xs
xsm
sm
md
lg

คล้ายกับการปล้นชาติและขายสมบัติชาติ

เผยแพร่:   โดย: สุทธิพงษ์ ปรัชญพฤทธิ์

Maintenance margin & force sell คือสิ่งที่อันตรายสำหรับตลาดหุ้น เมื่อนำมาใช้ในตลาดที่ดัชนีชี้นำมีค่าเบี่ยงเบนสูง (SET index) ยิ่งทำให้เกิดอันตรายมากขึ้นไปอีก Maintenance margin & force sell ถูกนำมาใช้เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 1993 Hedge funds รู้แล้วว่าอะไรจะเกิดกับตลาดหุ้นไทย ได้สวมรอยลาก SET index ขึ้นไปสูงสุดในต้นปี 1994 แล้วจึงถล่มทุบลงมา SET index ใช้เวลาตกประมาณ 5 ปี SET index ตกลงถึง 88 เปอร์เซ็นต์

ตลาดหุ้นตก ทำให้ค่าเงินบาทตกลงด้วย ทำให้ผู้คนไม่เชื่อถือในค่าเงินบาท ทิ้งเงินบาท วิธีทิ้งเงินบาท ก็คือเอาบาทมาแลกเงินตราต่างประเทศที่ธนาคารแห่งประเทศไทย ทำให้เงินบาทหายไปจากระบบ ทำให้สภาพคล่องของระบบเสียหาย ทำให้ธุรกิจล้มลง ทำให้คนตกงาน ทำให้เงินเฟ้อสูง เรื่องเช่นนี้เกิดที่ประเทศใด ก็เป็นแบบเดียวกันทุกประการ

ทางการไทยไม่ทราบว่าเงินบาทเสียหายตามการพังทลายของตลาดหุ้น ก็ไปพยุงค่าเงินบาทเอาไว้ ยิ่งทำให้มีการทิ้งเงินบาทมากขึ้น จนกระทั่งทุนสำรองของประเทศจากที่เคยมีประมาณ 40,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เหลือประมาณ 1,144 ล้านเหรียญสหรัฐ ทางการไทยจึงยอมยกธงขาว ยุติการปกป้องเงินบาท ต้องลอยค่าเงินบาท และเข้ารับความช่วยเหลือทางการเงินจาก IMF เป็นครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 1997

พบว่าที่ SET index ระหว่าง 1,300-1,750 ต่างชาติขายสุทธิ 5-6 เดือนติดต่อกัน ต่างชาติมีกำไรจากตลาดหุ้นไทยอย่างเดียว แล้วก็เอาเงินบาทที่ได้จากการเทขายหุ้นมาแลกเงินตราต่างประเทศไทยธนาคารแห่งประเทศไทย ผู้เขียนเคยประมาณการไว้ ต่างชาติมีกำไรจากความเสียหายของค่าเงินบาทประมาณ 800,000 ล้านบาท

ก่อนหน้านี้ประเทศไทยเคยเข้ารับความช่วยเหลือทางการเงินจาก IMF มาแล้วครั้งหนึ่ง ซึ่งมีต้นเหตุมาจากตลาดหุ้นพังทลายในปี 1978 เช่นเดียวกัน ตอนนั้นเป็นเพียงการลดค่าเงินบาท เป็นความเสียหายที่สูง แต่ก็ยังเสียหายน้อยกว่าการเกิดวิกฤตจนกระทั่งต้องลอยค่าเงินบาทและเข้าโครงการ IMF เป็นครั้งที่ 2

หลังการเข้ารับความช่วยเหลือทางการเงินจาก IMF เป็นครั้งที่ 2 พบว่าเศรษฐกิจของประเทศเสียหายแบบไม่เคยเป็นมาก่อน สถาบันการเงินถูกปิด 56 แห่ง ธนาคารเอกชนขนาดใหญ่ก็ตกเป็นของต่างชาติ ภาคการผลิตจริงก็ล้มลงทั่วประเทศ เกิดหนี้เสียท่วมประเทศ แสดงให้เห็นโดยมีหนี้ที่กองทุนเพื่อการฟื้นฟู 1.4 ล้านล้านบาท หลายส่วนไม่ได้แสดงให้เห็นเป็นตัวเลขของความเสียหาย เช่น ธนาคารเอกชนขนาดใหญ่ที่ไม่ได้ใช้สภาพคล่องจากกองทุนเพื่อการฟื้นฟู ไปเอาสภาพคล่องจากต่างชาติ ในที่สุดใบหุ้นก็ตกไปเป็นของต่างชาติ หากธนาคารเอกชนขนาดใหญ่ได้ใช้สภาพคล่องจากกองทุนเพื่อการฟื้นฟู หนี้สรุปของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูอาจจะสูงถึง 4 ล้านล้านบาท

