หุ้นไทยปิดตลาดลบ 7.31 จุด อยู่ที่ระดับ 1,445.76 จุด มูลค่าการซื้อขาย 38,084.79 ล้านบาท จากข่าวเตรียมการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐฯ ในเดือนหน้า เพื่อวางกรอบนโยบายชะลอมาตรการผ่อนคลายทางการเงิน หรือ QE ก่อนกำหนด
ดัชนีตลาดหุ้นไทยวันนี้ (16 ส.ค.) ปิดที่ระดับ 1,445.76 จุด ปรับตัวลดลง 7.31 จุด หรือ -0.50 %มูลค่าการซื้อขาย 38,084.79 ล้านบาท ระหว่างวันปรับตัวสูงสุดที่ระดับ 1,452.20 จุด และลดลงต่ำสุดที่ 1,440.74 จุด ภาพรวมดัชนีหลักทรัพย์ปรับตัวลดลงตามตลาดหุ้นในภูมิภาค และความวิตกกังวลต่อมาตรการ QE ของเฟดที่มีข่าวลือว่าอาจยกเลิกก่อนกำหนด
หลักทรัพย์ที่มีการเปลี่ยนแปลง เพิ่มขึ้น 265 หลักทรัพย์ ลดลง 414 หลักทรัพย์ และไม่เปลี่ยนแปลง 171 หลักทรัพย์
การซื้อขายสุทธิแยกตามกลุ่มนักลงทุน พบว่า นักลงทุนต่างประเทศซื้อสุทธิ 1,682.38 ล้านบาท นักลงทุนทั่วไปซื้อสุทธิ 298.04 ล้านบาท บัญชีบริษัทหลักหลักทรัพย์ (บล.) ซื้อสุทธิ 524.65 ล้านบาท แต่กลับพบว่า สถาบันในประเทศขายสุทธิ 2,505.06 ล้านบาท
หลักทรัพย์ที่มีมูลค่าซื้อขายสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่
CK ปิดที่ 22.10 บาท ลดลง -0.30 บาท หรือ 1.34% มูลค่าการซื้อขาย 2,132,362 ล้านบาท
TRUE ปิดที่ 8.95 บาท ลดลง -0.10 บาท หรือ -1.10% มูลค่าการซื้อขาย 2,106,271 ล้านบาท
ADVANC ปิดที่ 274.00 บาท ลดลง -10.00 บาท หรือ 3.52% มูลค่าการซื้อขาย 2,090,934 ล้านบาท
PTT ปิดที่ 324.00 บาท ลดลง -5.00 บาท หรือ -1.52% มูลค่าการซื้อขาย 1,596,019 ล้านบาท
M ปิดที่ 52.75 บาท ลดลง -0.25 บาท หรือ -0.47% มูลค่าการซื้อขาย 1,408,322 ล้านบาท
น.ส.ธีรดา ชาญยิ่งยงค์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บล.ฟิลลิป (ประเทศไทย) กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยยังมีภาวะผันผวนอยู่ในแนวลบตลอดทั้งวัน ซึ่งปัจจัยหลักนั้นมาจากแรงกดดันจากนโยบายผ่อนคลายทางการเงิน หรือ QE ของธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟดที่กลับมาสร้างความกังวลต่อบรรยากาศการลงทุนทั่วทั้งภูมิภาค ซึ่งถ้าหากเทียบกันกับตลาดหุ้นกลุ่ม TIP (Thailand Indonesia Philippine) ตลาดหุ้นไทยยังอยู่ในทิศทางหุ้นแดนลบน้อยกว่าอีก 2 ประเทศมากนัก
ทั้งนี้ ในส่วนของตลาดหุ้นไทยนั้นยังคงมีสภาพคล่องจากการที่นักลงทุนต่างประเทศกลับเข้ามาซื้ออีกครั้ง แต่จะเป็นไปในลักษณะซื้อสลับขายมากกว่า เพราะถ้าหากมองในระยะยาวแล้วปัจจัยซื้อเริ่มอ่อนตัวลงไป โดยส่วนหนึ่งมาจาก พ.ร.บ.โครงสร้างพื้นฐาน 2.2 ล้านล้าน ที่ล่าช้าออกไป และ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่ต้องรอเข้าสภาในวาระที่ 2
ขณะเดียวกัน ในสัปดาห์หน้าแนวโน้มตลาดหุ้นไทยยังคงแกว่งตัวผันผวนต่อเนื่อง และมีแนวโน้มที่จะแกว่งตัวในแดนลบมากกว่าแดนบวก โดยกรอบแนวรับ และแนวต้านยังอยู่ในกรอบกว้างๆ ที่ 1,400-1,500 จุด ทั้งนี้ การลงทุนควรพิจารณาการลงทุนในหุ้นรายตัวที่ประกาศงบผลประกอบการในไตรมาสที่ 2 ออกมาแล้วโดยพิจารณาจากหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานดี เช่น INTUCH, TTA, TUF
“อย่างไรก็ดี การพิจารณา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ในวาระ 2 อาจจะยังไม่มีความรุนแรง หรือความกังวลอะไรเข้ามามากนัก แต่นักลงทุนควรจับตาการเสนอยื่น พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ในวาระ 3 มากกว่า ซึ่งผลโหวตที่ออกมาอาจจะเกิดสถานการณ์ความรุนแรงที่ส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นไทย”