xs
xsm
sm
md
lg

2 ล้านล้านบาทที่กู้มากับความเสื่อมทรุดที่จะเกิดขึ้นกับระบบเศรษฐกิจไทย

เผยแพร่:   โดย: สุทธิพงษ์ ปรัชญพฤทธิ์

เรื่องความเสียหาย ความย่อยยับ เกี่ยวข้องกับบุญและกรรมของผู้บริหารประเทศ พุทธศาสนาเชื่อกฎแห่งกรรม กรรมคือสมบัติที่แท้จริงของมนุษย์ติดตัวคนไปทุกภพชาติ ทำกรรมดีก็ได้กรรมดีติดตัวไป ทำกรรมชั่วก็ได้กรรมชั่วติดตัวไป กรรมที่ก่อไว้ในชาตินี้จะติดตัวไปถึงภพหน้า กรรมที่ก่อให้ในภพก่อน ก็จะมาก่อให้เกิดเป็นบุญหรือเป็นบาปในชาตินี้

ความอยู่ดีมีสุข ความเป็นความตายของคนในชาติขึ้นอยู่กับบุญกรรมของผู้นำและผู้บริหารระดับสูงของประเทศด้วย การเป็นนายกรัฐมนตรีของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรปี 2544 มีคนไทยตายมากที่สุด ทั้งๆ ที่ไม่ได้อยู่ในภาวะสงคราม จากเหตุการณ์มัสยิดกรือเซะตาย 32 ศพ จากเหตุการณ์ตากใบตาย 87 ศพ จากสงครามยาเสพติดตาย 2,500 ศพ ทนายสมชายหายไปแบบไร้รอยต่อ เชื่อว่าได้ตายไปแล้วอีกศพ “ตายจากน้ำท่วม” จากเหตุการณ์สึนามิที่ภาคใต้เมื่อปลายปี 2547 มากที่สุด 5,395 ศพ หาย 2,817 คน รวมคนตายในรัฐบาลทักษิณ 8,015 ศพ หาย 2,817 คน

ใครจะสังเกตบ้างการมาเป็นนายกรัฐมนตรีนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตรเมื่อเดือนสิงหาคมปี 2554 ทำให้เกิดน้ำท่วมใหญ่ในเดือนกันยายน - พฤศจิกายน 2554 ทันที “มีคนตายจากเหตุการณ์น้ำท่วม” 813 ศพ คนหาย 3 คน เป็นการตายน้ำมากที่สุดแบบเดียวกัน เป็นบาป-บุญหรืออาเพศ ที่มาจากคนครอบครัวเดียวกันที่มาเป็นผู้นำประเทศ มีข่าวว่าอาจจะมีคนจากครอบครัวเดียวกันคนที่ 3 มาเป็นผู้นำประเทศอีก

แต่มีการตายที่มากกว่าที่กล่าวข้างต้น คือการตายทั้งเป็นของคนในชาติ ได้แก่การแตกแยกของคนในชาติแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ผู้เขียนแปลกใจว่า คนที่ก่อให้เกิดความแตกแยกของคนในชาติยังอยู่ แต่เราคิดจะออกกฎหมายให้เกิดความปรองดองของคนในชาติ โดยไม่พิจารณาถึงคนที่ทำให้เกิดความแตกแยกของคนในชาติ แล้วจะเกิดความปรองดองขึ้นจริงได้อย่างไร ประเทศไทยมีปัจจัยซ่อนเร้นในทุกเรื่อง

พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ขึ้นรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2544 วันสุดท้ายในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี คือวันที่ 19 กันยายน 2449 โดยการถูกรัฐประหาร จากการที่เขาแทรกแซงองค์กรอิสระ แก้กฎหมายเพื่อประโยชน์ตน ออกนโยบายมาคอร์รัปชัน ขาย(แปรรูป)ปตท. ขายวงโคจรดาวเทียม ขายชินคอร์ปให้เทมาเส็กของสิงคโปร์ เป็นต้นเหตุการณ์การเกิดรัฐประหาร

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง เข้ารับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ฯ วันที่ 19 กันยายน 2544 หลังการขึ้นรับตำแหน่งของทักษิณ 7 เดือน และหมดวาระกรรมการผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ฯ วันที่ 13 พฤษภาคม 2549 ผู้เขียนนำชื่อนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตกรรมการผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ฯ และรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เนื่องจากเกี่ยวข้องกับเรื่องที่นำเสนอต่อไปนี้