ตัวอย่างเช่นหุ้นของธนาคารกรุงไทย เมื่อไม่สามารถคืนหนี้สภาพคล่องให้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูได้ ทำให้หลักประกันใบหุ้นต้องตกเป็นของกองทุนเพื่อการฟื้นฟู 55.15 เปอร์เซ็นต์ หุ้นเกินครึ่งตกเป็นของกองทุนเพื่อการฟื้นฟู สมมติว่าหากกองทุนเพื่อการฟื้นฟูเป็นต่างชาติ ก็แสดงได้ว่าหุ้นของธนาคารกรุงไทยก็ตกเป็นของต่างชาติ 55.15 เปอร์เซ็นต์เช่นกัน

ที่เคยทราบว่าหุ้นของสถาบันการเงินไทย จะให้ต่างชาติถือหุ้นได้ไม่เกิน 25 เปอร์เซ็นต์ เห็นข้อมูลจากตารางนี้ จึงทราบว่าไม่เป็นความจริง หากรวมหุ้นสถาบันการเงินของต่างชาติผ่าน NVDR ด้วยแล้ว จะเห็นว่าต่างชาติถือหุ้นของสถาบันการเงินเกิน 50 เปอร์เซ็นต์

ความเสียหายทางเศรษฐกิจจนกระทั่งต้องเข้ารับความช่วยเหลือทางการเงินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ครั้งที่ 2 มีต้นเหตุมาจากการพังทลายของตลาดหุ้นในปี 1993-1998 เป็นที่มาของการออกกฎหมายฟื้นฟูเศรษฐกิจ 11 ฉบับ เพื่อใช้ในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและใช้หนี้ไอเอ็มเอฟ

รัฐบาลชวน 1 นำระบบ Maintenance margin & force sell มาใช้ในตลาดหุ้นในปี 1993 แล้วรัฐบาลชวน 2 ต้องมารับกรรม 2 โดยออกพ.ร.บ.ฟื้นฟูเศรษฐกิจ 11 ฉบับในปี 1999 กฎหมายนี้ออกโดยคนไทย นำเสนอเพื่อขอรับความช่วยเหลือทางการเงินจาก IMF เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ เพิ่มการเสียอธิปไตยทางเศรษฐกิจของประเทศมากขึ้น สังคมกล่าวขานว่าเป็นกฎหมายขายชาติ 11 ฉบับที่จริงรัฐบาลชวน 2 ไม่ได้รับกรรมแต่อย่างใด ประชาชนคนไทยและประเทศไทยต่างหากเป็นผู้รับกรรม

ยังเป็นความโชคดีของประเทศไทยที่ปี 2000 ตลาดหุ้น NASDAQ ของอเมริกาพังทลายลง ทำให้ค่าเงินเหรียญสหรัฐเสียหายตามมา คนไม่ถือสกุลเงินเหรียญสหรัฐ ทิ้งเงินเหรียญสหรัฐมาถือเงินสกุลอื่น คือปรากฏการณ์ที่เงินไหลออกจากประเทศสหรัฐอเมริกา ไหลเข้าไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลก รวมทั้งไหลไหลเข้าประเทศไทยด้วย

ทำให้สภาพคล่องประเทศไทยกลับคืนมาอย่างไม่คาดหมายทำให้เศรษฐกิจของประเทศไทยฟื้นตัว แต่ฟื้นตัวหลังจากที่ทรัพย์สินของประเทศไทยตกไปเป็นของต่างชาติแล้ว

ผีซ้ำด้ามพลอยประเทศไทย แทนที่จะเป็นความโชคดีของประเทศไทยความโชคดีของประเทศไทยกลับถูกตีกลับจากกิเลสความมักง่ายของผู้บริหารประเทศเอง รัฐวิสาหกิจหลายแห่งถูกแปรรูปเข้าตลาดหุ้น นำความเดือดร้อนมาสู่ประชาชนของประเทศโดยทั่วหน้า

เรื่องนี้เกี่ยวข้องกับตลาดหลักทรัพย์ด้วย

รัฐบาลทักษิณเข้าบริหารประเทศในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2001 เป็นรัฐบาลทักษิณ 1 และทักษิณ 2 และยุติลงหลังถูกรัฐประหารในวันที่ 19 กันยายน 2006 ระยะเวลาอยู่ในตำแหน่งเกือบ 6 ปี

นายกิตติรัตน์ ณ ระนองเข้ารับตำแหน่งผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์วันที่ 10 กันยายน 2001 และหมดวาระเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2006

