xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ข้อเสนอที่ถูกปฏิเสธจาก“ยิ่งลักษณ์”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

 ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-“ผิด ล้างผิดทั้งที่เจตนาทำ มีสติ และจงใจทั้งที่มีคนตักเตือน ทักท้วงและห้ามปราม ชี้สิ่งที่ควรและไม่ควร คนทำเหล่านี้ก็ไม่ไยดี ไม่ยี่หระใดๆ ในฐานะเราชาวพุทธคนหนึ่ง และประชาชนที่จงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ จะให้ล้างผิดพวกหมิ่นพระบรมเดชานุภาพนั้น ทำใจไม่ได้จริงๆ” เนื้อหาในเฟซบุ๊กของ พล.ต.ม.จ.จุลเจิมยุคล พระโอรส ลำดับพระองค์ที่ 4 ใน พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอนุสรมงคลการ เกี่ยวกับกฎหมายนิรโทษกรรม

นั่นหมายความว่า กฎหมายนิรโทษกรรม กำลังทำให้ “อาชญากรแผ่นดิน”กลายเป็นผู้บริสุทธิ์

จนทำให้“ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร”เล่นเล่ห์เพทุบาย ใช้มารยา “สร้างภาพการปฏิรูป”มาทดแทนการผลักดันกฎหมายฉบับนี้ให้พี่ชาย

โดยไม่มีเนื้อแท้ของพฤติกรรมแห่งการปฏิรูปแต่อย่างใด

ก่อนหน้านี้ เคยมีการตั้ง คณะกรรมการปฏิรูปประเทศ หรือ คปร. โดยนายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตร เป็นประธาน เพื่อศึกษารวมรวมแนวทางปฏิรูปประเทศ หลังจากการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงใน พ.ศ. 2553

นอกจากนี้ยังมีตั้ง “คณะกรรมการสมัชชาปฏิรูปประเทศ”ที่มี นพ.ประเวศ วะสี เป็นประธาน

คณะกรรมการปฏิรูปประเทศมีจำนวน 19 คน ได้เก็บข้อมูลข้อคิดเห็นและสังเคราะห์ ปัญหา เพื่อนำเสนอ ข้อมูลข้อเท็จจริง แล้วยกร่างเป็นแผนปฏิบัติการ ที่สามารถนำไปปฏิบัติและแก้ไขปัญหาความอยุติธรรม และความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นในอดีตได้ ทั้งภาครัฐบาล ภาคข้าราชการ และเอกชน สามารถนำไปใช้ได้ โดยทำงานไปถึง 3 ปี ด้วยงบประมาณ 19 ล้านบาท

คปร. ได้เสนอแนวทางปฏิรูปผ่านเอกสาร 45 หน้า ในชื่อว่า “แนวทางการปฏิรูปประเทศไทย ข้อเสนอต่อพรรคการเมืองและผู้มีสิทธิเลือกตั้ง” ครอบคลุม 4 ประเด็นใหญ่ 24 ประเด็นย่อย ซึ่ง

ปัญหาหลักตามข้อเสนอของ คปร. คือ ความเหลื่อมล้ำ

คณะกรรมการปฏิรูปเสนอว่า “ความล้มเหลว”ของประเทศไทย เกิดจาก “ความเหลื่อมล้ำอย่างสุดขั้วในทุกมิติ” ซึ่งเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างแกนหลัก ที่ส่งผลให้เกิดปัญหาเชิงโครงสร้างอื่นๆ ตามมาอีกมาก ความเหลื่อมล้ำของคณะกรรมการปฏิรูปแบ่งได้เป็น 5 มิติ ได้แก่ ด้านรายได้ ด้านสิทธิ ด้านโอกาส ด้านอำนาจ ด้านศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

เหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ เนื่องจากคนในกลุ่มต่างๆ มี “อำนาจในการต่อรอง”ห่างไกลกันมาก ซึ่งอำนาจต่อรองในที่นี้หมายถึงอำนาจทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และวัฒนธรรมทั้งหมด ตัวอย่างเช่น ชาวเลบางพวกยังไม่มีสถานะเป็นคนไทย ทำให้ไม่มีอำนาจในการถือครองที่ดินเท่าเทียมกับคนไทยทั่วไป และไม่ต้องพูดถึงตัวแทนในสภานิติบัญญัติ หรือธุรกิจขนาดใหญ่ของพวกตนเลย

เป้าหมายของคณะกรรมการปฏิรูปคือ “ปรับความสัมพันธ์เชิงอำนาจ”ให้คนทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงทรัพยากรได้มากขึ้น โดย“ทรัพยากร” (resources)ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงทรัพยากรธรรมชาติเพียงอย่างเดียว แต่รวมถึงทรัพยากรด้านอื่นๆ เช่น ทรัพยากรทางการเมือง ทรัพยากรด้านข้อมูลข่าวสาร ทรัพยากรด้านสังคม และทรัพยากรด้านทุน เป็นต้น

