xs
xsm
sm
md
lg

ห่วยเรื้อรัง "ค่าแรง 300" แรงงานช้ำ - ของแพง - ต่างด้าวแย่งงาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


หากจะพูดว่า “กลุ่มผู้ใช้แรงงาน” คือฟันเฟืองตัวเล็กๆ ที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตไปข้างหน้า แต่ยังคงถูกมองเป็นกลุ่มคนเบื้องล่างที่สวัสดิการต่างๆ ไม่ครอบคลุม และยังคงต้องหาเช้ากินค่ำ ยากที่จะเงยหน้าอ้าปากได้ในยุคสภาพเศรษฐกิจขาลง คงไม่ผิดไปมากนัก ถึงแม้รัฐบาลจะขานรับนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ตามสัญญาที่เคยให้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่เหมือนปัญหาปากท้องของกลุ่มผู้ใช้แรงงานยังแก้ไขไม่ถูกจุด เพราะค่าครองชีพก็ถีบตัวทะยานขึ้นไป ส่วนสวัสดิการก็ถูกลดทอนลง จนเป็นที่น่าหวั่นวิตกสำหรับสถานการณ์แรงงานไทยในวันนี้

จับตาสถานการณ์แรงงานไทย

จับตาดูกันมานาน ตั้งแต่ก่อนนโยบายจะเกิดขึ้นจริง สำหรับการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาท ที่นักเศรษฐศาสตร์ นักวิชาการ หลายท่าน ให้ความคิดเห็นไปต่างต่างนานา ถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ทั้งข้อดี-ข้อเสีย โดยรัฐบาลคงหวังว่านโยบายประชานิยมชิ้นนี้จะต้องเป็นผลงานชิ้นโบแดงอย่างแน่นอน จึงรีบผลักดันให้ความฝันของผู้ใช้แรงงานได้มีรายได้เพิ่มขึ้นสมใจ

จากนั้นมาเรื่องที่ว่าดีกลับกลายเป็นร้าย เมื่อสิ่งที่ถูกถาม ถูกท้วง ถูกเตือน เป็นเรื่องจริงขึ้นมา เมื่อหลายกิจการ หลายโรงงาน ต้องปิดตัวลง ลูกจ้างถูกลอยแพ จนต้องแห่ประท้วงขอความยุติธรรม แม้กระทั่งธุรกิจ SMEs บางส่วนก็ล้มหายตายจากไปพอควร เพราะแบกรับราคาต้นทุนที่สูงขึ้นไม่ไหว โดยตัวเลขแรงงานที่ถูกเลิกจ้างเนื่องจากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 22 เมษายน 2556 มีจำนวนทั้งสิ้น 3,053 คน จากสถานประกอบการ 64 แห่ง และมีผู้ประกอบการ SMEs บางส่วนมาลงทะเบียนขอรับความช่วยเหลือกับทางกระทรวงแรงงาน กลายเป็นว่าการขึ้นค่าแรง 300 บาท เป็นสาเหตุที่ทำให้หลายกิจการต้องปิดตัวลง

ส่วนแนวคิดที่ว่าการปรับค่าจ้างขึ้นให้เท่าเทียมกัน 300 บาท จะเป็นการเพิ่มรายได้ให้ผู้ใช้แรงงาน กระตุ้นการใช้จ่าย คงเป็นแค่เรื่องความเพ้อฝัน เพราะกว่าหลายเดือนที่ผ่านมา กลุ่มผู้ใช้แรงงานน้อยคนนักที่จะรู้สึกว่าช่องว่างของความเหลื่อมล้ำในสังคมจะแคบลง สะท้อนออกมาทางผลการสำรวจรวมถึงผลงานวิจัยจากสถาบันต่างๆ ที่เข็นออกมานำเสนออย่างมากมาย อย่างล่าสุด ผลการสำรวจความคิดเห็นของผู้ใช้แรงงานเรื่อง “มุมมองแรงงานหลังได้รับค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท” ของศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ (กรุงเทพโพลล์) โดยเก็บข้อมูลจากแรงงานที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปในเขตกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล ก็ได้สะท้อนให้เห็นว่ากลุ่มแรงงานบางส่วนไม่ได้รู้สึกว่าค่าแรง 300 บาท ทำให้ชีวิตของพวกเขาดีขึ้นแต่อย่างใด

ผลสำรวจพบว่า ชีวิตความเป็นอยู่หลังจากมีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ส่วนใหญ่ร้อยละ 45.9 เห็นว่ามีชีวิตความเป็นอยู่เหมือนเดิม ขณะที่ร้อยละ 44.2 เห็นว่าดีขึ้น และร้อยละ 9.9 เห็นว่าแย่ลง โดยเมื่อถามสาเหตุที่ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ไม่ดีขึ้นอันดับแรกคือ ข้าวของแพงขึ้น ร้อยละ 8.5 รองลงมา คือ ขาดสวัสดิการช่วยเหลือ/สวัสดิการแย่ลง ร้อยละ 7.1 และงานไม่มั่นคง ไม่รู้จะถูกเลิกจ้างตอนไหน ร้อยละ 4.4

