xs
xsm
sm
md
lg

อันตรายจากการกู้สกุลเงินตราต่างประเทศ

เผยแพร่:   โดย: สุทธิพงษ์ ปรัชญพฤทธิ์


ความไม่รู้ถึงความเบี่ยงเบนทางเศรษฐกิจที่ทำความเสียหายแก่ระบบตลอดเวลาเครื่องมือในระบบเศรษฐกิจยิ่งพัฒนาไปมากเท่าใด ยิ่งทำความเสียหายและความเสื่อมก็จะเกิดกับระบบมากเท่านั้น เช่น การเกิดขึ้นของตลาดอนุพันธ์ในตลาดทุน ที่ทำให้เกิดความเสียหายรุนแรงแก่หลายประเทศ เศรษฐกิจของหลายประเทศล้มลง คนตกงานมาก เกิดหนี้เสียและหนี้สาธารณะสูง ค่าเงินเสียหาย ซึ่งทำให้เงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้นรุนแรง สิ่งอุปโภค-บริโภคราคาเพิ่มสูงขึ้นมาก ทำความเดือดร้อนให้กับผู้คนไปทั่วโลก

การเกิดตลาดหุ้น ทำให้เกิดการเก็งกำไร และการปั่นตลาดตามมา โดยมีเงินเป็นตัวกลางในการซื้อขายและการปั่น ระบบตลาดทุนที่พัฒนาแล้วทุกวันนี้ ไม่ว่าจะขึ้นหรือตกล้วนทำกำไรให้ผู้คุมตลาดได้เช่น Hedge Funds ทำให้เขามีกำไรทั้ง 2 ทางทั้งที่ตลาดหุ้นดีและตลาดหุ้นไม่ดี (ขอใช้คำว่า Hedge Fund เป็นคำรวมขององค์กรเอกชนและองค์กรรัฐที่ลงทุนในตลาดเงินและตลาดทุน) ไม่ต้องมีสินค้าจริง มีแต่ตัวเลขที่ใช้อ้างอิงกับราคาสินค้า ก็นำมาซื้อขายในตลาดหุ้นได้แล้ว โลกทุนนิยมเขาเรียกสิ่งนี้ว่าการพัฒนาตลาดทุน แต่พระพุทธเจ้าบอกว่าการซื้อขายตัวเลขเป็นอบายมุขทุกวันนี้เป็น Paperless ไม่ต้องลงบันทึกธุรกรรมด้วยกระดาษก็ได้ งานสบายกว่าในอดีตมาก ต้นทุนการบริหารจัดการก็ต่ำ

ทำให้ตลาดเงินมีขนาดใหญ่เพิ่มมากขึ้นกว่าตลาดทุนตลอดเวลาตลาดทุนที่พัฒนาแล้ว เช่นการซื้อขายกระดาษทองคำทุกวันนี้ มีมากกว่าการบริโภคจริงเกือบ 10 เท่า

ตลาดเงินใหญ่กว่าตลาดทุน เมื่อมีเงินทุนไหลเข้า ก็จะไหลเข้าไปในตลาดเงินหรือตลาดพันธบัตรมากกว่าไหลเข้าตลาดทุน ในทำนองเดียวกันเมื่อเงินทุนไหลออกมันก็จะไหลออกจากตลาดเงินมากกว่าตลาดทุน เป็นเรื่องปกติ ป่วยการที่จะพูดถึงเงินทุนไหลเข้า-ออกตลาดหุ้นว่ามีน้อย เมื่อเปรียบเทียบกับการไหลเข้า-ออกตลาดเงิน ว่าจะไม่กระทบตลาดหุ้น ไม่เป็นสาระ เมื่อตลาดหุ้นตก ค่าเงินก็ตกด้วยกัน เงินทุนก็ไหลออกจากตลาดทุนและตลาดเงินพร้อมกันกัน เช่นกัน

เงินทุนจะไหลเข้าเมื่อคิดว่าค่าเงินจะแข็งค่ามากกว่าจะไหลเข้าเพราะคิดว่าอัตราดอกเบี้ยจะสูง ในทำนองเดียวกัน เงินทุนจะไหลออกเมื่อคิดว่าเงินจะอ่อนค่ามากกว่าจะไหลเข้าเพราะคิดว่าอัตราดอกเบี้ยจะต่ำลง

