xs
xsm
sm
md
lg

วิกฤตเศรษฐกิจ กรีซ ไซปรัส ไทย แตกต่างกันอย่างไร

เผยแพร่:   โดย: สุทธิพงษ์ ปรัชญพฤทธิ์


มีผู้ส่งอีเมลถามมาว่า “ประเทศไทยมีโอกาสจะเกิดวิกฤตแบบกรีซ และไซปรัส หรือไม่”

ที่จริงประเทศไทยเกิดวิกฤตเศรษฐกิจค่าเงินเสียหาย สภาพคล่องเสีย ระบบเศรษฐกิจล้มลง หนี้เสียท่วมประเทศ คนตกงานมาก ทุนสำรองฯ ตกต่ำลง จนต้องเข้ารับความช่วยเหลือทางการเงินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ IMF มาแล้วถึง 2 ครั้ง มีปัญหาครั้งแรกเมื่อ 36 ปีที่แล้ว มีปัญหาครั้งที่ 2 แรกเมื่อ 19 ปีที่แล้ว ปัญหาทั้ง 2 ครั้งเกิดห่างกัน 17 ปี

วิกฤตเศรษฐกิจครั้งแรก ประเทศไทยเปิดตลาดหุ้นในปี 2518 (1975) เปิดมาได้ 3 ปี ตลาดหุ้นพุ่งสูงขึ้นในช่วงแรก ถึงปลายปี 2521 (1978) ก็พังทลายลงถึงปลายปี 2523 (1980) ตกลงไป 62 เปอร์เซ็นต์ ส่งผลให้ค่าเงินบาทเสียหายตามมา แต่เนื่องจากมีการผูกค่าเงินบาทไว้ ทำให้ค่าเงินบาทแข็งกว่าความเป็นจริง ก็มีการขายบาททำกำไรออกมาตลอดเวลา ได้มีการลดค่าเงินบาท ลดแล้วลดอีก เพื่อให้บาทสะท้อนค่าที่เป็นจริง แต่บาทก็ยังแข็งกว่าความเป็นจริงอยู่นั่นเอง กระทั่งปลายปี 2527 (1984) ได้มีการลดค่าเงินบาทค่อนข้างแรงจาก 23 มาเป็น 27 บาทต่อเหรียญสหรัฐ (-15%) ทุนสำรองร่อยหรอ สภาพคล่องเสียหาย ทั้งภาคการผลิตจริง และภาคการเงิน ล้มลง คนตกงานมาก เกิดหนี้เสียท่วมระบบ ต้องเข้ารับความช่วยเหลือสภาพคล่องจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เป็นครั้งแรก

ทางการได้ตั้งกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (2528) มาบริหารจัดการ 25 ไฟแนนซ์และเครดิตฟองซิเอร์ที่รู้จักกันในชื่อ โครงการ 4 เมษายน 2527 ที่ล้มลง ทางการได้เข้าไปควบคุมกิจการ รวมระยะเวลาจากตลาดหุ้นพังทลายในปี 2521 ถึงปี 2528 เป็นเวลา 7 ปี มีการลดค่าเงินบาทมากกว่า 10 ครั้ง เงินบาทถูกลดค่ารวม 27 เปอร์เซ็นต์ กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ (2528) นอกจากมีหน้าที่มาจัดการกับทรัพย์สินและหนี้สินของโครงการ 4 เมษายน ยังมีหน้าที่หาทางป้องกันปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจในอนาคตอีก

ดูเหมือนคนที่เกี่ยวข้องพยายามจะลืมวิกฤตเศรษฐกิจที่ทารุณประเทศจนต้องเข้ารับความช่วยเหลือจาก IMF ครั้งแรก ผู้คนลืมวิกฤตเศรษฐกิจครั้งนี้ไปแล้ว และคิดว่าได้ออกแบบป้องกันปัญหาไว้แล้ว