การขายปตท. วันที่ 6 ธันวาคม 2544 ปตท. เข้าซื้อขายในตลาดหุ้นเป็นวันแรก หลังจากพ.ต.ท.ทักษิณเป็นนายกรัฐมนตรี 10 เดือน และหลังจากนายกิตติรัตน์เป็นกรรมการผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ฯ 3 เดือน ปตท.เป็นรัฐวิสาหกิจด้านปิโตรเคมี เป็นสาธารณูปโภคที่เกี่ยวข้องกับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนคนทั้งประเทศ รัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวข้องกับชีวิตความเป็นอยู่ของคนทั้งประเทศ ไม่สมควรอย่างยิ่งที่แปรรูปไปเป็นเอกชน เนื่องจากจะทำให้มีการเอารัดเอาเปรียบประชาชนได้

“..กฎหมายทุนรัฐวิสาหกิจ ก่อนนี้ในกติกาเราต้องขายรัฐวิสาหกิจเพื่อนำเงินมาใช้หนี้ แต่วันนี้ไม่ใช่ครับ เราจะกระจายหุ้นรัฐวิสาหกิจในตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการขยายการลงทุน เพื่อให้เกิดการบริหารงานอย่างมืออาชีพ และเพื่อให้เกิดการตรวจสอบได้ทุกระบบ ซึ่งตรวจสอบจากระบบของตลาดทุนและตรวจสอบด้วยระบบของราชการ ตรวจสอบด้วยระบบของผู้ถือหุ้นเอง

เพราะฉะนั้นรัฐวิสาหกิจไทยของเราจะเข้มแข็ง ซึ่งรัฐบาลนี้ได้ใช้มาตรการนี้บางส่วนแล้ว และใช้เรื่องของการรายงานระบบการตรวจสอบมากขึ้นแล้ว ทำให้รายได้ของรัฐวิสาหกิจเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เข้ามาเป็นรัฐบาล หากรัฐวิสาหกิจทั้งหมดต้องไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ รัฐวิสาหกิจเหล่านี้จะบริหารงานอย่างมืออาชีพ จะเข้มแข็งและแข็งแรงมากขึ้น ไม่ได้เป็นการนำไปขายเพื่อนำมาใช้หนี้ เพราะไม่จำเป็นอีกแล้วที่จะต้องขายเพื่อใช้หนี้ เพราะวันนี้เราหมดพันธกรณีทางนี้ เราจึงจะมีการแก้กฎหมายทุนรัฐวิสาหกิจ โดยยกเลิกและจัดทำกฎหมายฉบับใหม่ คือกฎหมายว่าด้วยการปรับปรุงและพัฒนารัฐวิสาหกิจแห่งชาติ เพื่อการปรับปรุงโครงสร้างรัฐวิสาหกิจให้เป็นองค์กรธุรกิจ เพิ่มประสิทธิภาพและคุณภาพของการบริหารจัดการและส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการเป็นเจ้าของกิจการของรัฐ ..” เป็นสุนทรพจน์ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ณ ศูนย์แถลงข่าว ทำเนียบรัฐบาล วันพฤหัสบดีที่ 31 กรกฎาคม 2546 เวลา 20.30 น. (หลังการแปรรูปปตท.ประมาณปีครึ่ง) ข้ออ้างการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ คนฟังแล้วอดที่จะหลงใหลไม่ได้ ทุกวันนี้ประชาชนเดือดร้อนจากการที่เงินเฟ้อสูง ค่าครองชีพสูง ที่มาจากการกำหนดราคาน้ำมันที่แพงกว่าในหลายๆ ประเทศของปตท.

ประสิทธิภาพและคุณภาพการบริหารจัดการไม่ได้แตกต่างไปจากเดิม จากที่คนไทย 65 ล้านคนเคยเป็นเจ้าของปตท.100 เปอร์เซ็นต์ มาเหลือเป็นของคนไทยแค่ 51.11 เปอร์เซ็นต์ มีผู้ถือหุ้นรายย่อย (Free float) 39,834 คน หรือ 48.89 เปอร์เซ็นต์ ที่บอกว่า “มีส่วนร่วมในการเป็นเจ้าของปตท.” ที่ได้รับเงินปันผลเป็นกอบเป็นกำเหนือคนไทย 65 ล้านคน

