xs
xsm
sm
md
lg

สภาปฏิรูปประเทศ : การซื้อเวลาโรยหน้าด้วยเล่ห์กล

เผยแพร่:   โดย: สามารถ มังสัง

ในขณะที่การเมืองในสภาฯ เต็มไปด้วยความขัดแย้งระหว่างฝ่ายค้านกับรัฐบาล ในเรื่องการออกกฎหมายนิรโทษกรรม และนอกสภาฯ มีม็อบกลุ่มต่างๆ รวมตัวกันที่สวนลุมพินี เพื่อคัดค้านการออกกฎหมายนิรโทษกรรมและกฎหมายกู้เงิน รวมไปถึงการชุมนุมของประชาชนซึ่งนำโดย ส.ส.ของพรรคประชาธิปัตย์ที่ซอยอุรุพงษ์ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีได้ออกโทรทัศน์แสดงความจำนงจะให้มีการปฏิรูปประเทศไทย โดยการเชิญกลุ่มต่างๆ ที่มีความเห็นแย้งกับรัฐบาล และเห็นด้วยกับรัฐบาลมาตั้งเป็นสภาปฏิรูปเพื่อเสนอแนวทางแก้ปัญหาประเทศที่เป็นอยู่ในขณะนี้ โดยการส่งนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา และนายวราเทพ รัตนากร ไปทาบทามบุคคลต่างๆ เช่น นายอุกฤษ มงคลนาวิน และนายอานันท์ ปันยารชุน แต่ดูเหมือนว่าผู้ที่ได้รับเชิญจะเสนอเงื่อนไขควบคู่กับการตอบรับ เช่น นายอุทัย พิมพ์ใจชน เสนอให้รัฐบาลถอนร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมออกไป และนายอุกฤษ เสนอให้มีการจัดตั้งสภาที่ปรึกษา โดยเชิญบุคคลต่างๆ ซึ่งเป็นที่เคารพของประชาชน และไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเมือง

จากท่าทีของการตอบรับแบบมีเงื่อนไขในลักษณะนี้ ถ้ามองผิวเผินอาจตีความได้ว่า ตอบรับแต่เกี่ยงเรื่องวิธีการ แต่ถ้ามองให้ลึกลงไปก็คือการปฏิเสธเพราะคงจะรู้อยู่แล้วว่า การให้ถอน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมออกไปแล้วมาเริ่มต้นแก้ปัญหาร่วมกันนั้น รัฐบาลภายใต้การนำของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่อยู่ภายใต้การบงการของอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งเป็นเป้าหมายที่แท้จริงในการออกกฎหมายล้างผิดในครั้งนี้ คงจะต้องปฏิเสธแน่นอน

ดังนั้น จึงพูดได้ว่า การเสนอตั้งสภาปฏิรูปประเทศในครั้งนี้ เป็นเพียงการซื้อเวลาให้รัฐบาลได้ทำงานในสภาฯ เพื่อออกกฎหมายได้สะดวกยิ่งขึ้น และในขณะเดียวกัน เป็นเพียงการหาทางออกให้ตนเองโดยใช้เหตุผลในการปรองดองมาบังหน้าเหมือนการแต่งหน้าเค้กให้ดูดีเท่านั้น ทั้งนี้อนุมานด้วยเหตุปัจจัยในเชิงตรรกะดังต่อไปนี้

1. การปฏิรูปประเทศไทยในทุกด้าน เริ่มตั้งแต่การเมือง เศรษฐกิจ และสังคมได้มีการเรียกร้องมานานแล้ว โดยเฉพาะจากกลุ่มประชาชน พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย แต่พรรคเพื่อไทยไม่เคยตอบรับและใส่ใจที่จะดำเนินการ ทั้งในการปราศรัยหาเสียงก่อนการเลือกตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2554 และแม้กระทั่งในการแถลงนโยบายก่อนเข้าบริหารประเทศหลังได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง

ดังนั้น การที่นายกฯ ออกมาแสดงท่าทีในขณะนี้ จะมีความเป็นอย่างอื่นไม่ได้ นอกจากการซื้อเวลา และโรยหน้าด้วยเล่ห์กลทางการเมือง

2. ถึงแม้ว่ารัฐบาลจะมีเสียงข้างมากในสภาฯ และเป็นที่แน่นอนว่า ถ้านับจำนวนมือที่ยกให้รัฐบาลแล้ว เป็นที่แน่นอนว่ารัฐบาลชนะ

แต่ถ้ามองให้ลึกไปถึงเนื้อหา และเหตุผลที่ฝ่ายค้านซึ่งมีความถนัดจัดเจนในการค้านแล้ว เชื่อได้ว่าคนฟังนอกสภาฯ จะต้องให้ฝ่ายค้านชนะ ประกอบกับการต่อสู้คัดค้าน พ.ร.บ.ในครั้งนี้ พรรคประชาธิปัตย์มิได้กำหนดเกมการต่อสู้ในสภาฯ เพียงอย่างเดียว แต่ได้กระทำการควบคู่กันไป ทั้งในและนอกสภาฯ จึงทำให้รัฐบาลหวั่นไหว และเกรงความพ่ายแพ้นอกสภาฯ จึงได้หาทางออกด้วยการเล่นบทปรองดองควบคู่ไปกับบทเผด็จการในสภาฯ เพื่อหาความชอบธรรมให้แก่ตัวเอง

3. สถานภาพของรัฐบาลในทางการเมืองในขณะนี้ มิได้อยู่ในฐานะได้เปรียบฝ่ายค้าน ดังจะเห็นได้จากการพ่ายแพ้การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. และการเลือกตั้ง ส.ส.เขตดอนเมือง

ดังนั้น การที่จะแก้ปัญหาด้วยการผ่านกฎหมายแล้วยุบสภาฯ เพื่อเลือกตั้ง ก็ใช่ว่าจะรับประกันได้ว่าจะชนะการเลือกตั้งแบบท่วมท้นเหมือนเดือนกรกฎาคม 2552 ในทางกลับกัน โอกาสได้คะแนนลดลงและพ่ายแพ้คู่แข่งก็เกิดขึ้นได้ด้วย และนี่ก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้มีการเสนอทางออกด้วยการตั้งสภาปฏิรูปประเทศเพื่อให้ดำรงอยู่ต่อไปอีกระยะหนึ่ง

ด้วยเหตุปัจจัย 3 ประการนี้ จึงอนุมานได้ว่า เป็นที่มาของการเสนอทางออกด้วยการตั้งสภาปฏิรูปประเทศ

ส่วนประเด็นที่ว่าเป็นการโรยหน้าด้วยเล่ห์กลนั้น เห็นได้ชัดเจนจากการออกมาให้เหตุผลและความจำเป็นในการออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมอย่างรวบรัด และลัดขั้นตอนการปรองดองตามแนวทางที่คณะกรรมการค้นหาความจริงชุดที่นายคณิต ณ นคร เป็นประธานได้เสนอไว้ ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้บอกว่าจะนำแนวทางนี้มาใช้

อีกประการหนึ่ง ถ้าไม่รีบออก พ.ร.บ.ในขณะนี้กลุ่มคนเสื้อแดงอันเป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้ทางการเมืองของระบอบทักษิณ คงจะมองเห็นโอกาสที่จะรอดจากการต้องโทษจำคุกในข้อหาเผาบ้านเผาเมือง และเข่นฆ่าทหารได้ยาก ประกอบกับโอกาสที่รัฐบาลจะอยู่ครบเทอมมีน้อยลงด้วย

ดังนั้น จึงทำทุกสิ่งเพื่อออก พ.ร.บ.นี้ แม้กระทั่งใช้เล่ห์กลทางการเมืองที่ขัดนิติรัฐและนิติธรรมก็เอา.
กำลังโหลดความคิดเห็น