xs
xsm
sm
md
lg

ตลาดหุ้นกับการทำร้ายเศรษฐกิจของระบบ

เผยแพร่:   โดย: สุทธิพงษ์ ปรัชญพฤทธิ์

สุทธิพงษ์ปรัชญพฤทธิ์
http://twitter.com/indexthai2
indexthai2@gmail.com

ผู้เขียนได้ติดตามข้อมูลตลาดทุนตลาดเงินทั่วโลก และทำการบันทึกข้อมูลเอาไว้ มีหลายเรื่องที่พบเห็นแล้วแปลกใจ อยากนำมาเสนอ เช่นเรื่องที่เกิดขึ้นกับตลาดเงินและตลาดหุ้นของประเทศตุรกี

ประเทศตุรกีเป็นประเทศสองทวีป ดินแดนส่วนหนึ่งอยู่ในทวีปเอเชีย ดินแดนอีกส่วนหนึ่งอยู่ในทวีปยุโรป เป็นประเทศที่อารยธรรมเจริญรุ่งเรืองมานาน มาตั้งแต่ก่อนคริสต์กาล แต่ปัจจุบันนี้เสื่อมลงมาก ยากจนลง ความยากจนแสดงให้เห็นโดยการอ่อนของค่าเงิน ซึ่งส่งผลต่อเงินเฟ้อโดยตรง ทำให้ราคาของกินของใช้สูงขึ้น หรือระบบจนลงนั่นเอง

ผู้เขียนไม่ทราบเรื่องราวตลาดเงินกับตลาดหุ้นของตุรกีก่อนปี 2000 ว่าเป็นมาอย่างไร แต่ข้อมูลค่าเงินและตลาดหุ้นหลังปี 2000 พอจะบอกได้ว่าเศรษฐกิจของประเทศตุรกีเป็นอย่างไร หากใครจะไปค้นคว้าทำเป็นวิทยานิพนธ์ ความเป็นมาทางเศรษฐกิจของประเทศตุรกีก็จะดี ให้เน้นไปที่ตลาดหุ้นด้วย ส่วนใหญ่ผู้คนจะมองข้ามตลาดหุ้น จึงทำให้การสรุปเรื่องเศรษฐกิจของประเทศ ของภูมิภาค หรือของโลกไม่สมบูรณ์

กราฟที่เห็นนี้เป็นค่าเงินของประเทศตุรกีเมื่อเทียบกับเงินเหรียญสหรัฐ เป็นข้อมูลดิบที่เกิดตามความเป็นจริงที่ต่อเนื่องกัน ที่ยังไม่ได้ปรับฐานของข้อมูลที่เปลี่ยนแปลงไป

วันที่ 15 พฤศจิกายน 2001 เป็นวันที่ผู้เขียนเริ่มบันทึกข้อมูลค่าเงินและดัชนีตลาดหุ้นของประเทศตุรกีจาก Website ของ Bloomberg

1) พบว่าค่าเงิน LIRA ของตุรกีเป็นตัวเลขที่สูงที่สุดในโลก จากตัวเลขที่นำแสดงในกราฟ คือ 1,230,000 – 1,763,000 LIRA/USD (หลักล้าน) อาจจะกล่าวได้ว่าเป็นสกุลเงินที่อ่อนที่สุดในโลก

2) ปลายปี 2004 มีการยุติการรายงานค่าเงิน แต่ผู้เขียนก็ยังคงไม่ลบข้อมูลทิ้ง ยังติดตามข้อมูลมาโดยตลอด จะเห็นว่าไม่มีข้อมูลจากปลายปี 2004 ถึงปลายปี 2005 กราฟจึงเป็นเส้นตรง

3) วันที่ 21 ตุลาคม 2005 (หรืออาจจะก่อนหน้านี้) สังเกตเห็นว่ามีการรายงานค่าเงิน LIRA อีกครั้งแต่เปลี่ยนการรายงานด้วยฐานใหม่ แทนที่จะเป็นหลักล้าน เหลือเพียงหลักหน่วยเท่านั้น เช่น สมมติว่า 1,230,000 ก็เปลี่ยนมาเป็น 1.23LIRA/USD และ 1,763,000 ก็เปลี่ยนมาเป็น 1.763 LIRA/USD

