xs
xsm
sm
md
lg

ความแตกต่างของค่าสกุลเงินที่เกิดจากการถูกโจมตี

เผยแพร่:   โดย: สุทธิพงษ์ ปรัชญพฤทธิ์

ทำไมบางประเทศถูกโจมตีแล้วค่าเงินเสียหายหรืออ่อนค่าลง ทำไมบางประเทศถูกโจมตีแล้วค่าเงินกลับแข็งค่าขึ้น การโจมตีค่าเงิน หมายความว่า มีการกระทำหรือเกิดเหตุการณ์ทำให้สกุลเงินตกต่ำลงหรือสูงขึ้น ค่าเงิน สภาพคล่อง และอัตราเงินเฟ้อ เป็นเรื่องที่มีความสัมพันธ์ต่อกัน เงินแข็งค่า สภาพคล่องของระบบสูงและเงินเฟ้อต่ำ เงินอ่อนค่า สภาพคล่องของระบบต่ำและเงินเฟ้อสูง

โลกทุกวันนี้เปลี่ยนไป การไหลเวียนหลักของเงินทุนทุกวันนี้ ไม่ได้อยู่การนำเข้า-ส่งออก การท่องเที่ยว ที่เรียกว่าภาคการผลิตจริง (Real trade) เท่านั้น แต่ขึ้นอยู่กับภาคการซื้อขายกระดาษอย่างมาก (Paper trade) ดูจากทุนสำรองเงินตราต่างประเทศของประเทศต่างๆ ที่เพิ่มขึ้นและลดลง บอกได้ว่าเศรษฐกิจของโลกไม่ได้ขึ้นอยู่กับภาคการผลิตการค้าจริงแต่อย่างใด แต่ขึ้นอยู่กับการซื้อขายกระดาษเป็นส่วนใหญ่ เช่น ทุนสำรองฯ มีการเพิ่มขึ้นที่รุนแรงและรวดเร็ว เวลาลดลงก็ลดลงแรงและรวดเร็ว เพิ่มอีกประเทศหนึ่ง ลดอีกประเทศหนึ่ง หรือลดลงของประเทศหนึ่ง ไปเพิ่มขึ้นอีกประเทศหนึ่ง ในภาพการผลิตจริง เช่น ดุลการค้าและดุลการท่องเที่ยว จะไม่ทำให้เพิ่มและลดลงรุนแรงเช่นนี้ เช่นมีรายงานว่ามีการซื้อขายทองคำสูงกว่าการใช้จริง 10 เท่า

ประเทศไทยเปิดตลาดอนุพันธ์ในปี 2006 (2549) เปิดซื้อขายดัชนี SET50 index futures ตัวแรก ทำให้เงินทุนไหลเข้ามาเก็งกำไรในตัวเลขอนุพันธ์ในประเทศไทยท่วมท้น จนกระทั่งทางการต้องออกมาตรการกันสำรอง 30 เปอร์เซ็นต์เงินทุนไหลเข้าเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2006 แต่ออกมาตรการวันเดียว ตลาดหุ้นตก 100 จุด จึงต้องยกเลิกมาตรการในวันรุ่งขึ้น วันที่ออกมาตรการดังกล่าว ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศสุทธิของไทยอยู่ที่ระดับ 74 พันล้านเหรียญสหรัฐ จากนั้นทุนสำรองก็เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว อีก 4 ปีต่อมา ทุนสำรองสุทธิของประเทศไทยขึ้นไปสูงกว่า 200 พันล้านเหรียญสหรัฐ

เรื่อง “ความแตกต่างของค่าสกุลเงินที่เกิดจากการถูกโจมตี” จะไม่เข้าไปถึงรายละเอียดที่เกิดขึ้น แต่จะนำเสนอถึงตัวอย่างที่เกิดขึ้นในแต่ละประเทศว่ามีรูปแบบเป็นอย่างไร เป็นหลัก เนื่องจากรายละเอียดที่เกี่ยวข้อง ผู้เขียนได้เคยนำเสนอในบทความก่อนหน้ามาบ่อยครั้งแล้ว

