xs
xsm
sm
md
lg

ไขปริศนาหุ้นไทย-อินโดฯ ทรุดหนักกว่าเพื่อน เพราะมีสัญญาณเกิดวิกฤต ศก.ภายในประเทศ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


หุ้นไทยดิ่งต่อเนื่อง 3 วันซ้อน ดัชนีทรุดไปแล้ว 80 จุด คาดทิศทางยังผันผวน โบรกฯ ยอมรับตลาดยังอยู่ในภาวะอ่อนแอ คาดในระยะสั้นยังเผชิญผลกระทบเงินทุนไหลออก พร้อมไขปริศนาหุ้นไทย-อินโดฯ ทรุดหนักกว่าเพื่อน เพราะมีสัญญาณเกิดวิกฤต ศก.ภายในประเทศตนเอง “ไพบูลย์” เชื่อดัชนีไม่ลงลึกไปถึง 1,200 จุด

รายงานข่าวบรรยากาศตลาดหุ้นไทยวันนี้ (21 ส.ค.) ดัชนีภาคเช้ายังปรับลงต่อเนื่อง และแกว่งตัวผันผวนในแดนลบ โดยเมื่อเวลา 10.12 น. ดัชนีปรับลงไปที่ 1,355.71 จุด ลดลง 15.15 จุด หรือเปลี่ยนแปลง -1.11% มูลค่าการซื้อขาย 4,390.83 ล้านบาท ซึ่งหากรวมกับการปรับลง 2 วันก่อนหน้านี้ ดัชนีปรับลงไปกว่า 80 จุดแล้ว

นายจักรกริช เจริญเมธาชัย กรรมการผู้จัดการ ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) โกลเบล็ก ยอมรับว่า ตลาดหุ้นไทยยังอยู่ในภาวะอ่อนแอจากความกังวลเรื่องการถดถอยของเศรษฐกิจภายในประเทศ และมาตรการผ่อนคลายทางการเงินรอบที่ 3 (คิวอี) ของสหรัฐฯ ที่ส่งผลให้เกิดกระแสเงินไหลออกจากภูมิภาค โดยกลยุทธ์การลงทุน พอร์ตลงทุนระยะ 6 เดือน แนะนำถือหุ้น 20% ส่วนพอร์ตระยะสั้นแนะนำเก็งกำไร จบในวันเดียว โดยประเมินแนวรับที่ 1,357 จุด

ด้านนายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บล.ทิสโก้ ยอมรับว่า ตอนนี้ได้เกิดภาพใหญ่เงินทุนต่างชาติได้ไหลออกกลับเข้าไปลงทุนในประเทศพัฒนาแล้ว ทำให้ตลอดระยะเวลา 3 เดือนตลาดหุ้นของประเทศเกิดใหม่ (เอเมอร์จิน มาร์เกต) ปรับตัวลดลงมาโดยตลอด

อย่างไรก็ตาม ประเมินว่าสถานการณ์เงินทุนไหลออกจากประเทศเกิดใหม่นั้นจะเป็นเพียงภาพระยะสั้น จนกว่าทิศทางเศรษฐกิจประเทศจีนจะมีเสถียรภาพ รวมถึงเศรษฐกิจไทยด้วย ซึ่งเชื่อว่าตัวเลขเศรษฐกิจของไทยในไตรมาส 2 ของปีนี้ที่ออกมา ถือว่าเป็นระดับต่ำที่สุดแล้ว

“คาดว่าในช่วงครึ่งหลังของปี 2556 เศรษฐกิจโลกจะมีการฟื้นตัว และเชื่อว่าจะส่งผลดีต่อภาคการส่งออกของไทย ซึ่งมีสัดส่วนสูงถึง 70% ของจีดีพีประเทศ และเป็นจังหวะที่ค่าเงินบาทอ่อนน่าจะทำให้การส่งออกในครึ่งหลังของปีดีขึ้น”

ดังนั้น จึงเชื่อได้ว่านักลงทุนจะมีโอกาสเห็นภาพดัชนีหุ้นไทยจะฟื้นตัวภายในปีนี้ เพียงแต่ในระยะสั้นนี้อาจต้องเผชิญกับภาวะเงินทุนไหลออกก่อน แต่ไม่เชื่อว่าจะทำให้ดัชนีหุ้นปรับตัวลดลงต่ำทดสอบระดับ 1,200 จุด

ขณะที่นักวิเคราะห์บางแห่งมองว่า ตลาดหุ้นไทย และตลาดหุ้นอินโดนีเซียปรับตัวลงหนักกว่าภูมิภาค เนื่อจากได้ผลกระทบเศรษฐกิจภายในประเทศ ซึ่งประเทศไทยเจอกระแสข่าวเศรษฐกิจหดตัวต่อเนื่อง 2 ไตรมาส และเข้าสู่ภาวะการถดถอยทางเศรษฐกิจ ส่วนอินโดนีเซียมีปัญหาขาดดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างรุนแรง เนื่องจากใช้เงินจำนวนมหาศาลไปอุดหนุนราคาน้ำมัน ภาครัฐสั่งคุมเข้มธนาคารพาณิชย์

นอกจากภาวะตลาดหุ้นไทยที่ปรับตัวลดลงอย่างหนัก 2 วันติดต่อกันแล้ว ทิศทางของค่าเงินบาท ยังได้รับผลกระทบที่เกิดจากภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจไทย 2 ไตรมาสติดต่อกัน หลังการแถลงสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ยังได้ปรับลดคาดการณ์จีดีพี ในปี 2556 ลงเหลือ 3.8-4.3% จากเดิม 4.2-5.2%

ด้านเงินบาทเปิดตลาดเช้านี้ (21 ส.ค.) อยู่ที่ระดับ 31.70 บาท/ดอลลาร์ อ่อนค่าลงจากเย็นวานนี้ที่ปิดตลาดที่ระดับ 31.63/65 บาท/ดอลลาร์ ถือว่าอ่อนค่าสุดในรอบ 1 ปี

นักค้าเงินจาก ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย ยอมรับว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เงินบาทอ่อนค่าลง เป็นเพราะนักลงทุนมีความกังวลกับตัวเลขจีดีพี ในไตรมาส 2/56 ที่ขยายตัวเพียง 2.8% ซึ่งต่ำกว่าที่คาด ขณะเดียวกัน สภาพัฒน์ยังได้ปรับลดคาดการณ์จีดีพี ในปี 56 ลงเหลือ 3.8-4.3% จากเดิม 4.2-5.2% และ ไตรมาส 2 โตแค่ 2.8% ทำให้เงินบาทอ่อนค่า ขณะที่ภูมิภาคค่อนข้างปรับแข็งค่า
กำลังโหลดความคิดเห็น