การเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 ถูกพม่าเผา พระเจ้าตากสินใช้เวลาประมาณ 7 เดือนก็กอบกู้อิสรภาพกลับคืนมาสำเร็จ แต่ความเสียหายของประเทศในยุคทุนนิยมสามานย์ เสียหายมากกว่าการเสียกรุงให้พม่าข้าศึกเสียอีก เสียแล้วเสียเลย ไม่สามารถเอากลับคืนมาได้ นอกจากจะเอากลับคืนมาไม่ได้แล้ว มีแต่จะเสียหายเพิ่มมากขึ้นไปอีก
ตัวอย่าง
วิกฤตเศรษฐกิจครั้งแรกของประเทศไทยเกิดจากการเปิดตลาดหุ้นครั้งแรกในปี 2518 จากนั้นตลาดหุ้นเริ่มพังทลายในปี 2521 ทำให้ค่าเงินบาทเสียหายด้วย (แต่มีการพยุงค่าเงินบาทไว้) ทำให้เงินไหลออกจากระบบ ทำให้สภาพคล่องเสียหาย ต้อง “ลด” ค่าเงินบาท ทางการต้องเข้าควบกิจการ 25 ไฟแนนซ์และเครดิตฟองซิเอร์ 25 แห่ง ที่รู้จักกันในชื่อโครงการ 4 เมษายน 2527 เอกชนล้มลง เกิดหนี้เสียจำนวนมาก คนตกงานมาก เงินเฟ้อสูง ต้องเข้ารับความช่วยเหลือทางการเงินจาก IMF เป็นครั้งแรก
วิกฤตเศรษฐกิจครั้งที่ 2 ของประเทศไทยเกิดจากการนำระบบ Maintenance margin และ Force sell มาใช้ในตลาดหุ้น ในเดือนตุลาคม 2536 ทำให้ Hedge Fund ลากตลาดหุ้นไทยขึ้นไปทิ้งในต้นปี 2537 ที่ 1,750 จุด ตลาดหุ้นพังทลายต่อมารุนแรง มีการบังคับขายหุ้นของนักลงทุนท้องถิ่นอย่างทารุณ ทำให้ค่าเงินบาทเสียหายด้วย (แต่มีการพยุงค่าเงินบาทไว้) ทำให้เงินไหลออกจากระบบ ทำให้สภาพคล่องเสียหาย ต้อง“ลอย” ค่าเงินบาท ทางการต้องสั่งยุติการกำเนินงานถาวรของ 54 สถาบันการเงิน ที่รู้จักกันในชื่อโครงการ 14 สิงหาคม 2541 เอกชนล้มลง เกิดหนี้เสียจำนวนมาก คนตกงานมาก เงินเฟ้อสูง ต้องเข้ารับความช่วยเหลือทางการเงินจาก IMF เป็นครั้งที่ 2 ทรัพย์สินของคนในชาติตกเป็นของต่างชาติมากขึ้น เช่นธนาคารเอกชนขนาดใหญ่ของไทย ก็ตกเป็นของต่างชาติ
วิกฤตเศรษฐกิจจนกระทั่งต้องเข้ารับความช่วยเหลือทางการเงินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เป็นเรื่องที่เลวร้ายที่สุดของทุกประเทศ
ความไม่รู้ ทำให้วิกฤตเศรษฐกิจเกิดขึ้นวนเวียนซ้ำซาก เกิดขึ้นแล้วเกิดขึ้นอีก
วิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่มักมาจากภาวะสงคราม แต่ทุกวันนี้ไม่มีภาวะสงครามก็เกิดวิกฤตเศรษฐกิจได้ ตลาดหุ้นเป็นจุดเริ่มต้นของการเกิดวิกฤต
(1) การพังทลายของตลาดหุ้น NYSE ของอเมริกาในปี 1929 เป็นที่มาของวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ของอเมริกา ที่รู้จากกันในชื่อ Great Depression
(2) การพังทลายของตลาดหุ้นไทยในปี 1978 เป็นที่มาของวิกฤตเศรษฐกิจ จนต้องเข้ารับความช่วยเหลือทางการเงินจาก IMF เป็นครั้งแรกของประเทศไทย
(3) การพังทลายของตลาดหุ้นไทยในปี 1994 เป็นที่มาของวิกฤตเศรษฐกิจต้องเข้ารับความช่วยเหลือทางการเงินจาก IMF เป็นครั้งที่ 2 ของประเทศไทย
(4) การพังทลายของตลาดหุ้น NASDAQ ปี 2000 ทำให้เงินเหรียญสหรัฐเสียหาย เงินไหลออกจากประเทศ ทำให้สภาพคล่องของอเมริกาเสียหาย ฯลฯเป็นที่มาของวิกฤตเศรษฐกิจครั้งล่าสุดของประเทศสหรัฐอเมริกา
(5) การพังทลายของตลาดหุ้นยุโรปในปี 2008 เป็นที่มาของวิกฤตเศรษฐกิจของยุโรปในทุกวันนี้
ฟังสุนทรพจน์ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในวันที่ชำระหนี้งวดสุดท้ายแก่ IMF เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2546 ทำให้เราได้ทราบว่า วิกฤตเศรษฐกิจของประเทศไทย จนกระทั่งต้องเข้ารับความช่วยเหลือทางการเงินจาก IMF ได้เกิดขึ้นขึ้นกับประเทศไทยมาแล้วถึง 2 ครั้ง มีรายละเอียดพอสมควร มีข้อเท็จจริงในบางส่วนประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์นอกจากนั้นเป็นความไม่รู้น้ำท่วมทุ่ง วาทกรรมเกินจริง เป็นการหาเสียงแบบยุทธวิธีการตลาดอย่างเข้มข้น