ตัวอย่างที่ 1 ค่าเงินบาทประเทศไทยตกต่ำจนต้องประกาศลดค่าเงินบาทหลายครั้ง ประเทศไทยเปิดตลาดหุ้นในปี 1975 อีก 3 ปีถัดมาตลาดหุ้นตกหนัก และตกลง 62 เปอร์เซ็นต์ในอีก 3 ปีถัดมา ส่งผลค่าเงินบาทลงลดด้วย ทางการได้ประกาศลดค่าเงินบาทหลายครั้ง เพื่อให้เป็นไปตามค่าที่แท้จริง ค่าเงินบาทตกต่ำสุด ติดลบ 27 เปอร์เซ็นต์ในต้นปี 1985 ทำให้สภาพคล่องของระบบเสียหาย ประเทศไทยต้องเข้ารับความช่วยเหลือทางการเงินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เป็นครั้งแรก จากนั้นขึ้นจึงฟื้นตัวคืนมา

ตัวอย่างที่ 2 ค่าเงินบาทประเทศไทยตกต่ำจนต้องประกาศลอยค่าเงินบาท ตลาดหุ้นไทยเริ่มตกหนักในต้นปี 1994 ใช้เวลาตกที่ยาวนาน และตกลง 88 เปอร์เซ็นต์ในอีก 5 ปีต่อมา ส่งผลค่าเงินบาทลงลดด้วย แต่ที่ไม่เห็นว่าค่าเงินบาทลดลง เนื่องจากมีการผูกค่าเงินเอาไว้ หรือปกป้องค่าเงินบาทไว้ ยิ่งทำให้บาทแข็งค่ากว่าความเป็นจริงมากขึ้น (บาทราคาแพง) ยิ่งมีการเข้ามาโจมตีค่าเงินบาทแรงขึ้น คือขายบาททิ้งบาท-ซื้อดอลลาร์ (ขายบาทเอากำไร)
กระทั่งกลางปี 1997 ทุนสำรองฯ แทบหมดไปจากธนาคารแห่งประเทศไทย จึงยอมแพ้ต่อการปกป้องค่าเงินบาท กลับมาลอยค่าเงินแทน หลังลอยค่าเงิน เงินบาทตกไปต่ำสุด ติดลบ 55 เปอร์เซ็นต์ในต้นปี 1998 ประเทศไทยต้องเข้ารับความช่วยเหลือทางการเงินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เป็นครั้งที่ 2

ประเทศไทยใช้เงินในการป้องค่าเงินบาทไปเป็นจำนวน 180,000 ล้านบาท ซึ่งไม่สามารถปกป้องค่าเงินเอาไว้ได้ เกิดความพ่ายแพ้ในที่สุด น่าแปลก การปกป้องค่าเงินบาท ก็ต้องใช้เงินในการปกป้อง แต่ปรากฏว่านายเริงชัย มะระกานนท์ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ต้องถูกดำเนินคดี ที่ทำให้เกิดความเสียหายจากการปกป้องค่าเงินคนเดียว ส่วนผู้อำนวยการทุนรักษาระดับเงินตรากลับไม่โดนข้อหาอะไร

ตัวอย่างที่ 3 การพังทลายของค่าเงินเหรียญสหรัฐ การพังทลายของตลาด NASDAQ ในปี 2000 ตกลงไปต่ำสุด 78 เปอร์เซ็นต์ในปี 2002 ส่งผลให้เงินเหรียญสหรัฐพังทลายลงมาเมื่อเทียบกับทุกสกุลเงิน ในภาพเป็นการเปรียบเทียบกับสกุลเงินยูโร เงินเหรียญสหรัฐตกไปต่ำสุดในปี 2008 ลบ 48 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับเงินยูโร

จากภาพจะเห็นว่ามีการโจมตีประเทศสหรัฐอเมริกา 2 รูปแบบ แบบแรก คือการโจมตีตลาด NASDAQ คือลากตลาด NASDAQ ขึ้นในปี 1999 แล้วทุบลงในปี 2000 คนทั่วไปไม่ทราบว่ามีการโจมตีตลาด NASDAQ แบบที่ 2 คือการโจมตีตึก World Trade Center (WTC) เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2001 คนทั่วโลกทราบ เพราะเห็นภาพการโจมตีด้วยตา

การโจมตีแบบแรกที่คนทั่วไปไม่ทราบ ทำความเสียหายให้แก่ประเทศสหรัฐอเมริกาและทั่วโลกมาจนถึงทุกวันนี้ ส่วนการโจมตี WCT เป็นความเสียหายเฉพาะที่เท่านั้น ความเสียหายไม่มาก

การโจมตีตลาด NASDAQ ก็คือการโจมตีเงินเหรียญสหรัฐด้วย เนื่องตลาดหุ้นพังทลาย ทำให้ค่าเงินพังทลายด้วย โจมตีลงหรือโจมตีให้เงินเหรียญสหรัฐเสียหาย สกุลเงินเหรียญสหรัฐเป็นสกุลเงินที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีส่วนแบ่งมากที่สุดในโลก ถ้าเรียกว่าเป็นการโจมตี ก็เป็นการโจมตีที่ใหญ่ที่สุดในโลก เป็นความพ่ายแพ้ เป็นการย่อยยับของเงินเหรียญสหรัฐแบบไม่เคยเป็นมาก่อน

ตัวอย่างที่ 4 การโจมตีสกุลเงินยูโร ตัวอย่างนี้เป็นเหตุการณ์อันเดียวกันกับตัวอย่างที่ 3 แต่เป็นการมองด้านสกุลเงินยูโร เมื่อเงินเหรียญสหรัฐพังทลายลง อันเป็นผลมาจากการพังทลายลงของตลาด NASDAQ ทำให้นักลงทุนไม่ถือเงินเหรียญสหรัฐ เปลี่ยนไปถือเงินสกุลอื่น รวมทั้งเปลี่ยนมาถือเงินสกุลยูโร หรืออาจจะเรียกว่าเป็นการโจมตีสกุลเงินยูโรก็ได้ เข้ามาซื้อเงินยูโรหรือโจมตีขึ้น สกุลเงินยูโรขึ้นไปสูงสุดกลางปี 2008 สูงขึ้นถึง 93 เปอร์เซ็นต์ เงินยูโรเป็นสกุลเงินที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก

ตัวอย่างที่ 5 การโจมตีสกุลเงินหยวนของจีน ตัวอย่างนี้เป็นเหตุการณ์อันเดียวกันกับตัวอย่างที่ 3 และ 4 ที่เกิดขึ้นกับเงินหยวนของจีน เมื่อเงินเหรียญสหรัฐพังทลายลง อันเป็นผลมาจากการพังทลายลงของตลาด NASDAQ ทำให้นักลงทุนไม่ถือเงินเหรียญสหรัฐ เปลี่ยนไปถือเงินสกุลอื่น รวมทั้งเปลี่ยนมาถือเงินสกุลหยวน หรืออาจจะเรียกว่าเป็นการโจมตีสกุลเงินหยวนก็ได้ เข้ามาซื้อเงินหยวนหรือโจมตีขึ้น

สิ่งที่น่าสนใจในเรื่องการโจมตีเงินหยวนก็คือ เงินหยวนมีการผูกค่าเงินไว้ (Yuan fixed) เงินเหรียญสหรัฐเสียหายในปี 2000 ก็แสดงว่าเริ่มมีการเปลี่ยนจากการถือเงินเหรียญสหรัฐมาถือเงินหยวนของจีนในปี 2000 เช่นกัน การที่ผูกเงินหยวนไว้ ทำให้ค่าเงินหยวนไม่เปลี่ยนแปลง หรือเงินหยวนมีค่าต่ำผิดจริงเมื่อเทียบกับเงินเหรียญสหรัฐ ยิ่งมีการเข้ามาซื้อ (เข้ามาเก็บหรือเข้ามาโจมตี) เงินหยวนมากขึ้น จนทางการจีนทนไม่ไหว ยอมลอยค่าเงินหยวนเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2005

