xs
xsm
sm
md
lg

12 ปีที่ผ่านมา อะไรทำให้เงินบาทแข็งค่ามากเป็นอันดับ 2 ของโลก

เผยแพร่:   โดย: สุทธิพงษ์ ปรัชญพฤทธิ์

ปกติค่าเงินของประเทศต่างๆ จะเปลี่ยนแปลงไม่มาก นอกจากจะเกิดภาวะสงครามและเกิดความผิดปกติในระบบเศรษฐกิจเท่านั้นจึงจะทำให้ค่าเงินเปลี่ยนแปลงมากๆ ได้ การที่ตลาดหุ้นพังทลายก็เป็นต้นเหตุโดยตรงที่ทำให้ค่าเงินเสียหาย นอกจากนี้เครื่องมือที่ไม่เหมาะสมมาใช้ในตลาดหุ้น ก็ทำให้ค่าเงินเกิดการเปลี่ยนแปลงได้ ความเสียหายของสกุลเงินขนาดใหญ่เช่นค่าเงินเหรียญสหรัฐก็ส่งผลให้ค่าเงินประเทศเปลี่ยนแปลงได้

ยกตัวอย่างเช่นประเทศสหรัฐอเมริกา ตลาด NASDAQ ได้พังทลายลงในปี 2000 ตลาด NASDAQ ตกลงไปต่ำสุดในปลายปี 2002 ตกลงไป 78 เปอร์เซ็นต์ ส่งผลให้ค่าเงินเหรียญสหรัฐพังทลายตามลงมาด้วย

ภาพแสดงให้เห็นถึงการพังทลายของตลาดหุ้น NASDAQ ของประเทศสหรัฐอเมริกา ระหว่างปี 1999-2002 ดัชนีตกรุนแรง 78 เปอร์เซ็นต์ (AB) ส่งผลให้เงินเหรียญสหรัฐเสียหาย (ดูภาพถัดไป)

เงินยูโรเป็นสกุลที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 รองจากสกุลเงินเหรียญสหรัฐ ภาพแสดงให้เห็นว่า หลังการพังทลายของตลาด NASDAQ ค่าเงินเหรียญสหรัฐได้ตกลงเป็นเวลา 7 ปี ตกลงถึง 47 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับเงินยูโร (AB)

หลังการพังทลายของตลาดหุ้นทั่วโลกในปี 2008 (Hamburger crisis) ค่าเงินเหรียญสหรัฐฟื้นตัวขึ้น และเริ่มค่อยๆ ฟื้นตัวขึ้นมาเรื่อยๆ จะเห็นว่าจุดต่ำสุดของค่าเงินเหรียญสหรัฐอยู่ในปี 2008 (A) แล้วจุดต่ำสุดใหม่สูงขึ้นตลอดเวลา (B-C-D)

การพังทลายของตลาดหุ้นไทย ทำให้ค่าเงินบาทเสียหาย สภาพคล่องของระบบเสียหาย กระทั่งต้องเข้ารับความช่วยเหลือทางการเงินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศมาแล้วถึง 2 ครั้ง

การเสียหายของค่าเงินบาทครั้งแรก ภาพซ้าย แสดงให้เห็นถึงการพังทลายของตลาดหุ้นไทยปี 2521 (1978) SET index ตกไปต่ำสุดในปี 2524 -2525 (1981-1982) ส่งผลให้ค่าเงินบาทเสียหาย (ภาพขวา) แต่เพราะได้มีการผูกค่าเงินไว้ จึงทำให้เห็นว่าค่าเงินบาทไม่เสียหาย จนกระทั่งสภาพคล่องเสียหาย จึงได้มีการลดค่าเงินบาทลงมา ได้มีการลดค่าเงินบาทหลายครั้ง ค่าเงินบาทลดลงถึง 27 เปอร์เซ็นต์ ประเทศไทยต้องเข้ารับความช่วยเหลือทางการเงินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เป็นครั้งแรก

การเสียหายของค่าเงินบาทครั้งที่ 2 ภาพซ้าย แสดงให้เห็นถึงการพังทลายของตลาดหุ้นไทยปี 2537 (1994) หลังการนำระบบ Maintenance margin & force sell มาใช้ในตลาดหุ้นในปี 2536 (1993) SET index ตกไปต่ำสุดในปี 2541 (1998) ส่งผลให้ค่าเงินบาทเสียหาย (ภาพขวา) แต่เพราะได้มีการผูกค่าเงินไว้ จึงทำให้เห็นว่าค่าเงินบาทไม่เสียหาย จนกระทั่งสภาพคล่องเสียหาย จึงได้มีการลอยค่าเงินบาท ค่าเงินบาทลดลงถึง 55 เปอร์เซ็นต์ ประเทศไทยต้องเข้ารับความช่วยเหลือทางการเงินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เป็นครั้งที่ 2

