xs
xsm
sm
md
lg

ลดดอกเบี้ยมีลุ้น! ธปท.รับจีดีพีต่ำเป้า สภาพัฒน์ชี้ส่งออกอืด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - ข้อเรียกร้องลดดอกเบี้ยเริ่มมีลุ้น! แบงก์ชาติธปท.ยอมรับตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาสแรกต่ำกว่าที่ประเมินไว้ แต่ยังไม่เชื่อเกิดจากผลส่งออกแผ่ว พร้อมส่งข้อมูลให้ กนง.พิจารณาสิ้นเดือนนี้ ด้านสภาพัฒน์ระบุจีดีพีไตรมาสแรกขยายตัว 5.3% ส่งออกขยายตัวช้า ประกาศลดจีดีพีทั้งปีโตไม่เกิน 4.2-5.2% "โต้ง" ได้ที บอกห่วงเศรษฐกิจโตต่ำ ย้ำจุดยืนลดดอกเบี้ย

นายเมธี สุภาพงษ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงิน สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวยอมรับว่า ตัวเลขเศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาสแรกของปี 56 ขยายตัว 5.3% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ถือว่าต่ำกว่าที่ ธปท.ประมาณการณไว้ที่ระดับ 7% อย่างไรก็ตาม การลดลงเกิดจากเหตุอะไร ธปท.จะขอศึกษารายละเอียดตัวเลขเศรษฐกิจไทยในภาคส่วนต่างๆ ก่อน แต่มองว่าไม่น่าจะเกี่ยวกับการภาคส่งออกไทยหดตัว เพราะตัวเลขจริงของภาคส่งออกไทยขยายตัว 4.5% ในไตรมาสแรกใกล้เคียงกับที่ ธปท.ประมาณการไว้
นอกจากนี้ เมื่อคิดมูลค่าการส่งออกในรูปเงินบาท ทางสศช.ประกาศจริงขยายตัวเพิ่มขึ้น 0.5% ขณะที่ ธปท.ประเมินไว้ว่าจะติดลบเล็กน้อย ฉะนั้น ปัญหาจากภาคส่งออกไทยคงไม่ใช่ แต่ยังตอบไม่ได้ว่าตอนนี้มูลค่าการส่งออกไทยขยายตัว 7.5% ตามที่ ธปท.ประเมินการณ์ไว้หรือไม่ พร้อมทั้งติดตามสถานการณ์ในช่วงไตรมาส 2-3 ของปีนี้
"เดิมที ธปท.คาดการณ์ว่าภาคส่งออกไทยน่าจะปรับตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ธปท.จะรวบรวมข้อมูลจริงของภาวะเศรษฐกิจไทยในส่วนต่างๆ ทั้งในส่วนของ สศช.ที่ประกาศออกมา เพื่อให้ทางคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) พิจารณา” นายเมธีกล่าว

