หุ้นไทยปิดตลาดบวก 20.03 จุด อยู่ที่ระดับ 1,476.71 จุด มูลค่าการซื้อขาย 44,187.05 ล้านบาท จากข่าวการดัน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเข้าสภาในวันที่ 7 ส.ค.นี้ รอประชุมเฟดวันที่ 29-30 กรกฎาคม และประชุม ECB ในสัปดาห์หน้า
ดัชนีตลาดหุ้นไทยวันนี้ (26 ก.ค.) ปิดที่ระดับ 1,476.71 จุด ปรับตัวเพิ่มขึ้น 20.03 จุด หรือ +1.38% มูลค่าการซื้อขาย 44,187.05 ล้านบาท ระหว่างวันปรับตัวสูงสุดที่ระดับ 1,476.71 จุด และลดลงต่ำสุดที่ 1,445.28 จุด ภาพรวมดัชนีหลักทรัพย์ปรับตัวสูงขึ้นจากการประกาศจ่ายปันผลระหว่างกาลของบางบริษัทจดทะเบียน และแรงเทขายของกลุ่มป็อปเทรด
หลักทรัพย์ที่มีการเปลี่ยนแปลง เพิ่มขึ้น 390 หลักทรัพย์ ลดลง 253 หลักทรัพย์ และไม่เปลี่ยนแปลง 169 หลักทรัพย์
การซื้อขายสุทธิแยกตามกลุ่มนักลงทุนพบว่า สถาบันในประเทศซื้อสุทธิ 733.90 ล้านบาท นักลงทุนทั่วไปซื้อสุทธิ 1,274.17 ล้านบาท ในขณะที่บัญชีบริษัทหลักหลักทรัพย์ (บล.) ขายสุทธิ -1,904.64 ล้านบาท และนักลงทุนต่างประเทศขายสุทธิ 103.43 ล้านบาท
หลักทรัพย์ที่มีมูลค่าซื้อขายสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่
ADVANC ปิดที่ 293.00 บาท เพิ่มขึ้น 7.00 บาท หรือ 2.45% มูลค่าการซื้อขาย 2,702,513 ล้านบาท
JAS ปิดที่ 8.50 บาท เพิ่มขึ้น +0.25 บาท หรือ +3.03% มูลค่าการซื้อขาย 2,371,241 ล้านบาท
TRUE ปิดที่ 8.90 บาท เพิ่มขึ้น +0.05 บาท หรือ +0.56% มูลค่าการซื้อขาย 2,338,990 ล้านบาท
INTUCH ปิดที่ 91.25 บาท เพิ่มขึ้น +2.50 บาท หรือ +2.82% มูลค่าการซื้อขาย 1,979,275 ล้านบาท
SCB ปิดที่ 161.50 บาท ลดลง -0.50 บาท หรือ -0.31% มูลค่าการซื้อขาย 1,394,982 ล้านบาท
น.ส.ธีรดา ชาญยิ่งยงค์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ฟิลลิป กล่าวว่า แนวโน้มตลาดหุ้นไทยวันนี้ยังคงแกว่งตัวผันผวนขึ้นลงอยู่ในกรอบแคบๆ ตลอดทั้งวัน สังเกตว่าวอลุ่มการซื้อขายจะบางตาลงไปพอสมควร เนื่องจากนักลงทุนยังมีความกังวลในการลงทุนในสถานการณ์การเมืองที่ยังคงรุนแรงพอสมควรในระยะนี้ จึงยังไม่กล้าที่จะเสี่ยงลงทุนมากนัก แต่จากการตั้งข้อสังเกตในวันนี้ที่ตลาดเริ่มฟื้นตัวกลับมาจากแรงขายของกลุ่มป็อปเทรดในวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา ไม่ได้มาจากนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งช่วยคลายความกังวลของนักลงทุนได้ในระดับหนึ่ง ซึ่งกรอบแนวรับคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 1,440 จุด ส่วนกรอบแนวต้านคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 1,480 จุด
อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นไทยช่วงนี้นักลงทุนจะนิยมลงทุนในลักษณะหมุนเวียนไม่เจาะจงเฉพาะกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่จะซื้อขายในระยะสั้น 2-3 วัน แล้วจึงย้ายไปลงทุนกลุ่มอื่น โดยกลุ่มที่ยังน่าสนใจลงทุน ได้แก่ หุ้นในกลุ่ม ICT ที่ดัชนีการซื้อขายปรับตัวสูงขึ้นมาช่วงหนึ่งแล้วเทขายออกไปใน 1-2 วัน แล้วก็กลับมาทยอยซื้อตามกระแสหุ้นที่มีปันผลดีรองรับ
ทั้งนี้ ประเด็นสำคัญในสัปดาห์หน้าที่ต้องจับตามอง และมีผลกระทบอย่างมากโดยปัจจัยภายนอกประเทศ ได้แก่ การประชุมของธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟด ในวันที่ 30-31 กรกฎาคม และการประชุมของธนาคารกลางยุโรป หรือ ECB ในวันที่ 1 สิงหาคม ซึ่งในส่วนของการประชุมเฟดนั้นอาจจะไม่มีนัยสำคัญมากนัก แต่นักวิเคราะห์ และนักลงทุนทั่วโลกต่างก็ยังคงต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด โดยคาดเดาว่าอาจจะยังไม่ลด QE ในรอบเดือนกันยายนนี้ หรือเลื่อนออกไปเป็นเดือน ธันวาคม
ส่วนการประชุม ECB ในวันที่ 1 สิงหาคมที่จะถึงนี้ ซึ่งก่อนหน้านี้ IMF ออกมาสนับสนุนในนโยบายการปรับลดอัตราดอกเบี้ย และให้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ ซึ่งอาจกระตุ้นให้ตลาดทุนฝั่งยุโรปกลับมาซื้อขายอย่างคึกคักอีกครั้ง ซึ่งจะส่งผลดีต่อตลาดหุ้นไทยให้ปรับตัวบวกขึ้นได้บ้าง
ขณะเดียวกัน ปัจจัยภายในประเทศที่เป็นปัญหาคือ ความกังวลของนักลงทุนต่อสถานการณ์การเมืองในการเตรียมเปิดประชุมสภาเพื่อผลักดันร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งบานปลาย และคาดว่าจะมีความยืดเยื้อยาวนาน ทั้งนี้ ประมาณการดัชนีกรอบแนวรับไว้ที่ 1,400 จุด-1,420 จุด และดัชนีกรอบแนวต้านที่ 1,500 จุด-1,510 จุด