xs
xsm
sm
md
lg

ปัจจัยลบรุมหุ้นไทยหวั่นการเมืองทุบร่วงหนัก ทริกเกอร์ฟันด์แค่ช่วยพยุงดัชนี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นักวิเคราะห์ฟันธงหุ้นไทยครึ่งปีหลังยังผันผวน ปัจจัยลบรุมเร้าทั้งใน และนอกประเทศ ทั้งเรื่อง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม แบงก์ชาติปรับเป้า GDP ลดลง หลังประชานิยมทำสินค้าแพง อีกทั้งแผนยุติมาตรการ QE ยังไม่ชัดเจน ชี้เงินทริกเกอร์ ฟันด์ แค่ช่วยพยุงดัชนี หากต่างชาติขายแรงก็เอาไม่อยู่ ภาพรวมไตรมาส 4 ฟื้นตัว คาดอยู่กรอบ 1,400-1,600 จุด แต่หากการเมืองวุ่นวาย อาจได้เห็น 1,150 จุด

นายอภิชาติ ผู้บรรเจิดกุล ผู้อำนวยการสายงานวิเคราะห์เชิงกลยุทธ์ บล.ทิสโก้ กล่าวว่า แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในครึ่งปีหลังมีผลกระทบจากปัจจัยหลายด้าน ทั้งหนี้ครัวเรือน และหนี้สาธารณะที่ยังคงมีความผันผวนต่อเนื่องยาวนาน ทำให้ดัชนีหุ้นไตรมาส 3 ยังผันผวนต่อไป แต่จะไม่ต่ำกว่าจุดต่ำสุดเดิมที่ 1,338 จุด โดยยังปรับฐานลงมาคาดว่าจะอยู่ที่ 1,400-1,410 จุด น่าจะรับอยู่ และ อาจจะรีบาวนด์กลับมาได้ในปลายๆ ไตรมาส 4

“โดยรวมนักลงทุนส่วนมากมีความกังวลปัจจัยภายนอกประเทศว่า ทางสหรัฐฯ จะถอนมาตรการผ่อนคลายทางการเงิน หรือ QE ประมาณเดือนกันยายนนี้หรือไม่ ซึ่งเมื่อถึงเวลาที่จะยกเลิกมาตรการนี้จริงๆ คาดว่าจะมีความชัดเจนเกิดขึ้นเพื่อให้ตลาดทุนได้สามารถตั้งรับได้แต่เนิ่นๆ และนักลงทุนจะเริ่มทยอยกลับเข้ามาในตลาด”

ส่วนปัจจัยภายในประเทศที่หลายฝ่ายกังวลกันอยู่ในช่วงนี้ คือ การเปิดประชุมสภาฯ ในวันที่ 7 สิงหาคม ไปจนถึงปลายเดือนพฤศจิกายน จุดเด่นที่เป็นประเด็นร้อนแรงคือ การผลักดัน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเข้าสู่สภา กฎหมายกู้เงินบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท ที่มีกรณีพิพาทกับศาลปกครองที่ยังไม่จบ ก็ยังคงสร้างสถานการณ์ยืดเยื้อต่อไปได้อีก และการยื่นกู้เงินในนโยบายโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ 2 ล้านล้านบาท ถ้าหากยังไม่ผ่านสภา งบที่จะไปลงทุนต่างๆ ก็จะไม่เกิดขึ้น หรือเกิดขึ้นล่าช้า โดยรวมการพัฒนาประเทศอาจสูญเสียโอกาสด้านเวลาไป

“สถานณ์การการเมืองถือว่ามีส่วนที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อตลาดหุ้นไทยค่อนข้างมาก ถึงแม้ว่าจะไม่ทำให้หุ้นปรับตัวดิ่งลงมาก แต่ก็ไม่สามารถทำให้ดัชนีปรับตัวดีดขึ้นไปได้ เพราะส่วนหนึ่งมาจากการที่นักลงทุนขาดความเชื่อมั่นต่อเสถียรภาพของรัฐบาล และอาจจะเทขายหุ้นไทยส่วนหนึ่งออกไปเก็งกำไรในตลาดหุ้นที่มีสภาพคล่องสูงอย่าง เช่น สิงคโปร์ หรือฮ่องกงแทน”