4) ผู้เขียนได้ทำการปรับฐานของค่าเงินใหม่ เพื่อที่จะให้เป็นฐานเดียวกัน ด้วยการเอา 1,000,000 ไปหารค่าเงินตั้งแต่เริ่มบันทึกข้อมูล จนมาถึงก่อนวันที่ 21 ตุลาคม 2005 1 วันดังปรากฏตามกราฟข้างล่างนี้

LIRA/USD หลังการปรับฐานดัชนีให้เป็นฐานเดียวกันจากหลักล้านเป็นหลักหน่วย

ค่าเงินLIRA/USDมีแนวโน้มอ่อนค่าลงตลอดเวลา และเกิดจุดต่ำสุดใหม่ในปี 2013

เกิดอะไรขึ้นกับระบบเศรษฐกิจของตุรกี

เพราะเหตุนี้กระมัง ในอดีตที่ผ่านมา ค่าเงินของประเทศตุรกีจึงตกลงไปมากกว่า 1,000,000LIRA/USD

ดัชนีตลาดหุ้นตุรกีเป็นดัชนีที่แกว่งตัวแรงที่สุดในโลก

ดัชนีตลาดหุ้นคือค่าตัวกลางอย่างหนึ่ง (Mean) ซึ่งจะต้องมีค่าสำคัญทางสถิติของตัวกลางแต่ละตัว เช่น ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standarddeviation) ค่าสัมประสิทธิ์ความผันแปร (Coefficient of variation) ที่ประเทศไทย เราสามารถหากลุ่มข้อมูลที่ใช้สร้างดัชนีมาหาค่าสำคัญทางสถิติได้ ทำให้ทราบว่า SET50 index มีค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานสูงที่สุด SET100 index มีค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานรองลงมา และ SET index มีค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานต่ำรองลงมาอีก หรือ SET50 index แกว่งตัวแรงเป็นอันดับ 1 SET100 index แกว่งตัวแรงเป็นอันดับที่ 2 และ SET index แกว่งตัวแรงเป็นลำดับที่ 3

แต่ SET index แกว่งตัวแรงเป็นลำดับที่ 7 ของโลก (ดูข้อมูลถัดไป)

สำหรับดัชนีตลาดหุ้นประเทศต่างๆ เป็นเรื่องยากที่จะหากลุ่มข้อมูลที่เขาใช้สร้างดัชนี เพื่อมาใช้วัดค่าสำคัญต่างๆ ตามหลักการทางสถิติ จึงใช้วิธีวัด “ค่าการแกว่งตัว (Swing)” ของดัชนีในช่วงระยะเวลาหนึ่ง เมื่อทำการวัดค่าแกว่งตัวในช่วงระยะเวลาเดียวกัน ก็สามารถเอา “ค่าการแกว่งตัว” ของดัชนีมาเปรียบเทียบกันได้

ผู้เขียนได้นำดัชนีตลาดหุ้น 41 ประเทศ 42 ดัชนีมาวัดค่าแกว่งตัวของดัชนี (ประเทศสหรัฐอเมริกาเอามา 2 ดัชนี คือ DJIA และ NASDAQ) ช่วงเวลาที่ใช้วัดค่าการแกว่งตัวของดัชนี คือระหว่างปี 1999 - 2002 (ระยะเวลา 4 ปี)

การวัดค่าการแกว่งตัวของดัชนี โดยเอาอัตราการเปลี่ยนแปลงของดัชนีแต่ละวัน (%) ในช่วงระยะเวลา 4 ปี มาเรียงลำดับจากมากไปหาน้อย

ในส่วนดัชนีที่เปลี่ยนแปลงมากเอาข้อมูลอัตราส่วนที่เปลี่ยนแปลงสูงที่สุดกลุ่มหนึ่ง (สมมติว่า 50 ตัว) มาหาค่าเฉลี่ยจะได้ตัวเลขค่าเฉลี่ยตัวหนึ่งเก็บไว้ สมมติว่า + H% ในแบบเดียวกัน

ในส่วนดัชนีที่เปลี่ยนแปลงน้อยหรือติดลบ เอาข้อมูลอัตราส่วนที่เปลี่ยนแปลงน้อยที่สุดหรือติดลบมากลุ่มหนึ่ง (สมมติว่า 50 ตัว) มาหาค่าเฉลี่ย จะได้ตัวเลขค่าเฉลี่ยตัวหนึ่งหนึ่งเก็บไว้ สมมติว่า - L%