ช่วงของรัฐบาลทักษิณ เป็นช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญที่มีน้ำหนักต่อฐานะเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญ ทรัพย์สินของประเทศไทยกลับตกเป็นของต่างชาติมากขึ้น

ไม่มีปี่มีขลุ่ย ได้มีการแปรรูปตท. (PTT) เข้าตลาดหลักทรัพย์ในวันที่ 6 ธันวาคม 2001 หลังทักษิณเป็นรัฐบาลได้ 10 เดือน การซื้อขายปตท.วันแรก SET index อยู่ที่ระดับ 305.25 จุด ปตท.ปิดที่ 35.75 บาท

ช่วงการมาของรัฐบาลทักษิณเป็นช่วงที่เงินเหรียญสหรัฐเสียหาย เป็นช่วงที่เงินทุนจากประเทศสหรัฐอเมริกาเริ่มไหลเข้าประเทศไทยพอดีทำให้ทุนสำรองของประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ค่าเงินบาทสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2001 วันเริ่มต้นรัฐบาลทักษิณ ทุนสำรองฯ อยู่ที่ 30.90 พันล้านเหรียญสหรัฐ ค่าเงินบาท 42.265 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ทุนสำรองคิดเป็น 1,306 พันล้านบาท

วันที่ 31 กรกฎาคม 2003 ประเทศไทยประกาศชำระหนี้ IMF งวดสุดท้าย ทุนสำรองฯ อยู่ที่ 39.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ ค่าเงินบาท 41.98 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ทุนสำรองคิดเป็น 1,666.61 พันล้านบาท

วันที่ 19 กันยายน 2006 วันรัฐประหารรัฐบาลทักษิณ ทุนสำรองฯ อยู่ที่ 65.80 พันล้านเหรียญสหรัฐ หลังการรัฐประหารทุนสำรองก็ยังคงสูงขึ้น ค่าเงินบาท 37.77 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ทุนสำรองคิดเป็น 2,485.27 พันล้านบาท

วันที่ 19 ธันวาคม 2006 วันที่ออกมาตรการกันสำรอง 30 เปอร์เซ็นต์เงินทุนไหลเข้า ทุนสำรองฯ อยู่ที่ 73.70 พันล้านเหรียญสหรัฐ ค่าเงินบาท 35.765 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ทุนสำรองคิดเป็น 2,635.88 พันล้านบาท

วันที่ 8 สิงหาคม 2011 วันเริ่มต้นรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ทุนสำรองฯ อยู่ที่ 213.98 พันล้านเหรียญสหรัฐ ค่าเงินบาท 30.02 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ทุนสำรองคิดเป็น 6,423.78 พันล้านบาท

วันที่ 26 สิงหาคม 2011 วันที่ทุนสำรองสูงสุด ทุนสำรองฯ อยู่ที่ 215.71 พันล้านเหรียญสหรัฐ ค่าเงินบาท 29.902 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ทุนสำรองคิดเป็น 6,450.16 พันล้านบาท

วันที่ 2 สิงหาคม 2013 ทุนสำรองล่าสุดอยู่ที่ 194.80 พันล้านเหรียญสหรัฐ ค่าเงินบาท 31.26 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ทุนสำรองคิดเป็น 6,089.45 พันล้านบาท

รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ทุนสำรองลดลงอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 2 ปีแล้ว

สรุปเรื่องการเพิ่มขึ้นของทุนสำรองเงินตราของประเทศไทยได้ 2 ประเด็น

ประเด็นแรก เป็นผลมาจากการพังทลายของตลาด NASDAQ และค่าเงินเหรียญสหรัฐที่เกิดขึ้นในปี 2000 ทำให้เงินทุนไหลเข้าประเทศไทย ประเด็นนี้ไม่ใช่ฝีมือของรัฐบาลหรือของใครทั้งสิ้น

ประเด็นที่ 2 เกิดจากการเปิดตลาดอนุพันธ์ในปี 2006 เกิดขึ้นในรัฐบาลทักษิณ ทำให้เงินทุนไหลเข้าประเทศไทยอย่างท่วมท้น เงินทุนไหลเข้าอย่างผิดปกติ เมื่อมันไหลเข้าอย่างผิดปกติ มันก็จะไหลออกอย่างผิดปกติได้เช่นกัน เริ่มจากรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ทุนสำรองได้ลดลงลงอย่างต่อเนื่องมา 2 ปีแล้ว หรือเงินได้ไหลออกอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลา 2 ปีแล้ว อันนี้ถือว่าเป็นฝีมือของรัฐบาลทักษิณโดยตรง