“วันนี้เป็นวันที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ชำระหนี้ไอเอ็มเอฟก้อนสุดท้าย เมื่อกลางวันนี้ได้ชำระคืนให้กับธนาคารของประเทศญี่ปุ่นและเย็นนี้ซึ่งเป็นเวลากลางวันของซีกประเทศตะวันตกก็ได้ชำระเงินก้อนสุดท้ายคืนให้กับไอเอ็มเอฟทั้งหมดที่ชำระคืนในวันนี้ก็ประมาณ 60,000 กว่าล้านบาท เป็นก้อนสุดท้ายแล้ว
หลังจากที่ได้เจอวิกฤตเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2540 ทำให้เราต้องลดค่าเงินบาท ประเทศขาดความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ เงินไหลออก เราต้องเข้าโปรแกรมไอเอ็มเอฟ ซึ่งขณะนั้นทางไอเอ็มเอฟร่วมกับธนาคารกลางและกระทรวงการคลังของ 8 ประเทศ และประเทศญี่ปุ่นได้อนุมัติวงเงินให้เรากู้เป็นเงินถึง 14,500 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่เราได้มีการเบิกใช้จริง 12,296 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 510,000 ล้านบาท
ซึ่งรัฐบาลที่แล้วได้ใช้หนี้ส่วน 510,000 ล้านบาทนี้ไป 10,000 ล้านบาท เหลือหนี้ทั้งหมด 500,000 ล้านบาท รัฐบาลนี้ได้เข้ามาทำงาน 2 ปีครึ่ง ได้ชำระหนี้ทั้ง 500,000 ล้านบาทหมดในวันนี้ ทำให้เราถือว่าหมดพันธะต่อการที่ต้องพึงปฏิบัติตามพันธกรณีที่มีไว้ต่อไอเอ็มเอฟ”
สุนทรพจน์ตอนนี้ บอกให้ทราบว่า ตั้งแต่เข้าโครงการ IMF เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2540 รัฐบาลก่อนหน้านี้ใช้หนี้ IMF ไป 10,000 ล้านบาท รัฐบาลทักษิณเข้ามาบริหารงานได้ 2 ปีครึ่ง ได้ใช้หนี้อีก 500,000 ล้านบาท
IMF กับกระทรวงการคลังของ 8 ประเทศอนุมัติวงเงินกู้ 14,500 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่มีการเบิกใช้จริง 12,296 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 510,000 ล้านบาท
หมายเหตุ1 วันที่ 2 กรกฎาคม 2540 ไม่ใช่วันที่ประเทศไทยเจอวิกฤตเศรษฐกิจอย่างที่สุนทรพจน์กล่าวอ้าง แต่เป็นวันที่ประเทศไทยยอมแพ้หรือยอมยกธงขาวต่อการปกป้องค่าเงินบาท ที่ได้ทำการต่อสู้อย่างขาดความเข้าใจมาตั้งแต่ปี 2538-2539 แล้ว คือเป็นวิกฤตเศรษฐกิจครั้งที่ 2 ที่ผู้เขียนนำเสนอไว้ในช่วงต้นแล้ว ว่าต้นเหตุจากวิกฤตเกิดจากอะไร เกิดแบบไหน เกิดอย่างไร (เกิดจากการพังทลายของตลาดหุ้นในปี 2537)
“พี่น้องประชาชนที่เคารพครับ ประเทศไทยเคยเข้าโครงการไอเอ็มเอฟมาแล้วครั้งหนึ่ง ในช่วงปี 2524, 2525 และ 2528 ทั้ง 3 สัญญาในช่วงนั้น เรากู้เงินมา 982 ล้านเหรียญสหรัฐ และเราใช้คืนหมดเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2533 เรากู้ตั้งแต่ปี 2524, 2525 และ 2528 เพียงแค่ไม่ถึง 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ
แต่ครั้งนี้เรากู้ถึง 12,296 ล้านเหรียญสหรัฐ และเราใช้คืนในวันนี้ ครั้งที่แล้วใช้คืนเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2533”
สุนทรพจน์ตอนนี้บอกให้ทราบว่าประเทศไทยเคยเกิดวิกฤตเศรษฐกิจมา 2 ครั้งแล้ว ในการเกิดวิกฤตเศรษฐกิจครั้งแรก ประเทศไทยใช้เงินกู้จาก IMF 982 ล้านเหรียญสหรัฐ และใช้คืนหมดเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2533 หลังจากการกู้ก้อนแรกเป็นเวลา9 ปี และหลังจากการกู้งวดสุดท้ายเป็นเวลา5 ปี
การเกิดวิกฤตเศรษฐกิจครั้งที่ 2 ประเทศไทยเริ่มกู้เงินจาก IMF ในเดือนกรกฎาคม 2540 และชำระคืนหมดเมื่อเดือนกรกฎาคม2546 หลังจากการกู้เงินเป็นเวลา6ปี
หมายเหตุ 2 ผู้เขียนอยากเน้นให้ทราบว่า การพังทลายของตลาดหุ้นครั้งแรกในปี 2521 ที่ทำค่าเงินเสียหาย เงินไหลออกจากระบบ สภาพคล่องของระบบเสียหาย กระทั่งต้องเข้ารับความช่วยเหลือทางการเงินงวดแรกจาก IMF ในปี 2524-2525 และ 2528
