xs
xsm
sm
md
lg

บล.เข้าซื้อผยุงหุ้นลบ3จุด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTV ผู้จัดการรายวัน – หุ้นปิดลบ 3จุด แรงซื้อไหลเข้าช่วงบ่าย ดึงดัชนีฯรีบาวนด์จากลบ 29 จุด พบพอร์ตโบรกฯเข้าเก็บ1.8 พันล้าน นักวิเคราะห์ประเมินความกังวลมาตรการQE3ลดวงเงินมีเพิ่มขึ้น หลังมีกระแสหลายฝ่ายสนับสนุน อีกทั้งวิกฤตปัญหาเศรษฐกิจในภูมิภาคชะลอตัว และค่าเงินบาทอ่อนค่าหนัก กดดันต่างชาติเทขายปรับพอร์ต เหตุไทย-มาเลย์ อาจโดนหนักเช่นอินโดฯ และอินเดีย โดยรวมเชื่อวันนี้อาจเห็นแรงรีบาวนด์ต่อ หลัง 6 วันทำการดัชนีร่วง 108 จุด

ตลาดหุ้นไทย วานนี้ (22ส.ค.) การโยกย้ายเม็ดเงินออกจากภูมิภาคยังสร้างแรงกดดันให้ดัชนีหุ้นไทย ปรับตัวลดลงหนักติดต่อกันเป็นวันที่ 6 โดยลดลงแรงถึง 29.36 จุด ก่อนมีแรงซื้อคืนกลับมาในช่วงท้ายของการซื้อขายรอบบ่าย ทำให้ดัชนีฯรีบาวน์ขึ้นเหลือปิดที่ระดับ 1,351.81 จุด ลดลง 3.33 จุด หรือ - 0.25% มูลค่าการซื้อขาย 57,915.94 ล้านบาท ระหว่างวันปรับตัวต่ำสุดที่ระดับ 1,325.78 จุด และสูงสุดที่ระดับ 1,355.87 จุด โดยรวมตั้งแต่วันที่ 14ส.ค. (ดัชนีปิดที่ระดับ 1,460.63 จุด) พบว่าดัชนีปรับตัวลดลงไปแล้ว 108.82 จุด

โดย วานนี้นักลงทุนต่างชาติ ขายสุทธิ 3,581.55 ล้านบาท แรงซื้อสุทธิเข้ามาจากบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) 1,877.45 ล้านบาท นักลงทุนทั่วไป 1,121.74 ล้านบาท และสถาบัน 582.36 ล้านบาท
น.ส.ธีรดา ชาญยิ่งยงค์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ฟิลลิป (ประเทศไทย) กล่าวว่า ดัชนียังมีทิศทางปรับลดลงต่อเนื่องติดต่อกัน 6 วันทำการ โดยปัจจัยกดดันหลักมาจากต่างประเทศซึ่งกังวลว่าจะมีการลดขนาดวงเงินในการดำเนินมาตรผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE3) นอกจากนี้ ยังเป็นการปรับตัวลดลงตามทิศทางตลาดหุ้นในภูมิภาค จากปัจจัยลบความกังวลถึงปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด ทั้งในประเทศอินเดีย และอินโดนีเซีย ขณะที่ยังไม่มีปัจจัยบวกใหม่ๆ มากระตุ้นตลาดให้สามารถปรับตัวเพิ่มขึ้น แต่ยังมีแรงรับจากกองทุน และนักลงทุนที่เข้าทยอยซื้อกองทุน LTF และ RMF ช่วงที่ดัชนีลดลง
ขณะที่นักวิเคราะห์ บล. ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) จำกัด ยอมรับว่า ดัชนียังคงปรับลงต่อเนื่อง หลังจากไม่สามารถกลับขึ้นไปยืนเหนือระดับ 1,370 จุดได้ ทำให้แนวโน้มของดัชนี ยังมีความเสี่ยงในการปรับตัวลดลง โดยมีแนวรับที่ 1,338 จุด ทำให้มองว่าเป็นจังหวะสำหรับการทยอยซื้อหุ้น ถึงแม้ว่าจะมีโอกาสปรับตัวลดลงไปถึงระดับ 1,300 หรือ 1,200 จุโดยรวมดัชนีหุ้นไทย เป็นไปตามทิศทางตลาดหุ้นภูมิภาคที่ปรับตัวลดลง หลังจากดัชนีหุ้นดาวโจนส์ที่ลดลงไป 105 จุด ตอบรับความกังวลต่อการปรับลดมาตการผ่อนคลายทางการเงินรอบที่ 3 (QE) ของสหรัฐฯ และกังวลแรงขายของนักลงทุนต่างชาติ และเงินทุนไหลออก ทำให้เงินบาทอ่อนค่าหลุดระดับ 32 บาทต่อดอลลาร์