ความแตกต่างของค่าเฉลี่ย2 ตัวเลขนี้คือค่าการแกว่งตัวของดัชนี (+H%) - (-L%) หรือ H% + L% = ค่าการแกว่งตัวของดัชนี

ทำให้เราได้ค่าการเปลี่ยนแปลงของดัชนีทั้ง 42 ดัชนี

จากนั้น เลือกดัชนีที่มีค่าการเปลี่ยนแปลงมากที่สุด 10 ดัชนี และเลือกดัชนีที่มีค่าการเปลี่ยนแปลงน้อยที่สุด 10 ดัชนีมาแสดง ตามตารางที่นำเสนอต่อไปนี้

ตารางทางซ้ายมือ คือดัชนีตลาดหุ้นที่มีการแกว่งตัวมากที่สุด 10 ดัชนี จะเห็นว่าประเทศที่ดัชนีตลาดหุ้นแกว่งตัวแรงนี้ต้องเข้ารับความช่วยเหลือทางการเงินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เป็นส่วนใหญ่ (*)

ประเทศสหรัฐอเมริกาได้รับความบอบช้ำจากดัชนี NASDAQ เมื่อดัชนีเริ่มแกว่งตัวแรงในปี 1999 เนื่องจากมีการเพิ่มหุ้นที่มีมูลค่าตลาดสูงเข้าไปในการคำนวณดัชนีทำให้ดัชนีมีค่าการแกว่งตัวสูงมีการลากดัชนี NASDAQ ขึ้นไปสูงสุดในปี 2000 แล้วถล่มให้พังทลายลงมาทำให้เศรษฐกิจของประเทศเสียหาย ค่าเงินเหรียญสหรัฐเสียหาย คนตกงานมาก และเงินเฟ้อสูง

แม้ประเทศสหรัฐอเมริกาไม่ได้เข้ารับความช่วยเหลือทางการเงินจาก IMF แต่ก็แก้ปัญหาแบบไม่ให้เกียรติประเทศตัวเองโดยการเพิ่มเพดานหนี้กองโต (Debt Ceiling) และการพิมพ์เงินออกมาใช้ (Quantitative Easing)

ประเทศไทยก็อยู่ในกลุ่มนี้ โดยที่ดัชนีแกว่งตัวแรงเป็นลำดับที่ 7 ของโลก และเคยเข้าโครงการ IMF มาแล้ว 2 ครั้ง

ตารางทางขวามือคือดัชนีตลาดหุ้นที่มีการแกว่งตัวน้อยที่สุด 10 ดัชนีประเทศที่ดัชนีตลาดหุ้นแกว่งตัวน้อยจะไม่ได้ความเสียหาย และไม่ต้องเข้ารับความช่วยเหลือทางการเงินจาก IMF มีเพียงประเทศโปรตุเกส(*) ที่ต้องเข้ารับความช่วยเหลือทางการเงินจาก IMF หลังปี 2008 ซึ่งเป็นผลมาจากวิกฤตเศรษฐกิจของกลุ่มยูโรโซน มีหลายประเทศในกลุ่มยูโรโซนที่ต้องเข้ารับความช่วยเหลือทางการเงินจาก IMF และธนาคารกลางของยุโรป (ECB) เช่น กรีซ อิตาลี สเปน โปรตุเกส ไอซ์แลนด์ ไอร์แลนด์ ตุรกี ยูเครน ฯลฯ

โลกยังคงพิจารณาความเป็นไปทางเศรษฐกิจโดยเน้นที่ภาคการผลิตจริงอย่างเดียว (Real trade) เช่น การผลิต การนำเข้า-ส่งออก การท่องเที่ยว แต่แท้ที่จริงแล้วการซื้อขายกระดาษในระบบตลาดหุ้น (Paper trade) มีมูลค่าสูงกว่าภาคการผลิตจริงมาก ยกตัวอย่างเช่นการซื้อทองคำกระดาษ มีมูลค่าสูงกว่าการบริโภคทองจริงเกือบ 10 เท่า มูลค่าเงินทุนที่เคลื่อนย้ายในระบบการซื้อขายกระดาษจึงสูงกว่าภาคการผลิตจริงมาก เป็นตัวปัญหาให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ ที่ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนเกิดขึ้นตามภูมิภาคต่างๆของโลก