วิกฤตครั้งแรกเกิดจากการพังทลายของตลาดหุ้นในปี 2521 วิกฤตเศรษฐกิจครั้งที่ 2 เกิดจากการพังทลายของตลาดหุ้นในปี 2537 ห่างกันเป็นเวลา 16 ปี เป็นข้อมูลที่ในสุนทรพจน์ไม่ได้กล่าวไว้
“แต่หลังจากนั้นเพียง 7 ปีกับ 4 เดือนครับ เราเกิดวิกฤตอีกครั้งหนึ่ง ทำไมถึงมีวิกฤตห่างกันเพียงแค่ 7 ปี และวิกฤตเมื่อกรกฎาคม 2540 เป็นวิกฤตที่รุนแรง เป็นวิกฤตที่เราต้องกู้เงินถึง 510,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ ถ้าเราวิเคราะห์กันแล้ว คงไม่ใช่ความผิดของรัฐบาลใดรัฐบาลหนึ่ง หรือคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นความสะสมของการที่เราไม่ได้ติดตามสถานการณ์ เราไม่ได้เรียนรู้การเปลี่ยนแปลงของโลก เราไม่ได้มีข้อมูลแล้วก็ใช้ข้อมูลนั้นอย่างใกล้ชิดและชาญฉลาด จึงทำให้เราถูกบังคับให้มีการเปลี่ยนแปลงโดยที่เราไม่ได้พร้อมกับการเปลี่ยนแปลงล่วงหน้า
เหตุการณ์เหล่านี้ต้องไม่เกิดอีก ครั้งนี้ขอให้เป็นครั้งสุดท้ายที่เราจะต้องเข้าโปรแกรมไอเอ็มเอฟ ถึงแม้ว่าครั้งแรกกับครั้งนี้ห่างกันเพียง 7 ปี แต่ครั้งนี้รัฐบาลได้เข้ามา ได้พยายามแก้ปัญหาหลายๆ อย่างเพื่อให้เกิดความมั่นคง โดยดูตัวเลขทุกตัว ดูทิศทางทุกทิศทางเพื่อให้มั่นใจว่าเราจะไม่เกิดเหตุการณ์อย่างนี้อีกเพราะว่าเมื่อปี 2540 ผมเชื่อว่าวันนี้หลายคนยังไม่หายเจ็บปวด ความเจ็บปวดครั้งนี้ควรจะเป็นบทเรียนที่ให้กับคนไทยทั้งประเทศ”
สุนทรพจน์ตอนนี้เป็นเพียงวาทกรรม รัฐบาลก่อนการเกิดวิกฤตครั้งแรกอาจจะพูดได้ว่าไม่ใช่ความผิดของรัฐบาลนั้นๆ แต่จะอ้างว่าไม่ใช่ความผิดของรัฐบาลก่อนเกิดวิกฤตครั้งที่ 2 ไม่ได้ เนื่องจากมีบทเรียนจากการเกิดวิกฤตเศรษฐกิจมาก่อนหน้านั้นแล้ว 1 ครั้ง
การเข้าโครงการ IMF ครั้งที่ 2 เกิดขึ้นในช่วงรัฐบาลพล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธเป็นรัฐบาลที่มีพ.ต.ท.ทักษิณเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
เป็นคำอธิบายข้างๆ คูๆ อ่านแล้วก็ไม่ทราบอยู่ดี ว่าการเกิดวิกฤตเศรษฐกิจครั้งที่ 2 นี้ มีต้นเหตุมาจากอะไร แบบไหน อย่างไร ได้แก้ปัญหาหลายๆ อย่าง คือปัญหาอะไร โดยดูตัวเลขทุกตัว คือตัวเลขอะไร ดูทิศทางทุกทิศทาง คือทิศทางอะไร
ตัวเลขทางเศรษฐกิจที่ดีและที่แย่ล้วนเกิดจากกลไกที่ผิดปกติ ไม่ว่าตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจ หนี้ภาคเอกชน หนี้ภาครัฐ การนำเข้า-ส่งออก ฯลฯ เกิดจากเครื่องมือทางเศรษฐกิจที่ผิดปกติของประเทศ ที่รัฐบาลยุคต่างๆ สั่งสมขึ้นมา แล้วทำให้เกิดการทำลายระบบเศรษฐกิจของประเทศตัวเอง
หมายเหตุ 3 เมื่อไม่ทราบว่าต้นเหตุของปัญหาเกิดจากอะไร ต้นเหตุของปัญหาจึงไม่ได้รับการแก้ไข ที่บอกว่า เหตุการณ์เหล่านี้ต้องไม่เกิดอีก ครั้งนี้ขอให้เป็นครั้งสุดท้ายที่เราจะต้องเข้าโปรแกรมไอเอ็มเอฟ ก็เป็นการพูดไปเช่นนั้นเอง ลมๆ แล้งๆ ไม่มีน้ำหนักแต่อย่างใด
“..ทำไมเราถึงกล้าใช้หนี้ไอเอ็มเอฟทำไมเราถึงใช้หนี้ไอเอ็มเอฟก่อนเวลาถึง 2 ปี เรามั่นใจว่าเราได้ปรับนโยบายและพลิกสถานการณ์ได้แล้ว และเรามั่นใจว่า เราได้มีเงินทุนเพียงพอ เราไม่จำเป็นจะต้องเก็บหนี้ไว้ การใช้หนี้นอกจากประหยัดดอกเบี้ยถึง 5,000 ล้านบาทแล้ว ยังเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศ โดยทุกประเทศจะมองว่า ประเทศไทยเรามีความพร้อม มีความแข็งแรงพอ พร้อมที่จะใช้หนี้ก่อนเวลา เพื่อให้ความมั่นใจ ผมขออนุญาตอธิบายตัวเลขบางตัวเลขที่เป็นประโยชน์เพื่อให้พี่น้องประชาชนได้เข้าใจว่า ทำไมเราถึงมีความมั่นใจว่าเราเข้มแข็งพอ..”