ยืนยันต้นเหตุมาจากเรื่องเดียวกัน การพังทลายของตลาดหุ้น ทำให้ค่าเงินเสียหาย เห็นได้จากการพังทลายของตลาด NASDAQ ของประเทศสหรัฐอเมริกาในปี 2000 และการพังทลายของตลาดหุ้นไทย 2 ครั้งก่อนหน้าที่เกิดขึ้นกับประเทศสหรัฐอเมริกา คือในปี 1978 และปี 1994

กลับมาเรื่องการพังทลายของตลาด NASDAQ และค่าเงินเหรียญสหรัฐ

สกุลเงินเหรียญสหรัฐเป็นสกุลเงินที่ใหญ่ที่สุดในโลก ค่าเงินเหรียญสหรัฐเสียหาย ไม่ได้รับความเชื่อมั่น ทำให้นักลงทุนและบรรดากองทุนประกันความเสี่ยงต่างๆ ไม่ถือเงินเหรียญสหรัฐ เปลี่ยนเงินไปเป็นเงินสกุลอื่น

การเปลี่ยนแปลงค่าสกุลเงินของแต่ละประเทศ ระหว่างปี 2002 - 2012 หรือช่วงเวลา 10 ปีที่ผ่านมา เกิดจากปัจจัย 2 อย่าง

การพังทลายของค่าเงินเหรียญสหรัฐในปี 2000

จากปัจจัยภายในของแต่ละประเทศ

รายงานข้อมูลต่อไปนี้เปรียบเทียบในระยะเวลาเดียวกันของค่าเงินประเทศต่างๆ แบ่งเป็น 3 ช่วง แสดงให้เห็นค่าเงินเปลี่ยนแปลงเมื่อเทียบกับเงินเหรียญสหรัฐ

A คือช่วงที่ค่าเงินเหรียญสหรัฐเสียหายในปี 2000 ไม่ได้รับความเชื่อมั่น จึงเปลี่ยนมาถือสกุลเงินต่างๆ ทำให้สกุลต่างๆ แข็งค่าขึ้น

B คือช่วงที่เกิดวิกฤต Hamburger Crisis ทำให้สกุลเงินประเทศต่างๆ เสียหายด้วย มีค่าลดลง

C คือช่วงที่ค่าเงินประเทศต่างๆ ฟื้นตัวทางเทคนิค หลังจากตกต่ำลงจากเหตุการณ์ Hamburger Crisis

ผลกระทบจากการพังทลายของตลาด NASDAQ และเงินเหรียญสหรัฐเมื่อปี 2000 ต่อสกุลเงินหลักของโลก


ค่าเงิน EURO ยูโรโซน ขึ้นแรงที่สุดในโลก (A) บวกขึ้นมา 87.11 เปอร์เซ็นต์ ช่วง Hamburger Crisis ในปี 2008 (B) ตกลงไป 22.21 เปอร์เซ็นต์ ภายหลังมีการฟื้นตัวทางเทคนิค (C) บวกขึ้นมา 21.67 เปอร์เซ็นต์

สหภาพยุโรป (Euro Zone) ก่อตั้งเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 1957 ประกอบด้วย 12 ประเทศแรก ได้แก่ เบลเยียม เดนมาร์ก เยอรมนี ฝรั่งเศส กรีซ ไอร์แลนด์ อิตาลี ลักเซมเบิร์ก เนเธอร์แลนด์ โปรตุเกส สเปน สหราชอาณาจักร ปัจจุบันมีสมาชิกรวม 27 ประเทศ ยังมีประเทศที่รอสมัครเข้าเป็นสมาชิกอีกหลายประเทศ เช่น โครเอเชีย คอซอวอ ตุรกี มาซิโดเนีย แอลบาเนีย บอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา มอนเตเนโกร และเซอร์เบีย