ที่พบว่าอัตราดอกเบี้ยต่ำ เป็นเพราะเงินทุนไหลเข้า เงินทุนไหลเข้าทำให้สภาพคล่องของระบบสูง ที่เป็นต้นเหตุให้อัตราดอกเบี้ยอยู่ระดับต่ำที่พบว่าอัตราดอกเบี้ยสูง เป็นเพราะเงินทุนไหลออก เงินทุนไหลออกทำให้สภาพคล่องของระบบเสียหาย ที่เป็นต้นเหตุให้อัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น

อัตราดอกเบี้ยเป็นผลที่เกิดขึ้น จากการเปลี่ยนแปลงของสภาพคล่องของระบบ บ่งบอกถึงเงินทุนไหลเข้าหรือเงินทุนไหลออก เมื่อเงินทุนไหลเข้า สภาพคล่องดี อัตราดอกเบี้ยจะต่ำ แต่เศรษฐกิจขยายตัว มีส่วนทำให้มีการใช้เงินทุนมากขึ้น ทำให้ดอกเบี้ยสูงขึ้น เมื่อเงินทุนไหลออก สภาพคล่องเสียหาย ทำให้อัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น แต่เศรษฐกิจทรุดตัว มีส่วนทำให้มีความต้องการใช้เงินทุนน้อยลง ทำให้ดอกเบี้ยต่ำลงได้

ธนาคารกลางและกระทรวงการคลังสามารถควบคุมและกำหนดค่าเงินและอัตราดอกเบี้ยได้ระดับหนึ่งเท่านั้น แต่เมื่อเกิดความเบี่ยงเบนทางเศรษฐกิจมาก ก็จะไม่สามารถควบคุมและกำหนดค่าเงินและอัตราดอกเบี้ยได้ ยกตัวอย่างเช่นที่ประเทศไทย ที่เคยลดค่าเงินมาแล้ว 1 ครั้ง และลอยค่าเงินมาแล้ว 1 ครั้ง

ระหว่างปี 2540 - 2541 (1997-1998) สภาพคล่องเสียหายอย่างหนัก เนื่องจากเงินทุนไหลออก อันเป็นผลมาจากตลาดหุ้นตกลงตั้งแต่ปี 2537 และมีการบังคับขายหุ้นนักลงทุนท้องถิ่น ทำให้อัตราดอกเบี้ยซื้อคืนพันธบัตรรัฐบาลสูง 25-30 เปอร์เซ็นต์(AB-CD) หลังจากนั้น หลังจากลอยค่าเงินบาทกลางปี 2540 ดอกเบี้ยตกลงอยู่ที่ระดับ 1.5-5.0 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

ดอกเบี้ยเมื่อก่อนเรียกอัตราดอกเบี้ยซื้อพันธบัตรรัฐบาล หรือดอกเบี้ยระหว่างธนาคาร ทุกวันนี้เรียกว่าดอกเบี้ยนโยบาย ที่จริงชื่อเมื่อก่อนก็ดีแล้ว เมื่อเปลี่ยนคำเรียกว่าดอกเบี้ยนโยบาย มันจะผิดความจริงไป เพราะไม่สามารถทำได้จริง ทำได้ระดับหนึ่งเท่านั้น แต่เมื่อเกิดความเบี่ยงเบนทางเศรษฐกิจขึ้นมา ก็ไม่สามารถทำอะไรได้ ที่เห็นว่าทุกวันนี้อัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 2.5 เปอร์เซ็นต์ วันร้ายคืนร้ายก็อาจจะขึ้นไปถึง 10 เปอร์เซ็นต์ได้ ถ้าไม่แก้ที่ต้นเหตุที่ทำให้เกิดความเบี่ยงเบนทางเศรษฐกิจ เหตุร้ายก็จะวนเวียนเกิดขึ้นกับตลาดเงินและตลาดเงินตรารอบแล้วรอบเล่า

หากธนาคารแห่งประเทศไทยไม่ทราบว่าอะไรเป็นต้นเหตุที่ทำให้ค่าเงินบาทและอัตราดอกเบี้ยของเงินบาทผันผวนหนักและเสียหาย ระบบจะต้องพิจารณาที่คุณธรรม-จริยธรรม วิสัยทัศน์-ปรัชญา ของธนาคารแห่งประเทศไทย ตัวอย่างมีอยู่ เอาผู้ใหญ่ของธนาคารแห่งประเทศไทยไปนั่งที่หน่วยงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) ถูกพนักงาน กลต.แต่งชุดดำไล่ และยังมีหลายคนที่ส่งออกจาก ธปท.ไปเป็นใหญ่ในหน่วยงานสำคัญ เป็นที่หวังของระบบได้ยาก