สุนทรพจน์ตอนนี้ในเมื่อไม่ทราบสาระของปัญหา คำพูดต่อมาจึงเป็นเรื่องเพ้อเจ้อ เป็นเพียงวาทกรรมและการโฆษณาชวนเชื่อ รัฐบาลต้องเอะใจแล้วว่า ทำไมทุนสำรองจึงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเช่นนี้ ก็คล้ายกับช่วงก่อนหน้านี้ที่ไม่ทราบว่าทำไมเงินจึงไหลออกจากประเทศไทย ทุนสำรองหายไปอย่างรวดเร็ว จนต้องพึ่ง IMFแต่ตอนนี้มีการใช้หนี้ก่อนกำหนดถึง 2 ปี แสดงถึงความผันผวนที่รุนแรงของการไหลเข้า-ออกของเงินทุนแบบผิดปกติ
หมายเหตุ 4 รัฐบาลก่อนหน้านั้นใช้หนี้ IMF ไปเพียง 2 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือ 98 เปอร์เซ็นต์ หรือ 500,000 ล้านบาท เป็นการใช้หนี้ในรัฐบาลทักษิณ ที่บอกว่าประหยัดดอกเบี้ยถึง 5,000 ล้านบาท ที่จริงหากเป็นการใช้หนี้ตามกำหนด หรือยืดอายุการใช้หนี้ออกไปอีก ประเทศไทยจะประยัดมากกว่า 5,000 ล้านบาท ระหว่างปี 2549 - 2550 บาทแข็งค่าขึ้นจาก 41 บาทเป็น 29 บาทต่อเหรียญสหรัฐ หรือแข็งค่าขึ้นกว่า40 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งอาจจะทำให้ประหยัดเงินใช้หนี้ถึง 200,000 ล้านบาทได้
(รัฐบาลทักษิณถูกรัฐประหารให้หลุดจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549)
อะไรที่ทำให้ประเทศไทยสามารถชำระหนี้ IMF ได้อย่างรวดเร็ว ชำระหนี้ก่อนกำหนดถึง 2 ปี
การพังทลายของตลาดหุ้น NASDAQ ปี 2000 (A) และตกลงถึง 78 เปอร์เซ็นต์ ทำให้เงินเหรียญสหรัฐเสียหาย คนไม่ถือสกุลเงินเหรียญสหรัฐ ทิ้งเงินเหรียญสหรัฐมาถือเงินสกุลอื่น คือปรากฏการณ์ที่เงินไหลออกจากประเทศสหรัฐอเมริกา ไหลเข้าไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลก
รวมทั้งไหลเข้าประเทศไทยด้วย ไหลเข้ามาแบบรุนแรงทำให้ประเทศไทยมีเงินใช้หนี้ IMF
เปรียบเทียบให้เห็น ระหว่างปี 1998-2003 ว่าตลาดหุ้น NASDAQ มีการเปลี่ยนแปลงขึ้นลงแบบผิดปกติจริง เมื่อเปรียบเทียบกับ DJIA (เพื่อการเปรียบเทียบในต้นปี 1998 ได้ปรับฐานดัชนีให้เท่ากับ 100 เท่ากัน)
แสดงให้เห็นว่า ระหว่างปี 2000-2008 ค่าเงินเหรียญสหรัฐได้อ่อนค่าลงจริง อ่อนค่าลง 47.10 เปอร์เซ็นต์เมื่อเปรียบเทียบกับเงิน EURO
ข้อมูลชุดเดียวกันนี้ ถ้าหากดูทางต้าน EURO พบว่า EURO แข็งค่าขึ้น 89.05 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับค่าเงินเหรียญสหรัฐ (…. USD/EURO +89.05% ….)
ปี 2000- 2008 คือช่วงระยะเวลาการพังทลายของค่าเงินเหรียญสหรัฐ ส่งผลให้ค่าเงินประเทศต่างๆ ทั่วโลกแข็งค่าขึ้น เงิน EURO แข็งค่าแรงเป็นอันดับที่ 1 ของโลก +89.05 เปอร์เซ็นต์ เงิน BAHT ของไทย แข็งค่าแรงเป็นอันดับที่ 2 ของโลก +53.97 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเปรียบเทียบกับค่าเงินเหรียญสหรัฐ
ค่าเงินบาท (invert scale) พบว่าหลังการพังทลายของค่าเงินเหรียญสหรัฐ ตามหลังการพังทลายของตลาด NASDAQ เงินเหรียญสหรัฐที่เสียหาย ก็ไหลมาเปลี่ยนเป็นเงินบาททำให้เงินบาทก็แข็งค่าขึ้น ทำให้ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศของไทยเพิ่มขึ้น
รัฐบาลทักษิณเข้ามาในช่วงที่เงินทุนจากสหรัฐฯ ไหลเข้าประเทศไทยพอดี ในช่วงต้นเงินบาทแข็งค่าขึ้น 10.88 เปอร์เซ็นต์ และได้มีการชำระหนี้ IMFงวดสุดท้ายเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2003 ค่าเงินบาทอยู่ที่ระดับประมาณ 42บาทต่อเหรียญสหรัฐ น่าจะมีสิ่งดีที่เกิดขึ้นกับประเทศไทย แต่กลับเป็นการซ้ำเติมประเทศไทยให้ตกต่ำลง โดยเฉพาะเรื่องการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ
เมื่อตอนหาเสียงในช่วงเตรียมการเลือกตั้ง บอกว่าจะมายกเลิกกฎหมายขายชาติ 11 ฉบับ แต่เมื่อเป็นรัฐบาลก็มีการเข้ามาแก้กฎหมายจริง แต่เป็นการแก้กฎหมายให้เกิดการขายชาติง่ายขึ้น และเป็นผู้มาขายชาติเสียเอง