แต่แล้วก็เกิดวิกฤตเศรษฐกิจขึ้นอีกจนได้

ภาพการพังทลายของตลาดหุ้นไทย 2 ครั้ง ที่นำมาซึ่งวิกฤตเศรษฐกิจไทย 2 ครั้งที่ผ่านมา


วิกฤตเศรษฐกิจครั้งที่ 2 ปี 2536 (1993) ได้มีการนำระบบ Maintenance margin & Force sell มาใช้ในตลาดหุ้น โดยเชื่อว่าระบบนี้จะทำให้สถาบันการเงินมีกำไรและมีความมั่นคงมากขึ้น คือระบบที่ให้มีการกู้ยืมเงินมาซื้อขายหุ้น โดยเอามูลค่าหุ้นที่ซื้อมาเป็นหลักประกันในการกู้ยืมเงินดังกล่าว ถ้าราคาหุ้นสูงขึ้น ก็สามารถกู้เงินมาซื้อหุ้นเพิ่มได้ แต่ถ้าราคาหุ้นตกต่ำ และมูลค่าหุ้นต่ำกว่าหลักประกันที่มีอยู่ จะถูก Call margin คือหาหลักประกันมาเพิ่ม หากหาหลักประกันมาเพิ่มไม่ได้ ก็จะถูกบังคับขายหุ้น หรือ Forced sell คิดว่าวิธีนี้จะทำให้สถาบันการเงินที่ปล่อยสินเชื่อเพื่อการซื้อขายหุ้นจะมีความมั่นคง เนื่องจากสามารถบังคับขายหุ้นนักลงทุนมาใช้หนี้ได้ แต่ปรากฏว่า ในระยะเวลาต่อมา สถาบันการเงินล้มทั้งระบบล้มเพราะผลจากการนำระบบ Maintenance margin & Force sell มาใช้ในตลาดหุ้นนั่นเอง

อย่างที่ว่าไว้ตอนต้น ตลาดหุ้นพังทลาย ทำให้ค่าเงินบาทพังทลายด้วย ยิ่งตลาดหุ้นพังทลายเท่าใด ค่าเงินบาทก็ยิ่งพังทลายมากเท่านั้น Hedge Fund รู้กลไกในเรื่องนี้ดี ก็ยิ่งขายหุ้นออกมาอย่างสนุกสนาน เพื่อให้ได้เงินบาท เพื่อที่จะเอาบาทไปแลกเงินตราต่างประเทศเก็บไว้ ทั้งนี้เพราะทางการไทยยังคงผูกค่าเงินบาทเอาไว้เหมือนเดิม ทำให้ค่าเงินบาทแข็งผิดจริง หรือกล่าวในอีกแง่หนึ่งบาทมีราคาสูงมาก จึงมีการขาย (แลกเป็นเงินสกุลอื่น) เพื่อทำกำไร

หลังการนำระบบ Maintenance margin & Force sell ในปี 2536 ตลาดหุ้นไทยขึ้นไปสูงสุดในต้นปี 2537 และพังทลายลงไปต่ำสุดในปี 2541 (1998) ดัชนีตกลงไปทั้งสิน 88 เปอร์เซ็นต์

ฝ่ายนักลงทุนท้องถิ่น เมื่อราคาหุ้นตกหนัก ทำให้หลักประกันไม่คุ้มกับเงินที่กู้ยืมไว้ ก็ถูก Call margin พยายามหาเงินมาส่ง Call margin เพื่อเป็นการ Maintenance margin หลายคนขายที่ดิน ขายบ้าน มาส่ง Call margin แต่ตลาดหุ้นก็ยังตกต่อเนื่อง ในที่สุดไม่สามารถหาเงินมา Maintenance margin ได้ จึงถูกบังคับขายหุ้นอย่างทารุณ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ก็เหมือนที่เคยเกิดขึ้นในวิกฤตเศรษฐกิจครั้งแรก ตลาดหุ้นพังทลาย ทำให้ค่าเงินบาทพังทลาย ทำให้ทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศลดลงติดพื้น ทำให้สภาพคล่องของระบบเสียหาย ทำให้ภาคการผลิตจริง และภาคการเงินล้มลง คนตกงาน เกิดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ และหนี้เสียท่วมระบบ ต้องลอยค่าเงินบาท และเข้ารับความช่วยเหลือทางการเงินจาก IMF อีกเป็นครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2540 (1997)