การนำระบบ Maintenance margin และ Force sell มาใช้ในตลาดหุ้นในปี 1993ในรัฐบาลชวน 1 เป็นต้นเหตุให้ประเทศไทยเกิดวิกฤต และต้องเข้ารับความช่วยเหลือทางการเงินจาก IMF เป็นครั้งที่ 2

การเปิดตลาดอนุพันธ์ในปี 2006 ในรัฐบาลทักษิณจะเป็นต้นเหตุให้ประเทศไทยเกิดวิกฤต และต้องเข้ารับความช่วยเหลือทางการเงินจาก IMF เป็นครั้งที่ 3 คอยตามดู

ปี 2006 ในรัฐบาลทักษิณเริ่มต้นตลาดอนุพันธ์ที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในรัฐบาลต่อๆ มามีการเพิ่มสินค้าอนุพันธ์เข้ามาซื้อขายในตลาดหุ้น และครบถ้วนมากที่สุดในรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์การซื้อขายตัวเลขอ้างอิงอนุพันธ์ใช้เงินประกัน 5-10 เปอร์เซ็นต์สามารถซื้อตัวเลขอ้างอิงของสินค้าอนุพันธ์ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ สามารถทำกำไรได้ทั้งตลาดเป็นขาขึ้นและขาลง (หรือขาดทุนทั้งขาขึ้นและขาลง) เป็นที่นิยมของ Hedge fund โลกมาก พวกเขามีความชำนาญในการกำไรกระดาษทุกประเภท(Paper trade) เป็นต้นเหตุทำให้เงินไหลเข้าประเทศไทยอย่างรุนแรง ส่งผลให้ระหว่างปี 2006-2007 ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างรุนแรง ค่าเงินบาทแข็งขึ้น 40.30 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับเงินเหรียญสหรัฐ

ช่วง Hamburger crisis ค่าเงินบาทตกลง 19.47 เปอร์เซ็นต์

หลังถูกรัฐประหาร พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรพูดในหลายโอกาส รวมทั้งการโฟนอิน และวิดีโอลิงก์มายังกลุ่มผู้ชุมนุม นปช.ว่าการทำรัฐประหารทำให้ต่างชาติไม่มาลงทุนในไทย จะทำให้ประเทศไทยล้าหลัง

แต่หากดูตัวเลขทุนสำรองเงินตราต่างประเทศและค่าเงินบาท ที่สูงขึ้นตลอดเวลา แม้จะหลังการรัฐประหารก็ตาม จะทราบว่าทักษิณมุสา กล่าววาจาที่ไม่จริง นั่งเทียนพูด ใช้ความเท็จหาเสียงกับผู้คน

ทุนสำรองและค่าเงินบาทในรัฐบาลพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ที่มาจากคณะรัฐประหารสูงกว่าของรัฐบาลทักษิณ และรัฐบาลที่ต่อจากรัฐบาลพล.อ.สุรยุทธ์ทุนสำรองและค่าเงินบาทก็เพิ่มสูง ยกเว้นในช่วง Hamburger crisisในปี 2008 ที่ทุนสำรองและค่าเงินบาทลดลง ซึ่งตรงกับรัฐบาลสมัคร-สมชาย

การแปรรูปปตท.

การแปรรูปปตท.ยึดโยงถึงกฎหมายฟื้นฟูเศรษฐกิจ 11 ฉบับ ค.ศ.1999 (2542) ที่ทำไว้ในรัฐบาลชวน 2 ที่เตรียมไว้ หากครบกำหนดการชำระหนี้ IMF ประเทศไทยไม่มีสภาพคล่อง ก็อาจจะสามารถขายรัฐวิสาหกิจใช้หนี้ IMF ซึ่งเป็นเรื่องที่ทารุณจิตใจคนไทย ที่สมบัติของตนเองต้องถูกขายใช้หนี้ IMF

ดูแล้ว การแปรรูปปตท.นี้ไม่น่าจะเกี่ยวข้องอันใดกับการใช้หนี้ IMF เพราะเหลือเวลาอีก 4-5 ปี จึงจะครบกำหนดการใช้หนี้ IMF แล้วจะรีบแปรรูปปตท.ไปทำไม

(ดูกราฟ SET index ในช่วงต้นของบทความ) ช่วงระยะเวลาของการเสนอขายหุ้น (Initial Public Offering - IPO) เป็นช่วงที่ตลาดหุ้นไทยตกต่ำมายาวนาน SET index อยู่ที่ระดับประมาณ 300 จุด จากที่เคยสูงสุด 1,750 จุดในต้นปี 1994 (ช่วงการทำ IPOปตท. SET index อยู่ต่ำกว่าจุดสูงสุดประมาณ 83 เปอร์เซ็นต์)