ตลาดเงินเกิดทีหลังตลาดหุ้น แต่เมื่อตลาดหุ้นเกิดมาแล้ว ตลาดหุ้นกลายเป็นตัวนำตลาดเงิน เมื่อตลาดหุ้นขึ้นค่าเงินก็ขึ้น เมื่อตลาดหุ้นตกค่าเงินก็ตก เมื่อตลาดหุ้นพังทลายค่าเงินก็พังทลาย กลไกอันนี้นักลงทุนสามารถนำไปเก็งกำไรค่าเงินได้ ธนาคารแห่งประเทศไทยจะไม่กล่าวโทษคนเก็งกำไรค่าเงินเหมือนเมื่อก่อนแล้ว ทั้งนี้เพราะมี Dollar Futures ในตลาดหุ้นให้เก็งกำไรกันได้อย่างอย่างเสรี เมื่อตลาดหุ้นตก ค่าเงินบาทก็จะตก หรือก็คือดอลลาร์มีค่าสูงขึ้น หากเป็นเช่นนี้นักลงทุนต้อง Long Open Dollar Futures จากนั้นก็มา Short close ภายหลังก็จะทำให้มีกำไรได้ ในทางตรงกันข้ามเมื่อตลาดหุ้นมีแนวโน้มสูงขึ้น ค่าเงินบาทก็จะสูงขึ้นด้วย หรือดอลลาร์มีค่าต่ำลง หากเป็นเช่นนี้นักลงทุน Short open Dollar futures จากนั้นก็มา Long closeภายหลังก็จะทำให้มีกำไรได้

การซื้อขายดอลลาร์ Dollar Futures ก็คือการเก็งกำไรค่าเงินบาทนั่นเอง เนื่องจากใช้เงินบาทเป็นตัวกลางซื้อขาย Dollar Futures จะเห็นว่านักเก็งกำไรสามารถเก็งกำไรได้ตลอด ไม่ว่าตลาดจะอยู่ในช่วงขาขึ้นหรือขาลง Hedge Funds สวมรอยปั่นให้ขึ้นแรงลงแรงด้วย ค่าเงินก็ผันผวนรุนแรงตามไปด้วย

อย่างไรก็ตาม ค่าเงินบาทนอกเหนือจากจะได้รับอิทธิพลของการเปลี่ยนแปลงของตลาดหุ้นแล้ว ค่าเงินบาทยังได้รับอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินดอลลาร์โดยตรงด้วย ซึ่งขึ้นอยู่กับความฉลาดและความโง่ของผู้ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ คำพูดของเขาถูก Hedge Funds นำมาซ้อนกลหากำไรในตลาดทุน ตลาดเงิน และตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ทุกครั้งเป็นปัจจัยที่ต้องพิจารณาควบคู่กันไปด้วย

ที่ค่าเงินเหรียญสหรัฐพังทลายรุนแรงระหว่างปี 2000-2008 หลังการพังทลายของตลาดหุ้นแนสแดกซ์ ก็เพราะมีการเก็งกำไรในดอลลาร์อย่างรุนแรงด้วย Hedge Funds สามารถปั่นตลาดหุ้น ตลาดเงิน ตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ผ่านตลาดอนุพันธ์ได้ (Futures) ระหว่างปี 2001-2008 ค่าเงินเหรียญสหรัฐตกลงถึง 48 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับเงินยูโร เงินยูโรของสหภาพยุโรปเป็นสกุลเงินที่ใหญ่เป็นอันดับที่ 2 ของโลก รองจากสกุลเงินเหรียญสหรัฐ