วันที่ 1 กรกฎาคม 1999 เป็นวันที่ตกลงร่วมกันใช้เงินสกุลยูโร (EURO) ทุกวันนี้เงินสกุลยูโรจึงเป็นเงินสกุลใหม่ที่สุดของโลก เป็นสกุลเงินที่ใหญ่เป็นอันดับที่ 2 รองจากเงินเหรียญสหรัฐ

ประจวบเหมาะกับค่าเงินเหรียญสหรัฐเสียหายในปี 2000 ผู้คนไม่ถือเงินเหรียญสหรัฐ และเอาเงินเหรียญสหรัฐมาซื้อเงินยูโรและหุ้นของประเทศต่างๆ ในยูโรโซน ส่งผลให้เงินยูโรแข็งค่าขึ้นมากที่สุดในโลก แข็งค่าขึ้นมา 87.11 เปอร์เซ็นต์ ดัชนีรวมตลาดหุ้นยุโรปสูงขึ้น 356 เปอร์เซ็นต์

ความใหญ่และความใหม่ของสกุลเงินยูโร ได้รองรับความเสียหายของค่าเงินเหรียญสหรัฐได้อย่างเท่าเทียม ดูแล้วเป็นการต้อนรับค่าเงินน้องใหม่ที่โหดร้ายทารุณอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน

จากนั้นทั้งตลาดหุ้นและค่าเงินยูโรก็พังทลายลงในปี 2008 (Hamburger Crisis) ดัชนีรวมตลาดหุ้นยุโรปตกแรงที่สุดในโลก ตกลงไป 71 เปอร์เซ็นต์ ค่าเงินยูโรตกลง 22.21 เปอร์เซ็นต์ เงินยูโรไม่ได้รับความเชื่อมั่น เงินไหลออกจากระบบ ส่งผลให้สภาพคล่องของยูโรโซนเสียหาย ระบบเศรษฐกิจล่มลง เกิดหนี้เสียท่วมยูโรโซน และคนตกงานมาก หลังปี 2008 เงินยูโรอยู่ในช่วงขาลง

ค่าเงิน WON เกาหลีใต้ ก็ได้รับผลบวกจากการพังทลายของค่าเงินเหรียญสหรัฐในปี 2000 เช่นกัน แต่ขึ้นและลงแรง ประเทศเกาหลีใต้เคยขาดสภาพคล่องและต้องเข้ารับความช่วยเหลือทางการเงินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ระหว่างปี 1997 - 1998 (2540-2541) ในเวลาใกล้เคียงกับประเทศไทยและประเทศอินโดนีเซีย

ค่าเงิน YUAN จีน ได้รับผลบวกจากการพังทลายของค่าเงินเหรียญสหรัฐในปี 2000 เช่นกัน แต่มีการผูกค่าเงินไว้ จึงเห็นว่าค่าเงิน Yuan ไม่เปลี่ยนแปลง เมื่อเงินเหรียญสหรัฐเสียหายในปี 2000 ทำให้ Yuan อ่อนกว่าค่าความเป็นจริง ทำให้มีการเข้ามาไล่ซื้อเงิน Yuan จนทนผูกค่าเงินต่อไปไม่ไหว กระทั่งต้องลอยค่าเงิน Yuan ในกลางปี 2005 (17 กรกฎาคม 2005)

ในปี 2008 ช่วง Hamburger Crisis ทางการจีนพยายามที่จะผูกค่าเงินไว้อีก ทำให้ค่าเงินหยวนไม่ตกลงเหมือนสกุลเงินอื่น แต่เมื่อประเทศสหรัฐอเมริกาพิมพ์เงินออกมาใช้ (QE) ในปี 2008 และปี 2010 ทำให้เงินทุนเข้ามาไล่ซื้อเงินหยวนอีก กระทั่งทางการจีนไม่สามารถผูกค่าเงินไว้ต่อไปได้ ต้องยอมลอยค่าเงินบาทต่ออีกครั้งในต้นปี 2010

ทุกวันนี้ประเทศจีนมีทุนสำรองเงินตราต่างประเทศสูงเป็นอันดับ 1 ของโลก

ผลกระทบจากการพังทลายของตลาด NASDAQ และเงินเหรียญสหรัฐเมื่อปี 2000 ต่อสกุลเงินอาเซียน