เป็นช่วงที่ไม่น่ามีการแปรรูปรัฐวิสาหกิจใดๆ ทั้งสิ้น เพราะจะทำให้ขายได้ราคาต่ำ ทำให้ประเทศได้เงินน้อย

ตอนแรกมีข่าวว่าจะ IPO ที่ราคา 50 บาท ต่อมาก็มีข่าวอีก ซึ่งเป็นเสียงของคนไทยว่า 50 บาทแพงไป ต่างชาติไม่สนใจ จะทำให้ขายไม่ออกจะเอาใจต่างชาติอะไรถึงปานนั้น จะตั้งใจขายสมบัติของชาติให้ต่างชาติอะไรขนาดนั้น จะตั้งใจขายชาติขนาดนั้นเลย

ในที่สุดปตท. IPO ที่ราคาหุ้นละ 35 บาท

ผู้เขียนลองเอาราคาปิดของปตท. ที่ซื้อขายวันแรก คือวันที่ 6 ธันวาคม 2001 ที่ 35.75 บาท และ SET index ปิดที่ 305.25 มาปรับเป็นฐาน 100 เท่ากัน เพื่อง่ายต่อการเปรียบเทียบภาพความแตกต่างด้วยสายตา ในช่วงระยะเวลาเดียวกัน

ช่วงปลายปี 2007 SET หรือหลังจาก IPO ประมาณ 6 ปี ราคาปตท.ขึ้นมาเป็น 1,231 เปอร์เซ็นต์ SET index ขึ้นมาเป็น 300 เปอร์เซ็นต์

หุ้นที่นำมา IPOได้มาจากการเพิ่มทุน 750 ล้านหุ้น มาจากกระทรวงการคลัง 50 ล้านหุ้น รวม 800 หุ้น ตามราคาและจำนวนหุ้นที่จัดสรรดังนี้

ได้เงิน 27,375 ล้านบาทจากการ IPO ปตท. ไม่พอใช้หนี้ IMF ที่มีอยู่กว่า 500,00 ล้านบาทแต่อย่างใด

ถ้าไม่รีบร้อนในการแปรรูปปตท. แต่ยืดเวลาการแปรรูปมาอีก 3-4 ปี ก็จะทำให้ได้มูลค่าการแปรรูปมากกว่านี้ เนื่องจาก SET index สูงขึ้นเป็น 600-800 จุด ราคา IPO ไม่ต้องสูงถึงกว่า 1,000 เปอร์เซ็นต์อย่างที่กราฟแสดงให้เห็นก็ได้ อาจะทำให้ได้ราคาที่สูงขึ้นมาประมาณ 5-600 เปอร์เซ็นต์ คือIPOที่ราคาหุ้นละ 140-175 บาท ก็จะทำให้ได้เงิน 109,500-136,875 ล้านบาท พอสมน้ำสมเนื้อ หากอ้างว่าจะเอาไปใช้หนี้ IMF

อย่างไรก็ดี ไม่ควรจะมีการแปรรูปรัฐวิสาหกิจใดๆ ทั้งสิ้น ตอนหลังข่าวจากกระทรวงการคลังว่าจะไม่มีการแปรรูปรัฐวิสาหกิจอีกแต่อย่างใด ไม่ทราบมาบอกอะไรตอนนี้ แล้วตอนนั้นทำไมจึงมีการแปรรูปรัฐวิสาหกิจได้

กฎของตลาดหลักทรัพย์บอกว่า หุ้นที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ต้องทำกำไรให้ผู้ถือหุ้น ผู้ถือหุ้นรายย่อยปตท.มีประมาณ 2 หมื่นคน ทำให้ประชาชน 65 ล้านคนต้องซื้อผลิตภัณฑ์จากปตท.ที่แพง เพื่อทำให้ปตท.มีกำไร มีเงินปันผลไปจ่ายให้ผู้ถือหุ้น

กฎของตลาดหลักทรัพย์ก็บอกไว้เหมือนกันว่า หุ้นที่ผูกขาดในกิจการใด จะนำมาจดทะเบียนเข้าซื้อขายในตลาดหุ้นไม่ได้ ปตท.ผูกขาดโรงกลั่นน้ำมัน 5-6 แห่ง ทำไมจึงจดทะเบียนเข้าซื้อขายในตลาดหุ้นได้

เป็นไปได้ที่คนคิดแปรรัฐวิสาหกิจ อยากจะได้หุ้นปตท.ที่ราคาถูกๆ โดยผ่านนิติบุคคลที่เป็นนอมินีที่ต่างประเทศ PTT คือหุ้นที่มีมูลค่าสูงที่สุดในตลาดหุ้น มี Market capitalization กว่า 1 ล้านล้านบาท หรือประมาณ 50% ของงบประมาณแผ่นดินในแต่ละปี ถ้าเป็นเจ้าของปตท. 10-20 เปอร์เซ็นต์ ก็เท่ากับมีทรัพย์สินเท่ากับงบประมาณแผ่นดิน 10-20 เปอร์เซ็นต์ รับปันผลอีกปีละ 3-6 พันล้านบาท

