xs
xsm
sm
md
lg

สศค.หั่นเป้า “จีดีพี” ปี 56 เหลือโตแค่ 4.5% มองทิศทาง ศก.ใน-นอกยังชะลอตัว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สศค.คาดจีดีพี Q2 โตได้ 4.0% พร้อมลดคาดการณ์ทั้งปี 56 เหลือโต 4.5% เป็นผลจากการชะลอตัวของการบริโภคและการลงทุน อีกทั้งมีผลพวงเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าฟื้นตัวช้ากว่าที่คาด

นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) แถลงข่าวว่า สศค.ได้ปรับลดคาดการณ์อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ของไทย ปี 2556 เหลือโต 4.5% หรือโตในกรอบ 4.0-5.0% จากเดิมที่คาดไว้โต 4.8 % ซึ่งการปรับลดคาดการณ์จีดีพีดังกล่าว เป็นผลจากการที่เศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าฟื้นตัวช้า การบริโภคภาคเอกเชนในประเทศชะลอตัว

ทั้งนี้ สศค.คาดการณ์จีดีพีในไตรมาส 2/56 จะขยายตัว 4.0% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และเติบโต 1.7% จากไตรมาสก่อนหน้า ส่วนในไตรมาส 3 และ 4 ของปีนี้ จะเติบโตได้ไตรมาสละกว่า 4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา

โดยการประเมินดังกล่าว มีสมมติฐานจากอัตราการขยายตัวเฉลี่ย 14 ประเทศคู่ค้าหลักในปีนี้อยู่ที่ 3.4% ราคาน้ำมันดิบดูไบอยู่ที่ 101-111 ดอลลาร์/บาร์เรล อัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยที่ 30 บาท/ดอลลาร์ และอัตราดอกเบี้ยนโยบายเฉลี่ยอยู่ที่ 2.50%

นายสมชัย ระบุว่า การบริโภคภาคเอกชนในปี 2556 คาดว่าจะขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงจากปีก่อน โดยมีสาเหตุมาจากรายได้ภาคครัวเรือนที่คาดว่าจะชะลอลงหลังจากได้รับผลกระทบจากรายได้ภาคเกษตรที่ลดลง ตามราคาสินค้าเกษตรบางรายการ เช่น ยางพารา นอกจากนั้น ประชาชนยังมีฐานการบริโภคสูงในช่วงก่อนหน้านี้ โดยเฉพาะสินค้าคงทนที่ได้รับอานิสงส์จากนโยบายรถยนต์คันแรก

การลงทุนในภาคเอกชนมีทิศทางชะลอตัวลง โดยเฉพาะการลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักรที่มีการเร่งลงทุนในปีก่อนหน้านี้ ภายหลังจากเหตุการณ์อุทกภัยครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นเมื่อปลายปี 54 คลี่คลายลง ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐจะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องในปีนี้ โดยเฉพาะการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบลงทุนภาครัฐ และการลงทุนตามแผนบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท ที่คาดว่าจะเริ่มมีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจมากขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีนี้

สำหรับอุปสงค์ภายนอกประเทศนั้น คาดว่าการส่งออกสินค้า และบริการจะเติบโตในอัตราเร่งขึ้นจากปีก่อน โดยได้รับอานิสงส์จากการส่งออกในภาคบริการที่คาดว่าจะขยายตัวได้ในระดับสูงต่อเนื่องจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก ขณะที่การส่งออกคาดว่าจะกลับมาขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากยังได้รับผลกระทบจากการฟื้นตัวที่ค่อนข้างล่าช้าจากเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าสำคัญ 14 ประเทศ และทำให้ สศค.ได้ปรับลดการขยายตัวของการส่งออกไทยในปีนี้ลงเหลือ 5.5% จากเดิมที่คาดไว้ว่าจะขยายตัวได้ 9%

“ปัจจัยที่กระทบแรงๆ ที่ทำให้ สศค.ปรับลด GDP ปีนี้ลงเป็นผลจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ลดลงของ 14 ประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย ซึ่งดูจากภาพรวมแล้วตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันที่เป็น underperform สศค.จึงปรับลด GDP ปีนี้เหลือ 4.5% โดยมีกรอบที่ 4-5% จากก่อนหน้าที่เคยคาดการณ์ไว้ที่ 4.5-5.8%”

พร้อมระบุว่า จุดแข็งที่จะช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจไทยในปีนี้ คือ ภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวได้ดี ประกอบกับเสถียรภาพเศรษฐกิจในประเทศยังมีความแข็งแกร่ง โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อในปีนี้จะอยู่ที่ 2.5% ลดลงจากเดิมที่คาดไว้ 3.0% ซึ่งเป็นไปตามราคาน้ำมันในตลาดโลกที่คาดว่าจะมีแนวโน้มลดลงตามประมาณการอุปทานน้ำมันที่ลดลงตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง

“การใช้นโยบายการเงินโดยใช้เป้าหมายเงินเฟ้อเป็นหลักนั้น ในขณะนั้นไม่มีแรงกดดันให้ดอกเบี้ยต้องกลัวเงินเฟ้อ เพราะเงินเฟ้อไม่ใช่ตัวท้าทายหลักของไทยในปัจจุบัน และทั้งปีนี้ ใครที่บอกว่าดอกเบี้ยขาขึ้น สศค.ขอค้าน เพราะยังไม่สามารถสรุปได้ว่าเป็นช่วงขาขึ้นแม้จะมีเงินไหลออกก็ตาม เรายังมั่นใจว่าดอกเบี้ยยังเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการทำให้เศรษฐกิจไทยลดการชะลอตัวลงได้”

ขณะที่อัตราการว่างงานในปีนี้ คาดว่ายังคงอยู่ในระดับต่ำที่ 0.7% ส่วนเสถียรภาพภายนอกประเทศนั้น คาดว่าดุลบัญชีเดินสะพัดจะขาดดุลเล็กน้อยที่ 2.2 พันล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็น 0.5% ของจีดีพี ซึ่งคาดว่าดุลการค้าจะเกินดุลลดลงจากปีก่อนมาอยู่ที่ 2,900 ล้านดอลลาร์ ตามมูลค่าสินค้านำเข้าที่คาดว่าจะเร่งตัวกว่ามูลค่าสินค้าส่งออก

“หากต้องการให้เศรษฐกิจไทยสามารถเติบโตได้ในอัตราสูงกว่าที่คาดการณ์ ภาครัฐต้องเร่งเบิกจ่ายโครงการลงทุนของภาครัฐ ทั้งแผนบริหารจัดการน้ำวงเงิน 3.5 แสนล้านบาท และโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาท นอกจากนี้ ยังต้องส่งเสริมการส่งออกสินค้าให้เป็นไปตามเป้าหมายของกระทรวงพาณิชย์ รวมทั้งกระตุ้นการท่องเที่ยวจากต่างชาติเพิ่มขึ้น ซึ่งปัจจัยดังกล่าวจะทำให้เศรษฐกิจไทยสามารถเติบโตได้ไม่ต่ำกว่า 5%” นายสมชัยกล่าวสรุป
กำลังโหลดความคิดเห็น