xs
xsm
sm
md
lg

ดอลลาร์แข็งค่าขึ้นตั้งแต่เมื่อใดเงินอาเซียนกับเงินบาทจะเป็นอย่างไร?

เผยแพร่:   โดย: สุทธิพงษ์ ปรัชญพฤทธิ์

การเปลี่ยนแปลงของค่าเงินเป็นเรื่องยากที่จะเข้าใจ แต่หากทราบที่กลไกที่เกี่ยวข้องก็ไม่ใช่เรื่องยากที่จะเข้าใจการที่ค่าเงินเหรียญสหรัฐตกลง 48 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับเงินยูโร และค่าเงินบาทเคยตกถึง55 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับค่าเงินเหรียญสหรัฐ ไม่ใช่เรื่องธรรมดา นำความเสียหายมาสู่อเมริกาและไทยอย่างมาก เศรษฐกิจประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ ความเสียหายของอเมริกาส่งผลให้เกิดความเสียหายแก่โลกด้วย ทำให้เงินเฟ้อเกิดขึ้นทั่วโลก

ความสัมพันธ์ระหว่างตลาดทุน ตลาดเงิน ตลาดเงินตรา และราคาสินค้าโภคภัณฑ์เป็นเรื่องที่น่าสนใจ เป็นเรื่องสำคัญเกี่ยวข้องกับความมั่นคงของระบบและความเสียหายของระบบสูง ผู้สนใจลองดูตามข้อมูลที่นำเสนอนี้

ขอใช้คำว่า Hedge Funds เป็นคำรวมของสถาบันทั้งรัฐบาลและเอกชนทั่วโลก ที่ทำการลงทุนในตลาดกระดาษ ได้แก่ตลาดทุน ตลาดเงินตราและตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ ซึ่งมีการลงทุนทั้งในใบหุ้น และซื้อขายตัวเลขอ้างอิง (อนุพันธ์) Hedge Funds เป็นผู้ที่มีข้อมูล ความรู้ ความเข้าใจ ประสบการณ์ในกลไกเศรษฐกิจโลกอย่างดี และที่สำคัญตอนนี้คือ เป็นกลุ่มที่มีเงินทุนมหาศาล ทุนสำรองที่อยู่ตามธนาคารกลางต่างๆ เป็นเงินทุนที่พวกเขานำมาฝากไว้ เขาจะเคลื่อนย้ายแบบไหน อย่างไร เท่าใด ได้ตลอดเวลา

น้ำจะไหลจากที่สูงไปที่ต่ำ แตกต่างจากเงินทุน จะไหลจากที่ให้ผลตอบแทนต่ำ ไปยังที่ให้ผลตอบแทนสูง

Hedge Funds ที่ฉลาดก็มาก ที่สามารถทำเงินได้มหาศาล และ Hedge Funds ที่ไม่ฉลาดก็มี ก็ขาดทุนเสียหายไปตามธรรมดา

เหตุร้ายทางเศรษฐกิจเกิดที่ตลาดทุนก่อน แล้วจะจบลงที่ตลาดเงินตราทุกครั้ง เคยแต่พบว่า ตลาดทุนพังทลายก่อน แล้วตลาดเงินจึงพังทลายตามมา ไม่เคยพบว่าตลาดเงินพังทลายก่อน แล้วตลาดหุ้นจึงพังทลายตามมา

ความสัมพันธ์ระหว่างตลาดทุนกับตลาดเงิน (กลไก) “เมื่อตลาดหุ้นประเทศใดพังทลาย จะทำให้ค่าเงินของประเทศนั้นพังทลายด้วย ค่าเงินไม่ได้รับความเชื่อมั่น จะละทิ้งเงินสกุลนั้น ไปถือเงินสกุลอื่น หรือสินทรัพย์ในรูปสกุลอื่น ทำให้สภาพคล่องระบบของประเทศนั้นเสียหาย ทำให้เอกชนล้มลง ทำให้หนี้เสียเพิ่มขึ้น ทำให้คนตกงานมาก ทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้น จะเกิดกับประเทศไหน ก็เป็นแบบเดียวกันทุกประการ”