การใช้หนี้ IMF งวดสุดท้าย

ประเทศไทยได้ใช้หนี้ IMF งวดสุดท้าย เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2003 (2546) ซึ่งเป็นการใช้หนี้ก่อนกำหนดถึง 2 ปี (ดูกราฟทุนสำรองเงินตราต่างประเทศ)

บางตอนของสุนทรพจน์ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ณ ศูนย์แถลงข่าว ทำเนียบรัฐบาล วันพฤหัสบดีที่ 31 กรกฎาคม 2546 เวลา20.30 น.

“วันนี้เป็นวันที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ชำระหนี้ไอเอ็มเอฟก้อนสุดท้ายเมื่อกลางวันนี้ได้ชำระคืนให้กับธนาคารของประเทศญี่ปุ่นและเย็นนี้ซึ่งเป็นเวลากลางวันของซีกประเทศตะวันตกก็ได้ชำระเงินก้อนสุดท้ายคืนให้กับไอเอ็มเอฟ ทั้งหมดที่ชำระคืนในวันนี้ก็ประมาณ 60,000 กว่าล้านบาท เป็นก้อนสุดท้ายแล้ว หลังจากที่ได้เจอวิกฤตเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2540 ทำให้เราต้องลดค่าเงินบาท ประเทศขาดความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ เงินไหลออก เราต้องเข้าโปรแกรมไอเอ็มเอฟ ซึ่งขณะนั้นทางไอเอ็มเอฟร่วมกับธนาคารกลางและกระทรวงการคลังของ 8 ประเทศ และประเทศญี่ปุ่นได้อนุมัติวงเงินให้เรากู้เป็นเงินถึง 14,500 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่เราได้มีการเบิกใช้จริง 12,296 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 510,000 ล้านบาท ซึ่งรัฐบาลที่แล้วได้ใช้หนี้ส่วน510,000 ล้านบาทนี้ไป 10,000 ล้านบาท เหลือหนี้ทั้งหมด 500,000 ล้านบาท รัฐบาลนี้ได้เข้ามาทำงาน 2 ปีครึ่ง ได้ชำระหนี้ทั้ง 500,000 ล้านบาทหมดในวันนี้ ทำให้เราถือว่าหมดพันธะต่อการที่ต้องพึงปฏิบัติตามพันธกรณีที่มีไว้ต่อไอเอ็มเอฟ

พี่น้องประชาชนที่เคารพครับ ประเทศไทยเคยเข้าโครงการไอเอ็มเอฟมาแล้วครั้งหนึ่ง ในช่วงปี 2524, 2525 และ 2528 ทั้ง 3 สัญญาในช่วงนั้น เรากู้เงินมา 982 ล้านเหรียญสหรัฐ และเราใช้คืนหมดเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2533 เรากู้ตั้งแต่ปี 2524, 2525 และ 2528 เพียงแค่ไม่ถึง 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

แต่ครั้งนี้เรากู้ถึง 12,296 ล้านเหรียญสหรัฐ และเราใช้คืนในวันนี้ (31 กรกฎาคม 2546)

ครั้งที่แล้วใช้คืนเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2533

แต่หลังจากนั้นเพียง 7 ปีกับ 4 เดือนครับ เราเกิดวิกฤตอีกครั้งหนึ่ง ทำไมถึงมีวิกฤตห่างกันกันเพียงแค่ 7 ปี และวิกฤตเมื่อกรกฎาคม 2540 เป็นวิกฤตที่รุนแรง เป็นวิกฤตที่เราต้องกู้เงินถึง 510,000 ล้านบาท…”

“…เหตุการณ์เหล่านี้ต้องไม่เกิดอีก ครั้งนี้ขอให้เป็นครั้งสุดท้ายที่เราจะต้องเข้าโปรแกรมไอเอ็มเอฟ ถึงแม้ว่าครั้งแรกกับครั้งนี้ห่างกันเพียง 7 ปี แต่ครั้งนี้รัฐบาลได้เข้ามา ได้พยายามแก้ปัญหาหลายๆ อย่างเพื่อให้เกิดความมั่นคง โดยดูตัวเลขทุกตัว ดูทิศทางทุกทิศทางเพื่อให้มั่นใจว่าเราจะไม่เกิดเหตุการณ์อย่างนี้อีก เพราะว่าเมื่อปี 2540 ผมเชื่อว่าวันนี้หลายคนยังไม่หายเจ็บปวด ความเจ็บปวดครั้งนี้ควรจะเป็นบทเรียนที่ให้กับคนไทยทั้งประเทศ…”