สภาพเศรษฐกิจสั่นคลอนเช่นนี้ ไม่ได้ปรากฏแค่ภายในประเทศไทย แต่ทั่วโลกก็กำลังประสบปัญหานี้เช่นเดียวกัน อย่างที่ประเทศกรีซ ก็เพิ่งลงมติปลดข้าราชการพลเรือนออกจำนวน 15,000 ตำแหน่ง หรือ บริษัท อเมริกัน เอ็กซ์เพรส ก็กำลังเตรียมปลดพนักงาน 5,400 ตำแหน่งทั่วโลก ไม่เว้นแม้แต่เจ้าหน้าที่ระดับสูงภายในปลายปีนี้ ทั้งนี้เพื่อเป็นการปรับโครงสร้างองค์กรให้อยู่ต่อไปได้นั่นเอง ขนาดทั่วโลกยังเผชิญกับสภาพเศรษฐกิจระส่ำระสาย ไม่อาจทนแบกรับภาระจากต้นทุนโดยเฉพาะด้านแรงงานได้ แล้วเมืองไทยของเราจะหลุดจากบ่วงเศรษฐกิจย่ำแย่นี้ไปได้อย่างไร

ค่าแรง 300 บ. ค่าครองชีพมากกว่า 300 บ.

นอกจากเจ้าของกิจการ ผู้ประกอบการ ที่ต้องยอมล้ม ทิ้งกิจการเพราะพิษเศรษฐกิจแล้ว เหล่าลูกจ้าง ผู้ใช้แรงงานก็ช้ำใจไม่น้อยกว่ากัน เมื่อค่าแรงเพิ่มขึ้นเป็น 300 บาท ดังฝันก็จริง แต่ทว่าค่าครองชีพ ค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันต่างก็ถีบตัวขึ้นไปสูงแบบติดๆ จนหลายคนบ่นอุบว่า “ตอนนี้ถือเงินติดตัวออกจากบ้านไป 100 บาท ยังใช้ไม่พอเลย”

งานวิจัย ภาพรวมนโยบายรายได้ไม่น้อยกว่า 300 บาทต่อวันและเงินเดือนปริญญาตรี 15,000 บาท โดย รศ.ดร. ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ และคณะ ด้วยการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ชี้ให้เห็นว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา อัตราค่าจ้างขั้นต่ำสำหรับแรงงานไทยยังไม่เหมาะสมกับค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น รายงานดังกล่าวยังชี้ให้เห็นว่า ยังมีแรงงานที่ไม่ได้รับค่าจ้างขั้นต่ำมากกว่า 4 ล้านคนในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ความไม่สมดุลดังกล่าวเป็นเครื่องบ่งชี้ว่า การคุ้มครองแรงงานยังครอบคลุมไม่ทั่วถึงที่จะทำให้แรงงานได้รับค่าจ้างสอดคล้องกับค่าครองชีพอีกเป็นจำนวนมากทั่วประเทศ ทำให้ฐานะทางเศรษฐกิจของแรงงานตกต่ำเสี่ยงต่อความยากจนและภาระหนี้สิน

นอกจากนี้ ยังระบุอีกด้วยว่า การปรับค่าจ้างตามนโยบายจะมีผลกระทบต่อโครงสร้างอุตสาหกรรมเป็นลูกโซ่ทั้งแผง เนื่องจากสินค้ากว่าจะมาถึงผู้บริโภคได้ต้องผ่านห่วงโซ่อุปทานประมาณ 10 อุตสาหกรรม แต่ละช่วงต้องมีการผลักภาระค่าจ้างบางส่วนใส่เข้าไปในตัวสินค้า ทำให้สินค้าเมื่อถึงมือผู้บริโภคมีราคาสูงขึ้น เป็นต้นทุนของภาคการผลิต ซึ่งผู้บริโภคจะเป็นผู้รับค่าใช้จ่ายในส่วนนี้

ถึงแม้ผลกระทบที่ตามมาอาจจะฟังดูน่ากลัว แต่ความจริงการปรับขึ้นค่าแรง 300 บาท ก็ยังพอมีส่วนดีบ้าง ดร. ดิเรก ปัทมสิริวัฒน์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า การได้ขึ้นค่าแรงถือเป็นเรื่องดีกว่าการไม่ได้ปรับอะไรขึ้นเลย แต่ก็ยังคงต้องจับตาดูไปอีกสักพักว่าผลกระทบจะยิ่งรุนแรงไปมากกว่านี้หรือไม่