ปี 2554 ปตท.กำไรสุทธิ 105,296.4 ล้านบาท จ่ายเงินปันผลหุ้นละ 11.50 บาท จ่ายกระทรวงการคลัง หรือคน 65 ล้านคน 16,788.683 ล้านบาท และอีก 48.89 เปอร์เซ็นต์ คิดเป็น 16,059.411 ล้านบาท จ่ายให้คน 39,834 คน รวมจ่ายเงินปันผล 32,848.094 ล้านบาท เหลือกำไรสุทธิอยู่ 72,448,31 ล้านบาท

ปี 2555 ปตท.กำไรสุทธิ 104,665.8 ล้านบาท จ่ายเงินปันผลหุ้นละ 12.00 บาท จ่ายกระทรวงการคลัง หรือคน 65 ล้านคน 17,518.626 ล้านบาท และอีก 48.89 เปอร์เซ็นต์ คิดเป็น 16,757.691 ล้านบาท จ่ายให้ 39,834 คน รวมจ่ายเงินปันผล 34,276.317 ล้านบาท เหลือกำไรสุทธิอยู่ 70,389,49 ล้านบาท

ที่จริงในอดีต คนไทย 65 ล้านคนเป็นเจ้าของปตท.อยู่แล้ว ผ่านกระทรวงการคลัง แต่หลังการแปรรูป ปตท.เข้าตลาดหุ้น คนไทยทั้งมวลได้รับผลประโยชน์จาก ปตท.น้อยลง และกลายเป็นว่าประชาชนต้องใช้น้ำมันที่ราคาสูงเป็นประวัติการณ์ เพื่อก่อให้เกิดกำไรมาจ่ายเป็นเงินปันผลพิเศษแก่คน 39,834 คน และคณะกรรมการ ปตท.

ปตท.มีมูลค่าตลาดประมาณ 9 แสนล้าน - 1 ล้านล้านบาท มากที่สุดในตลาดหุ้น เปรียบเทียบแล้ว เกือบเท่ากับครึ่งหนึ่งของงบประมาณแผ่นดิน

ตลาดหุ้นไม่ใช่แหล่งที่เกิดการโปร่งใสในการบริหารจัดการทรัพยากรระบบ ทันทีที่มีการแปรรูปเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ความโปร่งใสใน ปตท.ก็หมดไปทันที ผู้คนไม่ทราบว่านอมินีชื่อต่างๆ นั้น ถือหุ้นให้ใคร ถือหุ้นแทนใครไม่ทราบรายละเอียดของผู้อุปการคุณที่ได้หุ้นจองราคาหุ้นละ 10 บาท จากตารางข้างต้น รวมส่วนแบ่งผู้ถือหุ้นรายใหญ่ 78.94 เปอร์เซ็นต์ ที่นอกเหนือจากรายงานนี้ 21.06 เปอร์เซ็นต์ ไม่ได้รายงานไว้

มีความรีบเร่งในการแปรรูป ปตท.มาก การแปรรูปทำสำเร็จหลังจากพ.ต.ท.ทักษิณเป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศเพียง 10 เดือน ปตท.เข้าตลาดหุ้นวันแรก SET อยู่ที่ระดับ 305.25 จุด เป็นช่วงที่ตลาดหุ้นอยู่ในภาวะซบเซา โดยความเหมาะสมแล้วไม่ควรทำการแปรรูปในช่วงที่ตลาดอยู่ในภาวะซบเซา ปตท.เป็นทรัพย์สินของประเทศ หากจะแปรรูปก็ควรจะทำให้ช่วงที่ตลาดหุ้นฟื้นตัวแล้ว เพื่อที่จะทำให้ IPO (Initial Public Offering) ได้ที่ราคาสูง เพื่อที่จะทำให้รัฐได้เงินมาก

แต่อย่างไรก็ตาม สาธารณูปโภคเป็นไปเพื่อสาธารณะ แม้จะ IPO ที่ราคา 500 บาท ก็ไม่สมควรที่จะทำ

ผู้ต้องการหาประโยชน์จากการแปรรูป ปตท. มีปัจจัยซ่อนเร้น IPO กลายเป็นผู้จองเป็นผู้กำหนดราคา โดยที่ผู้จองต้องการได้ราคาจองต่ำ ไม่ใช่ผู้ให้จองเป็นผู้กำหนดราคา หลักการทางบัญชีและทางตลาดหลักทรัพย์ฯ ถูกแทรกแซงด้วยมือที่มองไม่เห็น ตอนแรกว่าจะ IPO ที่ราคา 50 บาท แต่มีข่าว (จากคนไทย) สวนออกมาว่า IPO ที่ราคา 50 บาท ต่างชาติไม่สนใจ จะทำให้แปรรูปไม่ได้ ราคาจองจึงลดลงมาเหลือ 35 บาท