ที่นำเสนอนี้ไม่ใช่ผู้เขียนจะมาส่งเสริมผู้อ่านไปเก็งกำไรค่าเงิน ไปเล่นกับตลาดอบายมุข แต่ผู้เขียนจะหาแนวร่วมในข้อมูลความรู้ความเข้าใจความเป็นไปของค่าเงิน ลองดูว่าเป็นจริงอย่างที่ผู้เขียนนำเสนอไว้หรือไม่ ที่สำคัญจะต้องทราบด้วยว่าตลาดหุ้นนั้นอยู่ในช่วงขึ้นหรือตกจะทำให้การเก็งกำไรในค่าเงินประสบผลสำเร็จด้วย ถ้าไม่ทราบก็อาจจะเกิดความเสียหายจากการเก็งกำไรค่าเงินเช่นกัน

ผู้เขียนต้องอธิบายทุกครั้ง เมื่อมีผู้บอกว่า “วิกฤตครั้งที่ 2 หรือครั้งที่ผ่านมา จนต้องเข้ารับความช่วยเหลือทางการเงินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เป็นครั้งที่ 2 เพราะประเทศไทยเปิดเสรีทางการเงิน BIBF” ผู้เขียนบอกว่าไม่ใช่ เป็นเพราะพังทลายตลาดหุ้น อย่างที่นำเสนอไว้ในช่วงต้น ตลาดหุ้นขึ้นทำให้ค่าเงินสูงขึ้น ตลาดหุ้นพังทลายทำให้ค่าเงินพังทลาย หาใช่เพราะมีการเปิด BIBF แต่อย่างใดไม่

ตลาดหุ้นคือสิ่งผิดปกติของระบบเศรษฐกิจ บางช่วงจะทำให้เศรษฐกิจของระบบเบี่ยงเบนสูง ทำให้เกิดความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจรุนแรง ไม่ว่าจะเกิดกับประเทศไทย ประเทศสหรัฐอเมริกา หรือหลายประเทศในกลุ่มยูโร
เมื่อก่อนไม่มีตลาดหุ้น ประเทศไทยไม่เคยมีวิกฤตเศรษฐกิจจนต้องเข้ารับความช่วยเหลือทางการเงินจากไอเอ็มเอฟเลย แต่เมื่อมีการเปิดตลาดหุ้นในปี 2518 ทำให้ประเทศไทยต้องเข้าโครงการไอเอ็มเอฟมาแล้ว 2 ครั้งแล้ว

วิกฤตเศรษฐกิจครั้งที่ 1 ของประเทศไทย ต้องเข้ารับความช่วยเหลือมทางการเงินจากไอเอ็มเอฟเกิดขึ้นเมื่อเปิดตลาดหุ้นในเดือนเมษายน 2518 ระหว่างปี 2521-2524 SET index ตกลง 62 เปอร์เซ็นต์ ทำให้ค่าเงินบาทเสียหาย ไม่ได้ความเชื่อมั่น เงินทุนไหลออกจากประเทศ ต้องลดค่าเงินบาทหลายครั้ง สภาพคล่องของระบบเสียหาย ทำให้เกิดการล้มลงของภาคการผลิตจริงและภาคการเงิน เป็นที่มาของโครงการ 4 เมษายน 2527 ที่ทางการต้องเข้าควบกิจการ 25 ไฟแนนซ์และเครดิตฟองซิเอร์ เป็นที่มาของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน 2528

กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ นอกจากไม่ช่วยฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินของประเทศแล้ว ยังต้องมารองรับหนี้ที่เกิดจากการล้มลงของสถาบันการเงินเมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจครั้งที่ 2 ประมาณ 1.4 ล้านล้านบาท ที่รู้จักกันในชื่อโครงการ 14 สิงหาคม 2541

การตั้งกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน 2528 คือความผิดพลาดของวิสัยทัศน์และปรัชญาของการคิดแก้ปัญหาระบบเศรษฐกิจของประเทศ ที่คิดแต่ใช้เงินในการแก้ปัญหา เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ โดยไม่คิดแก้ต้นเหตุที่ทำให้เกิดปัญหา ไม่คิดแก้ที่ต้นเหตุที่ทำให้ระบบเศรษฐกิจของประเทศมีความเบี่ยงเบนสูง