ดูสุนทรพจน์ทั้งหมด
http://www.oknation.net/blog/indexthai/2008/06/12/entry-1

ผู้อ่านต้องตั้งสติในการอ่านสุนทรพจน์ให้ดี คนร่างสุนทรพจน์นี้ไม่ทราบว่าเป็นใคร ร่างสำนวนได้หยดย้อย เป็นเพียงวาทะกรรม พูดแบบจินตนาการ เป็นเรื่องเหลือเชื่อ ที่รัฐบาลมาบริหารประเทศ 2 ปี สามารถหาเงินได้ 500,000 ล้านบาทมาใช้หนี้ไอเอ็มเอฟ “โดยดูตัวเลขทุกตัว ดูทิศทางทุกทิศทางเพื่อให้มั่นใจว่าเราจะไม่เกิดเหตุการณ์อย่างนี้อีก” ผู้เขียนไม่ทราบว่า ดูตัวเลขและดูทิศทางนั้นคืออะไร แก้ตัวเลขและทิศทางแบบไหน ไม่มีรายละเอียด พูดแบบมั่ว

ที่ผู้เขียนอารัมภบทช่วงต้นของบทความอย่างละเอียดยืดยาว เพื่อให้เข้าใจถึงต้นเหตุที่ของทุนสำรองไทยสูงขึ้น ค่าเงินบาทสูงขึ้นเพราะอะไร การพังของตลาดหุ้น NASDAQ ในปี 2000 ทำให้ค่าเงินเหรียญสหรัฐเสียหาย ไม่ได้รับความเชื่อมั่น ผู้คนพากันทิ้งเงินเหรียญสหรัฐ โดยที่ไหลลอกมาซื้อสินทรัพย์นอกสกุลเงินเหรียญสหรัฐ ไหลเข้าไปซื้อสกุลเงินประเทศต่างๆ รวมทั้งไหลเข้ามาแลกซื้อเงินบาทของไทย ที่ส่งผลให้ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศของไทยสูงขึ้น ค่าเงินบาทสูงขึ้น จนสามารถใช้หนี้ไอเอ็มเอฟได้ก่อนกำหนดถึง 2 ปีนั่นเอง

ดังนั้น การที่ประเทศไทยสามารถใช้หนี้ไอเอ็มเอฟได้หมด จึงไม่ได้เกิดจากฝีมือของรัฐบาลทักษิณ หรือฝีมือของใครทั้งสิ้น มันเป็นไปตามกลไกความเสียหายทางเศรษฐกิจจากสหรัฐอเมริกา

การไม่เข้าใจถึงที่มาของเงินที่นำมาใช้หนี้ไอเอ็มเอฟว่าเป็นมาอย่างไรทำให้การบริหารจัดการเศรษฐกิจตามมาก็เบี่ยงเบนและไม่ถูกต้องตามไปด้วย เป็นความไม่ถูกต้องที่ซ้ำเติมความเสียหายให้กับประเทศไทย เป็นผีซ้ำด้ามพลอยเป็นครั้งที่ 2

อีกตอนหนึ่งของปาฐกถา“เรื่องต่อไป คือเรื่องกฎหมาย 11 ฉบับที่เราห่วงใยกัน รัฐบาลได้เชิญผู้ที่ห่วงใยในเรื่องนี้มาพูดคุยกัน ปรึกษากัน และในที่สุดเราสรุปว่า จะมีการแก้ไขในบางฉบับ ดังต่อไปนี้

“1) กฎหมายทุนรัฐวิสาหกิจ ก่อนนี้ในกติกาเราต้องขายรัฐวิสาหกิจเพื่อนำเงินมาใช้หนี้ (IMF) แต่วันนี้ไม่ใช่ครับ เราจะกระจายหุ้นรัฐวิสาหกิจในตลาดหลักทรัพย์ เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการขยายการลงทุน เพื่อให้เกิดการบริหารงานอย่างมืออาชีพ และเพื่อให้เกิดการตรวจสอบได้ทุกระบบ ซึ่งตรวจสอบจากระบบของตลาดทุนและตรวจสอบด้วยระบบของราชการ ตรวจสอบด้วยระบบของผู้ถือหุ้นเอง…”