ปี 2538 - 2539 ทุนสำรองฯ ที่เคยอยู่ระดับเกือบ 40,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เดือนกรกฎาคม 2540 ทุนสำรองฯ ตกลงเหลือแค่ 1,144 ล้านเหรียญสหรัฐเท่านั้นเอง รวมระยะเวลาวิกฤตเศรษฐกิจครั้งที่ 2 เริ่มจากหุ้นตกในปี 2537 - ถึงปี 2541 เป็นเวลา 5 ปี

ภาพแสดงให้เห็นว่าการเกิดวิกฤตครั้งแรก มีการลดค่าเงินบาทลงไป 27 เปอร์เซ็นต์ การเกิดวิกฤตครั้งที่ 2 มีการลอยค่าเงินบาท ค่าเงินบาทตกลงไป 55 เปอร์เซ็นต์


ความเสียหายที่เกิดจากวิกฤตเศรษฐกิจครั้งที่ 2 รุนแรงกว่าการเกิดวิกฤตครั้งแรกอย่างมากมาก

กองทุนการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (2528) ที่ตั้งขึ้นหลังการเกิดวิกฤตเศรษฐกิจครั้งแรกมีความเชื่อ (วิสัยทัศน์) ว่า ถ้าอัดฉีดสภาพคล่องให้แก่สถาบันการเงินที่ขาดสภาพคล่อง จะทำให้สถาบันการเงินนั้นยืนมั่นคงอยู่ได้ ได้พยายามอัดฉีดสภาพคล่องให้กับสถาบันการเงินทั้งหลายอย่างเต็มที่ แต่แล้วก็ไปไม่รอด ถมเท่าใดไม่รู้จักเต็ม สภาบันการเงินได้พังครืนลงทั้งระบบ เกิดโครงการ 14 สิงหาคม 2541 ที่คล้ายๆ โครงการ 4 เมษายน 2527

มูลค่าความเสียหายในโครงการ 14 สิงหาคม 2541 สูงกว่าโครงการ 4 เมษายน 2527 แบบเทียบกันไม่ได้ เนื่องจากก่อนหน้านั้นมีการอัดฉีดสภาพคล่องให้สถาบันการเงินทั้งระบบ แล้วก็ไม่สามารถยืนอยู่ได้ หรือล้มลง ทางการต้องประกาศยุติการดำเนินงาน 56 สถาบันการเงิน และเข้าควบกิจการ (ยึด)

มูลค่าสินทรัพย์ของสถาบันการเงินที่ถูกยึด ไม่คุ้มกับสภาพคล่องที่ได้ไปจากกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ หมายความว่าแม้จะขายสินทรัพย์ของสถาบันการเงินทั้งหลาย ก็ไม่พอใช้หนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ อีกทั้งราคาสินทรัพย์ก็ตกลงอย่างมาก ที่ขายได้ก็มีส่วนลดลงถึง 80 เปอร์เซ็นต์ ทำให้เกิดหนี้ที่กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ 1.4 ล้านล้านบาท เคยประมาณการไว้ว่าจะต้องใช้เวลาถึง 57 ปี ถึงจะใช้หนี้ดังกล่าวได้หมด

ความเสียหายของสถาบันการเงินดังกล่าว ไม่รวมความเสียหายในส่วนของธนาคารเอกชนขนาดใหญ่ คือธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หากรวมหนี้ที่เกิดจากการขาดสภาพคล่องของธนาคารขนาดใหญ่ดังกล่าว จะทำให้หนี้ของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ สูงกว่า 4 ล้านล้านบาท ลองคิดดูประเทศไทย (กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ) จะมีสามารถรองรับหนี้จำนวนมากนี้ได้อย่างไร จึงได้มีการนำหุ้นไปจำนองไว้กับต่างประเทศ ได้เงินมาเพิ่มสภาพคล่องให้กับธนาคาร ทุกวันนี้ก็ไม่สามารถไถ่ถอนจำนองออกมาได้ ทำให้ธนาคารเอกชนขนาดใหญ่ดังกล่าวตกเป็นของต่างชาติ