โครงการ 14 สิงหาคม 2541 ยังคิดตั้งสถาบันคุ้มครองเงินฝากขึ้นมาอีก มีวิสัยทัศน์ปรัชญาคล้ายๆ ของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน 2528 คิดใช้เงินในการแก้ปัญหาอีก คิดแก้ที่ปลายเหตุของปัญหาเช่นเดิม โชคดีประเทศไทยที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ทักษิณ กิตติรัตน์ ยุติบทบาทของสถาบันคุ้มครองเงินฝาก เพื่อให้ย้ายการเก็บค่าธรรมเนียมจากสถาบันการเงินของระบบให้กว้างขวางขึ้น สูงขึ้น ครอบคลุมการเก็บค่าธรรมเนียมทั้งสถาบันการเงินรัฐและสถาบันการเงินเอกชน ให้ไปเป็นรายได้ของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน เพื่อให้มีเงินในการใช้หนี้ของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ โดยที่รัฐบาลหรือกระทรวงการคลังไม่ต้องตั้งงบประมาณมาช่วยชดใช้หนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ อีกต่อไป จะได้มีเงินเหลือเพื่อการอีลุ่ยฉุยแฉก ประชานิยม และการคอร์รัปชันได้มากขึ้น

แต่ว่าค่าธรรมเนียมที่สถาบันคุ้มครองเงินฝากที่เรียกเก็บจากสถาบันการเงินเอกชนก่อนหน้านี้เป็นแสนล้านบาท ไม่มีการพูดถึง งานก็ไม่มีให้ทำแล้ว จะยังมีอยู่ทำไม จะคืนเงินให้สถาบันการเงินที่ไปเก็บเขามาก็น่าจะได้ หรือเอาช่วยใช้หนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ก็ได้ แล้วปิดสถาบันไป ก็จะดีกว่า เพื่อที่จะให้บุคลากรของสถาบันไปทำงานอื่นที่มีประโยชน์ต่อไปได้

ดัชนีตลาดหุ้น SET index ของไทยมีค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานหรือค่าแกว่งตัวสูงเป็นอันดับที่ 7 ของโลก ดัชนีที่มีค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานหรือค่าการแกว่งตัวสูง จะอ่อนแอสูง ทำให้มีการเข้ามาควบคุมหรือเข้ามาปั่นได้ง่ายมีส่วนทำให้เกิดวิกฤตได้ง่ายขึ้น

วิกฤตเศรษฐกิจครั้งที่ 2 ของประเทศไทย ต้องเข้ารับความช่วยเหลือทางการเงินจากไอเอ็มเอฟเกิดขึ้นในปลายปี 2536 เมื่อเอาระบบ Maintenance margin และ Force sell มาใช้ในตลาดหุ้นทำให้ Hedge Funds ได้โอกาสลากตลาดหุ้นขึ้นไปสูงที่ 1,750 จุดในต้นปี 2537 แล้วก็ถล่มทุบลงมา ทำให้ค่าเงินบาทเสียหาย ไม่ได้รับความเชื่อมั่น ทำให้เงินทุนไหลออกแทบหมด ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศในเดือนกรกฎาคม 2540 เดือนที่ประเทศไทยประกาศลอยค่าเงินบาท และเข้ารับความช่วยเหลือทางการเงินจากไอเอ็มเอฟ เหลือประมาณ 1,144 พันล้านเหรียญสหรัฐ จากที่ก่อนนั้นมีอยู่ถึง 40,000 พันล้านเหรียญสหรัฐ

วิกฤตเศรษฐกิจครั้งที่ 3 ของประเทศไทย เกิดขึ้นในปี 2549 ในช่วงรัฐบาลทักษิณ ที่มีนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง เป็นกรรมการผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่พากันเอา ปตท.ที่มีมูลค่าสูงที่สุดของประเทศไทย เข้าจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหุ้นได้อย่างรวดเร็ว เพียง 10 เดือนการมาของรัฐบาลทักษิณ ปตท.ก็ฉลุยเข้าไปทำการซื้อขายในตลาดหุ้นได้รวดเร็วประหนึ่งสายฟ้าฟาด

ต้นเหตุการเกิดวิกฤตเศรษฐกิจครั้งที่ 3 มาจากตลาดหุ้นอีกเช่นเคย ปี 2549 มีการเปิดตลาดอนุพันธ์ที่สำคัญเป็นครั้งแรกในประเทศไทย เช่น เปิดการซื้อขาย SET50 index Future และเปิดการซื้อขายตัวเลขอนุพันธ์อื่นๆ ตามมาอีกหลายตัว เช่น ตัวเลขราคาหุ้นมูลค่าตลาดสูงล่วงหน้า ตัวเลขราคาทองคำล่วงหน้า ตัวเลขราคาโลหะเงินล่วงหน้า ตัวเลขดัชนีกลุ่มอุตสาหกรรมล่วงหน้า ตัวเลขราคาน้ำมันเบรนท์ล่วงหน้า รวมทั้งตัวเลขค่าเงินเหรียญสหรัฐเทียบกับเงินบาทล่วงหน้า

