xs
xsm
sm
md
lg

“ปู” เปิดเวทีปาหี่ อ้างจ้ออนาคต เมินเบรก กม.ปมวุ่น โบ้ยสภาแก้ปัจจุบัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นายกฯ และ รมว.กห.เปิดเวทีปฏิรูปการเมือง อ้างรัฐทำหน้าที่แค่ออแกไนเซอร์ เสียดายพวกต้านไม่มา เมินเบรก กม.เสี่ยงก่อน บอกเวทีนี้คุยอนาคต ส่วนปัจจุบันให้เป็นหน้าที่สภาแก้ปัญหา เผย อดีตนายกฯ อังกฤษมาแค่เล่าให้ฟัง แย้มเนื้อหาคุยกำหนดกติกาใหม่ ด้าน ประธานรัฐสภา ยันต้องเดินหน้า ไม่มีเวลาแล้ว ขณะที่ “บรรหาร” ชม “ยิ่งลักษณ์” คิดตรงกัน ระบุมีคนแนะให้เอาตัวตนออกก่อนคุย



วันนี้ (25 ส.ค.) ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียรัฐบาล เมื่อเวลา 09.40 น.น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวเปิดเวทีปฏิรูปการเมืองทางออกประเทศว่า แม้ว่ารัฐบาลจะเป็นผู้เริ่มในการเป็นเจ้าภาพจัดการพูดคุยกันครั้งนี้ แต่รัฐบาลทำหน้าที่เป็นเพียงผู้ประสานงานให้เวทีนี้เกิดขึ้น ซึ่งได้เชิญผู้มีประสบการณ์หลากหลาย มีมุมมองแต่ละมิติต่างกัน มาพูดคุยเพื่อร่วมหาทางออก วางอนาคตประเทศไทยข้างวันหน้า ซึ่งล้วนแต่เป็นผู้ที่มีประสบการณ์มากมาย ทั้งด้านการเมือง ฝ่ายบริการ นิติบัญญัติ ตุลาการ นักวิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิ รวมถึงภาคประชาชน ภาคเอกชน และสื่อมวลชน แต่เวทีนี้น่าเสียดายที่ยังไม่ครบทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายค้านและกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ซึ่งต้องขอเรียนว่า เวทีนี้พร้อมเปิดรับ และเรียนเชิญทุกๆ เมื่อ ทุกเวลาที่เหมาะสม รวมถึงหลายๆ ท่าน ที่อาจจะติดภารกิจ ยืนยันรัฐบาลมีความจริงใจ อยากเห็นการเริ่มพูดคุยกันเพื่อหาทางออก และมองไปอนาคตไปข้างหน้าของประเทศร่วมกัน

นางยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า การหารือในครั้งนี้ หลายคนอาจเกิดข้อสงสัยว่า เหตุใดรัฐบาลมองแต่อนาคตข้างหน้า ทั้งนี้ เป็นเพราะเราอยากเห็นการปฏิรูปการเมืองในภาพที่เป็นมิติกว้าง ครบทุกองค์กร โดยวางกรอบยุทธศาสตร์ ถ้าคุยกันเรื่องปัจจุบันก็จะเป็นเรื่องรายละเอียดปัญหาที่ยังหาทางออกไม่ได้ หรือจะสงสัยว่าทำไมเราไม่ถอนกฎหมายบางอย่างที่ถกเถียงในสภา ซึ่งเวทีนี้จะทำให้เห็นภาพในส่วนอื่นๆ หลายมิติมากขึ้น และในส่วนของรัฐสภา จะเป็นเวทีเป็นตัวแทนแก้ปัญหาขัดแย้งทางการเมือง แต่มิตินี้เรามองทางภาพรวมของสภา และของภาคประชาชน ซึ่งมีข้อมูลศึกษาต่างๆ ที่หลายสถาบันได้ศึกษาไว้ล่วงหน้าแล้ว ทั้งการศึกษาข้อขัดแย้งต่างๆ ที่เชื่อว่าเราจะนำเอาข้อศึกษาต่างๆ ในอดีตทุกกลุ่มทุกสถาบันมาพูดคุยกัน

น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวต่อว่า ถ้าจะมองในบริบทข้างหน้าในทางออกของประเทศ อยากให้น้อมนำพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 1 ม.ค.2556 ที่ปรารถนาจะเห็นคนไทย ตั้งจิตตั้งใจให้มั่นอยู่ในความเมตตา และหวังดีต่อกัน ดูแลเอาใจใส่ ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ให้กำลังใจแก่กันและกัน ผูกพันไว้ฉันท์มิตร ซึ่งทุกฝ่ายจะได้มีโอกาสร่วมกันคิด ร่วมกันอ่าน สร้างสรรค์ความสุข ความเจริญมั่นคงให้แก่คนในชาติได้ดั่งที่ใจปรารถนา ซึ่งตรงนี้เป็นส่วนที่รัฐบาลได้น้อมนำพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาเป็นแนวทางในการเริ่มเปิดเวทีในการพูดคุยโดยเวทีพูดคุยนั้น เราอยากเห็นบริบทว่า จะปฏิรูปการเมืองกันอย่างไร

นายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ในเดือนหน้าจะมีเวทีที่เป็นข้อมูลทางวิชาการ มีการเชิญผู้นำจากต่างประเทศ อย่างเช่น นายโทนี แบลร์ อดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษมา ต้องขอเรียนว่า เวทีนี้เป็นเวทีที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเวทีเรื่องของปฏิรูปการเมือง แต่เป็นเวทีเชิงวิชาการที่ให้มาเล่า แลกเปลี่ยนประสบการณ์ และกลับมาคุยกันว่าปัญหาปัจจุบัน เราจะร่วมกันแก้ไขปรับปรุงให้ดีขึ้นอย่างไร ขณะเดียวกัน กลไกปัจจุบัน ก็กำลังดำเนินการแก้ปัญหาอยู่แล้ว แต่ถ้าเราไม่ตั้งเป้าหมายข้างหน้าให้ชัดเจน การเดินปัญหาจะกลายเป็นมองแต่รายละเอียดเท่านั้น

น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า สำหรับหัวข้อที่จะหารือขออนุญาตเปิดเวทีนี้เป็นเวทีที่เปิดกว้าง และไม่ได้กำหนดอะไร เพราะถือเป็นเวทีของทุกท่านโดยที่รัฐบาลเป็นผู้ประสานงานเพื่อจะบอกว่า เราอยากเห็นบ้านของเรา ประเทศของเราเป็นอย่างไร ดังนั้นเนื้อหาอาจจะตั้งไว้ว่า ทำอย่างไรให้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มีความมั่นคงแข็งแรง ทำอย่างไรให้คนไทยมีความสุขอยู่ดีกินดี ซึ่งต้องมีการวางระบบ 3 เสาหลัก คือ เสาหลักทางด้านอำนาจบริหาร อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจตุลาการ ให้มีการถ่วงดุล และตรวจสอบซึ่งกันและกัน นั่นคือเราจะเดินไปหาคำว่าประชาธิปไตยที่โปร่งใส เป็นการตรวจสอบ และเป็นกลไกที่เป็นมาตรฐานสากล ที่นานาประเทศยอมรับ ดังนั้นจึงอยากเห็นกติกาที่จะมาพูดคุยกัน และมองระบบนี้ว่าจะให้เกิดการตรวจสอบอย่างไร เพื่อให้เกิดความมั่นคง และเกิดความสมดุลในแต่ละเสาหลัก โดยต้องดูตั้งแต่กระบวนการคัดเลือกตรวจสอบประเมินผลให้มีความเป็นกลาง เป็นที่ยอมรับ ซึ่งหลักประชาธิปไตย ต้องให้ทุกคนเข้าถึงสิทธิเสรีภาพอย่างเท่าเทียมกัน

ด้าน นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะประธานรัฐสภา แสดงความเห็นว่า เชื่อว่าทุกคนมีความปรารถนาดีต่อบ้านเมือง และคิดว่า คงไม่มีใครคัดค้านเวทีนี้ ซึ่งถือเป็นโอกาสดีที่พวกเราจะมาพูดคุยหาทางออกร่วมกัน ตอนนี้เราไม่มีเวลามาทะเลาะกันอีกแล้ว แต่เราก็ยังทะเลาะกันอยู่ แม้แต่ในสภา ที่พวกเราบอกว่าเป็นสถานที่อันทรงเกียรติ ก็มีหลายอย่างเกิดขึ้น ที่ทำให้ไม่สบายใจ ซึ่งเกิดจากปัญหาความไม่เข้าใจ หรือแกล้งไม่เข้าใจ ซึ่งเราก็ต้องมาแก้ปัญหา ไม่เช่นนั้นเราก็คงจะแก้ปัญหาประเทศไม่ได้ เราต้องเดินหน้าแล้ว เราไม่มีเวลาอีกแล้ว

ส่วน นายบรรหาร ศิลปอาชา ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา แสดงความเห็นว่า ความจริงบ้านเมืองเรามีปัญหาหลายอย่าง ซึ่งหากได้พูดคุยกันก็เชื่อว่าจะหาข้อยุติได้ ตนไม่อยากเห็นบ้านเมืองวุ่นวาย เคยคิดว่าหากสุขภาพแข็งแรงดี จะเดินไปพูดคุยกับหลายฝ่ายเพื่อหาข้อยุติความขัดแย้งที่เกิดขึ้น ซึ่งก็บังเอิญมาตรงกับสิ่งที่นายกฯ คิดตั้งเวทีปรองดองขึ้น จึงถือเป็นสิ่งที่ดี โดยนายกฯ ได้บอกกับตนว่าจะเปิดเวทีนี้ไว้ก่อน ส่วนคนที่ยังไม่มาร่วมก็ค่อยเชิญมาอีกที หากเปลี่ยนใจภายหลัง ประเด็นที่จะพูดคุยในเวทีนี้มีเยอะมาก ซึ่งเราก็ต้องหาข้อยุติให้ได้ เราต้องมาช่วยกันคิดว่าจะทำอย่างไรจึงจะหาข้อยุติให้ได้ เป็นไปได้หรือไม่ที่จะถอยกันคนละก้าว บ้านเมืองจะได้เดินไปได้

“ก่อนหน้านี้ผมได้พบบุคคล คนหนึ่ง เขาบอกกับผมว่า ถ้าจะทำให้ปัญหาบ้านเมืองจบ และเดินหน้าไปได้ ก็ต้องเอาตัวตน ออกจากตนเอง ซึ่งผมก็เห็นด้วย” นายบรรหาร กล่าว







กำลังโหลดความคิดเห็น