ช่วงปี 2000 - 2013ค่าเงินบาท เปลี่ยนแปลงด้วยหลายสาเหตุ
1) จากการพังทลายของค่าเงินเหรียญสหรัฐในปี 2000 (USD crash 2000) ช่วงต้นของรัฐบาลทักษิณ บาทแข็งค่าขึ้น 10.88 เปอร์เซ็นต์ และได้มีการชำระหนี้ IMF งวดสุดท้ายเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2003 ซึ่งเป็นการชำระหนี้ก่อนกำหนดถึง 2 ปี
2) จากการเปิดตลาดอนุพันธ์ในตลาดหุ้นในปี 2006 (Derivatives started 2006) ส่งผลให้เงินทุนไหลเข้ามาเก็งกำไรในตลาดพันธบัตรและตลาดหุ้นรุนแรง จะเห็นว่าช่วงปีกว่าๆ เงินบาทแข็งค่าขึ้น 40.30 เปอร์เซ็นต์ แม้จะมีรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2006 เงินทุนก็ยังไหลเข้าตลอดเวลา กระทั่งช่วงต้นของรัฐบาลสรยุทธ์ วันที่ 19 ธันวาคม 2006 ได้มีการออกมาตรการกันสำรอง 30 เปอร์เซ็นต์เงินทุนก็ยังไหลเข้า
3) Hamburger crisis ที่เกิดขึ้นในช่วงรัฐบาลสมัคร-สมชาย มาถึงช่วงต้นรัฐบาลอภิสิทธิ์ ค่าเงินบาทตกลง 19.47 เปอร์เซ็นต์ จากนั้นก็ปรับตัวขึ้น ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น 22.48%
ผู้เขียนได้นำสุนทรพจน์ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เมื่อวันที่ชำระหนี้งวดสุดท้ายแก่ IMF มานำเสนอ และนำเหตุการณ์การของเงินทุนจากต่างประเทศไหลเข้าประเทศไทยว่า มีต้นเหตุจากอะไร เกิดขึ้นแบบไหน อย่างไรเกิดจากความเสียหายของตลาด NASDAQ และค่าเงินเหรียญสหรัฐอย่างรุนแรงนั่นเอง ทำให้เงินทุนไหลเข้าประเทศไทยอย่างรุนแรง ประกอบกับประเทศไทยมีการเปิดตลาดอนุพันธ์ในเวลาต่อมาทำให้เงินทุนไหลเข้าประเทศมากขึ้นไปอีก กระทั่งเงินบาทแข็งค่าขึ้นเป็นอันดับที่ 2 ของโลก
กล่าวได้ว่า การชำระหนี้ IMF หมดก่อนกำหนดไม่ใช่ฝีมือของรัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรแต่อย่างใด หรือไม่ใช่ฝีมือของใครทั้งสิ้น
เรื่องการเข้ารับความช่วยเหลือทางการเงินจาก IMF และการชำระหนี้ IMF ได้หมด เป็นเรื่องใหญ่ เทียบเท่ากับชีวิตของประเทศ การพูดและการกระทำแบบมักง่าย ไม่ได้มีการแก้ไขปัญหาในเรื่องที่เกี่ยวข้องแต่อย่างใด จะทำให้ปัญหาแบบเดิมเกิดขึ้นในวันข้างหน้าได้อีก
เมื่อไม่ทราบถึงสาระในการใช้หนี้ IMF หมดว่าเป็นอย่างไร สุนทรพจน์ดังกล่าวจึงไม่ได้สาระด้วย การนำเหตุการณ์ของการชำระหนี้ IMF หมดก่อนกำหนด มาโฆษณา ก็เป็นการนำเสนอไปโดยเข้าใจผิด ทำให้คนไทยทั้งกว่า 60 ล้านคนเข้าใจผิดไปด้วย แม้เมื่อปลายปี 2004 จังหวัดทางใต้ของประเทศเจอแผ่นดินไหว และคลื่นยักษ์สึนามิ มีคนตาย 5,395 ศพ คนหาย 2,817 คน พ.ต.ท.ทักษิณมีวาทกรรมของการหลงผิดออกมาว่า“ประเทศไทยหมดพันธกรณีต่อการใช้หนี้ IMF แล้ว เศรษฐกิจประเทศไทยเข้มแข็งเรายืนบนขาตัวเองได้ ประเทศไทยไม่ต้องการความช่วยเหลือทางการเงินจากต่างประเทศ เราต้องการความช่วยเหลือทางด้านเทคโนโลยีมากกว่า” ประมาณนี้มิจฉาวาทกรรมเรื่องการใช้หนี้ IMF หมด ถูกใช้บ่อยครั้งมาก ทำให้คนหลงเชื่อว่าทักษิณเป็นคนเก่ง เป็นคนมีฝีมือ ทำให้ค่าความนิยมของมวลชนต่อตัวเขาเพิ่มขึ้น
เป็นเรื่องยากที่ผู้คนจะตามทันวาทกรรมของนักการเมือง เพราะคนทั่วไปไม่ได้มีข้อมูลความรู้และความเข้าใจในสิ่งที่เขาพูด ได้แต่เชื่ออย่างเดียว อย่าว่าแต่คนรากหญ้าเลยแม้นักวิชาการระดับสูง นักการศึกษาระดับสูง และแม้แต่คนระดับพลเอก ก็หลงเชื่อและหลงใหลเขาอย่างแท้จริง
นักการเมืองรู้แก่ตัวดี ว่าตนเองไม่ได้มีการทำอะไรกับเรื่องการใช้หนี้ IMF ได้หมด แต่ก็กล้าสวมรอยพูดเอาดีใส่ตัวแบบขาดหิริโอตตัปปะ
ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศ มีความสัมพันธ์กับค่าเงินบาท ค่าเงินบาทและทุนสำรองเงินตราต่างประเทศจะเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ขึ้นก็ขึ้นด้วยกัน ตกก็ตกด้วยกัน ในเวลาเดียวกัน
