ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ ชี้เศรษฐกิจไตรมาส 1/56 ชะลอลง เชื่อขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 ผลักดันการใช้จ่ายเพิ่ม พร้อมมองอุปสงค์ภายในประเทศ สูงกว่าตัวเลขที่สภาพัฒน์ประเมิน
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ ประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจไทย หลังจากที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รายงานตัวเลข GDP ของไทยในไตรมาส 1 ปี 2013 ขยายตัว 5.3%YOY (เทียบกับไตรมาสเดียวกันปีก่อนหน้า) แต่หดตัว 2.2%QOQ (เทียบกับไตรมาสก่อนหน้า)
ทั้งนี้ เนื่องจากการใช้จ่ายในประเทศของภาคเอกชนชะลอตัวลง การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวเพียง 4.2%YOY เนื่องจากการหดตัวลงเหนือความคาดหมายของการใช้จ่ายในหมวดบริการ และในหมวดสินค้าจำเป็น เช่น อาหาร เครื่องดื่ม ยารักษาโรค สาธารณูปโภค และพลังงาน เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ในปีที่แล้ว ส่วนการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวเพียง 3.1%YOY จากการลงทุนในหมวดเครื่องจักรอุตสาหกรรมที่หดตัว 9.0%YOY ตามการนำเข้าเครื่องมือเครื่องจักรที่ชะลอตัว หลังจากที่ได้มีการเร่งนำเข้ามาในช่วงไตรมาส 1 ในปีที่แล้วภายหลังน้ำท่วม อย่างไรก็ดี ด้านการก่อสร้างยังสามารถขยายตัวได้ดีทั้งการก่อสร้างที่อยู่อาศัย และการพาณิชย์ที่ยังขยายตัวได้ 10.3%YOY และ 8.5%YOY ตามลำดับ
การลงทุนภาครัฐขยายตัวได้ดีตามคาด การใช้จ่ายลงทุนของภาครัฐขยายตัว 18.8%YOY โดยการลงทุนในเครื่องจักรขยายตัว 30.3%YOY จากการลงทุนในเครื่องจักรโรงไฟฟ้า และการนำเข้าเครื่องบินเพื่อการพาณิชย์ ขณะที่การก่อสร้างขยายตัว 13.4%YOY ชะลอลงจากไตรมาสที่แล้วที่ขยายตัว 27.1%YOY
การส่งออกสินค้าชะลอตัวลง แต่การท่องเที่ยวขยายตัวดี การส่งออกขยายตัว 3.8%YOY ชะลอตัวจากไตรมาสก่อนหน้า โดยเฉพาะการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม อย่างเช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ โลหะ เครื่องจักร คอมพิวเตอร์และชิ้นส่วน เป็นต้น รวมไปถึงสินค้าเกษตรอย่างกุ้งแช่แข็งที่ส่งออกได้ลดลงเนื่องจากเกิดโรคระบาด อย่างไรก็ดี รายรับด้านบริการขยายตัว 25.5%YOY จากการขยายตัวของรายรับจากการบริการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นผลจากการที่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาค่อนข้างมาก
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ เห็นว่า ต้องติดตามการใช้จ่ายในประเทศที่ชะลอลง การใช้จ่ายในประเทศในไตรมาส 1 น่าจะขยายตัวได้ดีกว่าข้อมูลที่ออกมา เนื่องจากมีปัจจัยสนับสนุนทั้งจากการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำรอบที่สอง อัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำ และเงินบาทที่แข็งค่าซึ่งช่วยให้ราคาพลังงานไม่เป็นอุปสรรคในการใช้จ่ายของครัวเรือน สำหรับในช่วงที่เหลือปี 2013 นั้น ปัจจัยสนับสนุนของการใช้จ่ายในประเทศจะมาจากการฟื้นตัวของรายได้ของผู้ประกอบการและแรงงานภาคส่งออก ซึ่งต้องติดตามว่าจะสามารถรักษาแรงขับเคลื่อนของการใช้จ่ายโดยรวมต่อไปได้หรือไม่
ทั้งนี้ คาดว่า GDP ในปี 2013 ยังสามารถขยายตัวได้ราว 5% มองว่าความเสี่ยงต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจมีสูงกว่าเดิมเล็กน้อย เนื่องจากการใช้จ่ายในประเทศของภาคเอกชนขยายตัวได้ต่ำกว่าคาด อย่างไรก็ดี การใช้จ่ายลงทุนภาครัฐและการส่งออกมีแนวโน้มที่ดี นอกจากนี้ การใช้นโยบายการเงินในการพยุงเศรษฐกิจก็สามารถทำได้ในภาวะที่ความเสี่ยงต่อเงินเฟ้อมีค่อนข้างน้อย