ด้าน บล.บัวหลวง ระบุว่า ปัจจัยที่มีผลต่อตลาดหุ้นในตอนนี้ ได้แก่ รายงานการประชุมเฟด เดือน ก.ค. ที่เสียงสมาชิกส่วนใหญ่สนับสนุนให้มีการชะลอมาตรการ QE รวมถึงความเสี่ยงการเมืองในประเทศ ซึ่งมีอยู่ 3 เรื่องใหญ่ได้แก่ 1.) กลุ่ม 40 ส.ว. เตรียมฟ้องศาล รธน. หลังสภาผ่านร่างแก้รัฐธรรมนูญ (รธน.) 2.) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม คาดเลื่อนพิจารณาร่าง พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท ไปเป็นช่วงต้นเดือน ก.ย. และ 3.) ความวิตกการเคลื่อนไหวชุมนุมต่อต้านรัฐบาลของพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กับกลุ่มพันธมิตรฯ

นายประทีป โมฮินานี นักวิเคราะห์บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) โนมูระ เปิดเผยถึงสถานการณ์ตลาดหุ้นทั่วโลกในขณะนี้ โดยมองว่ามีความคล้ายคลึงกับวิกฤตการณ์ในปี 1997-1998 เป็นอย่างมาก โดยขณะนี้มี 2 ประเทศที่ได้รับความเสียหายแล้ว คือ อินเดีย และอินโดนีเซีย ซึ่งประเทศที่มีแนวโน้มที่จะได้รับความความเสียหายเป็นลำดับต่อไป คือ ประเทศที่มียอดขาดดุลงบประมาณสูง มีเศรษฐกิจชะลอตัว และต่างชาติครองสัดส่วนในการถือครองพันธบัตรรัฐบาลของประเทศนั้นสูง และพบว่าไทยกับมาเลเซียมีคุณสมบัติเหล่านี้มากที่สุด

อย่างไรก็ตาม ไทย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ หรือกลุ่มTIP มีดุลการชำระเงินระหว่างประเทศที่แข็งแกร่งกว่าอินโดนีเซีย และอินเดียเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจเติบโตเร็ว และยังไม่ได้รับผลกระทบจากภาวะปั่นป่วนในช่วงก่อนหน้านี้มากนัก อีกทั้งประเทศในภูมิภาคนี้ได้เพิ่มทุนสำรองเงินตราต่างประเทศให้สูงขึ้น และได้ลดหนี้สกุลเงินต่างประเทศลงมาก นับตั้งแต่เกิดวิกฤตการเงินเอเชียในปี 1997 เป็นต้นมา

นายธีรวุฒิ การนต์นิภากุล ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์ บล.ซีไอเอ็มบี(ประเทศไทย)กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยวานนี้ผันผวนมาก โดยช่วงเช้าปรับตัวลงไปแรงตามตลาดหุ้นในภูมิภาค แต่หลังจากปรับตัวลดลงไปมากแล้วและสามารถยืนอยู่ได้ในระดับหนึ่ง ทำให้มีแรงซื้อกลับเข้ามาผลักดันให้ตลาดรีบาวนด์ขึ้นมาในช่วงบ่าย

“ดัชนีปรับลดลงไปในช่วงที่ผ่านมาเข้าเขต Oversold มากเกินไป ถึงแม้ว่าตัวเลขเศรษฐกิจจะออกมาไม่ดีมากนัก แต่หากมองผลกระทบที่เกิดกับบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ก็ไม่ได้รุนแรงมาก และยังสามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง นอกจากนั้น การที่เงินบาทอ่อนค่าลงก็จะส่งผลดีต่อการส่งออกในช่วงครึ่งปีหลังให้สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโตได้ดีขึ้น ส่วนการชะลอมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ(QE)ของสหรัฐนั้น ยังต้องรอผลการประชุมในช่วงเดือน ก.ย.ว่าจะออกมาในรูปแบบใด จึงยังไม่ได้เกิดผลกระทบที่แท้จริง เป็นความกังวลมากไปของนักลงทุน ขณะที่ตลาดหุ้นในภูมิภาคส่วนใหญ่อยู่ในแดนลบ แต่เพียงตลาดฮ่องกงและอินเดียที่ปรับตัวขึ้นมาอยู่ในแดนบวกได้”

สำหรับทิศทางหุ้นไทยในวันนี้ (23ส.ค.) ทางเทคนิคคาดว่าจะยังรีบาวนด์ได้ต่อ เนื่องจากปิดตลาดยืนอยู่เหนือ 1,350 จุดได้ พร้อมให้แนวรับที่ 1,346 จุด แนวต้าน 1,374 จุด
นักวิเคราะห์ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า การอ่อนตัวของค่าเงินบาทที่สูงสุดในรอบ 3 ปี และความกังวลต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศและเศรษฐกิจภูมิภาค เป็นแรงกดดันให้นักลงทุนต่างชาติเทขายหุ้น เพื่อพอร์ตลงทุนใหม่เพื่อลดความเสี่ยงจากการขาดทุนหากเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจภูมิภาคโดยรวมแย่จริง ทำให้ช่วงนี้ควรชะลอลงทุนพอรอดูสถานการณ์ อีกทั้งจากแรงซื้อสุทธิวานนี้พบว่า ส่วนมากมาจากพอร์ตโบรกฯ ซึ่งคาดว่าเพราะเห็นราคาหุ้นหลายตัวปรับลงมาต่ำ จึงควรระมัดระวังการลงทุนด้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น