xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

เศรษฐกิจส่งสัญญาณชะลอตัว ตปท.โยกเงินออกกดหุ้นดิ่ง-บาทอ่อนค่า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-ความกดดันต่างๆถาโถมเข้ามาสู่ตลาดหุ้นไทยอีกครั้งหนึ่ง หลังจากดัชนีหลักทรัพย์ ร่วงลงหนักเมื่อช่วงเดือนมิถุนายน 2556 จากการส่งสัญญาณยุติมาตรการQE3 ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)และเงินบาทที่อ่อนค่าลงมาก...ผ่านมาหุ้นไทยปรับตัวขึ้นอยู่ในแดนบวกสลับลบ หรืออยู่ในภาวะผันผวนมาโดยตลอด

ขณะที่ในรอบนี้ ตลาดหุ้นได้รับแรงกดดันจากสถานการณ์ทั้งภายในและนอกประเทศ ได้แก่สถานการณ์ทางการเมือง การยื่นร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมร่างพ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท ขณะที่ต่างประเทศก็ยังคงเป็นเรื่องเดิมนั่นคือมาตรการ QE3 ซึ่งมารูปแบบความกังวลว่าการประชุมเฟดในเดือนกันยายนที่จะถึงอาจมีการปรับลดวงเงินซื้อคืนพันธบัตรซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 85,000 ล้านเหรียญ/เดือน และช่างเป็นช่วงประจวบเหมาะอีกครั้งเมื่อค่าเงินบาท/ดอลลาร์สหรัฐกลับมาอ่อนค่าลงแตะที่ระดับ31.60-31.70 บาท/1ดอลลาร์สหรัฐ อีกครั้ง

ทั้งนี้พบว่าตั้งแต่ 15 สิงหาคม จนถึงครึ่งวันแรกของ21สิงหาคม ดัชนีหลักทรัพย์ปรับตัวลงไปแล้ว 88.84 จุด หรือหรือจาก 1,453.07 จุดลงมาอยู่ที่ระดับ 1,364.23 จุด (ณ 12.30 น. ของวันที่21ส.ค.) อย่างไรก็ตาม ในแต่ละวันที่ผ่านมาจะพบว่าดัชนีมีการแกว่งตัวลงลึกมากกว่านี้ เช่นวันก่อนหน้า (20ส.ค.) ดัชนีลงหนักถึง 45 จุด ก่อนกลับขึ้นปิดตลาดลบ 27 จุด

ด้านการซื้อขายสุทธิแยกตามประเภทนักลงทุน พบว่า หลังจากมีข่าวจีดีพีไตรมาส2ของไทยลดลงไม่เป็นไปตามเป้าและการออกมาแสดงความคิดเห็นของสื่อต่างชาติและสถาบันการเงินต่างประเทศว่าเศรษฐกิจของไทยเข้าสู่ภาวะการชะลอตัวก็ทำให้เกิดแรงเทขายจากนักลงทุนต่างประเทศ สถาบัน และบัญชีบริษัทหลักทรัพย์(บล.)ออกมาเป็นจำนวนมาก

โดยเฉพาะสัญญาฯโยกเงินออกของนักลงทุนต่างประเทศ ซึ่งเพียงแค่วันที่ 1-20 ส.ค.มีการขายหุ้นไทยออกไปแล้ว 24,912.62 ล้านบาท ซึ่งเป็นการหอบเงินที่ได้กำไรจากส่วนต่างราคาหุ้น
และกำไรพิเศษจากการอ่อนตัวของค่าเงินบาทแถมไปให้อีก**

ภากร ปีตธวัชชัย รองผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.)กล่าวว่า ภาวะตลาดหุ้นไทยที่ปรับตัวลดลงแรงเป็นการปรับตัวในทิศทางสอดคล้องตลาดหุ้นทั่วโลกที่ได้รับผลกระทบจากตัวเลขเศรษฐกิจทั่วโลกที่เคยคาดว่าจะฟื้นตัวดีขึ้น แต่ขณะนี้ยังชะลอตัวทำให้นักลงทุนส่วนใหญ่นำเงินโยกย้ายเข้าไปลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำเพื่อป้องกันความเสี่ยง โดยเห็น จากผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐปรับตัวสูงขึ้นมาก ประกอบกับ หลังจากประธานธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)ออกมาประกาศเมื่อเดือน

มิ.ย.ที่ผ่านมาว่าจะมีการชะลอมาตรการ QE ทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกหลังจากนั้นมีความอ่อนไหวค่อนข้างมาก ล่าสุดนักลงทุนต่างชาติขายสุทธิออกไปจากตลาดหุ้นไทยแล้วกว่า 7 หมื่นล้านบาท และแนวโน้มข้างหน้าอาจจะยังมีออกไปอีกเพราะขณะนี้ยังเน้นไปทางด้านขายมากกว่าซื้อ แต่เชื่อว่าจะไม่มีผลกระทบต่อตลาดหุ้นไทยมากนัก เพราะในอดีตที่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจเคยมีเงินไหลออกจากตลาดหุ้นไปกว่าแสนล้านบาท และขณะนี้ต่างชาติยังมีการลงทุนในตลาดหุ้นไทยอยู่ถึง 3-4 ล้านล้านบาท จากมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดรวม(มาร์เก็ตแคป)ที่อยู่ในระดับ 12.1 ล้านล้านบาท