ตลาดทุนและตลาดเงินมีความสัมพันธ์ต่อกัน หากมีเหตุการณ์ให้เกิดการเก็งกำไร หรือเลิกการเก็งกำไรในตลาดหุ้น จะทำให้เงินทุนไหลเข้าออกรุนแรง เมื่อเงินทุนไหลเข้าก็จะไหลเข้าแรง เมื่อเงินทุนไหลออกก็จะไหลออกแรง

ในช่วงเวลาเดียวกันเงินทุนจะไหลเข้าออกในตลาดพันธบัตรมากกว่าในตลาดหุ้น

ยกตัวอย่างเช่นการเริ่มเปิดตลาดอนุพันธ์ของประเทศไทยในปี 2006 ทำให้เงินทุนไหลเข้ามาเก็งกำไรกัน ส่งผลให้ทุนสำรองการเงินระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นอย่างรุนแรง กระทั่งต้องออกมาตรการกันสำรอง 30 เปอร์เซ็นต์เงินทุนไหลเข้าในปลายปี 2006 ทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นถึง 40 เปอร์เซ็นต์ในช่วงระยะเวลาประมาณ 2 ปี ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศก็เพิ่มแรงและเร็วจากระดับ 50 พันล้านเหรียญในปี 2006 ขึ้นมามากกว่า 200 พันล้านเหรียญในอีก 4-5 ปีต่อมา ทุนสำรองที่เพิ่มขึ้นมาก หากใช่เกิดจากการได้เปรียบดุลการค้าหรือได้เปรียบดุลท่องเที่ยวแต่อย่างใดไม่

แม้จะพบว่าเงินทุนไหลเข้าในตลาดพันธบัตรมากกว่าเข้ามาที่ตลาดหุ้นก็จริงและก็เป็นเช่นนี้ทุกครั้ง แท้ที่จริงแล้วตลาดหุ้นนั่นเองคือต้นเหตุหลักที่ทำให้เงินทุนไหลเข้าออกรุนแรงแล้วมีการเก็งกำไรว่าค่าเงินบาทจะแข็งขึ้นด้วยนั่นเอง เงินทุนไหลเข้าจะมุ่งความสนใจไปที่ค่าเงินมากกว่าค่าดอกเบี้ย

การที่ตลาดหุ้นของประเทศไทยตกแรงระหว่างปี 1996 – 1997 เงินก็ไหลออกจากตลาดพันธบัตรเช่นกัน กระทั่งทุนสำรองการเงินระหว่างประเทศตกลงเหลือ 1,144ล้านเหรียญสหรัฐในเดือนกรกฎาคม 1997 จนต้องลอยค่าเงินบาท และเข้ารับความช่วยเหลือทางการเงินจาก IMF เป็นครั้งที่ 2

เมื่อมีวิกฤตเศรษฐกิจก็มีการกล่าวโทษตลาดเงินอย่างเดียว หรือกล่าวโทษธนาคารแห่งประเทศไทยอย่างเดียว เช่นว่าเพราะมีการเปิดเสรีทางการเงิน (BIBF) เป็นต้น ไม่มีใครกล่าวโทษตลาดหุ้น แต่ตลาดหุ้นนั่นเองเป็นต้นเหตุให้เกิดวิกฤต ทำให้ตลาดเงินได้รับความเสียหายตามมา

ตลาดหุ้นพังทลายก่อน จึงทำให้ตลาดเงินพังทลายตามมาผู้เขียนไม่เคยพบว่าตลาดเงินของประเทศใดเสียหายก่อนตลาดหุ้น

การพังทลายของตลาดหุ้น NASDAQ ในปี 2000-2002ทำให้ค่าเงินเหรียญสหรัฐพังทลายตามมา และค่าเงินเหรียญสหรัฐเริ่มพังทลายลงในปี 2001 - 2008 ตกลงถึง 48 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับเงินยูโรยืนยันว่าตลาดหุ้นพังทลายก่อน แล้วทำให้ค่าเงินพังทลายตามมา

ดัชนีตลาดหุ้นที่มีค่าการแกว่งตัวสูง(หรือมีค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานสูง) จะถูกสวมรอยปั่นได้ง่ายทำให้ดัชนีขึ้นและตกได้ง่าย ไม่ต้องมีพื้นฐานอะไรแล้ว ยกตัวอย่างดัชนีตลาดหุ้นตุรกีที่นำเสนอข้างต้น ถูกลากขึ้น และดึงลงแรงๆ ได้ แม้ประเทศจะเข้ารับความช่วยเหลือทางการเงินจาก IMF ดัชนีก็ยังมีจุดสูงสุดใหม่ได้ และทุบให้ต่ำลงอีก ทำให้ค่าเงิน LIRA ของตุรกีไม่มีเสถียรภาพ