ตัวอย่างที่ 6 การโจมตีสกุลเงินริงกิตของมาเลเซีย ตัวอย่างนี้เป็นเหตุการณ์อันเดียวกันกับตัวอย่างที่ 3, 4 และ 5 ที่เกิดขึ้นกับเงินริงกิตของของมาเลเซีย เมื่อเงินเหรียญสหรัฐพังทลายลง อันเป็นผลมาจากการพังทลายลงของตลาด NASDAQ ทำให้นักลงทุนไม่ถือเงินเหรียญสหรัฐ เปลี่ยนไปถือเงินสกุลอื่น รวมทั้งเปลี่ยนมาถือเงินสกุลริงกิต หรืออาจจะเรียกว่าเป็นการโจมตีสกุลเงินริงกิตก็ได้ เข้ามาซื้อเงินริงกิตหรือโจมตีขึ้น

ที่จริงประเทศมาเลเซียเคยลอยค่าเงินริงกิตพร้อมๆ กับประเทศไทยประมาณปี 1947-1948 (2540-2541) มาแล้ว แต่กลับไปผูกค่าเงินไว้อีก (Ringgit fixed) จึงทำให้ประสบเหตุการณ์แบบเดียวกันที่เกิดขึ้นกับเงินหยวนของจีน

ให้สังเกตว่า การโจมตีค่าเงินบาทของไทยในตัวอย่างที่ 2 แตกต่างจากการโจมตีค่าเงินหยวนของจีนในตัวอย่างที่ 5 และการโจมตีค่าเงินริงกิตของมาเลเซียในตัวอย่างที่ 6 เป็นคนละแบบกัน มีการผูกค่าเงินไว้เช่นเดียวกัน แต่โจมตีค่าเงินบาทเป็นการโจมตีลง โจมตีค่าเงินหยวนและเงินริงกิตเป็นการโจมตีขึ้น

ตัวอย่างที่ 7 การโจมตีสกุลเงินดองของเวียดนาม ตลาดหุ้นโฮจิมินห์ของเวียดนาม ตกลงระหว่างต้นปี 2007 ไปต่ำสุดที่ต้นปี 2009 เป็นช่วงที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจทั่วโลกที่เรียกว่า Hamburger crisis ตลาดหุ้นเวียดนามตกลงแรงถึง 79 เปอร์เซ็นต์ ส่งผลให้เงินดองพังทลายตามมา ถ้าไม่มีการผูกค่าเงินไว้ ก็จะเห็นว่าค่าเงินนั้นพังทลายลงมาในเวลาที่ใกล้เคียงกันกับที่ตลาดหุ้นพังทลาย ต่างจากประเทศไทยในตัวอย่างที่ 2 ที่มีการผูกค่าเงินไว้ ที่ไม่เห็นว่าค่าเงินบาทพังทลาย ต่อเมื่อมีการลอยค่าเงินบาท จึงเห็นว่าค่าเงินบาทเสียหาย

ตัวอย่างความเสียหายของค่าเงินดองในตัวอย่างที่ 7 นี้ ก็คล้ายๆ กับความเสียหายของค่าเงินเหรียญสหรัฐในตัวอย่างที่ 3 นั่นเอง แต่ในตัวอย่างที่ 3 เป็นการเปรียบเทียบความเสียหายกับค่าเงินยูโร

ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศเป็นตัวยืนยันการเคลื่อนย้ายเงินทุนของโลก การเคลื่อนย้ายเงินทุนจะเป็นไปตามการเก็งกำไรในการซื้อขายกระดาษ (Paper trade) ในตลาดเงิน ตลาดทุน และตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ มากกว่าจะเกิดจากการซื้อขายสินค้าและบริการในภาคการผลิตจริง (Real trade) จะเห็นว่าทุนสำรองฯ ของประเทศจีนแต่ละปีเพิ่มขึ้นอย่างรุนแรง เมื่อเทียบกับทุนสำรองฯ ของประเทศญี่ปุ่นและฮ่องกง

เมื่อเงินเหรียญสหรัฐเริ่มเสียหายในปี 2000 เป็นช่วงที่มีการผูกค่าเงินหยวนไว้ เป็นผลให้เงินหยวนอ่อนค่ากว่าสกุลเงินอื่นๆ เมื่อเทียบกับเงินเหรียญสหรัฐ (ราคาถูกกว่าสกุลเงินอื่น) ทำให้เข้าไปไล่ซื้อเงินหยวนกัน ทำให้เงินทุนไหลเข้าประเทศจีนแบบรุนแรง จนกลายมาเป็นประเทศที่มีทุนสำรองฯ สูงสุดในโลก โดยที่ก่อนหน้านั้นทุนสำรองฯ ของประเทศญี่ปุ่นสูงเป็นอันดับ 1 ของโลก

ช่วงหลังประเทศสหรัฐอเมริกามีการพิมพ์เงินออกมาใช้ (Quantitative Easing) ในปี 2008 2010 และ 2012 ทำให้เงินทุนไหลเข้าประเทศจีนมากขึ้นไปอีก

ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศในประเทศกลุ่มอาเซียน

ทุนสำรองฯ ของประเทศมาเลเซีย ช่วงแรกสูงกว่าของประเทศไทย คือเมื่อเงินเหรียญสหรัฐเริ่มเสียหายในปี 2000 เป็นช่วงที่ประเทศมาเลเซียมีการผูกค่าเงินริงกิตไว้ เป็นผลให้เงินริงกิตอ่อนค่ากว่าสกุลเงินอื่นๆ ในอาเซียนเมื่อเทียบกับเงินเหรียญสหรัฐ ทำให้เงินทุนไหลเข้าประเทศมาเลเซียมากเป็นพิเศษ ทำให้ช่วงแรกทุนสำรองฯ ของประเทศมาเลเซียสูงกว่าของประเทศไทย

ทุนสำรองฯ ของประเทศไทย ปี 2006 ประเทศไทยมีการเปิดตลาดอนุพันธ์ (Derivatives) โดยนำตัวเลข SET50 index futures มาซื้อขายเป็นตัวแรก ทำให้มีการเคลื่อนย้ายทุนเข้ามาเก็งกำไรในตัวเลขอนุพันธ์อย่างรุนแรง กระทั่งทุนสำรองฯ สูงกว่าประเทศมาเลเซียในปีต่อๆ มา สังเกตว่าทุนสำรองฯ ของประเทศไทยเริ่มสูงขึ้นหลังปี 2006 อย่างมีนัยสำคัญ

ทุนสำรองฯ ของประเทศเวียดนาม การพังทลายของตลาดหุ้นเวียดนามระหว่างปี 2007 - 2009 ส่งผลให้เงินดองเสียหาย นักลงทุนไม่ถือเงินดอง เปลี่ยนไปแลกเป็นเงินสกุลอื่น หรือซื้อสินทรัพย์ในรูปสกุลเงินอื่น ดูตามภาพจะเห็นว่าทุนสำรองฯ ของประเทศเวียดนามลดลงหลังปี 2007

ต้นเหตุ การเปลี่ยนแปลงค่าเงินอาจจะเกิดจากภายในประเทศ เช่น การพังทลายของตลาดหุ้นประเทศใด จะทำให้ค่าเงินของประเทศนั้นเสียหายด้วย เช่น การพังทลายของตลาดหุ้นประเทศไทย ประเทศสหรัฐอเมริกา และประเทศเวียดนาม ทำให้สกุลเงินบาทของไทย สกุลเงินเหรียญของสหรัฐ และสกุลเงินดองของประเทศเวียดนาม เสียหาย ตามตัวอย่างที่ 1, 2, 3 และ 7 ทำให้สภาพคล่องของระบบแห้งเหือด