หลังการแปรรูป ปตท.6 ปี ราคา ปตท.ขึ้นไป 440 บาท นอมินีกู้เงินที่ต่างประเทศ จองซื้อ ปตท.ที่ต่างประเทศที่ราคา 35 บาท หากที่ราคา 350 - 440 บาทมีการขายปตท.ออก 10 เปอร์เซ็นต์ นำไปชำระหนี้เงินกู้ ดอกเบี้ย และค่าการบริหารจัดการจองซื้อหุ้นปตท.ได้หมด ที่เหลือกลายเป็นหุ้นที่ไม่มีต้นทุน เป็นการจับเสือมือเปล่า

การขายชินคอร์ป ปลายเดือนมกราคม 2549 ออกกฎหมายเพิ่มสัดส่วนให้ต่างชาติถือครองธุรกิจคมนาคมจากไม่เกิน 25 เปอร์เซ็นต์เป็นไม่เกิน 49 เปอร์เซ็นต์ แล้วก็ขาย 49 เปอร์เซ็นต์ของชินคอร์ปที่ได้สัมปทานจากประเทศไทยให้เทมาเส็กแห่งสิงคโปร์อย่างง่ายดาย

ผู้นำประเทศพูดเองเออเอง อยากจะทำอะไรก็สร้างวาทกรรม และแก้กฎหมายทำเอาได้ดังใจทุกอย่าง ทรัพยากรที่ควรเป็นของระบบร่อยหรอลงตลอดเวลา กลายไปเป็นของส่วนบุคคลมากขึ้น

เงินท่วมประเทศ

ช่วงตั้งแต่ปี 2543 (2000) เป็นต้นมา ไม่เพียงน้ำที่ท่วมและทำความเสียหายให้ประเทศไทยเท่านั้น แต่เงินก็ท่วมประเทศไทยและก่อความเสียหายให้ประเทศไทยด้วยเช่นกัน ก่อให้เกิดความเสียหายมากกว่าน้ำท่วมประเทศเสียอีก

นับว่าเป็นความโชคดีของประเทศไทย หลังการพังทลายของตลาดหุ้นไทยในปี 2537 ลอยค่าเงินบาท และเข้ารับความช่วยเหลือสภาพคล่องทางการเงินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ครั้งที่ 2 ในปี 2540 (1997) แล้ว อีก 3 ปีต่อมา คือในปี 2543 (2000) ตลาดหุ้น NASDAQ ที่ประเทศสหรัฐอเมริกาพังทลายลงรุนแรง ส่งผลให้ค่าเงินเหรียญสหรัฐเสียหาย ไม่ได้รับความเชื่อมั่น ทำให้เงินไหลเข้าไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลก รวมทั้งไหลเข้ามายังประเทศไทย ทำให้สภาพคล่องของประเทศไทยดีขึ้น กระทั่งสามารถใช้หนี้ไอเอ็มเอฟหมดในกลางปี 2546 (2003) การใช้หนี้ไอเอ็มเอฟหมด ไม่ใช่ฝีมือของรัฐบาลใดทั้งสิ้น

เงินท่วมประเทศไทยรุนแรงเกิดขึ้นในปี 2549 (2006) เมื่อ “ตลาดหุ้น” เริ่มเปิดการซื้อขายตัวเลขอนุพันธ์ (Derivatives) ก่อนหน้านี้ก็มีการเปิดขายราคาสินค้าเกษตรล่วงหน้า แต่สินค้าเกษตรล่วงหน้าได้รับความสนใจน้อย อนุพันธ์ที่น่าสนใจเริ่มขึ้นในปี 2549 ในรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร โดยที่นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง เป็นกรรมการผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ฯ

28/4/2549 (2006) รัฐบาลทักษิณ เปิดซื้อขาย SET50 index futures

29/10/2550 รัฐบาลสุรยุทธ์ เปิดซื้อขาย SET50 index options

24/11/2552 รัฐบาลสมชาย เปิดซื้อขายราคาหุ้นอ้างอิง 3 ตัว

2552-2554 รัฐบาลอภิสิทธิ์ เปิดซื้อขายตัวเลขอนุพันธ์เพิ่ม ทั้งตัวเลขราคาโลหะทองคำอ้างอิง ราคาโลหะเงิน ราคาหุ้นอ้างอิง