ยกตัวอย่างของประเทศไทย วิกฤตเศรษฐกิจครั้งแรก เกิดจากการพังทลายของตลาดหุ้นไทยระหว่างปี 1978-1982 ทำให้ค่าเงินบาทเสียหาย ต้องลดค่าเงินบาท และต้องเข้ารับความช่วยเหลือทางการเงินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เป็นครั้งแรกวิกฤตเศรษฐกิจครั้งที่ 2 เกิดจากการพังทลายของตลาดหุ้นไทยระหว่างปี 1994 - 1998 ทำให้ค่าเงินบาทเสียหาย ต้องลอยค่าเงินบาท และต้องเข้ารับความช่วยเหลือทางการเงินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เป็นครั้งที่ 2

ต้นเหตุการเกิดวิกฤตเศรษฐกิจครั้งที่ 2 ไม่ได้เกิดจากการเปิด BIBF แต่พอดีการเปิด BIBF เป็นเวลาใกล้เคียงกับการพังทลายของตลาดหุ้นไทย จึงเหมาเอาว่าการเปิด BIBF เป็นต้นเหตุการเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ ซึ่งไม่เป็นความจริง

การพังทลายของตลาดรุนแรง ตลาด NASDAQ ของประเทศสหรัฐอเมริการะหว่างปี 2000-2002 ก็เป็นต้นเหตุการเกิดวิกฤตเศรษฐกิจของประเทศสหรัฐอเมริกาในเวลาต่อมา ค่าเงินเหรียญสหรัฐพังทลายตามมา สภาพคล่องของประเทศสหรัฐอเมริกาเสียหายหนัก จนกระทั่งต้องเพิ่มเพดานหนี้หลายรอบ รวมทั้งมีการพิมพ์เงินออกมาใช้ Quantitative Easing (QE) เอกชนทั้งขนาดเล็กและใหญ่ล้มละลาย คนตกงานมาก และเงินเฟ้อสูง (การพังทลายของตลาด NASDAQ ผู้สนใจสามารถหาดูได้จากบทความที่ผ่านมาของผู้เขียน)

ภาพข้างบนนี้แสดงให้เห็นถึงการพังทลายของค่าเงินเหรียญสหรัฐเมื่อเทียบกับเงินยูโร เงินยูโรเป็นสกุลเงินที่ใหญ่เป็นอันดับที่ 2 รองจากเงินเหรียญสหรัฐ จะเห็นว่าเงินเหรียญสหรัฐเริ่มพังทลายตั้งแต่ปี 2001 ตามหลังการพังทลายของตลาด NASDAQ ในปี 2000-2002 ค่าเงินเหรียญสหรัฐเมื่อเปรียบเทียบกับเงินยูโรตกไปต่ำสุดถึงกลางปี 2008 การตกต่ำของค่าเงินเหรียญสหรัฐใช้เวลาประมาณ 7-8 ปี ตกลงถึง 48 เปอร์เซ็นต์ (หรือเงินยูโรแข็งค่าขึ้น 93 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับเหรียญสหรัฐ) จากนั้นค่าเงินเหรียญสหรัฐก็ฟื้นตัว

ค่าเงินเหรียญสหรัฐได้ตกไปต่ำสุดในปี 2008 จากนั้นก็ฟื้นตัวขึ้นมา แต่มาถูกรบกวนการฟื้นตัว โดยอเมริกามีการพิมพ์เงินออกมาใช้ QE1 ออกเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2008 จำนวน 1.725 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ QE2 ออกเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2010 จำนวน 0.767 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ QE3 ออกมาเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2012 ออกเป็นรายเดือน เดือนละ 0.04 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ การพิมพ์เงินออกมาใช้ ส่งผลให้ค่าเงินเหรียญสหรัฐปรับตัวลงทุกครั้ง แต่เงินเหรียญสหรัฐก็พยายามแข็งค่าขึ้นด้วย จึงเห็นว่าการแกว่งตัวของค่าเงินเหรียญสหรัฐเป็นแบบรูปฟันปลา

อย่างไรก็ตาม การปรับตัวของค่าเงินเหรียญแต่ละครั้งหลังปี 2008 ไม่ทำให้เกิดจุดต่ำใหม่ หรือจุดต่ำใหม่ยกตัวสูงขึ้นทุกครั้ง แสดงถึงค่าเงินเหรียญสหรัฐมีการฟื้นตัวขึ้นแล้ว

