ แต่ก็เคารพการตัดสินใจของแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และยืนยันเป็นการคัดค้านเพื่อไม่ให้เกิดการ “กินรวบ” ประเทศ ไม่ใช่เพื่อแย่งชิงอำนาจ ขณะเดียวกันจะใช้เวทีผ่าความจริงในการชี้แจงให้ข้อมูลกับประชาชน และหากมวลชนพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเห็นว่าแนวทางของพรรคเป็นอีกแนวทางที่จะช่วยยับยั้งความไม่ถูกต้อง ก็สามารถมาร่วมกัน
นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการที่รัฐบาลจัดเวทีรับฟังความคิดเห็น เพื่อเป็นแนวทางในการจัดตั้งสภาปฏิรูปการเมือง ว่าพรรคประชาธิปัตย์พร้อมให้การร่วมมือในการสร้างความปรองดองและหาทางออกให้ประเทศ แต่รัฐบาลต้องดำเนินการด้วยความตั้งใจ แต่นี่ผ่านมา 2 ปี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ไม่เคยประสงค์ หรือมีจุดยืนที่จะดำเนินการ เป็นเพราะเห็นว่ามีมวลชนจำนวนมากออกมาต่อต้านการแก้รัฐธรรมนูญและกฎหมายนิรโทษกรรม ใช่หรือไม่ ทั้งนี้เหตุใดรัฐบาลจึงไม่นำข้อเสนอของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.), สถาบันพระปกเกล้า ที่เคยศึกษาไว้ ตลอดจนข้อเสนอของนายโคฟี อันนัน อดีตเลขาธิการสหประชาชาติ (ยูเอ็น) และนายมาร์ตติ โอยวา กาเลวิ อะห์ติซาริ อดีตประธานาธิบดีของฟินแลนด์ ที่เคยให้ความเห็นมาใช้ในการปฏิรูป
“การจัดเวทีหาทางออกประเทศครั้งนี้ก็คงเป็นปาหี่ทางการเมืองเท่านั้น เพราะดูรายชื่อผู้ที่เข้าร่วมแล้ว 60% เป็นฝ่ายเดียวกับรัฐบาลหรือมีความคิดใกล้เคียงกัน อีก 20% เข้าร่วมเพราะเกรงใจรัฐบาล ส่วนอีก 20% มีแนวคิดทั่วไป ไม่มีอะไรชัดเจน เป็นไปได้ว่าการหาทางออกให้ประเทศรอบนี้เป็นการตั้งธงสร้างความชอบธรรมให้รัฐบาลไปเพื่อแก้กฎหมายรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ และดันกฎหมายนิรโทษกรรมแบบเหมาเข่ง การทำเช่นนี้คงหาทางออกให้ประเทศไม่ได้ และเป็นการหาทางออกฉุกเฉินให้คนทุกคนในรัฐบาลมากกว่า เพราะคนไทยจำนวนมากจะไม่ยอมให้รัฐบาลทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง” นายองอาจ กล่าว
นายองอาจ ยังกล่าวว่า ในสัปดาห์หน้า รัฐสภาจะมีการนัดประชุมในวันที่อังคาร 27 ส.ค. ถึงวันที่ 29 ส.ค.รวม 3 วัน เพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับที่มา ส.ว.ต่อ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง น่าจะเปิดให้วันที่ 29 ส.ค.ประชุมสภาตามปกติ เพื่อที่จะได้พิจารณาปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน โดยเฉพาะปัญหาของเกษตรกร เช่น ชาวสวนยางที่ออกมาชุมนุม เนื่องจากเดือดร้อนจากราคาตกต่ำ ดังนั้นจึงขอเรียกร้องไปยังรัฐบาล โดยเฉพาะนายกรัฐมนตรีที่บอกตลอดเวลาว่าจะใช้เวทีสภาในการแก้ไขปัญหา ให้มีการประชุมสภาตามปกติในวันพฤหัสบดีที่ 29 ส.ค.นี้ เพื่อที่จะได้หาทางออกให้กับเกษตรกร ซึ่งรัฐบาลจะต้องเร่งแก้ไขโดยด่วนก่อนที่จะมีการชุมนุมทั่วประเทศในวันที่ 3 ก.ย.
สำหรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับที่มาของ ส.ว.พรรคประชาธิปัตย์ได้แปรญัตติจำนวนหลายร้อยคน และยังไม่ได้อภิปรายอีกมาก เช่น นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ส.ส.สุราษฎร์ธานี ซึ่งไม่สามารถจบได้ภายใน 2-3 วัน ดังนั้นรัฐบาลก็ยังมีเวลาอีกมากก็สามารถพิจารณาต่อในวันพุธในสัปดาห์ต่อๆ ไปได้หรือต้องการเร่งให้เสร็จที่ทุกคนเข้าใจกัน ทั้งนี้พรรคก็จะทำหน้าที่ชี้แจงให้ประชาชนเห็นว่าการแก้รัฐธรรมนูญนี้จะนำไปสู่ปัญหาทางการเมืองไทย เพราะอำนาจหน้าที่ของ ส.ว.จะถูกเบี่ยงเบนไป โดยเฉพาะหน้าที่สำคัญคือการแต่งตั้งองค์กรอิสระ และถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ดังนั้นการตรวจสอบ ถ่วงดุล หรือการรักษาความเป็นกลางจะมีปัญหาอย่างแน่นอนจึงทำให้เราได้แปรญัตติ และคัดค้านในการแก้ไขเรื่องนี้