ระบบเศรษฐกิจตลาดหุ้นและตลาดเงินของประเทศตุรกี คือตัวอย่างความเสียหายจากตลาดหุ้นที่ทำร้ายระบบเศรษฐกิจของประเทศตุรกี ประเทศตุรกีเข้าโครงการ IMF บ่อยครั้ง ดัชนีตลาดหุ้นตุรกีแกว่งตัวที่รุนแรงที่สุดในโลกคือต้นเหตุที่ทำให้ค่าเงินของประเทศตุรกีเกิดความเสียหายอยู่ตลอดเวลา

ตลาดหุ้นไทยแกว่งตัวแรงเป็นลำดับที่ 7 ของโลก

ลองลำดับช่วงระยะเวลาของการเกิดวิกฤตเศรษฐกิจครั้งที่ 2 ของประเทศไทย ก็จะทราบว่าต้นเหตุเกิดที่ตลาดหุ้นก่อน แล้วทำให้ตลาดเงินของไทยพังทลายตามมาในตอนหลัง

ตลาดหุ้นประเทศไทยเริ่มพังทลายในปี 1994 หลังการนำระบบ Maintenance margin และ Force sell มาใช้ในตลาดหุ้นในปี 1993 แล้วตลาดเงินจึงพังทลายลงในปี 1997 ต้องลอยค่าเงินบาทและเข้ารับความช่วยเหลือทางการเงินจาก IMF

ตลาดหุ้นไทยขึ้นไปสูงสุดในตอนต้นปี 1994 ที่ 1,750 จุด จากนั้นก็ถูกทุบให้พังทลายลงมา ตลาดหุ้นพังทลาย ทำให้ค่าเงินพังทลายด้วยความไม่รู้ ประเทศไทยจึงได้ทำการเข้าต่อสู้พยุงค่าเงินเอาไว้ หาเงินมาพยุงเท่าใดก็เอาไม่อยู่ ในที่สุดต้องยอมยกธงขาว ยอมพ่ายแพ้ต่อการปกป้องค่าเงินบาทเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 1997 ยอมลอยค่าเงินบาท และเข้ารับความช่วยเหลือทางการเงินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เป็นครั้งที่ 2

นายเริงชัย มะระกานนท์กลายเป็นแพะรับบาปผู้เดียว ในกรณีที่ใช้เงิน 180,000 ล้านบาททำการปกป้องค่าเงินบาทแล้วพ่ายแพ้

ประเทศไทยเข้าใจผิดว่าปี 1997 เป็นปีที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ ซึ่งไม่เป็นความจริง ปี 1997 คือปีที่ยอมรับการพ่ายแพ้ต่อการปกป้องค่าเงินบาท เป็นปีที่ยุติการต้องสู้ของการโจมตีค่าเงินบาท ส่วนปีต้นเหตุที่ทำให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจคือปี 1993 - 1994

ตลาดหุ้นคือต้นเหตุทำให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ มีมาจาก 2 สาเหตุ 1) ดัชนีตลาดหุ้นมีค่าการแกว่งตัวสูงเป็นลำดับที่ 7 ของโลก 2) การนำระบบ Maintenance margin และ Force sell มาใช้ในตลาดหุ้นในปี 1993

เรื่องของนายเริงชัย มะระกานนท์จึงน่าจะแยกออกเป็น 2 กรณี

1) ตลาดหุ้นคือต้นเหตุที่ทำให้ค่าเงินบาทเสียหาย เป็นกรณีที่สำคัญกว่า เสียหายร้ายแรงกว่าความเสียหายในข้อ 2 (ข้อถัดไป)

2) การทำการปกป้องค่าเงินบาทของธนาคารแห่งประเทศไทย แล้วไม่สามารถปกป้องค่าเงินบาทไว้ได้