ความจริงสหรัฐอเมริกาไม่จำเป็นจะต้องพิมพ์เงินออกมาเลย ทั้งนี้เพราะเงินทุนกำลังไหลคืนกลับเข้าสู่อเมริกา เห็นได้จากค่าเงินเหรียญสหรัฐได้แสดงอาการแข็งค่าขึ้น การพิมพ์เงินออกมาใช้ต่างหากที่ทำให้ค่าเงินเหรียญสหรัฐอ่อนค่าลง

หรือว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ เพียงต้องการแสดงให้เห็นว่า ต้องมีการกระทำบางอย่าง เพื่อแสดงให้เห็นว่าทำให้เศรษฐกิจของประเทศสหรัฐอเมริกาฟื้นตัว ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง สิ่งที่ควรทำอย่างยิ่ง ต้องไปดูว่าต้นเหตุอะไรที่ทำให้ค่าเงินเหรียญสหรัฐเสียหาย และสภาพคล่องเสียหาย เรื่องนี้เกิดขึ้นระหว่างปี 1999-2000 เมื่อไม่ได้พิจารณาถึงต้นเหตุการณ์เกิดวิกฤตของประเทศ ต้นเหตุที่ก่อให้เกิดความเลวร้ายนั้นยังอยู่ เหตุร้ายทางเศรษฐกิจก็จะวนเวียนเกิดขึ้นรอบแล้วรอบเล่า ระบบเศรษฐกิจของประเทศสหรัฐอเมริกามีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก เมื่อเกิดความเสียหาย ก็จะส่งผลให้ทั่วโลกพลอยเดือดร้อนไปด้วย

การดูว่าค่าเงินเหรียญสหรัฐเริ่มแข็งค่าขึ้นเมื่อใด นอกจากดูที่ค่าเงินยูโร (เมื่อเทียบกับเงินเหรียญสหรัฐแล้ว) ยังสามารถดูได้จากการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ค่าเงินอาเซียน ค่าเงินบาท และทุนสำรองเงินตราต่างประเทศของไทยด้วย

จากหลักที่ว่า

หากค่าเงินเหรียญสหรัฐอ่อนค่า จะทำให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ค่าเงินของประเทศต่างๆ สูงขึ้น ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศสูงขึ้น ในทางตรงกันข้ามถ้าค่าเงินเหรียญสหรัฐแข็งค่า จะทำให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ตกลง ค่าเงินของประเทศต่างๆตกต่ำลง ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศลดลง

สังเกตจากข้อมูลต่อไปนี้

ราคาทองคำ ราคาทองคำเริ่มตกลงในปี 2011 แสดงว่าค่าเงินเหรียญสหรัฐเริ่มแข็งค่าขึ้นในปี 2011

ราคายาง ราคายางเริ่มตกลงในปี 2011 แสดงว่าค่าเงินเหรียญสหรัฐเริ่มแข็งค่าขึ้นในปี 2011

ค่าเงินอาเซียน (ค่าเงินอาเซียนคือดัชนีเฉลี่ยค่าเงินอาเซียน 8 สกุลเมื่อเทียบกับเงินเหรียญสหรัฐ) หากไม่นับเรื่องค่าเงินอาเซียนปรับตัวลดลงเนื่องจากเหตุการณ์ Hamburger crisis ในปี 2008 ค่าเงินอาเซียนเริ่มตกลงในปี 2011 แสดงว่าค่าเงินเหรียญสหรัฐเริ่มแข็งค่าขึ้นในปี 2011