ต้นเหตุ การเปลี่ยนแปลงค่าเงินอาจจะเกิดจากภายนอกประเทศ เช่น การพังทลายของตลาดหุ้น NASDAQ ทำให้ค่าเงินของประเทศต่างๆ ทั่วโลกแข็งค่าขึ้น ยกตัวอย่าง 3 มาให้ดู เช่น การแข็งค่าของสกุลเงินยูโร สกุลเงินหยวนของจีน สกุลเงินริงกิตของมาเลเซีย ตามตัวอย่างที่ 4, 5 และ 6 ทำให้สภาพคล่องท่วมระบบ

สภาพคล่องของระบบเหือดแห้งก็ไม่ดี สภาพคล่องท่วมระบบก็ไม่ดี สภาพคล่องพอดีๆ จึงจะดี

จะเห็นว่าปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับประเทศต่างๆ ภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก มีความสัมพันธ์ต่อกันเงินทุนเคลื่อนย้ายเป็นไปตาม Paper trade มากกว่าจะเป็นไปตาม Real trade

Paper trade คือสิ่งเบี่ยงเบนในระบบเศรษฐกิจทุนนิยม เศรษฐกิจของโลกเบี่ยงเบนมากขึ้น คนส่วนน้อย (Hedge Funds) ที่ชำนาญ ที่ได้เปรียบ เอารัดเอาเปรียบคนส่วนใหญ่ของโลก

ต้นเหตุของปัญหาเกิดจากตลาดทุนในเบื้องต้น แล้วส่งความเสียหายมาสู่ตลาดเงิน

ค่าเงินบาทและสภาพคล่องของประเทศไทยเคยเสียหายจนต้องเข้ารับความช่วยเหลือทางการเงินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) มาแล้วถึง 2 ครั้ง การคิดป้องกันปัญหาหลังค่าเงินบาทเสียหายครั้งแรกไม่ได้ผล รวมทั้งการนำระบบ Maintenance margin & forced มาใช้ในตลาดทุน ซ้ำเติมให้ตลาดทุนเสียหายมากขึ้น ทำให้เงินบาทเสียหายเป็นครั้งที่ 2 ทำให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจอีกเป็นครั้งที่ 2

ต้นเหตุไม่แก้ไข แต่กลับสร้างเครื่องมือที่เบี่ยงเบนมาใช้ในตลาดทุนอีก การเปิดตลาดอนุพันธ์ (Derivatives) ในปี 2006 ทำให้ตลาดทุนเบี่ยงเบนมากขึ้น ค่าเงินบาทเบี่ยงเบนมากขึ้น ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศเบี่ยงเบนมากขึ้น สภาพคล่องของระบบเบี่ยงเบนมากขึ้น แล้วตลาดทุนก็จะเกิดความเสียหายอีก ค่าเงินบาทก็จะเสียหายตามมาอีก สภาพคล่องของระบบเสียหายอีก เกิดความเสียหายในระบบเศรษฐกิจของประเทศอีก เป็นไปได้ในอนาคตที่ประเทศไทยจะเกิดวิกฤตเศรษฐกิจครั้งที่ 3

ตลาดเงินอยู่คู่โลกมาแต่แรก การเกิดของตลาดทุนทำให้เศรษฐกิจเกินความพอเพียง แล้วมีการสวมรอยปั่นขึ้นปั่นลงได้ง่ายดาย ทำให้สภาพคล่องผิดปกติมาก ทำให้เศรษฐกิจเสียหาย หนี้ท่วมโลก คนตกงานมาก และเงินเฟ้อสูง ทางที่จะออกจากปัญหาได้ คือโลกต้องคืนสู่สามัญ เหลือเพียงตลาดเงินอย่างเดียวก็พอ
กำลังโหลดความคิดเห็น