xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ค้านรายงาน กสม.สันดาน“เสื้อแดง”ไม่เคยรับความจริง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กลุ่มคนเสื้อแดงชุมนุมเรียกร้องให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติลาออก เมื่อ 14 ส.ค.ที่ผ่านมา
ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-ไม่ผิดไปจากความคาดหมาย เมื่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.)ได้เปิดเผยรายงานผลการตรวจสอบการชุมนุมของคนเสื้อแดงปี 53 บรรดาหัวโจกคนเสื้อแดงก็รีบดาหน้าออกมาตอบโต้ทันที

รายงานฉบับนี้มีชื่อเต็มว่า“ผลการตรวจสอบเพื่อมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายกรณีเหตุการณ์การชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช.ระหว่างวันที่ 12 มี.ค.53 - 19 พ.ค.53”

กสม.ใช้เวลาการตรวจสอบเกือบ 2 ปี ก่อนที่จะเผยแพร่ทางเว็บไซต์เมื่อวันที่ 8 ส.ค.ที่ผ่านมา

รายงานดังกล่าวมีสาระสำคัญสรุปได้ว่า การชุมนุมของ นปช.ตั้งแต่วันที่ 12-16 มี.ค.53 เป็นการชุมนุมโดยสงบ อยู่ในกรอบรัฐธรรมนูญ แต่เมื่อมีการขยายพื้นที่ชุมนุม มีการเคลื่อนตัวไปยังบริเวณราชประสงค์ พร้อมแสดงแนวโน้มการชุมนุมที่ไม่มีระยะเวลาสิ้นสุด ความเดือดร้อนปรากฏโดยทั่วเป็นเวลาเนิ่นนานเกินความจำเป็น ส่งผลต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน ทั้งมีแนวโน้มที่จะนำไปสู่การใช้กำลังความรุนแรงเพื่อให้รัฐบาลดำเนินการตามข้อเรียกร้อง การชุมนุมดังกล่าวถือได้ว่าเป็นการชุมนุมที่อยู่นอกเหนือขอบเขตที่รัฐธรรมนูญให้การรับรองคุ้มครองไว้

กรณีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีขณะนั้นประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินและจัดตั้งศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ ศอฉ.ในวันที่ 7 เม.ย. 2553 กสม.เห็นว่าภายหลังการประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคง ได้เกิดเหตุหลายครั้ง โดยเฉพาะการระเบิดสถานที่สำคัญหลายแห่ง ตลอดเดือนมีนาคม ไปถึง เดือนเมษายน 53 อาทิ กระทรวงกลาโหม กระทรวงสาธารณสุข เป็นเหตุให้รัฐต้องขยายระยะเวลาการประกาศใช้ พ.ร.บ.มั่นคง ออกไปอีก 2 ช่วง และกลุ่ม นปช.เริ่มขยายพื้นที่การชุมนุมไปยังบริเวณราชประสงค์ และพื้นที่ต่างๆ จึงเห็นว่าการที่นายกฯ โดยความเห็นชอบของ ครม.ใช้อำนาจประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขต กทม.และจังหวัดใกล้เคียง พร้อมออกประกาศคำสั่งต่างๆ เพื่อดำเนินการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน จึงเป็นการกระทำที่อยู่ภายใต้ขอบเขตที่กฎหมายให้อำนาจไว้

กรณีการชุมนุมและการปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับ นปช.เห็นว่าการชุมนุมของ นปช.เป็นการชุมนุมเกินขอบเขต แสดงออกถึงพฤติกรรมที่ไม่ใช่วิธีการปกติ เช่น บุกยึดรัฐสภา ปิดถนน ค้นรถประชาชน ขู่ บุก ยึดและเผาศาลากลางจังหวัด และมีการปรากฏตัวของชายชุดดำฉวยโอกาสทำให้สถานการณ์วุ่นวายด้วยการใช้อาวุธสงคราม เครื่องยิงระเบิด มีคนบาดเจ็บล้มตาย ทรัพย์สินราชการเสียหาย ซึ่งแกนนำมีหน้าที่ต้องระมัดระวัง ป้องกันไม่ให้ผู้ไม่ประสงค์ดีเข้ามาแทรกแซงใช้ความรุนแรง เพื่อให้การชุมนุมกลายเป็นการชุมนุมที่ไม่สงบ ลุกลามไปสู่ความรุนแรง แต่กลับพบว่ามีการใช้อาวุธสงครามที่ร้ายแรง และจากเหตุการณ์ดังกล่าว มีการฝ่าฝืน พ.ร.บ.ความมั่นคงภายใน พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน รวมถึงการใช้และปิดกั้นพื้นที่เป็นการกระทำที่เกินกว่าความจำเป็น จึงถือเป็นการใช้สิทธิเกินกว่าที่รัฐธรรมนูญประกาศไว้ และในบางสถานที่มีการใช้เด็ก สตรี เป็นโล่มนุษย์ เป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสม ขาดความระมัดระวังอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับเด็ก สตรี จึงเห็นว่าเป็นการกระทำที่อยู่นอกเหนือที่รัฐธรรมนูญบัญญัติ