ปี 2006 เป็นปีที่เริ่มเปิดการซื้อขายอนุพันธ์ที่ตลาดหุ้น ทำให้เงินทุนไหลเข้ามาเก็งกำไรในตลาดทุน ตลาดอนุพันธ์ ตลาดตราสารหนี้ ทุนสำรองเริ่มเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วปี 2006-2007 เงินบาทแข็งค่าขึ้น 40.30 เปอร์เซ็นต์ (ดูที่แผนภูมิค่าเงินบาท) แม้จะมีรัฐประหาร แม้จะมีการออกมาตรการกันสำรอง 30 เปอร์เซ็นต์เงินทุนไหลเข้า เงินทุนจากต่างประเทศก็ยังคงไหลเข้าต่อเนื่อง สินค้าอนุพันธ์ตลาดทุนได้เพิ่มขึ้นในรัฐบาลต่อๆ มา และมาครบสมบูรณ์ที่สุดในรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ รวมทั้ง Dollarfutures ก็เปิดการซื้อขายในรัฐบาลยิ่งลักษณ์
ปี 2008 เป็นช่วงที่เงินทุนไหลออก เงินบาทก็อ่อนค่า ทุนสำรองก็ลดลงเช่นเดียวกันเป็นผลกระทบจากวิกฤต Hamburger crisis
รัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2006 พ.ต.ท.ทักษิณพูดบอกใครต่อใครแบบขาดข้อมูลว่า จะทำให้ต่างชาติไม่เชื่อมั่นในประเทศไทย ต่างชาติจะไม่มาลงทุนในประเทศไทย แต่หากดูจากค่าเงินบาทที่สูงขึ้น ทุนสำรองที่สูงขึ้นหลังรัฐประหาร จะเห็นว่าเป็นเรื่องตรงกันข้ามกับที่ทักษิณพูด เขามุสาได้ตลอดเวลา แล้วมาเป็นผู้นำประเทศได้อย่างไร
รัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์เริ่มบริหารประเทศต้นเดือนสิงหาคม 2011 (วันที่ 5) ทุนสำรองอยู่ที่ระดับ 213.29 พันล้านเหรียญสหรัฐ ทุนสำรองได้ทำสถิติขึ้นไปสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในอีก 3 สัปดาห์ผ่านมา ปลายเดือนสิงหาคม 2011 (วันที่ 26) ทุนสำรองที่ระดับ 215.71 พันล้านเหรียญสหรัฐ
จากนั้นทุนสำรองเงินตราต่างประเทศก็ลดลงมาโดยตลอด ทุนสำรองได้ลดลงอย่างต่อเนื่องครบ 2 ปีเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2013 ยังไม่มีทีท่าว่าจะยุติการลดลงเมื่อใด
การบริหารประเทศเต็มไปด้วยเรื่องปาหี่ ไม่สมเหตุสมผล วาจาดีแต่เป็นวจีทุจริต อ้างรักห่วงใยประเทศชาติประชาชนแต่การกระทำเป็นไปในทางตรงกันข้าม แจกแทบเล็ต ชดเชยคนตายจากเหตุการณ์เผาบ้านเผาเมืองศพละ 7.5 ล้านบาท ในขณะที่ทหารเสียชีวิตใน 3 จังหวัดภาคใต้ได้รับการชดเชยน้อยกว่า รถคันแรก บ้านหลังแรก พักการชำระหนี้ดี กู้เพื่อการแก้ปัญหาเรื่องน้ำ 3.5 แสนล้าน กู้เพื่อการก่อสร้างคมนาคมพื้นฐาน 2.2 ล้านล้านบาท จำนำข้าวทุกเม็ดราคาสูงกว่าตลาด งบประมาณเหลือ ใช้ไม่หมด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยบอกว่าจะนำไปซื้อไอแพดแจกกำนันผู้ใหญ่บ้าน แล้วก็มีโครงการแจกไอแพด ส.ส.และ ส.ว.ด้วยราคานาฬิกาติดผนังเครื่องละ 75,000 บาท ราคาแพงกว่าไอแพดหลายเท่าแสดงว่าการทำงบประมาณแต่ละปีสูงกว่าความเป็นจริงมาก เงินจึงเหลือมาก
เงินเหลือมาก แทนที่จะคิดถึงหนี้สาธารณะที่มีอยู่มาก ประมาณ 5 ล้านล้านบาท นำงบประมาณที่เหลือกลับไปชำระหนี้สาธารณะ หรือทำงบประมาณเพื่อการใช้หนี้สาธารณะให้มากขึ้น หนี้จะได้น้อยลง กลับไม่ทำผู้เขียนได้ติดตามเรื่องการชำระหนี้ของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูที่มีอยู่ 1.4 ล้านล้านบาท ผ่านไป 14 ปีแล้ว เพิ่งใช้หนี้ได้ 4 แสนล้านบาท แสดงว่ากว่าจะใช้หนี้ก้อนหนี้หมด จะใช้เวลาไม่น้อยกว่า 50 ปี