ค่าเงินบาท หากไม่นับเรื่องค่าเงินบาทปรับตัวลดลงเนื่องจากเหตุการณ์ Hamburger crisis ในปี 2008 ค่าเงินบาท เริ่มตกลงในปี 2011 แสดงว่าค่าเงินเหรียญสหรัฐเริ่มแข็งค่าขึ้นในปี 2011 ส่วนที่เห็นว่าค่าเงินบาทแข็งที่สุดในปี 2013 (เงินเหรียญสหรัฐอ่อนค่าที่สุด) เป็นเรื่องที่เป็นไปได้ ที่ขาใหญ่อยู่เบื้องหลังค่าเงินบาท ลากเงินบาทขึ้นไปสูง เพื่อให้เกิดภาพลวงตาว่าเงินบาทดี เพื่อที่จะแลกคืนเงินดอลลาร์สหรัฐด้วยเงินบาทจำนวนน้อยลง ดูตามข้อมูลย้อนหลัง (ในภาพ) พบว่าค่าเงินบาทแกว่งตัวแรงอย่างผิดสังเกตบ่อยครั้งขาใหญ่ล้อเล่นค่าเงินบาทของไทยได้ง่ายดาย

ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศ ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศของประเทศไทยสุทธิขึ้นไปสูงสุดในปลายเดือนสิงหาคม 2011 ที่ระดับ 215.71 พันล้านเหรียญสหรัฐจากนั้นมูลค่าทุนสำรองก็ลดลงมาโดยตลอด วันที่ 12 กรกฎาคม 2013 ทุนสำรองสุทธิลดลงเหลือ 192.64 พันล้านเหรียญสหรัฐ แสดงว่าประมาณ 2 ปีที่ผ่านมา ทุนสำรองลดลงมาโดยตลอด และลดลงไปแล้ว 23.07 พันล้านเหรียญสหรัฐหรือลดลง 10.60 เปอร์เซ็นต์ หรือลดลงประมาณ 7 แสนล้านบาท ถ้าเงินเหรียญสหรัฐแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทุนสำรองของประเทศไทยก็คงลดลงต่อเนื่องเช่นกัน

ทุนสำรองลดลงมีมาจาก 2 สาเหตุหลัก สาเหตุแรกมาจากเงินเหรียญสหรัฐแข็งค่าขึ้น เงินทุนจะไหลจากแหล่งที่ให้ผลตอบแทนต่ำไปยังผลตอบแทนสูง นักลงทุนจะเปลี่ยนจากการถือสกุลเงินบาท หันกลับไปถือสกุลเงินเหรียญสหรัฐแทน ทำให้ทุนสำรองของประเทศไทยลดลง ทุนสำรองของประเทศไทยเริ่มลดลงในปี 2011 แสดงว่าค่าเงินเหรียญสหรัฐเริ่มแข็งค่าขึ้นในปี 2011

อีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้มูลค่าทุนสำรองลดลง เนื่องจากการตกลงของราคาทองคำ แต่ส่วนแบ่งของทองคำในทุนสำรองมีน้อยประมาณ 3-5 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น จึงไม่มีผลต่อตัวเลขการเปลี่ยนแปลงของทุนสำรองมากนัก

สรุปค่าเงินเหรียญสหรัฐเริ่มแข็งค่าขึ้นในปี 2011 เมื่อเงินเหรียญสหรัฐมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น เงินทุนก็จะไหลเข้าไปถือครองเงินเหรียญสหรัฐ และสินทรัพย์ในรูปเงินเหรียญสหรัฐ ข้อมูลข้างต้นบอกว่าเงินทุนได้เริ่มไหลออกจากอาเซียนและไหลออกจากประเทศไทยในปี 2011 เช่นกัน ไหลออกอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 2 ปีแล้ว

สิ่งที่น่าสนใจเพิ่มเติมของบทความนี้ คือความแตกต่างของค่าเงินบาทที่แตกต่างจากค่าเงินภูมิภาคอาเซียนมาก ดูจากกราฟค่าเงินบาทและกราฟค่าเงินอาเซียน จะเห็นว่ามีรูปแบบ (Patterns) ที่คล้ายกัน เพียงแต่การเปลี่ยนแปลงของค่าเงินเท่านั้นที่แตกต่างกันมาก พบว่าดีกรีการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินบาทสูงกว่าของภูมิภาคอาเซียนมาก

ช่วงเวลาเดียวกัน

BAHT/USD (AB) แข็งค่าขึ้น 40.30 เปอร์เซ็นต์ (ภาพ BAHT/USD)

ASEAN Dollar/USD (AB) ขึ้น 17.76 เปอร์เซ็นต์ (ภาพ ASEAN Dollar/USD)