เกิดการซ้ำรอยในตัวบุคคลอย่างไม่น่าเชื่อ ตัวเลขต่างๆ เพื่อซื้อขายในตลาดอนุพันธ์มาครบถ้วนพอสมควรในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ที่มีนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ซึ่งในรัฐบาลนี้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

คำว่าวิกฤตอาจจะเป็นได้ 2 ทาง อุปมาอุปไมยกับน้ำท่วม ถ้าน้ำมามากท่วมมากก็เรียกว่าวิกฤต ดังเช่นกรณีน้ำท่วมใหญ่ในปี 2554 ถ้าน้ำน้อย ฝนไม่มา ทำให้เกิดความแห้งแล้ง ทำนาทำไร่ไม่ได้ ก็เรียกว่าวิกฤตเช่นกัน
ต้นปี 2549 ทุนสำรองอยู่ที่ระดับ 56 พันล้านเหรียญสหรัฐ ปี 2554 ทุนสำรองสูงถึง 216 พันล้านเหรียญสหรัฐ

เป็นตัวบอกว่าสภาพคล่องท่วมประเทศไทย หรือเงินท่วมประเทศไทย เป็นวิกฤตเศรษฐกิจอีกด้านหนึ่ง ทางการพยายามที่จะสกัดกั้นไม่ให้เงินทุนไหลเข้า วันที่ 19 ธันวาคม 2549 ได้ออกมาตรการกันสำรอง 30 เปอร์เซ็นต์เงินทุนไหลเข้า แต่ไม่สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ได้ ออกมาตรการได้วันเดียว ตลาดหุ้นตกกว่า 100 จุด มาตรการดังกล่าวจึงต้องยกเลิกไปในวันรุ่งขึ้น

ผู้ที่อยู่ในวงการตลาดทุนที่เชี่ยวชาญ เช่น บรรดา Hedge Funds ย่อมทราบว่า การเปิดตลาดอนุพันธ์ คือสวรรค์ของการเก็งกำไร ทำให้เงินทุนไหลเข้ามาเก็งกำไรในตลาดหุ้นและตลาดเงินอย่างท่วมท้น

การเริ่มพังทลายของเงินเหรียญสหรัฐในปี 2000 (2543) เพราะตลาด NASDAQ พังทลายรุนแรง ทำให้เงินทุนไหลออกจากประเทศสหรัฐอเมริกา ไหลเข้าประเทศต่างๆ รวมทั้งไหลเข้าประเทศไทยเข้าประเทศไทยเช่นกัน เมื่อมาพบกับการเปิดตลาดอนุพันธ์ในปี 2006 (2549) ยิ่งทำให้เงินทุนไหลเข้ามาเก็งกำไรในตลาดหุ้น และตลาดพันธบัตรมากขึ้นไปอีก

การไหลเข้ามาในตลาดพันธบัตร ก็ด้วยการเก็งกำไรว่าค่าเงินบาทจะแข็งค่าขึ้น ซึ่งก็เป็นความจริง ระหว่างปี 2549-2550 เงินบาทแข็งค่าขึ้น จาก 41 บาท ขึ้นมาเป็น 29 บาทต่อเหรียญสหรัฐ หรือค่าเงินบาทแข็งขึ้นกว่า 40 เปอร์เซ็นต์

ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จากต้นปี 2549 อยู่ที่ระดับ 56 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นมาโดยตลอด วันที่ 19 กันยายน 2549 วันที่เกิดรัฐประหาร ทุนสำรองอยู่ที่ 65.8 พันล้านเหรียญ วันที่ 19 ธันวาคม 2549 วันที่ออกมาตรการกันสำรอง 30 เปอร์เซ็นต์เงินทุนไหลเข้า ทุนสำรองอยู่ที่ 74 พันล้านเหรียญสหรัฐถึงปี 2554 ทุนสำรองสูงถึง 216 พันล้านเหรียญสหรัฐ

