xs
xsm
sm
md
lg

“รสนา” เหน็บ “ปู” ก่อนชวนคนร่วมสภาปฏิรูป ช่วยเข้าประชุมสภาให้เป็นเสียก่อน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

น.ส.รสนา โตสิตระกูล ส.ว.กรุงเทพมหานคร (แฟ้มภาพ)
“ส.ว.รสนา” ติง “ปู” กำเนิดจากสภา แต่แทบไม่เคยเข้าประชุมสภา แนะดูนายกฯอังกฤษเป็นตัวอย่าง ให้ค่าประชุมสภาสำคัญยิ่งกว่าภารกิจอื่นใด เหน็บจะเชิญชวนคนไปร่วมสภาปฏิรูป ควรเอาตัวเองเข้าประชุมรัฐสภาให้ได้เสียก่อน ฝากให้ถาม “โทนี แบลร์” ถ้าโดดประชุมสภาบ่อยๆ จะโดนวิพากษ์วิจารณ์จากสื่อ-ปชช.อย่างไรบ้าง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 25 ส.ค.เวลาประมาณ 01.00 น. น.ส.รสนา โตสิตระกูล ส.ว.กรุงเทพมหานคร โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว รสนา โตสิตระกูล ถึงกรณีที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ประกาศเดินหน้าเวทีสภาปฏิรูปการเมือง โดยจะเชิญหลายฝ่ายเข้าร่วมหารือ ว่า ก่อนที่ท่านนายกรัฐมนตรีจะเชิญชวนคนไปร่วมสภาปฏิรูป นายกฯควรเข้าประชุมในสภาผู้แทนราษฎร หรือการประชุมรัฐสภาให้ได้เสียก่อน เพราะนายกฯมีกำเนิดจากสภาผู้แทนราษฎร นอกจากนายกฯจะเป็นผู้แทนราษฎรแล้ว ก็ได้รับการเลือกจากที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรให้เป็นนายกรัฐมนตรี

ดังนั้นนายกฯจึงต้องรับผิดชอบต่อสภาเหมือนนายกรัฐมนตรีของอังกฤษ หรือหัวหน้าฝ่ายบริหารของประเทศที่มาจากการเลือกตั้งในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร จะเห็นได้ว่านายกรัฐมนตรีของอังกฤษทุกคนจะเข้าประชุมสภาเสมอ เพราะถือเป็นภารกิจที่สำคัญยิ่งกว่าภารกิจอื่นใด หัวหน้าฝ่ายบริหารที่ไม่ต้องเข้าประชุมสภา ก็มีแต่ผู้นำในระบอบประธานาธิบดี อย่างเช่น ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ซึ่งมาจากการเลือกตั้งโดยทางอ้อมของประชาชน ไม่ใช่มาจากการเลือกของสภาผู้แทนราษฎร

อีกประการหนึ่งประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา นอกจากเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหารแล้ว ยังเป็นประมุขของประเทศ หัวหน้าฝ่ายบริหารอีกประเภทหนึ่งที่ไม่เข้าประชุมสภานิติบัญญัติ ก็คือนายกรัฐมนตรีที่มาจากระบอบเผด็จการ เช่น ผู้นำเผด็จการทหารในอดีต ถึงแม้ว่าในบางยุคจะมีสภาผู้แทนราษฎร แต่นายกรัฐมนตรีทหารเหล่านี้ก็ไม่เข้าประชุมสภา ถึงแม้ว่าตนเองจะได้รับเลือกจากสภาก็ตาม เพราะคนเหล่านี้ถือว่าตัวเองเป็นผู้ที่มีอำนาจเหนือสภา

มาในยุคนี้ ดิฉันก็เพิ่งเคยเห็นว่ามีนายกรัฐมนตรีบางคนที่จากการเลือกตั้งในสภา แทบไม่เคยเข้าประชุมสภาเอาเสียเลย นี่จึงเป็นเหตุให้ถูกกล่าวหาว่าระบอบเผด็จการทหาร และระบอบเผด็จการเสียงข้างมาก มีลักษณะคล้ายคลึงกัน ตรงที่นายกรัฐมนตรีที่เป็นทหาร และนายกรัฐมนตรีที่เป็นเจ้าของพรรค มักจะไม่เข้าประชุมสภาซึ่งเป็นหน้าที่ตามปกติของผู้แทนราษฎร

อยากให้ลองถามอดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษ โทนี แบลร์ (ตอนเดินทางมาพูดให้สภาปฏิรูปฟัง) ว่าถ้านายกรัฐมนตรีอังกฤษโดดประชุมสภาบ่อยๆ จะโดนวิพากษ์วิจารณ์จากประชาชน และสื่ออย่างไรบ้าง


กำลังโหลดความคิดเห็น