2554-2555 รัฐบาลยิ่งลักษณ์ เปิดซื้อขายราคาน้ำมันล่วงหน้าอ้างอิง ดอลลาร์ล่วงหน้าอ้างอิง

การซื้อขายตัวเลขอนุพันธ์ ก่อให้เกิดการเก็งกำไรสูงสุด ใช้เงินประกัน 10 บาท สามารถซื้อขายตัวเลขอนุพันธ์ได้ 100 บาท นั่นคือสามารถทำกำไรได้มากกว่าการซื้อขายหุ้นธรรมดา 10 เท่า เพราะมันเป็นเพียงตัวเลขในอากาศ เช่นเดียวกับการซื้อหวยบนดิน-ใต้ดิน หรือสลากกินแบ่ง ไม่จำเป็นต้องมีตู้หรือโกดังเก็บสินค้า ซื้อขายได้ตลอดเวลาที่มีการเปิดทำการตลาดหุ้น ซื้อขายได้ทั้งตลาดขาขึ้น และขาลง จึงเป็นที่ถูกใจบรรดา Hedge Funds โลกทั้งหลาย จึงทำให้เงินทุนไหลเข้ามาท่วมประเทศดังกล่าว เข้ามาเก็งกำไรในตัวเลขอนุพันธ์

เท่าที่ทราบ เมื่อมีเงินไหลเข้าตลาดทุน มันก็จะไหลเข้าไปตลาดตราสารหนี้ด้วย และในทางตรงกันข้าม เมื่อมีเงินทุนไหลออกจากตลาดทุน เงินก็จะไหลออกจากตราสารหนี้ด้วย

กราฟค่าเงินบาทระหว่างปี 2000 - 2013 แสดงให้เห็นว่าเงินทุนไหลเข้าในปี 2001 หลังการพังทลายของตลาด NASDAQ และเงินเหรียญสหรัฐในปี 2000 ซึ่งเงินทุนไม่ได้ไหลเข้าอย่างรุนแรงแต่อย่างใด

แต่ปี 2006 ที่มีการเปิดตลาดอนุพันธ์ เงินทุนไหลเข้ารุนแรงมาก แม้จะมีการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2006 เงินทุนก็ยังไหลเข้าอย่างต่อเนื่อง กระทั่งวันที่ 19 ธันวาคม 2006 ทางการต้องออกมาตรการกันสำรอง 30 เปอร์เซ็นต์เงินทุนไหลเข้า แต่ออกมาตรการได้วันเดียว ตลาดหุ้นตกไปกว่า 100 จุด ต้องยกเลิกมาตรการดังกล่าว
จะเห็นว่าชั่วระยะเวลาเพียงปีครึ่ง จากต้นปี 2006 ถึงกลางปี 2007 เงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างรุนแรง และรวดเร็ว จากระดับ 40 บาทต่อเหรียญสหรัฐ มาเป็น 30 บาทต่อเหรียญสหรัฐ หรือเพิ่มขึ้นถึง 10 บาทต่อเหรียญสหรัฐ

ช่วงปี 2008 มีเหตุการณ์ Hamburger crisis ทำให้เงินทุนไหลออกระยะหนึ่ง จะเห็นว่าค่าเงินบาทตกลง จากนั้นต้นปี 2009 เงินทุนก็เริ่มไหลเข้าประเทศไทยใหม่

วันที่ 20 มีนาคม 2013 ค่าเงินบาทขึ้นไปสูงถึง 29.13 บาทต่อเหรียญสหรัฐ เป็นไปได้ว่าเงินทุนที่ไหลเข้าประเทศอย่างต่อเนื่อง อาจจะทำให้ค่าเงินบาทแข็งถึงระดับ 28-27 บาทต่อเหรียญสหรัฐ หรือมากกว่าได้

วันที่ออกมาตรการกันสำรองเงินทุนไหลเข้าเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2549 (2006) ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศสุทธิที่ธนาคารแห่งประเทศไทยอยู่ที่ระดับ 74 พันล้านเหรียญสหรัฐ ทุกวันนี้ทุนสำรองฯ สูงกว่า 200 พันล้านเหรียญสหรัฐ