ที่บอกว่าเงินกู้ 0.35 + 2.2 ล้านล้าน จะชำระหนี้หมดภายใน 50 ปี ก็เป็นเรื่องปาหี่อย่างแท้จริง แม้ 100 ปีก็ไม่มีทางที่จะชำระหนี้ไม่หมด ดูจากการใช้หนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูเป็นตัวอย่าง นอกจากไม่คิดจะใช้หนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูแล้ว ยังโยกย้ายหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูอย่างขาดความรับผิดชอบไปไว้ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อจะทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีลดลง เพื่อที่จะทำการกู้เงินให้ได้มากที่สุด เรื่องสัมมาทิฐิคิดไม่เป็น คิดเป็นแต่เรื่องมิจฉาทิฐิและหากเจอวิกฤตครั้งที่ 3 อีก จะมีหนี้ก้อนโตก้อนใหม่แบบหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูเพิ่มขึ้นมาอีก หนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูกองแรกยังใช้ไม่หมด ก็จะเกิดหนี้กองใหม่เพิ่มขึ้นมาอีก
เรื่องเล็กๆ นักการเมืองไม่ทำ เรื่องใหญ่ๆ นักการเมืองทำยากที่ชาวบ้านจะแยกออก ว่าเรื่องที่เกิดขึ้นกับประเทศไทย เรื่องใดใหญ่เรื่องใดเล็ก
พ.ต.ท.ทักษิณเป็นรัฐบาลระหว่าง 9 ก.พ. 2544 - 19 ก.ย. 2549
นายกิตติรัตน์ ณ ระนองเป็นผจก.ตลท. 10 ก.ย.2544 - 13 พ.ค. 2549
เรื่องใหญ่ที่พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรและนายกิตติรัตน์ ณ ระนองร่วมกันทำงาน คือการแปรรูปบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (PTT) เข้าตลาดหุ้น หลังจากทักษิณเข้ามาเป็นรัฐบาลได้ 10 เดือนก็สามารถแปรรูป ปตท.เข้าตลาดหุ้นได้แล้ว ใหญ่ไม่ใหญ่ลองพิจารณาดู ปตท.เป็นบริษัทที่ใหญ่ที่สุดในตลาดหุ้น มีมูลค่าตลาดประมาณเท่ากับครึ่งหนึ่งของงบประมาณแผ่นดิน
IPO (Initial Public Offering) ที่ราคา 35 บาท ซึ่งเป็นราคาที่ต่ำมาก ขณะที่ SET index อยู่ที่ระดับต่ำมากเช่นเดียวกันที่305 จุด เป็นการแปรรูป ปตท.ในช่วงเวลาที่ไม่เหมาะสม ได้เงินมา 27,375 ล้านบาท ยังไม่หักค่าใช้จ่าย ซึ่งไม่พอต่อการชำระหนี้ IMF ที่มีเหลืออยู่ 500,000 ล้านบาทอยู่ดี
การแปรรูป ปตท.เป็นปัจจัยซ่อนเร้นของนักการเมือง นักการเมืองและพวกพ้องต้องการเป็นเจ้าของหุ้น ปตท.ที่ราคาต่ำ
น้ำมันเป็นต้นทุนของทุกเรื่อง เป็นต้นทุนความเป็นอยู่ ต้นทุนการผลิต ต้นทุนการเดินทาง ต้นทุนการขนส่ง เมื่อราคาน้ำมันสูงขึ้น ต้นทุนของทุกเรื่องก็สูงขึ้น
หลังการแปรรูป ปตท.เข้าตลาดหุ้นในปี 2001 (2544) คนไทยก็เริ่มเดือดร้อนกันทันที สินค้าอุปโภค-บริโภค ค่าขนส่ง ค่าการเดินทาง ค่าไฟฟ้า เพิ่มขึ้นทุกอย่าง
แปรรูป ปตท.เข้าตลาดหลักทรัพย์ คือการปล้นประเทศไทย ปล้นประชาชนคนไทย ตั้งแต่ปี 2544 ถึงปัจจุบัน ปตท. ผู้บริหาร ปตท. เจ้าของ ปตท.ได้ทำการปล้นประเทศไทยและประชาชนคนไทยอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลา 12 ปีแล้ว
ในรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ได้มีตำแหน่งที่สำคัญมากขึ้นกว่าเดิมใหญ่ขึ้นกว่าเดิม เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์แล้ว เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และเป็นรองนายกรัฐมนตรี
ได้โอกาสทำเรื่องที่ใหญ่มากขึ้นไปอีก ใหญ่แบบที่ไม่เคยมีใครกล้าทำมาก่อน ขนาดว่าปล้นประเทศด้วยการปล้น ปตท.ก็ทำมาแล้ว ก็คิดทำอะไรที่มันใหญ่มากขึ้นไปอีก เช่นการก่อหนี้ที่ในอนาคตไม่มีทางที่จะชดใช้ได้หมด แบบที่จะทำให้ความน่าเชื่อถือประเทศในอนาคตลดลง เหมือนจงใจจะให้เกิดความย่อยยับกับประเทศ
โอนหนี้ของกองทุนเพื่อการฟื้นฟู 1 ล้านล้านบาท ไปไว้ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย ชดเชยคนตายจากเหตุการณ์เผาบ้านเผาเมืองศพละ 7.5 ล้านบาท รถคันแรก บ้านหลังแรก กู้เพื่อการแก้ปัญหาเรื่องน้ำ 3.5 แสนล้าน กู้เพื่อก่อสร้างพื้นฐานคมนาคม 2.2 ล้านล้านบาท จำนำข้าวทุกเม็ดราคาสูงท้องตลาด ล้วนแต่เป็นเรื่องใหญ่ ความเจริญประเทศไทยถึงคราวทะลุเมฆจริงหรือ
ประเทศไทยออกด้านไหน ไม่ว่าเป็นบวกหรือลบ นักการเมืองก็ได้ทุกด้าน
ทางด้านลบ เช่นเกิดน้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 2554 ได้มา 3.5 แสนล้านบาท
