“คลัง” เตรียมปรับ “จีดีพี” เผยมีสัญญาณจากหลายปัจจัย ไตรมาส 2 ติดลบ คาดใกล้เคียงระดับ 4% ส่วนการชุมนุมทางการเมืองของกลุ่มต่างๆ ยอมรับว่าอาจกระทบต่อจิตวิทยาการลงทุน การบริโภค แต่ยังไม่ได้นำมาประเมินต่อเศรษฐกิจ
นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 มีสัญญาณชะลอตัวลงจากหลายปัจจัยติดลบ ทำให้จีดีพีจะต่ำกว่าคาดการณ์ที่ร้อยละ 4 เนื่องจากการส่งออกซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจชะลอลงมาก ทั้งยอดส่งออกจากสหรัฐฯ ยุโรป จีน ลบร้อยละ 2.2 รวมถึงการใช้จ่ายในประเทศทั้งการลงทุนภาครัฐ และการใช้จ่ายของเอกชน
นายเอกนิติ กล่าวว่า สศค.จึงเตรียมปรับจีดีพีลงจากเดิมคาดการณ์ไว้ร้อยละ 4.5 จากช่วงคาดการณ์ร้อยละ 4-5 โดยคาดว่า จีดีพีคงลดเหลือใกล้เคียงร้อยละ 4 เนื่องจากตัวเลขการส่งออกทั้งปีขยายตัวได้เพียงร้อยละ 1 หลังจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปรับตัวเลขลดลงเหลือร้อยละ 4.2 จากนั้นในเดือนสิงหาคม เป็นการปรับตัวเลขของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ส่วนเดือนกันยายน เป็นคิวการปรับตัวเลขของ สศค. ส่วนการชุมนุมทางการเมืองของกลุ่มต่างๆ ยอมรับว่า อาจกระทบต่อจิตวิทยาการลงทุน การบริโภค แต่ยังไม่ได้นำมาประเมินต่อเศรษฐกิจของ สศค.
สำหรับปัจจัยบวกที่ยังมีความหวัง คือ จำนวนนักท่องเที่ยวไตรมาส 2 ขยายตัวได้ดีร้อยละ 21.3 จำนวนทั้งสิ้น 5.9 ล้านคน การใช้จ่ายภาครัฐยังคงขยายตัวต่อเนื่อง และเบิกจ่ายได้ตามเป้าหมายในช่วง 9 เดือนแรกของปีงบประมาณที่ร้อยละ 69.3 เทียบกับเป้าหมายที่ร้อยละ 69 และยังรอลุ้นการพิจารณาแผนลงทุน 2 ล้านล้านบาท และแผนป้องกันน้ำท่วม 350,000 ล้านบาท จะมีเงินออกมาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้เพียงใด เพราะเม็ดเงินที่ต้องเร่งเบิกจ่ายผ่านภาครัฐขณะนี้มีประมาณ 600,000 ล้านบาท โดยยังมีความเสี่ยงที่ต้องเผชิญจากภาวะเศรษฐกิจโลก การผ่อนคลายมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ของสหรัฐฯ
น.ส.กุลยา ตันติเตมิท รักษาราชการแทนผู้อำนวยการ สำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สศค. กล่าวว่า เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 ชะลอสะท้อนจากยอดภาษีมูลค่าเพิ่มหดตัวลบร้อยละ 0.2 จากไตรมาสก่อนหน้าขยายตัวร้อยละ 6.9 การบริโภคสินค้าคงทน จากการจำหน่ายรถยนต์นั่งหดตัวลบร้อยละ 3.3 เพราะได้ส่งมอบรถยนต์คันแรกไปแล้วในช่วงปลายปี 2555 และต้นปี 2556 ขณะที่รายได้เกษตรกรเริ่มหดตัวทุกภาคตามราคาสินค้าปรับตัวลดลง การบริโภคภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร ชะลอตัวสะท้อนจากการจำหน่ายรถยนต์ในเชิงพาณิชย์ ทำให้ไตรมาส 2 ขยายตัวเพียงร้อยละ 3.2 ชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้านี้ ทำให้ทิศทางเศรษฐกิจครึ่งปีอาจชะลอลงตามไปด้วย