รมว.คลัง ยอมรับทุกข์ใจบาทแข็งค่าหนัก เพราะพูดในเรื่องนี้มาตลอด 1 ปีที่ผ่านมาด้วยความเป็นห่วง กังวลฉุดดุลการค้าเป็นลบ พร้อมจับตาเก็งกำไรตลาดทุน
นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง กล่าวถึงกรณีเงินบาทแข็งค่าขึ้นมากสุดในรอบ 16 ปี หลุด 29 บาท/ดอลลาร์ว่า ในฐานะที่ดูแลการเงินการคลังของประเทศ ได้จับตาสถานการณ์ค่าเงินบาทด้วยความทุกข์ใจอย่างยิ่ง รวมทั้งมีความเป็นห่วงค่าเงินบาทมาตั้งแต่ที่อยู่ในระดับสูงที่ 31 บาท/ดอลลาร์ เมื่อเดือน เม.ย.55 และได้พูดในเรื่องนี้มาตลอด 1 ปีที่ผ่านมาด้วยความเป็นห่วง ไม่เคยนิ่งนอนใจตั้งแต่ค่าบาทแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง โดยได้พยายามดูแลตามอำนาจหน้าที่เท่าที่กฎหมายอนุญาตดำเนินการ และยอมรับว่าได้ทำหน้าที่อย่างเต็มที่แล้ว
“เมื่อเงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วทำให้รู้สึกไม่สบายใจอย่างแน่นอน และยอมรับว่ากระบวนการดูแลเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนในส่วนของหน่วยงาน นอกเหนือการกำกับของกระทรวงการคลังโดยตรง เนื่องจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ล้วนแต่มีผู้ทรงคุณวุฒิในการพิจารณามาตรการ ซึ่งที่ผ่านมา ก็เคยขอให้พิจารณาด้วยความรอบคอบ”
ทั้งนี้ เงินบาทที่แข็งค่าขึ้นมากมีทั้งข้อดี และข้อเสียสำหรับผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น สินค้าจำเป็นที่นำเข้าจากต่างประเทศจะมีราคาถูกลง ถือเป็นประโยชน์ในภาคธุรกิจที่มีการนำเข้า และผู้บริโภค ในทางตรงกันข้าม กลับส่งผลกระทบภาคส่งออก โดยเฉพาะการส่งออกสินค้าและการบริการ นักท่องเที่ยวที่จะเดินทางมาเที่ยวมองไทยจะมีค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น ทำให้การประกอบธุรกิจดังกล่าวยากขึ้น ซึ่งผลที่ตามมาอาจกระทบการจ้างงาน ความแข็งแรงในฐานะลูกหนี้ และลูกค้าในระบบธนาคาร และไม่สามารถขยายตลาดและสินค้าได้ อย่างสินค้าเกษตรในส่วนที่ส่งออก อาจทำให้ราคาสินค้าเกษตรได้รับผลกระทบ
รมว.คลัง กล่าวว่า ตนเองจะหารือร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่กำกับดูแลนโยบายทางการเงินการคลังให้มากขึ้น และที่สำคัญ ตนเองมีความกังวลในการเข้ามาเก็งกำไรของนักลงทุนในตลาดหุ้นไทย
อย่างไรก็ตาม ยังไม่ขอพูดถึงแนวโน้มค่าเงินบาทในอนาคตว่าจะแข็งค่าขึ้นอีกหรือไม่ อยากให้หน่วยงานที่ดูแลโดยตรงมีอิสระในการดำเนินนโยบาย แต่หากบาทแข็งค่าขึ้นเนื่องจากดุลการค้าเป็นบวกทุกฝ่ายจะเข้าใจ ในทางกลับกัน หากแข็งค่าขึ้นในขณะที่ดุลการค้าเป็นลบ สาเหตุจากเงินตราต่างประเทศไหลเข้าจำนวนมาก หวังประโยชน์จากการลงทุนในตราสารหนี้ และพันธบัตรรัฐบาล จะเป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วงมาก ขณะที่สถานการณ์การส่งออกติดลบมาตั้งแต่เดือน ก.พ.ที่ผ่านมา ถือว่าผู้ส่งออกเริ่มได้รับผลกระทบแล้ว