ข้อมูลนี้ แสดงให้เห็นว่า ธนาคารเอกชนขนาดใหญ่ของไทยได้ตกเป็นของต่างชาติ

ธนาคารกรุงไทย ได้ใช้สภาพคล่องจากกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ทำให้หุ้นของธนาคารกรุงไทยตกเป็นของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ 55.15 เปอร์เซ็นต์ ถ้าสมมติว่ากองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ เป็นต่างชาติ ก็เท่ากับว่าธนาคารกรุงไทยตกเป็นของต่างชาติ 55.15 เปอร์เซ็นต์

ความเสียหายที่เกิดจากวิกฤตเศรษฐกิจครั้งที่ 2 รุนแรงอย่างเหลือเชื่อ

ธนาคารแห่งประเทศไทย และกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ เป็นเจ้าหนี้ของ 56 ไฟแนนซ์ที่ไปยึดมา ได้มีการจัดตั้ง องค์การเพื่อการปฏิรูปสถาบันการเงิน (ปรส.) และบรรษัทบริหารสินทรัพย์สถาบันการเงิน (บบส.) ขึ้นมาจัดการกับหนี้ 56 ไฟแนนซ์และสถาบันการเงินที่ไปยึดมา เป็นเรื่องที่โกลาหลที่สุด

เรื่องตรงนี้น่าสนใจ

กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาสถาบันการเงิน ตั้งขึ้นมา มีความเชื่อว่า (วิสัยทัศน์) ถ้าอัดฉีดสภาพคล่องให้แก่สถาบันการเงินที่ขาดสภาพคล่อง จะทำให้สถาบันการเงินนั้นยืนมั่นคงอยู่ได้ จะทำให้ไม่ล้มลงเหมือนในอดีต

แต่แล้วการเงินของประเทศก็ล้มลงทั้งระบบ ไฟแนนซ์และสถาบันการเงินทั้งหลายไม่สามารถจะชำระหนี้สภาพคล่องที่ไปรับมาจากกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ได้ กลายเป็นว่าเป็นความผิดของไฟแนนซ์และสถาบันการเงิน เป็นเหตุการณ์ซ้ำรอย ที่เคยเกิดขึ้นกับ 25 ไฟแนนซ์และเครดิตฟองซิเอร์ ในโครงการ 4 เมษายน 2527

หากเพียง 5-6 ไฟแนนซ์และสถาบันการเงิน เกิดปัญหา จึงน่าจะระบุได้ว่า ไฟแนนซ์และสถาบันการเงินนี้มีปัญหา แต่นี่ไฟแนนซ์และสถาบันการเงินล้มลงทั้งระบบ อุปมาอุปไมยเหมือนกับนักเรียน 56 คน ลงทะเบียนเรียนวิชาใดวิชาหนึ่งด้วยกัน ทำข้อสอบแล้ว ได้คะแนน 0 เปอร์เซ็นต์ทุกคน ปัญหาจึงไม่ใช่มาจากไฟแนนซ์และสถาบันการเงิน ปัญหาเกิดจากความเบี่ยงเบนของระบบ

ที่จริงความเสียหายไม่ได้เกิดกับเพียง 56 ไฟแนนซ์และสถาบันการเงินเหล่านี้เท่านั้น แต่มันล้มทั้งระบบ ไม่ว่าธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ รวมทั้งธนาคารกรุงไทย