ทุนสำรองฯ ที่ต่ำ เป็นตัวบอกว่าสภาพคล่องของระบบ (ประเทศ) ไม่ดี กลางปี 2540 ที่ประเทศไทยต้องเข้ารับความช่วยเหลือทางการเงินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ทุนสำรองฯ ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยเหลือเพียง 1,144 พันล้านเหรียญสหรัฐ ทุนสำรองที่สูงฯ ที่สูง เป็นตัวบอกว่าสภาพคล่องของระบบสูง

ทุนสำรองฯ สูงกว่า 200 พันล้านเหรียญสหรัฐ เป็นตัวบอกว่าเงินท่วมประเทศไทย

เงินท่วมประเทศไทย ได้สร้างปัญหาปัญหาให้ประเทศไทยมา 6-7 ปีแล้ว มีนโยบายและโครงการหลายอย่างที่คิดทำขึ้นมา เพื่อที่จะลดสภาพคล่องของระบบ รัฐบาลก่อนหน้านี้ก็มีการกู้เงินกว่า 4 แสนล้านบาท เอาเงินออกมาแจกประชาชนคนละ 2,000 บาท บางครั้งรัฐบาลขึ้นเงินเดือนให้ตัวเองถึง 14 เปอร์เซ็นต์ ขึ้นเงินเดือนให้ข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจหลายรอบ รถเมล์ฟรี ค่ารักษาพยาบาลฟรี ขอยุติเรื่องราวความเบี่ยงเบนทางเศรษฐกิจของรัฐบาลก่อนหน้าไว้เพียงแค่นั้น

มาเริ่มปัญหารัฐบาลปัจจุบัน รัฐบาลของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

แจกแทบเล็ตนักเรียนชั้นป.1 ทั่วประเทศ ค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท เงินเดือนปริญญาตรีเริ่มต้น 15,000 บาท กองทุนหมู่บ้าน กองทุนเกษตรกร กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี บ้านหลังแรก รถคันแรก จำนำข้าวทุกเม็ดตันละ 15,000 บาท กู้เงิน 3.5 แสนล้านบาทมาแก้ไขปัญหาน้ำท่วม

สภาพคล่องหรือปริมาณเงินต้องพอดีจึงจะดี น้อยเกินไปก็ไม่ได้ มากเกินไปก็ไม่ดี คล้ายกับน้ำ น้ำแล้งก็ไม่ดีทำให้การเกษตรและอุตสาหกรรมของประเทศเสียหาย น้ำมากก็ไม่ดี ทำให้การเกษตรและอุตสาหกรรมของประเทศเสียหายเช่นเดียวกัน ทำอย่างไรจึงจะทำให้สภาพคล่องหรือปริมาณเงินของระบบได้พอดีตลอดไป

คลื่นมหาสมุทรจากสึนามิท่วมจังหวัดทางภาคใต้เพียงวันเดียว น้ำท่วมประเทศไทยเมื่อปลายปี 2554 ท่วมแค่ 3 เดือนและท่วมแค่ 35 จังหวัด แต่ก็ก่อความเสียหายต่อทรัพย์สินและชีวิตของผู้คนจำนวนมาก เงินท่วมประเทศไทย ท่วมมา 7 ปีแล้ว และท่วมทั้ง 76 จังหวัด ก็คิดดูว่าความเสียหายจะมากขนาดไหน

คนทั่วไปไม่ทราบว่าเงินเริ่มท่วมประเทศไทย โดยมีต้นเหตุมาจากการเปิดตลาดอนุพันธ์ที่ตลาดหุ้นในปี 2549 เป็นช่วงที่นายนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง เป็นกรรมการผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง คือรัฐมนตรีคลังคู่ใจ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรตัวจริง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังที่ผ่านๆ มา ก็ไม่มีใครที่จะมีฝีมือเทียบเคียงได้ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง เป็นผู้ร่วมหัวจมท้ายกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นำ ปตท.เข้าตลาดหุ้นในปี 2544 ช่วงที่นายนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง เป็นกรรมการผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ มีผู้วิจารณ์กันว่ามันคือการปล้นสมบัติของชาติ

ที่ควรทำไม่ทำ ไปทำในสิ่งที่ไม่ควรจะทำ ไม่ได้มีความตั้งใจที่จะใช้หนี้

หนี้ของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน เกิดจากโครงการ 14 สิงหาคม 2541 ที่มีการปิดถาวร 56 สถาบันการเงิน ก่อให้เกิดหนี้ที่กองทุนเพื่อการฟื้นฟู 1.392 ล้านล้านบาท
ระหว่างปี 2541 - 2553 หรือ 12 ปีผ่านไป ธปท.ชำระหนี้ 249,898 ล้านบาท ระหว่างปี 2541 - 2553 หรือ 12 ปีผ่านไป กระทรวงการคลัง ชำระดอกเบี้ย 604,473 ล้านบาท