ค่าเงิน RINGGIT มาเลเซีย ได้รับอิทธิพลจากความเสียหายของค่าเงินเหรียญสหรัฐที่พังทลายลงในปี 2000 มีรูปแบบการเปลี่ยนแปลงคล้ายกับเงิน Yuan เนื่องจากมีการผูกค่าเงินไว้เช่นเดียวกับ Yuan ทำให้ Ringgit อ่อนกว่าความเป็นจริง และสุดท้ายก็ผูกค่าเงินไว้ต่อไปไม่ได้ ทำให้มีการเข้ามาไล่ซื้อเงิน Ringgit จนกระทั่งต้องลอยค่าเงิน Ringgit ในกลางปี 2005 เช่นเดียวกันกับ Yuan (22 กรกฎาคม 2005) ทุกวันนี้มาเลเซียไม่ได้ผูกค่าเงิน Ringgit ไว้อีกต่อไปแล้ว

ค่าเงิน RUPIAH อินโดนีเซีย ช่วงแรก (A) ขึ้นไม่แรง +19.30 เปอร์เซ็นต์ แต่ตกแรงช่วง Hamburger Crisis (B) -30.61 เปอร์เซ็นต์ แต่ช่วงฟื้นตัวทางเทคนิคหลัง Hamburger Crisis (C) ค่อนข้างแรง +48.58 เปอร์เซ็นต์ เป็นประเทศที่สภาพคล่องเคยเสียหาย และเคยเข้ารับความช่วยเหลือทางการเงินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ในช่วงใกล้เคียงกันกับไทยและเกาหลีใต้ระหว่างปี 1997-1998

ค่าเงิน DONG เวียดนาม เวียดนามเปิดตลาดหุ้นโฮจิมินห์ในปี 2000 ได้รับผลกระทบจากความเสียหายของค่าเงินเหรียญสหรัฐเช่นกัน เงินทุนไหลเข้ามาซื้อเงินดอง และหุ้น ตลาดหุ้นได้ขึ้นไปสูงสุดในปี 2007 แล้วปรับตัวลงระดับหนึ่ง ถึงช่วง Hamburger Crisis ในปี 2008 ได้ตกลงต่อเนื่อง และตกลงแรงถึง 81 เปอร์เซ็นต์ ส่งผลให้เงินดองเสียหายตามมา เงินดองไม่ได้รับความเชื่อมั่น ทำให้สภาพคล่องของระบบเสียหาย ดอกเบี้ยนโยบายสูงถึง 9 เปอร์เซ็นต์ แม้อัตราดอกเบี้ยจะอยู่ระดับสูง ก็ไม่ทำให้เงินทุนไหลเข้าเวียดนามแต่อย่างใด เห็นได้จากค่าเงินดองลดลง ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศก็ลดลงเช่นกัน

จะเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงของค่าสกุลเงินดอง แตกต่างจากค่าเงินสกุลอื่นๆ ในช่วงเวลาเดียวกัน

การพังทลายของตลาดหุ้นประเทศใด ส่งผลให้ค่าเงินของประเทศนั้นพังทลายลงมาด้วย เหมือนกับการนำเสนอไว้ในช่วงต้น การพังทลายตลาดหุ้น NASDAQ สหรัฐอเมริกา ทำให้ค่าเงินเหรียญสหรัฐพังทลายตามมา การพังทลายตลาดหุ้นไทย 2 ครั้ง ทำให้ค่าเงินบาทเสียหายทั้ง 2 ครั้ง การพังทลายของตลาดหุ้นเวียดนาม ทำให้เงินดองเสียหายแบบเดียวกัน

ตลาดหุ้นเป็นต้นเหตุให้ตลาดเงินและตลาดเงินตราเสียหาย ไม่ใช่ตลาดเงินและตลาดเงินตราเป็นต้นเหตุให้ตลาดหุ้นเสียหาย

ค่าเงิน BAHT ไทย หลังการพังทลายของค่าเงินเหรียญสหรัฐในปี 2000 รวมทั้งการเปิดตลาดอนุพันธ์ในปี 2006 เป็นเหตุให้ค่าเงินบาทไทยขึ้นแรงเป็นลำดับที่ 2 ของโลก เป็นการขึ้นแรงอย่างผิดปกติ รองจากเงิน Euro (A) +51.18% ช่วง Hamburger Crisis (B) ปรับตัวลดลง 19.47 เปอร์เซ็นต์ และฟื้นตัวทางเทคนิค หลัง Hamburger Crisis (C) +22.88 เปอร์เซ็นต์