ปี 2006 ประเทศไทยมีเหตุการณ์สำคัญทั้งทางเศรษฐกิจและการเมืองเกิดขึ้นหลายอย่าง

1) ตลาดหุ้นไทยได้เปิดตลาดอนุพันธ์ขึ้นเป็นครั้งแรกในรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อนุพันธ์ตัวแรก คือ SET50 Index futures (รัฐบาลต่อๆ มามีการเปิดซื้อ-ขายอนุพันธ์ชนิดต่างๆ เพิ่มขึ้น เช่น ราคาอ้างอิงหุ้น ราคาอ้างอิงสินค้าโภคภัณฑ์ เช่น อนุพันธ์โลหะทองคำ อนุพันธ์โลหะเงิน และอนุพันธ์ราคาน้ำมัน รัฐบาลพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ รัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช รัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็มีการเพิ่มอนุพันธ์ในตลาดหุ้น และมีครบทุกอย่าง และอนุพันธ์มาครบถ้วนในรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ด้วย USD futures)

การเปิดตลาดอนุพันธ์ เป็นต้นเหตุเงินทุนไหลเข้าไทยรุนแรงทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นแรงมาก

เงินทุนไหลเข้าจะเข้าตลาดตราสารหนี้มากกว่าตลาดทุนเป็นเช่นนี้ทุกรอบ และเมื่อมันไหลออก มันก็จะไหลออกจากตลาดตราสารหนี้ และตลาดทุนเช่นเดียวกัน สังเกตว่าเงินทุนได้เริ่มไหลเข้าเอาเซียนอย่างมีนัยสำคัญในปี 2006 (กราฟค่าเงินอาเซียน) ซึ่งเป็นเวลาเดียวกับที่ไหลเข้าประเทศไทย เห็นได้จากค่าเงินอาเซียนก็เริ่มแข็งค่าขึ้นในปี 2006 เช่นเดียวกัน (กราฟค่าเงินบาท) เพียงแต่มันไหลเข้าประเทศไทยรุนแรงกว่าประเทศอื่นๆ ในอาเซียน เห็นได้จากค่าเงินบาทของไทยแข็งค่าขึ้น 40.30 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบในช่วงเวลาเดียวกันค่าเงินอาเซียนเพิ่มขึ้นเพียง 17.76 เปอร์เซ็นต์

2) วันที่ 19 กันยายน 2006 ประเทศไทยเกิดรัฐประหาร แม้จะมีรัฐประหาร เงินทุนก็ยังไหลเข้าประเทศไทยแบบต่อเนื่อง ทั้งนี้เพราะการเปิดตลาดอนุพันธ์ ประเทศสิงคโปร์ไม่มี Gold futures ประเทศไทยมี Gold futures

3) วันที่ 19 ธันวาคม 2006 ประเทศไทยต้องออกมาตรการกันสำรอง 30 เปอร์เซ็นต์ เงินทุนไหลเข้าแสดงให้เห็นว่าเงินทุนไหลเข้ารุนแรงจริง จึงทำให้มีมาตรการนี้ออกมา แต่ออกมาตรการมาได้วันเดียว ตลาดหุ้นตกลงในเวลาซื้อขาย 140 จุด ซึ่งเป็นการตกลงที่รุนแรงมาก ทางการจึงต้องประกาศยุติมาตรการกันสำรองในวันรุ่งขึ้น (นี่คืออีกเหตุการณ์หนึ่งที่แสดงให้เห็นว่า ตลาดเงินกับตลาดทุนมีความสัมพันธ์ต่อกัน) เป็นความล้มเหลวหรือเป็นการพ่ายแพ้ต่อการจัดการของตลาดเงินอีกรอบ จากนั้นก็ไม่มีการจัดการอะไรที่เป็นชิ้นเป็นอันกับเงินทุนไหลเข้า เช่น ให้คนไทยพยายามนำเงินทุนออกไปลงทุนที่ต่างประเทศ ต้นเหตุที่ทำให้เงินไหลเข้าไทยรุนแรงไม่แก้ หรือไม่ทราบ คิดแก้แต่ปลายเหตุของปัญหาอย่างเดียว ความเสียหายทางเศรษฐกิจถูกสะสมเพิ่มขึ้นตลอดเวลา สักวันก็จะพังครืนลงมาอีก