จึงมีหนี้คงเหลือ 1.142 ล้านล้านบาท

ดูจากการชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยที่ผ่านมา ประมาณว่าจะต้องใช้เวลา 45 ปี จึงจะใช้หนี้ที่เหลือนี้ได้หมด

กระทรวงการคลังในรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ได้โอนหนี้ของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ไปไว้ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อที่จะทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีลดลง เพื่อจะทำให้กู้เงินได้มากขึ้น นอกจากนี้ยังมีความพยายามที่จะลดสัดส่วนการถือหุ้นของ ปตท.ในกระทรวงการคลังลง เพื่อทำให้ ปตท.เป็นเอกชน เพื่อที่จะไม่ให้หนี้ของ ปตท.ปรากฏเป็นหนี้สาธารณะ เพื่อที่หนี้สาธารณะจะได้ลดลงอีก เพื่อที่จะทำให้กู้เงินได้มากขึ้นไปอีก

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง เป็นนักกู้สะท้านโลกตัวจริง

หลังจากที่คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2556 เห็นชอบให้นำเสนอร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ. …. วงเงินไม่เกิน 2 ล้านล้านบาท นายกิตติรัตน์ ไปกล่าวเปิดสัมมนา ยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง “การประยุกต์ใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในการพัฒนาประเทศสู่ 2 ทศวรรษหน้า”

กู้เงิน 2 ล้านล้านบาทนี่นะหรือการประยุกต์ใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในการพัฒนาประเทศ การแสดงออกและการกระทำที่เกิดขึ้นไม่ได้มีความสัมพันธ์ต่อกันเลย อยากจะกู้ 2 ล้านล้านบาทก็ว่าไป ไม่ควรจะมาจัดสัมมนาในรูปแบบดังกล่าว เขายังเห็นคนไทยเป็นตัวกินหญ้าอยู่ตลอดเวลา หรือไม่ก็ไม่ทราบว่าปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงคืออย่างไร

กู้ 2 ล้านล้านบาทเป็นเรื่องของการเกินความพอเพียง

ผู้เขียนนำเสนอเรื่องบุญกรรมไว้ในตอนแรก

นายกิตติรัตน์เป็นคนที่เคยทำให้เงินท่วมประเทศไทยมาแล้วในปี 2549 คนที่เคยสร้างกรรมแบบไหนไว้ ก็จะเกิดกรรมแบบเดิมซ้ำ การกู้เงิน 2 ล้านล้านบาท เป็นเหตุให้เงินท่วมประเทศมากขึ้นไปอีก

มีสัญญาณบอกว่า เงินได้เริ่มท่วมประเทศไทยอีก

เห็นได้จากค่าเงินบาทเริ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญตั้งแต่ต้นปี 2013 (BAHT index คือค่าเงินบาทเฉลี่ยจากสกุลเงินหลัก 32 สกุล)

แสดงให้เห็นว่า เงินบาทแข็งค่าขึ้น (%) เมื่อเทียบกับทุกสกุลเงิน 32 สกุลเงินหลักของโลก

ตัวอย่าง ZAR ของอเมริกาใต้อ่อนมากที่สุดเมื่อเทียบกับ BAHT และ BAHT แข็งค่า 11.29 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับ ZAR

ตัวอย่าง YEN ของญี่ปุ่นอ่อนมากเป็นอันดับที่ 2 เมื่อเทียบกับ BAHT และ BAHT แข็งค่า 9.44 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับ YEN

ตัวอย่าง USD ของอเมริกาค่อนข้างแข็ง เมื่อเทียบกับ BAHT และ BAHT แข็งค่า 2.92 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับ USD เงิน USD เพิ่งจะแข็งค่าขึ้นในเดือนมีนาคม

ตัวอย่าง PHP (PESO) ของฟิลิปปินส์ค่อนข้างแข็งในระหว่าง 32 สกุลเงิน แต่อ่อนกว่า BAHT เล็กน้อย และเมื่อเทียบกับ BAHT เงิน BAHT แข็งค่า 2.70 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับ PHP เงิน PHP แข็งมาตั้งแต่ต้นปีแล้ว 2013 แล้ว