เมื่อพิจารณาถึงเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากการที่กลุ่มชุมนุมใช้เด็ก สตรี เป็นโล่มนุษย์ ใช้ไม้ปลายแหลม ก้อนอิฐตัวหนอน โดยพยานยืนยันว่าผู้ชุมนุมใช้อาวุธปืนทำการต่อต้านการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่รัฐ มีกลุ่มชายชุดดำที่มีอาวุธพร้อมใช้ความรุนแรงได้ตลอดเวลาปะปนอยู่ด้วย เจ้าหน้าที่ทหารจึงมีความจำเป็นป้องกันตนเอง และผู้อื่นให้พ้นจากภยันตรายที่จะเกิดขึ้น โดยไม่สามารถใช้วิธีป้องกันอย่างอื่นได้

แต่แม้จะรับฟังได้ว่าเป็นการป้องกันตนเองและบุคคลอื่นให้พ้นจากภยันตรายต่อชีวิตและร่างกาย และป้องกันไม่ให้เกิดความผิดอาญาร้ายแรงเพื่อกระทำการจับกุมผู้กระทำอันตราย หรือต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานก็ตาม แต่ต้องไม่ทำเกินกว่าเหตุ นอกเสียจากไม่สามารถใช้มาตรการอื่นแทนได้ แต่การกระทำที่เป็นเหตุให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บเสียชีวิตจำนวนมาก การกระทำของรัฐจึงเป็นการกระทำโดยประมาท ประเมินสถานการณ์ผิดพลาดที่รัฐไม่อาจปฏิเสธความรับผิดชอบได้

กสม.ยังได้ระบุถึงเหตุการณ์ชุมนุมของ นปช.ที่เข้าข่ายละเมิดสิทธิประชาชน อาทิ กรณีผู้ได้รับบาดเจ็บเสียชีวิตจากการยิงระเบิดเอ็ม 79 ที่แยกศาลาแดงวันที่ 22 เม.ย.53 มีพยานบุคคลที่เห็นว่าลูกระเบิดเอ็ม 79 ถูกยิงมาจากทิศทางและบริเวณที่กลุ่ม นปช.ใช้เป็นที่ชุมนุม และยังมีพยานบุคคลได้ยินแกนนำกลุ่ม นปช.ประกาศผ่านเครื่องขยายเสียงในทำนองที่ทำให้เข้าใจได้ว่าแกนนำของกลุ่ม นปช.รับรู้ล่วงหน้าแล้วว่าจะมีเหตุการณ์อันตรายที่อาจถึงแก่ชีวิตเกิดขึ้นในบริเวณดังกล่าวในช่วงระยะเวลาอันใกล้

กรณีการชุมนุมของกลุ่ม นปช.บริเวณรอบโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และการเข้าไปค้นโรงพยาบาลจุฬาฯ เมื่อวันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2553 กสม.เห็นว่า เป็นการละเมิดต่อสิทธิ เสรีภาพ ในชีวิตและร่างกาย สิทธิในการรับการบริการจากสาธารณสุข สร้างความหวาดกลัวความรู้สึกไม่ปลอดภัยในการเดินทาง และปฏิบัติหน้าที่บุคลากรทางการแพทย์ที่มีหน้าที่ช่วยเหลือชีวิตของผู้อื่นอันเป็นการละเมิดหลักมนุษยธรรมด้วย

กรณีการเกิดเหตุจลาจล ปะทะ และทำลายทรัพย์สินของราชการและเอกชนระหว่างวันที่ 13-19 พ.ค. 2553 กสม.เห็นว่าการใช้สิทธิเสรีภาพในการชุมนุมของกลุ่ม นปช.บางส่วนเป็นเหตุที่สามารถส่งผลโดยตรง หรือโดยอ้อมให้เกิดการสูญเสียชีวิต บาดเจ็บ และทรัพย์สินราชการและเอกชนให้เสียหาย เห็นได้ชัดว่าเป็นการชุมนุมที่ไม่สงบ ใช้อาวุธโดยข้อเท็จจริงปรากฏมีบุคคลใช้อาวุธยิงปะทะกับเจ้าหน้าที่ททหารเป็นระยะ