แม้ไม่ต้องใช้หนี้ไอเอ็มเอฟแล้ว ก็ยังคิดแปรรูปรัฐวิสาหกิจอีก มีการแปรรูปรัฐวิสาหกิจอีกหลายแห่งตามมา บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (AOT) เข้าซื้อขายวันที่13 มีนาคม 2004 บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (TOP) เข้าซื้อขายวันที่16 ตุลาคม 2004 บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) (MCOT) เข้าซื้อขายวันที่17 พฤศจิกายน 2004

กฎหมายทุนรัฐวิสาหกิจ เป็น 1 ใน 11 ฉบับ ที่ประชาชนคนไทยบอกว่าเป็นกฎหมายขายชาติ ตอนหาเสียงเพื่อขอรับการเลือกตั้งก็บอกว่าจะมายกเลิกกฎหมายขายชาติ 11 ฉบับ แต่เมื่อได้มาเป็นรัฐบาลกลับมาทำให้การขายชาติเป็นจริงเร็วขึ้น

ผู้นำที่มุสาเป็นประจำ ไม่รักษาคำพูด ไม่ใช้ผู้นำที่ดี จะนำความแตกแยกและความเดือดร้อนมาสู่สังคม

ผีซ้ำกรรมซัดประเทศไทยอีกเป็นครั้งที่ 3

เมื่อมีการออกกฎหมายเพิ่มการถือครองธุรกิจคมนาคมของต่างชาติ จากไม่เกิน 25 เปอร์เซ็นต์เป็นไม่เกิน 49 เปอร์เซ็นต์ หลังจากประกาศในราชกิจจานุเบกษาได้วันเดียว ก็มีการขายชินคอร์ป 49 เปอร์เซ็นต์ให้แก่กองทุนเทมาเส็กของสิงคโปร์เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2006 เรื่องราวการขายชินคอร์ปเป็นที่โจษขานกันมาเป็นเวลานาน ผู้เขียนไม่ใช่นักกฎหมาย แล้วกฎหมายการเพิ่มการถือครองธุรกิจโทรคมนาคมดังกล่าวโผล่มาได้อย่างไรโดยไม่มีใครรู้ล่วงหน้ามาก่อน ผู้มีส่วนได้เสียออกกฎหมายเองหรือไม่ เมื่อออกกฎหมายแล้ว ก็เอาทรัพย์ของตนเองซึ่งเป็นของประเทศชาติด้วยไปขายให้ต่างชาติ

ผู้เขียนงง ต่างชาติมีการขายซื้อขายชินคอร์ปในตลาดหุ้นมาก่อนหน้านั้นแล้วส่วนหนึ่ง เมื่อมีการขายชินคอร์ปอีก 49 เปอร์เซ็นต์ รวมแล้วก็จะทำให้สัดส่วนการถือหุ้นชินคอร์ปเกิน 49 เปอร์เซ็นต์แน่นอน ไม่ทราบตลาดหุ้นทำออกมาได้อย่างไร

การเกิดวิกฤตจนต้องเข้า IMF เป็นครั้งที่ 2 ทำให้ทรัพย์สินของประเทศไทยเสียหายและตกเป็นของต่างชาติจำนวนมากมาแล้ว

ระหว่างวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2001 ถึงวันรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2006 หรือช่วงระยะเวลาประมาณ 6 ปีของรัฐบาลทักษิณ ทำให้ประเทศไทยต้องขายทรัพย์สินให้ต่างชาติมากขึ้นไปอีก

ประเทศสิงคโปร์เป็นประเทศเล็ก มีพื้นที่ 710 ตารางกิโลเมตร ใหญ่กว่าเกาะภูเก็ตเล็กน้อย จังหวัดภูเก็ตมีพื้นที่ 543 ตารางกิโลเมตร และมีประชากรน้อยกว่าประเทศไทยมาก แม้ไม่มีทรัพยากรเป็นของตัวเอง แต่เขามีทรัพยากรที่อยู่ที่ประเทศไทยจำนวนมาก เป็นเจ้าของธนาคารเอกชนขนาดใหญ่ของไทยทั้งหมด เป็นเจ้าของหุ้นชินคอร์ป ทุกวันนี้เปลี่ยนชื่อเป็นอินทัช ที่เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส(AIS) ดูประวัติการจ่ายเงินปันผลของอินทัชและแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส หลังจากเขาซื้อไปจากคนไทย 74,000 ล้านบาท ทุกวันนี้เขาได้ปันผลคืนทุนหมดแล้ว

ดูประเทศสิงคโปร์แล้วเห็นเขามีแต่ได้ หันกลับมาดูประเทศไทยบ้างคล้ายกับการปล้นชาติของตัวเอง และเอาสมบัติชาติไปขายให้ต่างชาติ ไปขายให้สิงคโปร์

http://twitter.com/indexthai2

indexthai2@gmail.com
กำลังโหลดความคิดเห็น