ดังนั้น จึงประเมินว่าหากเกิดความวุ่นวายทางการเมือง เกิดความขัดแย้ง และรุนแรงจนอาจนำไปสู่การจลาจลเหมือนในอดีต อาจทำให้ดัชนีหุ้นไทยแกว่งตัวรุนแรงในระดับครึ่งปีหลังที่ 1,400 จุด-1,550 จุด

ขณะเดียวกัน ในไตรมาสที่ 4 ดัชนีหุ้นไทยคาดว่าน่าจะปรับตัวดีขึ้นได้จากไตรมาสที่ 3 ประเด็นหลักคือ มาตรการ QE จะมีความชัดเจนมากขึ้นว่าจะยกเลิกเมื่อไหร่ และอาจจะมีข่าวของ LTF, RMF เข้ามาช่วยสนับสนุนให้ดัชนีปรับตัวขึ้นไปอีกด้วย และถ้ามองอนาคตเศรษฐกิจไทยไปถึงไตรมาสที่ 1 ของปี 2557 เชื่อว่าภาพรวมกำไรของบริษัทจดทะเบียนยังได้ดีอยู่ ซึ่งคาดว่าจะเติบโตได้อย่างน้อย 10% โดยประมาณการว่า แนวโน้มดัชนีหุ้นไทยน่าจะปรับตัวดัชนีสูงขึ้นกว่า 1,650-1,700 จุดในปีหน้า โดยอย่างน้อยถ้างบประมาณบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านของรัฐบาลสามารถมีผลบังคับใช้ได้จริงๆ ก็จะส่งผลดีต่อบริษัทจดทะเบียนที่จะเพิ่มกำลังการผลิตได้เต็มที่โดยไม่ต้องมามัวกังวลกับปัญหาน้ำท่วมที่จะเกิดขึ้นตามมา

ขณะที่เศรษฐกิจครึ่งปีหลังของปี 2557 ถ้านโยบายตราสารหนี้รัฐบาลในโครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ (Infrastructure ) สามารถผลักดันออกมาใช้งานได้จริง ไม่มีความล่าช้า และเป็นไปตามที่แผนแม่บทที่วางไว้ ก็จะมีเม็ดเงินการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติกลับเข้ามาลงทุนเหมือนเดิม และอาจจะมาจากหลายแหล่ง เนื่องจากทาง ตลท.ได้ทำโรดโชว์ไว้ในหลายประเทศ ก็จะสามารถระดมเม็ดเงินในตลาดทุนได้มากขึ้น แต่ในทางกลับกัน หากการดำเนินงานของรัฐบาลเป็นไปอย่างล่าช้า และยืดเยื้ออย่างไม่มีกำหนด โอกาสที่ตลาดหุ้นไทยจะกลับมาคึกคักเหมือนอย่างต้นไป 2556 ก็จะเป็นไปได้ยาก แต่โดยรวมคาดหวังว่า พ.ร.บ.กู้เงิน2.2 ล้านล้านบาท จะผ่านไปได้แม้ว่าจะเกิดความล่าช้าไปบ้าง

***GDP ลดทำหุ้นไทยดิ่งเหว แนะจับตาการเมือง

น.ส.ธีรดา ชาญยิ่งยงค์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ฟิลลิป กล่าวว่า มองภาพรวมตลาดหุ้นไทย และเศรษฐกิจไทยในครึ่งปีหลังเป็นไปตามที่หลายฝ่ายได้คาดการณ์ไว้ จากที่ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. ปรับลดเป้าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยลง (GDP) จากเดิมที่ประมาณการไว้ที่ 5.1% ลดลงเหลือ 4.2% ซึ่งลงมาในอัตราที่ถือว่าเยอะพอสมควร โดยแบ่งเป็น 2 ส่วนหลักๆ คือ ปัจจัยภายในประเทศ และปัจจัยภายนอกประเทศ