**สภาพัฒน์เผยจีดีพีQ1/56โต 5.3%
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการ เศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกปี 2556 ขยายตัวร้อยละ 5.3 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว (Q4/55) เศรษฐกิจหดตัวร้อยละ 2.2% เนื่องจากฐานในไตรมาส 4/55 อยู่ที่ร้อยละ 19.1 โดยในไตรมาสแรกของปี 2556 มีปัจจัยการขยายตัวของภาคการผลิต การท่องเที่ยว การก่อสร้าง และอุตสาหกรรมซึ่งขยายตัวจากฐานที่ต่ำ ขณะที่การใช้จ่ายภาคครัวเรือนและการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่ร้อยละ 4.2 และร้อยละ 3.1ตามลำดับ
ด้านการส่งออก ขยายตัวช้ากว่าที่คาดการณ์ โดยมูลค่าการส่งออกสินค้าอยู่ 56,181 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นร้อยละ 4.5 (ในรูปเงินดอลลาร์) เมื่อเทียบกับไตรมาสแรกปี 2555 อย่างไรก็ตาม การส่งออกถือว่ามีการขยายตัวในเกณฑ์ต่ำตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและการแข็งค่าของเงินบาท โดยการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมขยายตัวร้อยละ 8.1 ซึ่งได้แรงหนุนจากการขยายตัวของสินค้ายานยนต์ (ร้อยละ 16.8) เครื่องใช้ไฟฟ้า (ร้อยละ 13.4) ผลิตภัณฑ์โลหะ (ร้อยละ 55.9) ส่วนการส่งออกสินค้าเกษตรขยายตัวร้อยละ 3.2 จากข้าว (ร้อยละ 8.6) มันสำปะหลัง (ร้อยละ 34.9)
อย่างไรก็ตาม การส่งออกไปยังตลาดหลักยังอยู่ในเกณฑ์ต่ำ ทั้งในสหรัฐอเมริกา (ร้อยละ 2.6) สหภาพยุโรป (ร้อยละ 8.7) และญี่ปุ่น (ร้อยละ 1.5) ส่วนการส่งออกไปยังอาเซียน ( 9 ประเทศ) ขยายตัวร้อยละ 5.9 จีน ร้อยละ 7.9 ฮ่องกง ร้อยละ 11.2 และออสเตรเลีย (ร้อยละ 33.6) ทำให้มูลค่าการส่งออกในรูปเงินบาทขยายตัวได้เพียงร้อยละ 0.5
นอกจากนี้ สศช. ยังได้ปรับคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2556 ว่าจะขยายตัวร้อยละ 4.2-5.2 ลดจากระดับ 4.5-5.5 ในการประมาณการครั้งก่อนหน้า เนื่องจากเศรษฐกิจในไตรมาสแรกขยายตัวในเกณฑ์ต่ำ รวมทั้งการปรับสมมติฐานด้านอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก และราคาสินค้าส่งออก รวมทั้งความเสี่ยงในครึ่งปีหลังยังอยู่ในเกณฑ์สูง โดยมูลค่าการส่งออกสินค้าจะขยายตัวร้อยละ 7.6 การบริโภคของครัวเรือนและการลงทุนขยายตัวร้อยละ 3.3 และ 7.9 ตามลำดับ ขณะที่อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ร้อยละ 2.3-3.3 และบัญชีเดินสะพัดเกินดุลร้อยละ 0.9 ของจีดีพี

***"โต้ง" ห่วง ศก.โตต่ำกว่าคาด
นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง กล่าวว่า รู้สึกเป็นห่วงและหนักใจกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจในไตรมาส 1 ปี 2556 ตามที่สศช.ระบุว่าขยายตัวเพียง 5.3% เพราะต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ ทั้งที่เศรษฐกิจไตรมาส 1 ของปี 2555มีการขยายตัวที่ต่ำมากเพราะเพิ่งฟื้นตัวจากน้ำท่วม ดังนั้นเศรษฐกิจของปี 2556 น่าจะขยายตัวได้ดีกว่าจากฐานที่ต่ำ
อย่างไรก็ตามในฐานะหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ก็ต้องเร่งทำงาน เพื่อเรียกความเชื่อมั่นให้กลับคืนมา โดยจะเร่งรัดการใช้จ่ายภาครัฐให้เดินหน้าโดยเร็ว เพื่อให้เม็ดเงินเข้าสู่ระบบ และเป็นตัวกระตุ้นให้ภาคเอกชนมีการลงทุนตาม ขณะที่ในส่วนของภาคการส่งออก ก็ต้องประสานงานกับทุกฝายในการแก้ไขและทำงานร่วมกันอย่าใกล้ชิด โดยขอให้ทุกฝ่ายเห็นแก่ส่วนร่วมช่วยกันแกปัญหา
แต่อย่างไรก็ตามยอมรับว่าในช่วงนี้ก็ถือว่าค่างเงินบาทเริ่มมีเสถียรภาพมากขึ้นก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี ส่วนด้านการบริโภคโดยรวมนั้นคิดว่ายังไม่จำเป็นที่จะต้องมีมาตรการกระตุ้นพิเศษใดๆ ออกมา เพราะหากสามารถดำเนินการในด้านการส่งออก และการลงทุนให้ดี การบริโภคก็ดีขึ้นตาม
ผู้สื่อข่าวถามว่า เมื่อตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาส 1 ออกมาเป็นเช่นนี้ น่าจะเป็นเหตุผลให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ตัดสินใจลดดอกเบี้ยหรือไม่ นายกิตติติรัตน์กล่าวแต่เพียงว่า เรื่องนี้ผมได้เคยแสดงจุดยืนและเน้นย้ำมาโดยตลอด.
กำลังโหลดความคิดเห็น