สำหรับความมีอยู่จริงของชายชุดดำนั้น มีพยาน 5 คน ให้การสอดคล้องต้องกันว่ามีกลุ่มชายชุดดำอยู่ในพื้นที่ชุมนุมจริง โดยพยานบุคคลรายหนึ่งให้ข้อเท็จจริงว่ากลุ่มผู้ชุมนุม รวมถึงกลุ่มชายชุดดำจะมีการติดต่อสื่อสารกันโดยใช้วิทยุคลื่นความถี่ต่ำ มีการส่งเสบียงอาหาร รวมถึงยางรถยนต์ที่จะทำมาใช้เป็นบังเกอร์ และเชื้อไฟ มีการว่าจ้างให้เยาวชนจากนอกพื้นที่เป็นผู้เผายางรถยนต์และยิงพลุ สังเกตแล้วเห็นได้ชัดว่ามีการวางแผนการทำงานเป็นอย่างดี นอกจากนี้พยานบุคคลอีกรายให้ข้อเท็จจริงว่าก่อนเกิดเหตุเผาห้างเซ็นทรัลเวิลด์นั้น ปรากฏมีการปะทะกันระหว่างพนักงานรักษาความปลอดภัยของห้างกับกลุ่มชายชุดดำ โดยมีการโยนระเบิดเข้าไปในกลุ่มพนักงานรักษาความปลอดภัยด้วย

กรณีมีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บบริเวณวัดปทุมวนาราม เห็นว่าเหตุการณ์ดังกล่าวจากลักษณะทิศทางของกระสุนที่ปรากฏบนศพบางศพในจำนวน 6 ศพ ที่เสียชีวิตบริเวณนี้ มีลักษณะถูกยิงจากบนลงล่าง น่าจะสันนิษฐานได้ว่าผู้ยิงอยู่ในตำแหน่งสูงกว่า เมื่อปรากฏเท็จจริงว่าเจ้าหน้าที่ทหารปฏิบัติหน้าที่อยู่บนรางรถไฟฟ้า หน้าวัดปทุมวนาราม รวมถึงภาพถ่ายร่องรอยกระสุนปืนบนรถยนต์ และพื้นถนนภายในวัด จึงน่าเชื่อได้ว่าความเสียหายกรณีการเสียชีวิตและบาดเจ็บนั้น ส่วนหนึ่งย่อมเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ที่ปฏิบัติการกระชับพื้นที่ในที่เกิดเหตุบริเวณวัดปทุมฯ ในบริเวณดังกล่าว

ทันทีที่รายงานเผยแพร่ออกมา หัวโจกเสื้อแดงก็ดาหน้าออกมาโต้ทันที ไม่ว่าจะเป็นนายก่อแก้ว พิกุลทอง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย นพ.เชิดชัย ตันติศิรินทร์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ที่อ้างว่า กสม.เข้าข้างพรรคประชาธิปัตย์และคณะปฏิวัติ

ขณะที่คนเสื้อแดงกลุ่มหนึ่งได้ไปประท้วงที่หน้าสำนักงาน กสม.เมื่อวันที่ 14 ส.ค. พร้อมเรียกร้องให้นางอมรา พงศาพิชญ์ ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชน และกรรมการสิทธิมนุษยชน ลาออกจากตำแหน่ง โดยให้เวลา 15 วัน หากยังเพิกเฉยก็จะมีการกำหนดทีในการเคลื่อนไหวอีกครั้ง

นอกจากนี้ น.ส.จารุพรรณ กุลดิลก ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย ก็อ้างว่า กสม.ดำเนินการขัดต่อหลักการสิทธิมนุษยชนสากล เพราะ กสม.นั้นต้องตรวจสอบรัฐ ไม่ใช่ตรวจสอบประชาชน และยังเป็นการตรวจสอบประชาชนเพียงกลุ่มเดียวอีกด้วย

เห็นได้ชัดว่า แกนนำเสื้อแดงได้หลับหูหลับตาออกมาต่อต้านรายงานของ กสม.ทั้งที่หากมองด้วยใจเป็นธรรมก็จะพบว่า รายงานชิ้นนี้มีความเป็นกลางอยู่พอสมควร เพราะฝ่ายรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะก็ถูกตำหนิด้วย

นั่นเป็นเพราะแกนนำคนเสื้อแดงต้องการจะให้รายงานออกมาว่า รัฐบาลนายอภิสิทธิ์เป็นคนสั่งฆ่าผู้ชุมนุมเท่านั้น เพราะนี่คือสิ่งที่พวกเขาพยายามเป่าหูสาวกมาโดยตลอด

แต่ความจริงที่แกนนำคนเสื้อแดงปฏิเสธไม่ได้ก็คือ การชุมนุมในปี 53 มีความต้องการที่จะให้เกิดการการตายในที่ชุมนุม เพื่อนำศพไปยกระดับแรงกดดันรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หลังจากที่การชุมนุมปี 52 ไม่มีศพ ทำให้ขับไล่นายอภิสิทธิ์ไม่สำเร็จ

มูลเหตุที่นำไปสู่การตายของผู้ชุมนุม ประชาชน และเจ้าหน้าที่ มาจากฝั่งคนเสื้อแดงนั่นเอง นี่คือความจริงที่แกนนำคนเสื้อแดงไม่เคยยอมรับ


กำลังโหลดความคิดเห็น