การที่ค่าเงินบาทขึ้นแรงอย่างผิดปกติ ได้รับผลกระทบจาก 2 ปัจจัย

ปัจจัยแรก คือการพังทลายของค่าเงินเหรียญสหรัฐในปี 2000 ทำให้เงินทุนไหลเข้าประเทศไทยตั้งแต่ปี 2001 และเห็นชัดเจนในปี 2002 ต้นปี 2002 ค่าเงินบาทอยู่ระดับ 44 บาทต่อเหรียญสหรัฐ กระทั่งประเทศไทยสามารถใช้คืนหนี้กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) หมดในกลางปี 2003

ปัจจัยที่ 2 เกิดจากการเปิดตลาดอนุพันธ์ในตลาดหุ้นในปี 2006 สังเกตว่าต้นปี 2006 ค่าเงินบาทอยู่ที่ระดับ 40 บาทต่อเหรียญสหรัฐ อีกประมาณปีครึ่ง ค่าเงินบาทสูงขึ้นมาเป็น 30 บาทต่อเหรียญสหรัฐ หรือเพิ่มขึ้นถึง 10 บาทต่อเหรียญสหรัฐ แม้วันที่ 19 กันยายน 2006 จะเกิดการรัฐประหารในประเทศไทย เงินทุนก็ยังไหลเข้าต่อเนื่อง กระทั่งวันที่ 19 ธันวาคม 2006 ทางการต้องออกมาตรการกันสำรอง 30 เปอร์เซ็นต์เงินทุนไหลเข้า แต่ออกมาตรการได้วันเดียวต้องยุติลง เนื่องจากตลาดหุ้นตกลงในวันเดียวถึง 100 จุด วันที่ออกมาตรการกันสำรอง 30 เปอร์เซ็นต์เงินทุนไหลเข้า ทุนสำรองเงินตราสุทธิของประเทศไทยอยู่ที่ระดับ 74 พันล้านเหรียญสหรัฐ ทุกวันนี้ทุนสำรองสูงกว่า 200 พันล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น และทุนสำรองที่สูงขึ้น เป็นตัวชี้บอกว่าสภาพคล่องได้ท่วมประเทศไทยรุนแรง และต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2006 แล้ว ทุกวันนี้สภาพคล่องก็ยังท่วมประเทศไทย




การพังทลายของค่าเงินเหรียญสหรัฐในปี 2000 ทำให้เงินไหลเข้าไปในยูโรโซนอย่างท่วมท้น ทำให้ค่าเงิน Euro แข็งขึ้นมาก ตลาดหุ้นประเทศต่างๆ สูงขึ้นมาก ช่วง 12 ปีที่ผ่านมา ค่าเงินยูโรแข็งขึ้นมากที่สุดในโลก ทำให้สภาพคล่องท่วมภูมิภาคยูโรโซนหลายปี การพังทลายของตลาดหุ้นอย่างรุนแรงของกลุ่มยูโรโซน ทำให้ระบบเศรษฐกิจล้มลง เกิดหนี้เสียท่วมภูมิภาคยูโรโซน หลายประเทศต้องเข้ารับความช่วยเหลือสภาพคล่องจากธนาคารกลางยุโรป (ECB) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) มาแล้ว กล่าวได้ว่าเป็นความย่อยยับทางเศรษฐกิจแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อนของยูโรโซนนั่นเอง

ประเทศไทยเคยเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ จนต้องเข้ารับความช่วยเหลือทางการเงินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) มาแล้วถึง 2 ครั้ง หลังจากวิกฤตผ่านไป มีคนพูดกันว่า น่าจะมีสัญญาณอะไรชี้บอกล่วงหน้าว่าประเทศจะเกิดวิกฤตเศรษฐกิจได้ ปี 2540 ที่ประเทศไทยเข้ารับความช่วยเหลือทางการเงินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ และลอยค่าเงินบาท ไม่ใช่ปีที่เกิดวิกฤต แต่เป็นปีที่วิกฤตคลี่คลาย

ค่าเงินบาทแข็งขึ้นเป็นลำดับที่ 2 รองจากเงินยูโร ทำให้สภาพคล่องท่วมประเทศไทยมา 6-7 ปี สภาพคล่องที่มาอย่างผิดปกติ ก็จะจากไปแบบผิดปกติได้เช่นกัน ดังเช่นตัวอย่างที่เกิดขึ้นกับยูโรโซนนั่นไง คือสัญญาณบอกล่วงหน้าว่าเหตุร้ายกำลังจะเกิดกับระบบเศรษฐกิจไทย
กำลังโหลดความคิดเห็น