รมว.แรงงาน ระบุประเทศไทยมีความพร้อม ความเป็นธรรม ความเป็นมิตร และความเป็นสากล สอดคล้องกับองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) องค์การสหประชาชาติ และองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน รองรับผู้ใช้แรงงานต่างชาติ ที่จะเคลื่อนย้ายมาเพราะแรงกระตุ้นได้ค่าแรง 300 บาท เท่ากับผู้ใช้แรงงานไทย
นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวในการปาฐกถาพิเศษเรื่อง “เส้นทางแรงงาน 300 บาทกับอาเซียน” ในการเสวนาระดมสมองเรื่องยุทธศาสตร์ด้านแรงงานในไทย ภายใต้แรงกระตุ้น 300 บาท ซึ่งกระทรวงแรงงานร่วมกับบริษัทซิลเวอร์แอนด์โกลด์แมนเนจเม้นต์ จำกัด จัดขึ้นที่ โรงแรมเจ ดับบลิว แมริออท กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 24 เม.ย. 2556 ว่ารัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับการยกระดับรายได้แรงงานให้เท่าเทียมกันทั่วประเทศและคุ้มครองสิทธิแรงงานให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล โดยคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษย์ชนทั้งกับแรงงานไทยและแรงงานข้ามชาติ “โดยไม่เลือกปฏิบัติ” เพราะตระหนักดีว่า “ยุทธศาสตร์ด้านแรงงาน” มีความสำคัญต่อทุกประเทศในภูมิภาค และเป็นกลไกสำคัญที่จะทำให้ภูมิภาคอาเซียนเดินไปสู่เป้าหมายความสำเร็จร่วมกัน
ทั้งนี้ปาฐกถาดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของการเสวนาในหัวข้อ “ยุทธศาสตร์ด้านแรงงานในไทยภาคใต้แรงกระตุ้น 300 บาท” ที่จัดขึ้นโดยกระทรวงแรงงาน และบริษัท ซิลเวอร์แอนด์โกลด์แมนเนจเม้นต์ จำกัด ที่โรงแรมเจดับบลิว แมริออท
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เล่าถึงความเป็นมาของนโยบายในการยกระดับรายได้แรงงานขั้นต่ำเป็น 300 บาทว่า มีการศึกษาข้อเท็จจริงทางเศรษฐกิจอย่างรอบด้าน และสอดคล้องกับความเป็นจริง โดยคณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 18 ก่อนจะมีมติเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2554 ให้ปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำอย่างเป็นขั้นเป็นตอน โดยเริ่มปรับเป็น 300 บาท 7 จังหวัด ตั้งแต่ 1 เมษายน 2555 และปรับจนครบทุกจังหวัดตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2556 และหากในอนาคตเกิดภาวะเศรษฐกิจผันผวนอย่างรุนแรง คณะกรรมการค่าจ้างก็สามารถพิจารณาทบทวนอัตราค่าจ้างได้ตามความเหมาะสม
อย่างไรก็ตามในส่วนของผู้ประกอบการโดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมก็ได้รับผลกระทบจากนโยบายการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำนี้ แต่รัฐบาลก็พยายามช่วยเหลือเพื่อบรรเทาผลกระทบอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งเฝ้าระวังสถานการณ์ด้านแรงงาน เช่นการเลิกจ้างที่อาจจะเกิดขึ้น
ทั้งนี้จากการติดตามสถานการณ์ของศูนย์กระทรวงแรงงานและจังหวัดตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-19 เมษายน 2556 พบว่ามีสถานประกอบกิจการที่ได้รับผลกระทบจากการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 60 แห่ง จำนวนลูกจ้างทั้งหมด 7,621 คน โดยแบ่งออกเป็น สถานประกอบการที่ปิดกิจการและเลิกจ้าง 3 แห่ง (ลูกจ้าง 89 คน) สถานประกอบการที่เลิกจ้างลูกจ้างบางส่วน 26 แห่ง (ลูกจ้าง 506 คน) และสถานประกอบการที่มีแนวโน้มเลิกจ้างอีก 31 แห่ง (ลูกจ้าง 4,072 คน) ซึ่งถือเป็นผลกระทบที่ต่ำกว่าที่หลายฝ่ายวิตกกังวล
สำหรับภาพรวมของอาเซียน พบว่าค่าแรงขั้นต่ำของแต่ละประเทศมีความแตกต่างกันมาก และประเทศไทยถือว่าเป็นประเทศที่มีค่าแรงขั้นต่ำสูงที่สุด (ยกเว้นสิงคโปร์และบรูไน) ซึ่งเป็นแรงจูงใจอย่างหนึ่ง แต่ก็ยังมีปัจจัยอื่นๆ เช่น การจัดสิ่งอำนวยความสะดวก สวัสดิการของรัฐ เป็นต้น
“คาดว่าในอนาคตอันใกล้นี้แรงงานต่างด้าวจะสนใจทำงานในประเทศไทยมากขึ้นอีก เพราะจะได้รับค่าจ้างอย่างเท่าเทียมกับคนไทย ได้สวัสดิการต่างๆ แต่ก็ต้องเน้นย้ำว่าต้องเป็นแรงงานที่เข้ามาอย่างถูกต้องตามกฎหมายหรือได้รับการผ่อนผันให้ถูกต้องตามกฎหมาย มีการจดทะเบียนอย่างถูกต้องจึงจะได้รับสิทธิเท่ากับแรงานไทยทุกประการ
“ขณะนี้กระทรวงแรงงาน กระทรวงการต่างประเทศ และกรมการปกครอง กระทรวงมหาด ไทย กำลังร่วมมือสร้างระบบที่มีมาตรฐาน ให้แรงงานต่างชาติเข้ามาอย่างถูกต้อง อย่างมีมาตรฐาน มีกฎหมายกฎระเบียบ และเรื่องที่มั่นใจได้คือ เราใช้หลักคุณธรรม ความเสมอภาค และความเป็นเพื่อนมนุษย์” นายเผดิมชัยกล่าว
รมว.แรงงาน กล่าวว่า รัฐบาลไทยให้ความสำคัญและตื่นตัวในการเรียนรู้เรื่องราวของเพื่อนบ้านอย่างมาก ศึกษาภาษาและวัฒนธรรมของเพื่อนบ้าน เตรียมความพร้อมอยู่เสมอ เช่น กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน จะมีการจัดทำเอกสารเป็นภาษาอาเซียนทุกภาษาควบคู่กับภาษาไทย หากตัวแทนของแต่ละประเทศอาเซียนต้องการหารือถึงปัญหาทางวัฒนธรรมและข้อกฎหมายที่เป็นอุปสรรคก็สามารถมาพูดคุยกันได้ทุกเมื่อ เพื่อเตรียมความพร้อมและแก้ไขปัญหาที่สะสมอยู่ในภาคแรงงานให้ได้ยิ่งเร็วยิ่งดี
“มาตรการด้านแรงงานของเรามีความเป็นสากล สอดคล้องกับองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) องค์การสหประชาชาติ และองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน เราพยายามผลักดันให้ทุกคนได้รับความเป็นธรรมอย่างเท่าเทียมกัน ความข้อย้ำว่ารัฐบาลไทยให้ความพร้อม เป็นธรรม ความเป็นมิตร ความเป็นสากล ในเรื่องแรงงานข้ามชาติซึ่งหลายฝ่ายอาจจะกังวล ซึ่งการกังวลไว้ก่อนก็เป็นเรื่องดี จะได้นำข้อกังวลเหล่านั้นมาเรียนรู้และแก้ไขปัญหา” นายเผดิมชัย กล่าว