ผู้เขียนไม่เห็นด้วยว่าปัญหาที่เกิดขึ้น มาจากไฟแนนซ์และสถาบันการเงินที่ล้มลง

สภาพคล่องของระบบเสียหายหนัก คือต้นเหตุของการเกิดปัญหา

นั่นคือ “อะไรคือต้นเหตุ ที่ทำให้สภาพคล่องเสียหาย” ที่ทำให้ไฟแนนซ์และสถาบันการเงินล้มทั้งระบบ

กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน องค์การเพื่อการปฏิรูปสถาบันการเงิน (ปรส.) และบรรษัทบริหารสินทรัพย์สถาบันการเงิน (บบส.) เป็นเพียงหน่วยงานที่ตั้งขึ้นมาเพื่อแก้ไขปลายเหตุของปัญหา

กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ถูกยุติบทบาทไประยะหนึ่ง แต่แปลกได้มีการตั้ง สถาบันคุ้มครองเงินฝาก ที่มีวิสัยทัศน์คล้ายๆ กับกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ขึ้นมาแทน ต่อมาในรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร โดยนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ผู้ที่ไม่ใส่ใจต่อการชำระหนี้ สนใจแต่จะกู้อย่างเดียว ให้ยุติบทบาทของสถาบันคุ้มครองเงินฝาก และปลุกกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ให้มารับหนี้ของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ออกจากกระทรวงการคลัง ไปบริหารจัดการเองทั้งหมด และไม่ทราบว่าเงินทุนที่สถาบันคุ้มครองเงินฝาก ที่ถูกยุติบทบาทไปแล้ว ที่เคยเรียกเก็บค่าธรรมเนียมเงินฝากจากสถาบันการเงินไว้นับแสนล้านบาท เอาเงินนั้นไปไว้ที่ไหน และเอาไปทำอะไร

กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ และสถาบันคุ้มครองเงินฝาก มีวิสัยทัศน์ที่คล้ายกัน เนื่องจากเข้าไปบริหารจัดการเรื่องที่เกี่ยวข้องกัน กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ มุ่งที่จะพัฒนาสถาบันการเงินให้มีความมั่นคง โดยที่ต่อไปนี้ ไม่มีหน่วยงานใดที่จะมาดูแลความมั่นคงของสถาบันการเงินต่อไปอีกแล้ว สถาบันคุ้มครองเงินฝาก มุ่งจะให้ความคุ้มครองเงินฝากของประชาชน ซึ่งเงินฝากนั้นก็อยู่ในสถาบันการเงินนั่นเอง เมื่อสถาบันการเงินไม่มีความมั่นคง ล้มลง ทำให้ไม่สามารถคืนเงินฝากประชาชนได้ ซึ่งจะเป็นหน้าที่ของสถาบันคุ้มครองเงินฝากจะต้องเข้ามาดูแล

ผู้เขียนนำเสนอในช่วงก่อนหน้านี้ ว่ากองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ คิดแก้ที่ปลายเหตุของปัญหา สถาบันคุ้มครองเงินฝากยิ่งคิดแก้ที่ปลายเหตุของปัญหามากกว่ากองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ เสียอีก

สถาบันคุ้มครองเงินฝาก มีการกำหนดวงเงินคุ้มครอง เช่น ไม่เกินล้านบาท หรือไม่เกิน 5 ล้านบาท เป็นต้น ก็เป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม เพราะเงินทุกเม็ดเป็นสมบัติของชาติ นั่นคือจะต้องคุ้มครองเงินทุกเม็ด ก็สักแต่ว่าจะคิดทำ แต่ไม่เหมาะสม ถ้าทำไม่ได้ ก็ไม่สมควรทำ ยุบเลิกสถาบันคุ้มครองเงินฝากไปเลยจะดีกว่า

ผลงานที่จะได้จากกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ และสถาบันคุ้มครองเงินฝาก ไม่ต่างกัน เนื่องจากไม่คิดแก้ที่ต้นเหตุของปัญหา ว่าอะไรที่ทำให้สภาพคล่องของระบบมีปัญหา กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ เคยล้มเหลวมาแล้ว ไม่สามารถหยุดยั้งไม่ให้วิกฤตเศรษฐกิจเกิดขึ้น ทางการต้องไปหยุดยั้งต้นเหตุที่ทำสภาพคล่องของระบบเสียหาย