โดยปัจจัยภายนอกประเทศนั้นมาจากปัญหามาตรการมาตรการ QE และประกอบกับอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทไทยที่แข็งค่า และผันผวนต่อเนื่องกระทบต่อภาคการส่งออกของประเทศ
ในส่วนของปัจจัยภายในประเทศนั้น คงหนีไม่พ้นปัญหาหนี้ครัวเรือน และหนี้สาธารณะจากนโยบายประชานิยมที่เริ่มทยอยปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ราคาสินค้ามีราคาแพงมากขึ้น และค่าครองชีพต่อหัวมีจำนวนรายจ่ายมากขึ้น ถึงแม้ว่าปลายปีจะเป็นฤดูกาลท่องเที่ยวที่ประชาชนนิยมจับจ่ายใช้สอย ซึ่งอาจจะมีแรงกระตุ้นการซื้อเข้ามา แต่ต้องไม่ลืมว่าอาจจะก่อให้เกิดหนี้ที่ไม่เกิดรายได้ (NPL) ในระบบเศรษฐกิจระดับล่าง และระดับกลางเพิ่มมากขึ้น

นอกจากนี้ การกระตุ้นการท่องเที่ยวช่วงเทศกาลต่างๆ จะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย ซึ่งจะดึงเม็ดเงินเข้ามาได้มากน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่กับความสงบของสถานการณ์การเมืองเป็นหลัก

“มองไตรมาสที่ 3 ตลาดหุ้นไทยยังคงกังวล และจับตามาตรการ QE ของสหรัฐฯ ส่งผลให้ดัชนีแนวโน้มตลาดหุ้นไทยขยับไปไหนไม่ได้ไกลมากนัก เนื่องจากสถานการณ์การเมืองที่ร้อนแรง ดัชนีอาจปรับตัวขึ้นลงอยู่ในกรอบแคบๆที่ 1,300 จุด-1,550 จุด”

อย่างไรก็ดี ในช่วงต้นไตรมาส 4 จากที่หลายฝ่ายจับตามองว่าเฟดจะยกเลิกมาตรการ QE ในเดือนกันยายน หรือเลื่อนออกไปเป็นเดือนธันวาคมนั้น ซึ่งถ้าหากมีความชัดเจนเป็นรูปธรรมในการปฏิรูปเศรษฐกิจที่สามารถทำได้จริง ก็อาจจะทำให้ตลาดหุ้นไทยกลับมาฟื้นตัวได้ เพราะเศรษฐกิจของสหรัฐฯ นั้นเป็นตลาดใหญ่อันดับต้นๆ ติด 1 ใน 4 ของโลก เพราะฉะนั้น ถ้าสหรัฐฯ สามารถฟื้นตัวขึ้นได้อย่างแข็งแรง และสามารถชดเชยผลกระทบที่มาจากการลดมาตรการ QE ได้คาดว่าจะเป็นสัญญาณบวกที่ดีขึ้น ซึ่ง บล.ฟิลลิป ยังคงเป้าหมายเดิมที่คาดว่าดัชนีหุ้นไทยสามารถปรับตัวสูงขึ้นไปได้ที่ระดับ 1,610 จุด

“ขณะเดียวกัน ในส่วนของ ทริกเกอร์ ฟันด์ ที่เข้าตลาดมาในช่วงนี้นั้น เป็นเพียงการช่วยพยุงและประคองตลาดไม่ให้ดัชนีอ่อนตัวลงไปมากจนเกินไปนัก แต่จะผลักดันให้พุ่งขึ้นไปโดดเด่นคาดว่าจะเป็นไปได้ยาก เพราะผลกระทบที่ทำให้ตลาดอ่อนตัวในช่วงก่อน แต่ถ้านักลงทุนต่างชาติย้ายฐานการเงินเป็นจำนวนมากอีกรอบ คิดว่า “ทริกเกอร์ ฟันด์” ก็คงช่วยอะไรไม่ได้”

อย่างไรก็ตาม นักลงทุนต้องจับตามอง และระมัดระวังมากที่สุดในช่วงนี้ เนื่องจากจะมีการเปิดประชุมสภาในวันที่ 7 สิงหาคม โดยหลายฝ่ายคาดการณ์ว่า จะมีการผลักดันร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเข้าสู่สภา ส่งผลให้เกิดความขัดแย้งรุนแรงบานปลายอาจถึงขั้นจลาจล นโยบายโครงการต่างๆ อาจต้องหยุดชะงักลง ซึ่งทางโบรกฯ มองว่า หากสถานการณ์เลวร้ายถึงที่สุด ดัชนี SET INDEX อาจร่วงลงถึงจุดต่ำสุดที่ไปแตะที่ระดับ 1,150 จุด
กำลังโหลดความคิดเห็น