"เรายังเชื่อว่าในอนาคตตลาดหุ้นไทยยังเป็นที่สนใจของนักลงทุนต่างชาติ เนื่องจากปัจจัยพื้นฐานของประเทศถือว่าดีกว่าประเทศอื่น โดยเฉพาะการลงทุนภาครัฐ ซึ่งหากมีความชัดเจนมากขึ้นก็จะช่วยสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจ และหากเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวก็จะส่งผลดีต่อการส่งออกของไทยด้วยและขณะนี้ยังไม่จำเป็นต้องมีมาตรการพิเศษมาดูแลภาวะการซื้อขายหุ้น เพราะเป็นปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งโลก ไม่ใช่เฉพาะประเทศไทย"

จักรกริช เจริญเมธาชัย กรรมการผู้จัดการ ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน บล.โกลเบล็ก กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยยังอยู่ในภาวะอ่อนแอจากความกังวลเรื่องเศรษฐกิจในประเทศ และมาตรการQEของสหรัฐฯที่ส่งผลให้เกิดกระแสเงินไหลออกจากภูมิภาค โดยเฉพาะตลาดหุ้นไทยอินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ที่ปรับลดลงต่อเนื่อง โดยกลยุทธ์การลงทุนพอร์ตลงทุนระยะ 6 เดือน แนะนำถือหุ้น 20% ส่วนพอร์ตระยะสั้นแนะนำเก็งกำไรจบในวันเดียว โดยประเมินแนวรับที่ 1,357 จุด

ไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บล.ทิสโก้ ยอมรับว่าตอนนี้ได้เกิดภาพใหญ่เงินทุนต่างชาติได้ไหลออกกลับเข้าไปลงทุนในประเทศพัฒนาแล้วทำให้ตลอดระยะเวลา 3 เดือนตลาดหุ้นของประเทศเกิดใหม่ (เอเมอร์จินมาร์เกต) ปรับตัวลดลงมาโดยตลอด แต่ประเมินว่าสถานการณ์เงินทุนไหลออกจากประเทศเกิดใหม่นั้นจะเป็นเพียงภาพระยะสั้น จนกว่าทิศทางเศรษฐกิจประเทศจีนจะมีเสถียรภาพ รวมถึงเศรษฐกิจไทยด้วยซึ่งเชื่อว่าตัวเลขเศรษฐกิจของไทยในไตรมาส 2 ของปีนี้ที่ออกมาถือว่าเป็นระดับต่ำที่สุดแล้ว

"คาดว่าในช่วงครึ่งหลังของปี 2556 เศรษฐกิจโลกจะมีการฟื้นตัว และเชื่อว่าจะส่งผลดีต่อภาคการส่งออกของไทย ซึ่งมีสัดส่วนสูงถึง 70% ของจีดีพีประเทศ และเป็นจังหวะที่ค่าเงินบาทอ่อนน่าจะทำให้การส่งออกในครึ่งหลังของปีดีขึ้น ดังนั้น จึงเชื่อได้ว่านักลงทุนจะมีโอกาสเห็นภาพดัชนีหุ้นไทยจะฟื้นตัวภายในปีนี้ เพียงแต่ในระยะสั้นนี้อาจต้องเผชิญกับภาวะเงินทุนไหลออกก่อนแต่ไม่เชื่อว่าจะทำให้ดัชนีหุ้นปรับตัวลดลงต่ำทดสอบระดับ 1,200 จุด"

ทั้งนี้ มีนักวิเคราะห์บางราย มองว่า ตลาดหุ้นไทยและตลาดหุ้นอินโดนีเซียปรับตัวลงหนักกว่าภูมิภาคเนื่อจากได้ผลกระทบเศรษฐกิจภายในประเทศซึ่งประเทศไทยเจอกระแสข่าวเศรษฐกิจหดตัวต่อเนื่อง 2 ไตรมาสและเข้าสู่ภาวะการถดถอยทางเศรษฐกิจ ส่วนอินโดนีเซียมีปัญหาขาดดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างรุนแรง เนื่องจากใช้เงินจำนวนมหาศาลไปอุดหนุนราคาน้ำมันภาครัฐสั่งคุมเข้มธนาคารพาณิชย์

นอกจากนี้ ทิศทางของค่าเงินบาทยังได้รับผลกระทบที่เกิดจากภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจไทย 2ไตรมาสติดต่อกัน หลังการแถลงของสภาพัฒน์ ยังได้ปรับลดคาดการณ์จีดีพี ในปี2556 ลงเหลือ 3.8-4.3% จากเดิม 4.2-5.2%

บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เกียรตินาคิน จำกัด มองว่าตลาดหุ้นจะทรงตัวและผันผวนระหว่างวันเพราะดัชนีมีการปรับตัวลดลงแรง ตั้งแต่ต้นสัปดาห์ช่วงปลายสัปดาห์อาจมีการฟื้นตัวบ้างแต่คงไม่ดีนัก โดยทิศทางของดัชนีตลาดจะเป็นไปในลักษณะนี้ตลอดช่วงที่เหลือของเดือน เพราะปัจจัยการปรับลดตัวเลขจีดีพี ส่งผลต่อจิตวิทยาการลงทุนเป็นอย่างมากประกอบกับทิศทางตลาดหุ้นเอเชียยังไม่มีทิศทางที่ชัดเจน

เพราะฉะนั้น ปัจจัยที่ต้องติดตาม คือ ค่าเงินบาทที่ต้องดูกันว่าจะอ่อนค่าลงไปมากกว่านี้หรือไม่และดูความเคลื่อนไหวของการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติที่มีต่อไทยว่าจะเป็นไปในทิศทาง เพราะค่าเงินบาทเปิดตลาดเมื่อเช้าวันที่ 21 ส.ค. อยู่ที่ระดับ 31.70 บาท/ดอลลาร์ อ่อนค่าลงต่อเนื่อง และถือว่าอ่อนค่าสูงสุดในรอบ 1 ปี



กำลังโหลดความคิดเห็น