หากสถาบันการเงินมั่นคง เงินฝากของระบบก็จะมั่นคง ไม่จำเป็นต้องมีกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ และสถาบันคุ้มครองเงินฝากแต่อย่างใดก็ได้

ดูตัวอย่างวิกฤตเศรษฐกิจของอเมริกาและยุโรป เพื่อจะได้เห็นภาพต้นเหตุ การเกิดวิกฤตได้ชัดเจนขึ้น


ตลาด NASDAQ พังทลายรุนแรง ทำให้ค่าเงินเหรียญสหรัฐพังทลายตามลงมา

ความเสียทางเศรษฐกิจครั้งรุนแรงของโลกเกิดที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลก ค่าเงินเหรียญสหรัฐก็เป็นสกุลเงินที่ใหญ่ที่สุดของโลก ปี 1999 มีการเพิ่มหุ้นที่มีมูลค่าตลาดสูงหลายตัวเข้าไปในการคำนวณ NASDAQ index ทำให้ NASDAQ index เบี่ยงเบนสูง ทำให้อ่อนแอสูง และถูกโจมตีได้ง่าย

ตลาด NASDAQ ถูกลากขึ้นจากระดับดัชนีประมาณ 2,500 จุด ขึ้นไปสูงสุดที่ต้นปี 2000 สูงกว่า 5,000 จุด แล้วถล่มทุบลงมาเหลือประมาณ 1,000 กว่าจุด หรือตกลงมาถึง 78 เปอร์เซ็นต์

ส่งผลให้ค่าเงินเหรียญสหรัฐพังทลายตามลงมา ทำให้นักเก็งกำไรและนักลงทุนไม่ถือเงินเหรียญสหรัฐ ทิ้งเงินเหรียญสหรัฐ ทำให้เงินเหรียญสหรัฐไหลออกจากประเทศสหรัฐอเมริกา ไปซื้อสินทรัพย์ในรูปสกุลเงินอื่นนอกประเทศสหรัฐอเมริกา

ทำให้ตลาดเงิน ตลาดทุน ตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ทั่วโลกสูงขึ้นอย่างมาก ตลาดเงิน ตลาดทุน ตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ทั่วโลกเริ่มสูงขึ้นตั้งแต่ปี 2001 หลังการพังทลายลงของตลาด NASDAQ และค่าเงินเหรียญสหรัฐ ตลาดเงิน ตลาดทุน ตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ ขึ้นไปสูงสุดในปลายปี 2007 ถึงต้นปี 2008 แล้วก็พังทลายลงมารุนแรง ทำความเสียหายไปทั่วโลกอย่างมีนัยสำคัญ ที่รู้จักกันในชื่อ Hamburger crisis

ภาพแสดงให้เห็นถึงการสูงขึ้นของตลาดหุ้นทั่วโลก หลังการพังทลายลงของค่าเงินเหรียญสหรัฐ ตลาดหุ้นโลกขึ้นไปสูงสุดปลายปี 2007 และพังทลายลงคลอดทั้งปี 2008 ไปต่ำสุดในต้นปี 2009 แล้วจึงมีการฟื้นตัวขึ้นมา

ไม่มีตลาดหุ้นใดไม่ถูกปั่น หรือถูกสวมรอยปั่น ยิ่งตลาดที่มีการพัฒนามาก เช่นมีการซื้อขายตัวเลขอนุพันธ์ ยิ่งเป็นที่นิยมของการปั่น เพราะปั่นขึ้นก็มีกำไร ปั่นลงก็มีกำไร ยิ่งปั่นขึ้นเท่าใดยิ่งมีกำไรมากเท่านั้น ยิ่งปั่นลงมากเท่าใดก็ยิ่งมีกำไรมากเท่านั้น จะเห็นว่าตลาดหุ้น NASDAQ ของประเทศสหรัฐอเมริกา และตลาดหุ้นยุโรปตกแรงมาก