“ค่าแรง 300 บาท เนี่ย ต้องไปมองมันในระดับจุลภาคว่า ผู้ใช้แรงงานเค้าได้เงินมั้ย ได้แค่ไหน แล้วตรงนี้ได้คุ้มมั้ยกับเงินเฟ้อที่สูงขึ้น กับค่าครองชีพที่สูงขึ้น แต่ผมว่ามันก็ดีกว่าไม่ได้ปรับเลย มันน่าจะเป็นบวกพอสมควรนะ แต่ว่าก็ไม่ใช่ว่าไม่มีลบเลย อย่างถ้าเค้าปลดคนงานออกเนี่ย มันก็เป็นลบสำหรับคนที่เค้าถูกปลด หรือที่บอกว่าจะย้ายฐานการผลิต ซึ่งตรงนี้ก็ต้องติดตามต่อไป ต้องใช้เวลาอีกสักระยะ

ส่วนเรื่องตัวผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมเนี่ย ผมคิดว่ายังไม่เห็นชัดนะ ว่าเศรษฐกิจดี-ไม่ดี เพราะว่าอัตราการเจริญเติบโตเนี่ย ตามที่ฟังข่าวดูก็ยังดีและปรับตัวขึ้นด้วยซ้ำไป แต่ว่าส่วนที่เศรษฐกิจดี ขยายตัวเนี่ย มันก็ไม่ได้เป็นเพราะค่าจ้าง 300 บาท เพียงอย่างเดียว แต่มันก็มีปัจจัยอื่นๆ เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

สิ่งที่น่าประเมินที่สุดในตอนนี้เรื่องของค่าแรง 300 บาท คือหนึ่งผู้ใช้แรงงาน ได้รับเงินอย่างทั่วถึงจริงหรือไม่ ได้รับครบถ้วนมั้ย ซึ่งผมเชื่อว่ายังได้ไม่ครบ 100% หรอก สองประเมินว่าการขึ้นค่าแรงไปแล้วเนี่ย ผู้ใช้แรงงานที่เป็นส่วนหนึ่งของต้นทุนจะถูกปลดออกมั้ย จำนวนมากน้อยเท่าไหร่”

ต่างด้าวแห่ทำงานทะลัก

การขึ้นค่าแรง 300 บาท ยังถูกตราหน้าอีกว่าเป็นแรงจูงใจที่ทำให้แรงงานต่างด้าวทะลักเข้ามาทำงานในประเทศไทยมากขึ้น เพราะหากเทียบกับประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงแล้ว ถือได้ว่ารายได้ค่อนข้างงามกว่าการทำงานในประเทศของตนเอง โดยเงินเดือนเฉลี่ย ประเทศลาว ประมาณ 2,400 บาท ต่อเดือน, ประเทศกัมพูชา ประมาณ 2,250 บาท ต่อเดือน, ประเทศพม่า ประมาณ 540 บาท ต่อเดือน ดังนั้นการปรับค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มเป็น 300 บาท ต่อวัน ก็ยิ่งทำให้เหล่าแรงงานต่างด้าวมองประเทศไทยว่าเป็นขุมทองนั่นเอง

และเนื่องด้วยการปรับค่าจ้างขั้นต่ำตามกฎหมายที่ครอบคลุมแรงงานต่างด้าวด้วย จึงทำให้นายจ้างหลายคนเลือกที่จะจ้างแรงงานต่างด้าวแบบนอกระบบ หรือแรงงานเถื่อนแทน เพราะสามารถต่อรองค่าจ้างได้ไม่ต้องเท่าอัตราขั้นต่ำ 300 บาท ดังนั้นการลักลอบเข้าเมืองแบบผิดกฎหมาย จึงยังคงมีให้เห็นอยู่ตามแถบชายแดน ซึ่งสถานการณ์ก็ดูจะยิ่งสร้างปัญหาเป็นทวีคูณ

จากข้อมูลของสำนักบริหารงานต่างด้าว กรมการจัดหางาน ในเดือนมีนาคม 2556 ระบุว่า คนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตทำงานทั่วราชอาณาจักร มีจำนวนทั้งสิ้น 1,126, 461 คน โดยเป็นแรงงานที่ถูกต้องตามกฎหมาย 1,101,782 คน ส่วนอีก 23,679 คน เป็นแรงงานลักลอบเข้าประเทศอย่างไม่ถูกต้อง โดยแบ่งออกเป็นแรงงานชาวพม่า 784,033 คน แรงงานชาวกัมพูชา 160,938 คน และแรงงานชาวลาว 43,985 คน ซึ่งจำนวนนี้ก็ยังไม่ได้นับรวมแรงงานต่างด้าวที่ลักลอบเข้ามา และยังลักลอบทำงานอยู่ ณ ขณะนี้

ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม การขึ้นค่าแรงให้แก่ผู้ใช้แรงงานถือเป็นเรื่องน่าดีใจของคนหาเช้า-กินค่ำ แต่การวางระบบ บริหารจัดการปัญหาที่จะเกิดขึ้นต่อจากนั้นในระบบเศรษฐกิจคือสิ่งที่รัฐบาลต้องสานต่อ ไม่ใช่รับปากไปทำได้จบแล้วจบกัน เพราะเศรษฐกิจจะพัง ถ้าสร้างฝันประชานิยมแบบผักชีโรยหน้า

ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ Live





กำลังโหลดความคิดเห็น