ทางด้านบวก เช่นทุนสำรองเงินตราต่างประเทศมาก สภาพคล่องของระบบสูง ในช่วงแรกก็พยายามที่จะดึงเงินมาจากกองทุนเพื่อการฟื้นฟู 10,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 300,000 ล้านบาท มาตั้งเป็นกองทุนมั่งคั่งแห่งชาติ แต่เมื่อเอาออกมาไม่ได้ จึงออกมาในรูปกู้เงิน 2.2 ล้านล้านบาท
น่าแปลก ตัวเลขหนี้สาธารณะมีอยู่สูง เมื่อมีสภาพคล่อง น่าจะเอามาใช้หนี้สาธารณะบ้าง แต่พอเห็นว่ามีเงินหรือมีสภาพคล่องอยู่ตรงไหน ก็คิดจะเอามาใช้หรือเอามาลงทุน ไม่ได้คิดถึงหนี้กองโตที่มีอยู่แต่ประการใด ที่บอกว่าเงินกู้ 2.2 ล้านล้านบาทจะใช้หนี้หมดใน 50 ปี คือเรื่องปาหี่กองโตอย่างแท้จริง
บันทึกช่วงเวลาเหตุการณ์ที่สำคัญๆ ทางเศรษฐกิจการเมืองของประเทศไทย
วันที่ 2 กรกฎาคม 2540 ลอยค่าเงินบาท และเข้ารับความช่วยเหลือทางการเงินจาก IMFครั้งที่ 2
วันที่ 14 ส.ค. 2541 ปิดถาวร 54 สถาบันการเงิน เกิดหนี้สาธารณะ 1.4 ล้านล้านบาทไว้ที่กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ
วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2544 เริ่มต้นรัฐบาลทักษิณ
วันที่ 31 กรกฎาคม 2546 ชำระหนี้ IMF งวดสุดท้าย
ปี 2549 เริ่มเปิดการซื้อขายอนุพันธ์เป็นครั้งแรก
วันที่ 19 กันยายน 2549 รัฐประหาร ไล่ออกคนคอร์รัปชันชาติผลาญทรัพยากรแผ่นดิน
วันที่ 19 ธันวาคม 2549 ออกมาตรการกันสำรอง 30 เปอร์เซ็นต์เงินทุนไหลเข้า
วันที่ 5 สิงหาคม 2554 เริ่มต้นรัฐบาลยิ่งลักษณ์
วิกฤตเศรษฐกิจครั้งที่ 3 ของประเทศไทย
อย่างที่ผู้เขียนนำเสนอไว้ในช่วงต้น วิกฤตเศรษฐกิจในทุกประเทศ ไม่ว่าที่อเมริกาหรือยุโรป มีต้นเหตุมาจากการเปลี่ยนแปลงที่ผิดปกติในตลาดหุ้น ยิ่งตลาดหุ้นมีการพัฒนามากเท่าใดยิ่งเป็นอันตรายต่อระบบเศรษฐกิจมากเท่านั้น เช่นกรณีการเปิดตลาดอนุพันธ์จะเห็นว่าวิกฤตเศรษฐกิจทุกวันนี้รุนแรงและเป็นวงกว้างมากกว่าในอดีตมาก เช่นความเสียหายที่เกิดขึ้นกับอเมริกาและยุโรปในช่วงที่ผ่านมาเป็นต้น
ประเทศไทยเกิดวิกฤตเศรษฐกิจครั้งแรกเมื่อเปิดตลาดหุ้นอย่างเป็นทางการครั้งแรกในปี 2518 ประเทศที่เปิดตลาดหุ้นใหม่ส่วนใหญ่มักจะเจอเหตุการณ์แบบนี้เช่นเดียวกัน ประเทศไทยเกิดวิกฤตเศรษฐกิจครั้งที่ 2 เมื่อมีการนำระบบ Maintenance และ Force sell มาใช้ในตลาดหุ้นในปี 2536
วิกฤตเศรษฐกิจครั้งที่ 3 ของประเทศไทยได้เกิดขึ้นแล้วตั้งแต่ปี 2549 จากการเริ่มเปิดอนุพันธ์ที่ตลาดหุ้น สินค้าอนุพันธ์ได้ถูกสร้างขึ้นในรัฐบาลต่อๆ มา และมาสมบูรณ์ที่สุดในรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ไม่ว่าการซื้อขายตัวเลขเงินตราเช่น Dollar futures เป็นต้นวิกฤตเศรษฐกิจค่อยๆ ก่อตัวขึ้นตลอดเวลาหลังรัฐบาลยิ่งลักษณ์เข้าบริหารประเทศ ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศลดลงทันที เงินทุนได้ไหลออกอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลา 2 ปีแล้ว ยังไม่มีวี่แววว่าจะมีการไหลกลับ
ประกอบกับนโยบายเศรษฐกิจอภิมหาปาหี่ในทุกๆ ด้าน วาจาดีแต่จิตใจเบี่ยงเบน คดในข้องอในกระดูก ทำแบบหาประโยชน์ตนมากกว่าจะทำประโยชน์ให้ประเทศชาติและประชาชน ทำให้ประเทศชาติประชาชนเดือดร้อนเพิ่มขึ้นตลอดเวลา จะซ้ำเติมและลดความน่าเชื่อถือของประเทศในอนาคตลง
พิจารณาสุนทรพจน์วรรคสุดท้าย “แล้วประเทศไทยเราจะเข้มแข็ง เราจะไม่มีวันที่จะกลับไปสู่ไอเอ็มเอฟอีกครั้งหนึ่ง ตราบใดที่ผมยังอยู่ ผมจะแสดงความเข้มแข็งนี้ต่อไปเรื่อยๆ เพื่อให้ผู้ที่เข้ามารับช่วงต่อจากผมและรัฐบาลของผมนั้นสามารถทำงานได้อย่างเป็นระบบ ไม่ต้องพาคนไทยเข้าไอเอ็มเอฟอีกครั้ง”
คอยดูว่าประเทศไทยจะเป็นอย่างที่เขาว่าไว้หรือไม่
http://twitter.com/indexthai2
indexthai2@gmail.com