ดัชนีภูมิภาค EUROPE39 Index ตกแรงที่สุดในโลก

สเปน อิตาลี ไอซ์แลน ไอร์แลนด์ โปรตุเกส ยูเครน ตุรกี กรีซ ฯลฯ รวมทั้ง ไซปรัส ต้องเข้ารับความช่วยเหลือทางการเงิน จากธนาคารกลางยุโรป (ECB) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ทั้งสิ้น

ประเทศไทยก็โชคดี ได้รับผลพวงจากการพังทลายของค่าเงินเหรียญสหรัฐ ทำให้เงินทุนไหลเข้าประเทศตั้งแต่ปี 2001 (จากที่ก่อนหน้านั้นไหลออกอย่างรุนแรง) ทำให้ค่าเงินบาทสูงขึ้น ตลาดหุ้นสูงขึ้น จากนั้นตลาดหุ้นไทยก็พังทลายลงในปี 2008 เป็น Hamburger Crisis เช่นเดียวกันกับตลาดหุ้นทั่วโลก

ถามว่า วิกฤตเศรษฐกิจ กรีซ ไซปรัส ไทย แตกต่างกันอย่างไร ประเทศไทยมีโอกาสจะเกิดวิกฤตแบบกรีซ และไซปรัส หรือไม่ ตอบว่า ไม่แตกต่างกัน ต้นเหตุการเกิดวิกฤตมาจากการพังทลายของตลาดหุ้นแบบเดียวกัน ประเทศไทยเคยเกิดวิกฤตเศรษฐกิจมาก่อนหน้านี้แล้วถึง 2 ครั้ง

ตลาดหุ้นกรีซผันผวนขึ้นลงแรงหลายรอบ ความย่อยยับยิ่งรุนแรงมากกว่าทั่วไป สภาพคล่องจะเสียหายหนัก ระบบเศรษฐกิจล้มลงรุนแรง คนตกงานมาก หนี้เสียท่วมประเทศ

สินทรัพย์ของประเทศใด จะต้องเป็นของคนประเทศนั้น หากตกเป็นของต่างชาติไปหมด จะเรียกชื่อว่าเป็นประเทศนั้นได้อย่างไร และจะไม่มีศักดิ์ศรีความเป็นประเทศด้วย มีข่าวว่ากรีซต้องขายทรัพย์สินของประเทศเป็นจำนวนมาก เพื่อนำมาใช้หนี้กองโต ขายกิจการของสำนักงานสลากกินแบ่งแห่งชาติ ขายกิจการของศูนย์สรรพสินค้าในความดูแลของรัฐ ขายเส้นทางรถไฟทั่วประเทศที่เป็นรัฐวิสาหกิจ

ประเทศไซปรัส เป็นประเทศเล็ก มีประชากร 1.1 ล้านล้านคน ได้รับเอกราชจากอังกฤษ 16 สิงหาคม 1960 เข้ารวมสหภาพยุโรป 1 พฤษภาคม 2004 สกุลเงินคือยูโร ภาษาราชการ ภาษากรีซ ภาษาตุรกี ตลาดหุ้นเปิดเมื่อกลางปี 2010 เป็นตลาดเปิดใหม่ เปิดหลังวิกฤตการณ์ Hamburger crisis หลังจากเปิดตลาดหุ้น ตลาดก็ตกอย่างเดียว มีฟื้นตัวบ้าง แล้วก็ตกต่อ ตลาดหุ้นพังทลายลงถึง 94 เปอร์เซ็นต์ เปิดตลาดหุ้นมาประมาณ 2 ปี ทำให้ระบบเศรษฐกิจของประเทศย่อยยับลงทั้งหมด