วันที่ออกมาตรการกันสำรองดังกล่าว ทุนสำรองสุทธิของประเทศไทยอยู่ที่ 74 พันล้านเหรียญสหรัฐ (กราฟทุนสำรอง) เป็นระดับที่ท่วมประเทศไทย ถ้าเงินทุนไม่ท่วมประเทศไทย เราจะออกมาตรการกันสำรองทำไม หลังมาตรการกันสำรองล้มเหลว เงินทุนยิ่งไหลเข้าประเทศมากขึ้น ถึงปี 2011 ทุนสำรองสุทธิสูงขึ้นถึง 215.71 พันล้านเหรียญสหรัฐ ทุนสำรองเพิ่มขึ้น 191.5 เปอร์เซ็นต์

สภาพคล่องมาแรงและเร็ว เงินทุนไหลเข้ามากเท่าใด ก็ทำให้สภาพคล่องของประเทศมีมากเท่านั้น ทำให้รัฐบาลคิดใช้เงินอย่างไม่ยั้งมือประชานิยมไม่อั้นแอบสวมรอยว่าระบายสภาพคล่องส่วนเกินของระบบ รัฐบาลนายอภิสิทธิ์กู้กว่า 4 แสนล้าน รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์คิดกู้ 0.35 + 2.2 ล้านล้านบาท เป็นการคิดระบายสภาพคล่องที่ปลายเหตุ ไม่ได้มีการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ ไม่ได้ไปดูว่าต้นเหตุอะไรที่ทำให้สภาพคล่องท่วมประเทศไทยรุนแรงเช่นนี้ แล้วแก้ที่ต้นเหตุนั้น

สภาพคล่องที่มาแรงและเร็ว อาจจะหายไปอย่างแรงและเร็วได้เช่นกัน บทความนี้มีข้อมูลบอกว่า เงินทุนเริ่มไหลออกจากอาเซียนและประเทศไทยตั้งแต่ปี 2011 แล้ว หากเงินทุนยังไหลออกจากอาเซียนและประเทศไทยเช่นนี้ สักวันสภาพคล่องก็จะหายไปจากอาเซียนและประเทศไทยได้

เมื่อเห็นว่าทุนสำรองมาก บางท่านก็บอกว่า น่าจะเอาไปลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน บางคนก็บอกว่าขอแบ่งมาตั้งเป็นกองทุนมั่งคั่งแห่งชาติสัก 10,00 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 300,000 ล้านบาท

กับหนี้สาธารณะสูงไม่เห็นมีใครคิดที่จะชำระบ้าง แต่เมื่อเห็นทุนสำรองสูงก็คิดจะเอาไปลงทุนโดยไม่ทราบว่าความเป็นมาและความเป็นไปของทุนสำรองว่าเป็นอย่างไร

ตอนนี้ประเทศไทยมีหนี้สาธารณะอยู่ที่ 44 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี หรือประมาณ 5.1 ล้านล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นการกู้ในประเทศ บอกว่าภายใน 4 ปีของรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์หนี้สาธารณะจะสูงไม่เกิน 50 เปอร์เซ็นต์จีดีพี วาทกรรมนำเสนอได้ทั้งนั้น แต่ของจริงอาจจะเป็นคนละเรื่องได้

หนี้ของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน 1.142 ล้านล้านบาทที่เกิดขึ้นในปี 2541 ผ่านไป 13-14 ปี เพิ่งใช้หนี้ไปได้แค่แสนกว่าล้านบาทเท่านั้น หนี้เงินต้นยังคงเหลืออยู่เกือบ 1 ล้านล้านบาท อีก 50 ปีก็ยังชำระหนี้นี้ไม่หมด ที่ว่าเงินกู้ 0.35+2.2 ล้านล้านบาทจะชำระหนี้ได้หมดภายใน 50 ปี และบอกว่าหนี้สาธารณะในอนาคตจะไม่เกิน 60 เปอร์เซ็นต์จีดีพี ก็เป็นเพียงวาทกรรมเช่นเดียวกัน