คณะกรรมการปฏิรูปได้แบ่งทรัพยากรออกเป็น 4 ประเภท และเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาในด้านต่างๆ ตามทรัพยากรแต่ละประเภท ได้แก่ ทรัพยากรธรรมชาติ ทรัพยากรเศรษฐกิจ ทรัพยากรสังคม ทรัพยากรการเมือง

ทรัพยากรธรรมชาติ ประกอบด้วย 6 ด้าน คือ ที่ดิน แร่ ป่า น้ำ ทะเลและชายฝั่ง สิ่งแวดล้อมกับระบบนิเวศน์ โดยคณะกรรมการปฏิรูปได้ศึกษาเพียง 4 หัวข้อคือ ที่ดิน แร่ น้ำ ทะเลและชายฝั่ง หัวข้อที่ไม่ได้ศึกษาคือ ป่า สิ่งแวดล้อมกับระบบนิเวศน์

ทรัพยากรเศรษฐกิจ แบ่งออกเป็น 7 ด้าน ได้แก่ ทุน แรงงาน ปฏิรูปการเกษตร ปฎิรูประบบภาษี ปฏิรูประบบตลาด ปฏิรูปด้านพาณิชย์และอุตสาหกรรม ปฏิรูประบบพลังงาน โดย คปร. ได้ศึกษาแนวทางปฏิรูปอย่างละเอียดเพียง 3 ด้าน คือ แรงงาน การเกษตร และระบบพลังงาน โดย 4 ด้านที่เหลือได้กำหนดแนวทางเบื้องต้นไว้เท่านั้น

ทรัพยากรสังคม คปร. ได้แบ่งทรัพยากรทางสังคมออกเป็น 7 กลุ่มย่อย ได้แก่ การศึกษา ศาสนธรรมและจิตวิญญาณ พื้นที่ทางวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ การสื่อสาร ระบบสาธารณสุข ปฏิรูปเมืองเพื่อคุณภาพชีวิต ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ทั้งนี้ คปร. ได้ศึกษาใน 4 กลุ่มย่อย ได้แก่ การศึกษา ศาสนธรรมและจิตวิญญาณ ระบบสาธารณสุข ปฏิรูปเมืองเพื่อคุณภาพชีวิต

ทรัพยากรการเมือง คปร. เสนอทรัพยากรการเมือง 4 ประเด็นย่อย คือ โครงสร้างอำนาจรัฐ, กองทัพ, กระบวนการยุติธรรม, ระบบข่าวสารข้อมูล โดยคปร. ได้ศึกษาเพียงประเด็นเดียวคือ การปฏิรูปโครงสร้างอำนาจรัฐ

นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอของ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จากรายงาน 92 หน้า เกี่ยวกับผลการตรวจสอบเพื่อมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายกรณีเหตุการณ์การชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. ระหว่างวันที่ 12 มี.ค. 53-19 พ.ค.53 สรุปสาระสำคัญได้ว่า    

“กรณีชายชุดดำ กรณีการเสียชีวิตของผู้ชุมนุม เจ้าหน้าที่ของรัฐ ผู้สื่อข่าว และประชาชนจากเหตุการณ์ครั้งนี้ทุกราย รวมถึงผู้ได้รับบาดเจ็บและทรัพย์สินได้รับความเสียหายรัฐโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องใช้หลักวิชาตามกำลังความรู้ ความสามารถอย่างเต็มที่ไม่เลือกปฏิบัติ โดยควรดำเนินการสืบสวนสอบสวนให้สังคมได้รับรู้ พร้อมลงโทษคนผิดตามกระบวนการยุติธรรม เพื่อนำมาซึ่งความเป็นธรรมให้สังคม”

แต่จริตจะก้านแบบ ยิ่งลักษณ์ กลับฉีกทิ้งลงถังขยะ

ผลการตรวจสอบยังระบุอีกว่า “สำหรับความมีอยู่จริงของชายชุดดำนั้น มีพยาน 5 คน ให้การสอดคล้องต้องกันว่ามีกลุ่มชายชุดดำอยู่ในพื้นที่ชุมนุมจริง โดยพยานบุคคลรายหนึ่งให้ข้อเท็จจริงว่ากลุ่มผู้ชุมนุม รวมถึงกลุ่มชายชุดดำจะมีการติดต่อสื่อสารกันโดยใช้วิทยุคลื่นความถี่ต่ำ มีการส่งเสบียงอาหาร รวมถึงยางรถยนต์ ที่จะทำมาใช้เป็นบังเกอร์ และเชื้อไฟ มีการว่าจ้างให้เยาวชนจากนอกพื้นที่เป็นผู้เผายางรถยนต์ และยิงพลุ สังเกตแล้วเห็นได้ชัดว่ามีการวางแผนการทำงานเป็นอย่างดี นอกจากนี้พยานบุคคลอีกรายให้ข้อเท็จจริงว่า ก่อนเกิดเหตุเผาห้างเซ็นทรัลเวิลด์นั้น ปรากฏมีการปะทะกันระหว่างพนักงานรักษาความปลอดภัยของห้าง กับกลุ่มชายชุดดำ โดยมีการโยนระเบิดเข้าไปในกลุ่มพนักงานรักษาความปลอดภัยด้วย
 

“กรณีมีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บบริเวณวัดปทุมวนารามฯ ภายหลังจากแกนำกลุ่ม นปช. ประกาศยุติการชุมนุม เมื่อวันที่ 19 พ.ค.53 เห็นว่าเหตุการณ์ดังกล่าวจากลักษณะทิศทางของกระสุนที่ปรากฏบนศพบางศพในจำนวน 6 ศพ ที่เสียชีวิตบริเวณนี้ มีลักษณะถูกยิงจากบนลงล่าง น่าจะสันนิษฐานได้ว่า ผู้ยิงอยู่ในตำแหน่งสูงกว่า เมื่อปรากฏเท็จจริงว่าเจ้าหน้าที่ทหารปฏิบัติหน้าที่อยู่บนรางรถไฟฟ้า หน้าวัดปทุมวนารามฯ รวมถึงภาพถ่ายร่องรอยกระสุนปืนบนรถยนต์และพื้นถนนภายในวัด จึงน่าเชื่อได้ว่า ความเสียหายกรณีการเสียชีวิตและบาดเจ็บนั้น ส่วนหนึ่งย่อมเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ที่ปฏิบัติการกระชับพื้นที่ในที่เกิดเหตุบริเวณวัดปทุมฯ ในบริเวณดังกล่าว”

นอกจากนั้นยังมีข้อเสนอจาก กสม. เช่น

1 ) คณะรัฐมนตรีควรหลีกเลี่ยงการประกาศใช้กฎหมายพิเศษ ได้แก่ พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พุทธศักราช 2457 พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 และพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 เว้นแต่การชุมนุมแปรเปลี่ยนไปสู่สถานการณ์ วิกฤติ หรือการจลาจล ที่จะกระทบต่อความมั่นคง หรือก่อให้เกิดความไม่สงบ เรียบร้อยอย่างร้ายแรง ทั้งนี้ ควรต้องมีการกำหนดกรอบการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ที่ชัดเจน และมีการปฏิบัติที่ไม่เป็นการกระทำต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชน

2) คณะรัฐมนตรีโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องทบทวนถึงแนวทางปฏิบัติให้สอดคล้อง กับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 63 ที่ต้องส่งเสริมและคุ้มครองเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ นอกจากนี้ รัฐควรสร้างกลไกให้มีหน่วยงานเฉพาะเพื่อทำหน้าที่ในการรับปัญหาและพิจารณาแก้ไขเบื้องต้น เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ปัญหาขยายตัวมากขึ้น จนต้องมีการชุมนุม

3) คณะรัฐมนตรีต้องดำเนินการเผยแพร่ เพื่อสร้างความเข้าใจต่อสาธารณชนว่า สภาพปัญหาที่เกิดขึ้นตามรายงานฉบับนี้ มีข้อค้นพบที่เป็นปัญหาความขัดแย้งในเชิงโครงสร้างที่รุนแรงจากการแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างกัน จึงเป็นหน้าที่ที่ทั้งภาครัฐและภาคสังคมจะต้องร่วมกันหาทางออก โดยยึดหลักสิทธิมนุษยชนตามแนวทางสันติวิธี หลักนิติธรรม หลักการมีส่วนร่วม และหลักขันติธรรม ทั้งต้องคำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดของประเทศ ในการแสวงหาทางออก ทุกฝ่าย ต้องมีความจริงใจและร่วมมือกันบนพื้นฐานการรับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่ายและเปิดใจกว้าง โดยลดการเอาชนะคะคานกันของพรรค ของกลุ่ม ของครอบครัวของบุคคล มาเป็นผลประโยชน์โดยรวม

4) คณะรัฐมนตรีโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องดำเนินการสืบสวน สอบสวนหาข้อเท็จจริงและติดตามผู้กระทำความผิด ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ผู้ชุมนุมหรือบุคคลใดก็ตามมาดำเนินคดีตามกระบวนการยุติธรรม ในเหตุการณ์ที่มีผู้เสียชีวิต และมีผู้ได้รับบาดเจ็บทุกเหตุการณ์ เช่น เหตุการณ์เมื่อวันที่ 10เมษายน 2553 และเหตุการณ์ที่มีผู้เสียชีวิตบริเวณวัดปทุมวนารามราชวรวิหาร ตลอดจนการวางเพลิงเผาทรัพย์และเหตุการณ์อื่นๆ ที่มีการกระทำผิดกฎหมาย

5) คณะรัฐมนตรีควรตระหนักและหาทางแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง เพื่อสร้างความ เป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม อันจะนำไปสู่การเคารพสิทธิและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างกว้างขวาง

ยังไม่นับข้อเสนอจาก คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) โดยมีศาสตราจารย์ ดร. คณิต ณ นคร อีกพะเรอเกวียน ในการแก้ปัญหาความขัดแย้งของสังคม

เพราะฉะนั้น คงมีแต่ “กาก”เท่านั้นที่จะออกมาจากการปฏิรูปของยิ่งลักษณ์ !!


อานันท์ ปันยารชุน
คณิต ณ นคร

กำลังโหลดความคิดเห็น