xs
xsm
sm
md
lg

ธปท.ห่วงศก.ซึมยาว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - ธปท.เผยเศรษฐกิจไตรมาส 2 ชะลอตัวกว่าที่คาดทั้งการใช้จ่ายในประเทศ การส่งออก การผลิตภาคอุตสาหกรรม และการลงทุน หวังไตรมาส 3 เศรษฐกิจน่าจะดีขึ้นได้แรงหนุนจากการฟื้นตัวของประเทศกลุ่ม G3 แต่หากการส่งออกไม่ฟื้นจะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยพักฐานยาวปลายปีก็อาจยังไม่เห็น

นายเมธี สุภาพงษ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยโดยรวมไตรมาส 2 ของปีนี้ชะลอตัวต่อเนื่องทั้งในส่วนของการใช้จ่ายในประเทศ ภาคการส่งออกไทย ทำให้การผลิตภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะเกี่ยวกับการผลิตเพื่อการส่งออก และการลงทุนหดตัวลงชัดเจน ทำให้การขยายตัวเศรษฐกิจต่ำกว่า 4% ในไตรมาส 2 อย่างไรก็ตามในช่วงไตรมาส 3 มองว่าเศรษฐกิจไทยไม่น่าจะชะลอกว่าไตรมาส 2 เพราะขณะนี้เริ่มเห็นการฟื้นตัวกลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลัก ซึ่งจะส่งผลดีต่อการส่งออกช่วงปลายปีนี้ ทำให้การลงทุนและการใช้จ่ายได้รับผลดีด้วย
“ภาวะเศรษฐกิจไทยยังคงมีความเสี่ยงอยู่ค่อนข้างเยอะ โดยในต่างประเทศเองก็มีการฟื้นตัวไม่มั่นคงนัก ขณะที่ภายในประเทศ ตัวการบริโภคยังไม่ฟื้นตัวเร็วนักต้องอาศัยเวลาและการลงทุนถึงจะตามมาทีหลัง อย่างไรก็ตาม หากภาคส่งออกยังไม่ฟื้นมีโอกาสที่เวลาการพักฐานของเศรษฐกิจอาจจะต้องใช้นานไปอีก เดิมประเมินไว้ในช่วงไตรมาส 3-4 ของปีนี้และแม้การพักฐานดีขึ้น แต่จะค่อยๆ ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ตอนนี้หลายตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐเริ่มดีขึ้นซึ่งอาจจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโลกและการส่งออกไทยด้วย ขณะที่ภายในประเทศตัวภาครัฐก็เป็นความหวังที่ควรสนับสนุนให้เกิดการลงทุน”
ทั้งนี้ การส่งออกลดลงตามอุปสงค์ต่างประเทศ โดยเฉพาะจีน ประกอบกับมีปัญหาโรคระบาดกุ้ง ซึ่งเชื่อว่าปัญหานี้จะมีต่อเนื่องไปจนถึงสิ้นปี รวมทั้งปัจจัยชั่วคราวจากการปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม ทำให้เดือนมิ.ย.ภาคการส่งออกไทยมีมูลค่า 18,818 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือหดตัว 3.5% ช่วงเดียวกันปีก่อน และหดตัว 1.9%ในไตรมาส 2 แต่ขยายตัวเล็กน้อยอยู่ที่ 1.2% ช่วงครึ่งแรกของปีนี้
การส่งออกที่ชะลอตัวส่งผลให้การผลิตสินค้าอุตสาหกรรมและการลงทุนภาคเอกชนหดตัว โดยการผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวทั้งในส่วนของฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ อาหาร เครื่องใช้ไฟฟ้า และผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ขณะที่การผลิตยานยนต์ขยายตัวชะลอตัวลดลง ซึ่งมองว่าในช่วง 6 เดือนหลังก็น่าจะชะลอตัวอยู่ ส่วนการลงทุนหดตัวตามการลงทุนในหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์โดยเฉพาะเพื่อใช้ในกลุ่มอุตสาหกรรมที่เผลิตเพื่อการส่งออก ขณะที่หมวดก่อสร้างขยายตัวตามการก่อสร้างที่อยู่อาศัยและอาคารพาณิชยกรรมที่เพิ่มขึ้น ผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันลดลง โดยเฉพาะด้านคำสั่งซื้อ ทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจเดือนมิ.ย.อยู่ที่ 49.9 แต่ในอีก 3 เดือนข้างหน้าความเชื่อมั่นดีขึ้นอยู่ที่ 53.3
นอกจากนี้ ช่วงไตรมาส 2 ดุลการค้าขาดดุล 497 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนหนึ่งจากการนำเข้าทองคำค่อนข้างมาก ประกอบกับส่งออกลดลง ขณะที่ดุลบริการ รายได้และเงินโอนขาดดุล 4,579 ล้านเหรียญสหรัฐ จากการส่งกลับกำไรและเงินปันผล ทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุล 5,076 ล้านเหรียญสหรัฐ อย่างไรก็ตาม ดุลต่างประเทศขาดดุลไม่ได้เกิดจากปัจจัยพื้นฐาน
และเห็นว่าระยะต่อไปไม่น่าจะขาดดุลต่อเนื่อง ส่วนดุลบัญชีและเงินทุนเคลื่อนย้ายเกินดุล 4,183 ล้านเหรียญสหรัฐจากการกู้ยืมระยะสั้นจากต่างประเทศของธนาคารพาณิชย์ เพื่อบริหารสภาพคล่องเงินต่างประเทศ.
กำลังโหลดความคิดเห็น