ตลาดอนุพันธ์ทำให้เงินทุนไหลเข้ารุนแรงได้ ก็ทำให้เงินทุนไหลออกแบบรุนแรงได้เช่นกัน

เขียนยืดยาว เพื่อจะนำเสนอว่าเงินทุนไหลเข้าประเทศไทยเข้ามาเมื่อใด เข้ามาแบบไหน อย่างไร และเท่าใดรัฐบาลหาเงินไม่เป็น แต่เมื่อเห็นมีเงินมากโดยไม่ทราบว่า ที่ทุนสำรองเพิ่มมากขึ้นนี้ เกิดจากสาเหตุอะไร คิดหาทางเอามาใช้แต่อย่างเดียว อย่างเช่นความคิดที่จะเอาทุนสำรองมาตั้งเป็นกองทุนมั่งคั่งแห่งชาติ เป็นต้น

เรื่องเงินทุนไหลเข้า-ออก ก็เกี่ยวข้องกับการใช้หนี้ IMF ด้วย การสามารถใช้หนี้ IMF หมดในปี 2546 ก็ไม่เกิดจากฝีมือของรัฐบาลทักษิณ หรือเป็นฝีมือของใครทั้งนั้น แต่เพราะมีเงินทุนไหลเข้าแบบผิดปกติมากกว่า

รัฐบาลก่อนหน้านี้ ก็มีการกู้กว่า 4 แสนล้านบาท เพื่อไม่ให้น้อยหน้ารัฐบาลยิ่งลักษณ์เกทับไปอีก ดูว่ารัฐบาลไหนจะแน่กว่ารัฐบาลไหน ใครจะเก่งในการสร้างหนี้มากกว่ากัน เรื่องคิดจะชดใช้หนี้ไม่ต้องกล่าวถึง เพราะไม่มีรัฐบาลไหนคิดจะออกนโยบายชดใช้หนี้กันเลย ลืมไปเลยว่าประเทศไทยมีหนี้ คิดแต่ว่าทำอย่างไรจึงจะกู้ได้มากที่สุด รัฐบาลยิ่งลักษณ์กู้มากกว่ารัฐบาลที่แล้ว 5-6 เท่าตัว หรือกว่า 2 ล้านล้านบาท

รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ทักษิณ กิตติรัตน์ ได้โอนหนี้ของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน จากปี 2541 ที่เคยมี 1.4 ล้านล้านบาท ที่ปี 2555 เหลือหนี้อยู่ประมาณ 1 ล้านล้านบาท โอนไปไว้ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อที่จะทำให้อัตราส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีลดลง เพื่อที่จะทำให้กู้เงินให้ได้มากที่สุด คำนวณมาแต่แรกแล้วว่าระยะเวลาในการชำระหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ จะไม่ต่ำกว่า 60 ปี

แล้วที่บอกว่าการกู้เงิน 2.2 ล้านล้านบาทจะใช้หนี้หมดภายใน 50 ปี เป็นเรื่องมุสาโดยแท้ ไม่มีโกหกใดเป็นสีขาว อ้างกันไปเอง ทุกการโกหกเป็นสีดำทั้งสิ้น ดูแต่หนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ที่โอนไปไว้ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย ที่แสดงถึงความไม่ตั้งใจที่จะใช้หนี้อยู่แล้ว อย่าไปหวังลมปากอะไรจากนักการเมือง

หากไม่นับการใช้เงินแบบอีลุ่ยฉุยแฉกต่างๆ ก็มีการกู้เงินเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วม 3.5 แสนล้านบาท กู้เงินเพื่อโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาท ที่บอกว่าจะใช้หนี้หมดภายใน 50 ปีนั่นเอง

การกู้เงินปริมาณมาก มองได้ว่าเป็นความพยายามที่จะลดสภาพคล่องที่มีอยู่มากในระบบ แต่การที่ไม่ทราบว่าเงินทุนไหลเข้าไหลออกประเทศเกิดจากสาเหตุอะไร แบบไหน อย่างไร คืออันตรายที่เกิดขึ้นกับประเทศไทยตลอด 38 ปีที่ผ่านมา เป็นเรื่องที่อันตรายต่อประเทศไทยมากกว่า