ความเสียหายของประเทศ ที่เกิดจากวิกฤตเศรษฐกิจ ตลาดหุ้นพังทลาย เป็นไปตามกลไกที่นำเสนอไว้ข้างต้น สภาพคล่องเสียหาย ระบบเศรษฐกิจล่ม คนตกงานมาก ต้องปิดธนาคารที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของประเทศ ต้องย้ายบัญชีเงินฝากจากธนาคารไปไว้ที่ธนาคารใหญ่อันดับหนึ่งของประเทศ ย้ายบัญชีเงินฝากไป แต่จำนวนเงินจะมีพอที่จะจ่ายหรือไม่ ไม่มีใครทราบ แต่อย่างไรก็ต้องหาเงินมาคืนผู้ฝากเงินที่บริสุทธิ์ให้ครบ

เกิดวิกฤตที่ประเทศไหน ความเสียหายก็คล้ายกันทุกประการ ความเสียหายของตลาดเงินไทยรุนแรงมาก การจะปิดธนาคารธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกสิกรไทย และธนาคารไทยพาณิชย์เป็นเรื่องที่ลำบากมาก จะมีเงินที่ไหนไปจ่ายคืนให้แก่ผู้ฝากเงิน ก็ยังพอมีทางออกทางเดียว คือเอาหุ้นของธนาคารขนาดใหญ่ไปจำนองกับต่างชาติ ก็คงได้ราคาจำนองไม่สูง ก็พอได้เงินมาจ่ายคืนให้ผู้ฝากเงินได้

เห็นวิธีการจัดการเงินของผู้ฝากเงินของไซปรัสแล้ว ดูเหมือนมีวิสัยทัศน์และคุณธรรมเข้าท่ามากกว่าประเทศไทย ที่เขารับผิดชอบเงินฝากของประชาชนทุกเม็ด แต่สถาบันคุ้มครองเงินฝากของประเทศไทย มีการจำกัดวงเงินฝากในการคุ้มครอง การเกิดวิกฤตหลังตลาดหุ้นพังทลายในปี 2537 จนต้องเข้าโครงการไอเอ็มเอฟในปี 2540 นั้น ทำให้ประเทศไทยหมดตัวไปแล้วเป็นรอบที่ 2 หากเกิดวิกฤตเศรษฐกิจอีก เป็นครั้งที่ 3 และเห็นวิธีเตรียมตัวรับปัญหาที่จะเกิดขึ้น ยกตัวอย่างวิธีคิดของสถาบันคุ้มครองเงินฝาก เชื่อสิ่งที่ประเทศไทยจะเหลืออยู่ จะทำเป็นอื่นไม่ได้ นอกจากใช้ทำเป็นปุ๋ยแต่อย่างเดียว

ดูจากวิกฤตที่เกิดขึ้นกับประเทศต่างๆ ไม่ว่าประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจขนาดใหญ่ เช่น ประเทศสหรัฐฯ อิตาลี สเปน กรีซ หรือประเทศเศรษฐกิจขนาดเล็กเช่นไซปรัส ล้วนมีต้นเหตุมาจากการพังทลายของตลาดหุ้น ต้นเหตุเกิดจากตลาดหุ้น แล้วก็ทำให้ตลาดเงินเสียหายตามมา

ทุกประเทศล้วนแก้แต่ปลายเหตุของปัญหา ไม่ไปแก้ที่ต้นเหตุของปัญหา การแก้ปัญหาต้องแก้ที่ต้นเหตุที่ทำให้เกิดปัญหา เมื่อไม่แก้ที่ต้นเหตุที่ทำให้เกิดปัญหา แล้วปัญหาจะยุติจริงได้อย่างไร ปัญหาก็จะวนเวียนเกิดซ้ำแล้วซ้ำอีก ชาวบ้านและชาวโลกก็จะเดือดร้อนไปทั่ว

วิธีแก้ปัญหา ดูแล้วไม่มีวิธีการอื่นใดเลย มีเพียงวิธีเดียว คืออย่าให้สภาพคล่องของระบบเสียหาย หากทำได้เศรษฐกิจของระบบจะเกิดความมั่นคงแน่นอน

http://twitter.com/indexthai2

indexthai2@gmail.com
กำลังโหลดความคิดเห็น