ความผิดปกติในระบบเศรษฐกิจไทยได้เกิดขึ้นให้เห็นแล้วระหว่างปี 2006-2007 ที่เงินบาทแข็งค่าขึ้น 40.30 เปอร์เซ็นต์ และระหว่างปี 2006-2011 ทุนสำรองสุทธิเพิ่มขึ้นจากระดับที่สูงสุดแล้วอีก 191.5 เปอร์เซ็นต์ แตกต่างไปจากกลุ่มอาเซียนด้วยกันอย่างมาก เป็นระเบิดที่แฝงตัวอยู่ในระบบเศรษฐกิจไทย

วินัยการก่อหนี้ของรัฐบาลเบี่ยงเบนมากขึ้น เพื่อที่จะหลีกเลี่ยงอัตราส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีไม่ให้ดูว่าสูง หนี้ต่างๆ ต่างถูกก่อไว้นอกงบประมาณเป็นส่วนใหญ่ หนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ เอาไว้ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย หนี้เงินกู้ต่างๆ จำนวนล้านล้านบาท ก็จะเกิดขึ้นที่สถาบันการเงินของรัฐเป็นส่วนใหญ่ และมีรัฐบาลให้การค้ำประกัน

บทความนี้มีข้อมูลบอกว่า เงินทุนเริ่มไหลออกจากอาเซียนและประเทศไทยตั้งแต่ปี2011 (2554) ถ้าเงินทุนยังคงไหลออกต่อเนื่อง ค่าเงินก็จะตกลง สภาพคล่องก็จะเสียหายได้ แล้ววิกฤตทางเศรษฐกิจก็จะตามมา เรื่องเช่นนี้เคยเกิดขึ้นในอดีต ที่ทำให้ประเทศไทยต้องการเข้ารับความช่วยเหลือจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) มาแล้วถึง 2 ครั้ง

วิกฤตเศรษฐกิจสองครั้งที่ผ่านมา ได้ทำลายสถาบันการเงินเอกชนล้มลงทั้งหมด ต่อไปอาจจะถึงวาระสถาบันการเงินของรัฐก็ได้

ค่าเงินบาทย้อนหลัง 33 ปี แสดงให้เห็นถึงความเสียหายของค่าเงินบาทในช่วงต่างๆ

ประเทศไทยเคยลดค่าเงินบาทและค่าเงินบาทลดลง 27 เปอร์เซ็นต์ ทำให้ประเทศไทยเข้า IMF เป็นครั้งแรก มีต้นเหตุมาจากการเปิดตลาดทุนเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ตลาดหุ้นหลายประเทศที่เปิดใหม่ ประสบเหตุการณ์แบบเดียวกันนี้เช่นกัน

และประเทศไทยเคยลอยค่าเงินบาท และค่าเงินบาทลอยลง 55 เปอร์เซ็นต์ ต้นเหตุมาจากการนำระบบ Maintenance margin & Force sell มาใช้ในตลาดหุ้นในปี 1993 ทำให้ตลาดหุ้นประเทศไทยเริ่มตกลงรุนแรงในปีถัดมามีการบังคับขายหุ้นนักลงทุนท้องถิ่นอย่างทารุณทำให้ประเทศไทยเข้า IMF เป็นครั้งที่ 2 สาเหตุความเสียหายนี้ ไม่ใช่เกิดจากการเปิด BIBF แต่อย่างใด แต่เกิดจากการนำระบบ Maintenance margin & Force sell มาใช้ในตลาดหุ้นนั่นเอง

หลังปี 2000 เงินบาทแข็งค่าขึ้นด้วย 2 สาเหตุ 1) เกิดจากพังทลายค่าเงินเหรียญสหรัฐ ทำให้เงินทุนไหลออกจากประเทศสหรัฐอเมริกา ไหลเข้าประเทศต่างๆ ทั่วโลก รวมทั้งไหลเข้าประเทศไทย 2) เกิดจากตลาดหุ้นเปิดตลาดอนุพันธ์ในปี 2006 เป็นเหตุให้เงินทุนไหลเข้ารุนแรง ทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น 40.30 เปอร์เซ็นต์