สภาพคล่องที่เกิดขึ้นจากการเก็งกำไร เกิดจากความผิดพลาดทางวิสัยทัศน์ปรัชญาของผู้บริหารประเทศ จนประเทศไทยต้องเข้าโครงการ IMF มาแล้วถึง 2 ครั้งการแก้ปัญหาการป้องกันปัญหาหลังการเกิดวิกฤตก็ผิดทิศทางอีก แก้แต่ปลายเหตุของปัญหา ปัญหาเดิมก็ยังอยู่ในระบบนั่นเอง ยิ่งเป็นอันตรายต่อประเทศไทยมากขึ้นไปอีก

ค่าเงินบาทย้อนหลัง 33 ปี แสดงถึงความเสียหายของค่าเงินบาทที่รุนแรงที่ผ่านมาแล้วถึง 2 ครั้ง และเข้าโครงการไอเอ็มเอฟมาแล้วทั้ง 2 ครั้ง

เฉพาะการกู้เป็นสกุลเงินบาทที่มากมายเช่นนี้ ก็ก่อความวิตกกังวลต่อการที่จะเกิดอันตรายต่อประเทศไทยอยู่แล้ว อันตรายอันจะมาจากสภาพคล่องของระบบเสียหาย ค่าเงินบาทเสียหาย เศรษฐกิจล้มละลาย ทำให้ยากที่จะมีรายได้มาใช้หนี้ก้อนโตได้หมด นอกจากไม่สามารถใช้หนี้ได้หมดแล้ว ยังเกิดหนี้สาธารณะจากการล้มลงของระบบเศรษฐกิจอีก

หนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ยังชำระไม่หมด ก็จะมีหนี้กองใหม่ทับถมขึ้นมาอีก

ที่บอกว่ากู้แล้วหนี้สาธารณะจะไม่เกิน 60 เปอร์เซ็นต์ของ GDP ก็เป็นเพียงมิจฉาวาทกรรมที่สร้างขึ้นมาเพื่อให้ดูดีเท่านั้น พูดเองเออเอง เป็นความต้องการส่วนตัวมากกว่าจะหวังดีต่อประเทศชาติ วาทกรรมสร้างง่าย เป็นวาทกรรมที่สร้างขึ้นบนสมมติฐานว่าเศรษฐกิจเป็นไปตามภาวะปกติ แต่ถ้าพิจารณาถึงอดีตที่ผ่านมา ไม่ว่าของประเทศไทยเอง ของประเทศเพื่อนบ้าน ของประเทศสหรัฐอเมริกา ของกลุ่มยูโรโซน ก็ล้วนเกิดวิกฤตเศรษฐกิจมาแล้วทั้งนั้นและเกิดวิกฤตซ้ำแล้วซ้ำอีก

มีแต่การกู้กับวาทกรรม 2 อย่างเท่านั้น ไม่มีข้อผูกมัดอะไรที่รัฐบาลจะคิดรับผิดชอบ เช่น “หากเศรษฐกิจของประเทศไม่เป็นจริงตามคำที่แถลงไว้ จะให้มีการทำหมันคณะรัฐมนตรีและผู้สืบสันดานทั้งชุด 7 ชั่วโคตร” เป็นต้น

มีข่าวว่ารัฐบาลจะกู้เงินจากต่างประเทศ 40 เปอร์เซ็นต์ หรือประมาณ 8 แสนล้านบาท หากเงินบาทอ่อนลง 2 เท่าตัว จาก 32 บาทเป็น 64 บาทต่อเหรียญสหรัฐ หนี้เงินกู้ต่างประเทศ 8 แสนล้านก็จะกลายเป็น 1.6 ล้านล้านบาท ถ้าเงินบาทอ่อนเป็น 3 เท่า เป็น 96 บาทต่อเหรียญสหรัฐ หนี้เงินกู้ก็จะกลายเป็น 2.4 ล้านล้านบาท รวมกับการกู้สกุลเงินบาท 1.2 ล้านล้านบาท ก็อยู่ระหว่าง 2.8 - 3.6 ล้านล้านบาทดอกเบี้ยในส่วนของการกู้สกุลเงินตราต่างประเทศในรูปเงินบาทก็จะสูงขึ้นเช่นกัน

ประเทศไทยก็หมดตัว

ที่บอกว่า 50 ปีจะให้หนี้ได้หมด จะกลายเป็นไม่มีปัญหาชำระหนี้ได้เลยมากกว่า

เป็นอันตรายจากการกู้สกุลเงินตราต่างประเทศ
กำลังโหลดความคิดเห็น