ประเทศไทยเคยมีปัญหาสภาพคล่องของระบบเสียหาย เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ จนต้องเข้ารับความช่วยเหลือจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ IMF มาแล้วถึง 2 ครั้ง หลังการเกิดวิกฤตครั้งแรกได้มีความพยายามที่จะป้องกันปัญหาหา แก้ไขปัญหา เพื่อจะไม่ให้เกิดวิกฤตเกิดขึ้นซ้ำอีก เช่นการตั้งกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน 2528 แต่แล้วก็เกิดวิกฤตเศรษฐกิจซ้ำเป็นครั้งที่ 2

การลอยค่าเงินบาท ไม่ได้เกิดจากการบริหารจัดการแบบมีความเข้าใจ แต่ลอยค่าเงินบาทเนื่องจากไม่มีทางเป็นอื่น จำใจ ไม่มีทางออก หลายประเทศยกตัวอย่างเช่นประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ไม่ได้มีการผูกค่าเงินเหรียญไว้ ก็ประสบวิกฤตเศรษฐกิจอย่างหนักในปี 2000 กระทั่งเงินเหรียญสหรัฐไหลออกนอกประเทศ ไปก่อความเสียหายให้ทั่วโลก

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง อ่อนไหวในเรื่องน้ำท่วม แสดงการร้องไห้ออกสื่อ เรื่องน้ำท่วมพื้นที่เป็นเรื่องที่เห็นด้วยตา แต่อันตรายน้อยมากเมื่อเทียบกับเงินท่วมประเทศ แต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ไม่ได้อินังขังขอบอะไรกับเงินท่วมประเทศ น้ำท่วมประเทศมีความพยายามที่จะแก้ไขปัญหา เห็นได้จากการกู้เงินมาใช้ในการแก้ไขปัญหา แต่ไม่ได้มีการทำสิ่งใดในการแก้และป้องกันปัญหาเรื่องเงินท่วมประเทศ ที่ทำกันมาก็เป็นการแก้ปัญหาปลายเหตุและหาประโยชน์จากเงินท่วมประเทศ

ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ ได้มีการสะสมตั้งแต่มีการเปิดตลาดอนุพันธ์ในปี 2549 วิกฤตเศรษฐกิจครั้งที่ 2 ยังเกิดขึ้นได้ แล้วทำไมวิกฤตครั้งที่ 3 จะเกิดขึ้นอีกไม่ได้

การชำระหนี้ 2 ล้านล้านบาท ที่ว่าจะทำได้ภายใน 50 ปีนั้น เป็นการคำนวณทางคณิตศาสตร์แบบตรงไปตรงมา โดยไม่ได้คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่อาจจะมีการเบี่ยงเบนไป ดูตัวอย่างหนี้ของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ 1.392 ล้านล้านบาท ได้มีการชำระหนี้มาแล้ว 12 ปี ชำระได้เพียง 2.5 แสนล้านบาทเท่านั้น ยังมีหนี้เหลืออยู่ 1.142 ล้านล้านบาท ที่ประมาณว่าจะต้องใช้เวลา 45 ปี จึงจะใช้หนี้ที่เหลือนี้ได้หมด รวมแล้วจะต้องใช้เวลา 57 ปี จึงจะใช้หนี้ได้หมด แล้วหนี้ 2 ล้านล้านบาท คงยากที่จะชำระได้หมดภายใน 50 ปี

จากที่เงินท่วมประเทศไทย กลายเป็นหนี้ท่วมประเทศไทย รวมทั้งหนี้ต่างๆ ที่ไม่ได้มีความตั้งใจจะใช้หนี้ จะทำให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจขึ้นมาอีก เป็นครั้งที่ 3 เงินกู้เกินความพอเพียง ที่ตั้งใจจะให้เกิดความเจริญกับระบบ ก็จะร่วมซ้ำเติมให้ระบบขาดความเชื่อมั่นด้วย จะเพิ่มความเสื่อมทรุดกับระบบเศรษฐกิจไทยมากขึ้น

เวรกรรมซ้ำเติมประเทศไทย

ประเทศไทยมีทักษิณ ชินวัตรคนเดียวก็เหลือขอแล้ว แต่นี่เรามีกิตติรัตน์ ณ ระนองเพิ่มขึ้นมาอีก

http://twitter.com/indexthai2

indexthai2@gmail.com
กำลังโหลดความคิดเห็น