ความเสียหายของตลาดเงิน และตลาดเงินตรา ล้วนมีต้นเหตุมาจากตลาดหุ้น เหตุเกิดจากตลาดหุ้นแล้วมาจบลงที่ตลาดเงินและตลาดเงินตราทุกครั้ง เรื่องเช่นนี้ไม่ได้เกิดขึ้นที่ประเทศไทยที่เดียว แต่เป็นแบบเดียวกันกับแทบทุกประเทศทั่วโลก

ข้อมูลนี้เป็นการมองภาพเศรษฐกิจมหภาคโลกระยะยาว

แต่สำหรับระยะสั้นแทบไม่รู้สึกถึงความเปลี่ยนแปลง แต่เมื่อดูระยะยาวย้อนหลัง 4-5 ปี จึงเห็นได้ว่าค่าเงินเหรียญสหรัฐมีแนวโน้มสูงขึ้น การตกลงของราคาทองคำ การตกลงของราคายางพารา การอ่อนค่าลงของเงินอาเซียนและเงินบาทของไทย การลดลงของทุนสำรองเงินตราต่างประเทศของไทย ล้วนเริ่มเกิดขึ้นพร้อมกันในปี 2011 เป็นการยืนยันว่าค่าเงินเหรียญสหรัฐเริ่มแข็งค่าขึ้นในปี 2011

การแข็งขึ้นของเงินเหรียญสหรัฐจะเป็นตัวรบกวนความสุขของตลาดเงินอาเซียนต่อไป เมื่อค่าเงินเหรียญสหรัฐแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง ก็จะทำให้ค่าเงินของอาเซียนและของไทยตกลงอย่างต่อเนื่องได้ เงินทุนก็จะไหลออกจากอาเซียนและประเทศไทยอย่างต่อเนื่องเช่นกัน

เมื่อวันที่12 กรกฎาคม 2013 ธนาคารแห่งประเทศไทยมีสกุลเงินตราต่างประเทศสูงถึง 192 .64 พันล้านเหรียญสหรัฐ เชื่อว่าจะเป็นสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐเป็นส่วนใหญ่ ทางนักเก็งกำไรก็อยากแลกคืนเงินเหรียญสหรัฐโดยที่ใช้เงินบาทไม่มาก เช่น ที่ราคา 28-29 บาทต่อเหรียญสหรัฐ จะทำให้เขามีกำไรสูง แต่ ธปท.จะได้เงินบาทคืนมาน้อย

ของที่มีค่าสูงขึ้นก็ต้องขายที่ราคาสูงเมื่อปี 2006-2007 เงินเหรียญสหรัฐมีค่าสูงขึ้นค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นจากระดับ 41.025 บาท มาเป็น 29.24 บาท (กราฟค่าเงินบาท) แข็งค่าขึ้นแรงมาก ถ้าเฉลี่ยระหว่าง 2 ค่านี้ โดยเอา 2 หาร ค่าเงินดอลลาร์จะอยู่ที่ 35.1325 บาทอันนี้เป็นความคิดเห็นเท่านั้น อยู่ที่ ธปท.จะสู้กับนักเก็งกำไรอย่างไร ซึ่งที่ผ่านมาเราก็พ่ายแพ้ต่อนักเก็งกำไรมาโดยตลอด แม้แต่มาตรการกันสำรองในปลายปี 2006 เราก็พ่ายแพ้ ถ้าขายดอลลาร์ที่ราคา 28-29 บาท ก็จะทำให้ ธปท.ได้เงินบาทน้อย แต่ถ้าขายที่ราคา 35-36 บาท ก็จะทำให้ ธปท.ได้เงินบาทมากขึ้น

ข้อมูลและคำวิเคราะห์นี้ น่าจะเป็นประโยชน์ต่อคนไทยทุกระดับชั้น ข้อมูลนี้ได้บอกถึงค่าเงินเหรียญสหรัฐ (ตก) ขึ้นแบบไหน อย่างไร และเมื่อใด เป็นประโยชน์ต่อทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ได้ทราบถึงความเป็นไปของค่าเงินเหรียญสหรัฐ ค่าเงินของอาเซียนและเงินบาทของไทย จะได้วางแผนรับมือกับการเปลี่ยนแปลงได้

http://twitter.com/indexthai2

indexthai2@gmail.com
กำลังโหลดความคิดเห็น