ถ้าไม่มีกรณีในข้อ 1 ก็จะไม่เกิดกรณีในข้อ 2 กรณีข้อ 1 เป็นเรื่องต้นเหตุ กรณีข้อ 2 เป็นเรื่องปลายเหตุ ความเสียหายที่เกิดจากกรณีข้อ 1 หาใช่เสียหายเฉพาะ 180,000 ล้านบาทแต่อย่างใด แต่เสียมากกว่า 180,000 ล้านบาทมาก ทำให้ค่าเงินบาทเสียหาย ทำให้ฐานะทางเศรษฐกิจของประเทศตกต่ำลง ทำให้สภาพคล่องของระบบเสียหาย ทำให้เศรษฐกิจล้มลงทั้งระบบ เอกชนล้มลง คนตกงานมาก ก่อให้เกิดหนี้ทั้งภาคเอกชนและภาครัฐ ตัวอย่างเช่นเกิดหนี้ที่กองทุนเพื่อการฟื้นฟูถึง 1.4 ล้านล้านบาท เงินเฟ้อสูงขึ้น ผู้คนเดือดร้อนทั่วประเทศ ตัวเลขความเสียหายทั้งระบบ ที่มีต้นเหตุมาจากการพังทลายของตลาดหุ้นอาจจะถึง 9 ล้านล้านบาท

ธนาคารแห่งประเทศไทยไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ คนของ ธปท.ถูกเรียกให้ชดใช้ค่าเสียหายถึง 180,000 ล้านบาท แล้ว ธปท.จะช่วยเหลือประเทศไทยได้อย่างไร

ครั้งก่อน ที่นำระบบ Maintenance margin & Force sell มาใช้ในตลาดหุ้นในปี 1993 และ SET index แกว่งตัวแรงเป็นอันดับที่ 7 ของโลก ทำให้เกิดวิกฤตจนต้องลอยค่าเงินบาทและเข้าโครงการ IMF ในกลางปี 1997

ทำไมต้องทำตามตะวันตกทุกอย่าง ไม่ว่าอเมริกาหรือยูโรโซน พบว่าเขาประสบภาวะวิกฤตเศรษฐกิจหนักมาก แล้วเราจะไปทำตามเขาทุกอย่าง เศรษฐกิจอเมริกาและยูโรโซนพังทลายรุนแรงก็เพราะตลาดทุนได้พัฒนามากขึ้น ตลาดหุ้นยิ่งพัฒนามากขึ้นเท่าใด ยิ่งทำให้เกิดความเสียหายรุนแรงมากเท่านั้น

การเปิดตลาดอนุพันธ์ของตลาดหุ้นไทยในปี 2006 ทำให้เงินทุนไหลเข้ามาเก็งกำไรอย่างท่วมท้น กระทั่ง ธปท.ต้องออกมาตรการกันสำรอง 30% เงินทุนไหลเข้าเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2006 ออกมาตรการมาวันเดียวก็ต้องยกเลิก เพราะตลาดหุ้นตกกว่า 100 จุด เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุเช่นเคย ไม่ไปพิจารณาว่าต้นเหตุอะไรที่ทำให้เงินทุนไหลเข้ามารุนแรงเช่นนี้ สุดท้ายก็ปล่อยเลยตามเลยมาถึงทุกวันนี้

ธปท.ยอมให้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเปิดตลาดอนุพันธ์ได้อย่างไร มันคือ อบายมุขชัดเจน ลองพิจารณาดูว่า อนุพันธ์ตลาดหุ้นเป็นอบายมุขจริงหรือไม่

วิกฤตเศรษฐกิจครั้งที่ 3 ได้เกิดขึ้นแล้วในปี 2006 โดยให้มีการเปิดตลาดอนุพันธ์ คงจะซ้ำรอยการเปิด Maintenance margin & force sell ของตลาดหุ้นในปี 1993 นั่นเอง การเกิดวิกฤตครั้งที่ 3 จะรุนแรงกว่าครั้งที่ 1 และ 2 มาก

เหตุเกิดที่ตลาดหุ้นก่อน แล้วมาจบลงที่ตลาดเงินในเวลาต่อมา ตลาดหุ้นคือต้นเหตุของปัญหา ตลาดเงินคือปลายเหตุของปัญหาตลาดหุ้นคือต้นเหตุให้เกิดการทำร้ายเศรษฐกิจของระบบไม่ว่าที่ประเทศไทย ประเทศสหรัฐอเมริกา ประเทศในกลุ่มยูโรโซน หรือประเทศอื่นใดในโลกนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น