xs
xsm
sm
md
lg

ประชุมนัดพิเศษไม่ได้คุย 4 มาตรการดูแลบาท-อัตรา ดบ. แค่แลกเปลี่ยนข้อมูล ศก.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กิตติรัตน์ ณ ระนอง
ประชุมนัดพิเศษฯ ยันไร้แรงกดดันลดดอกเบี้ย “กิตติรัตน์” แค่ขอให้ใช้มาตรการดูแลค่าเงินบาท พร้อมประเมินผลกระทบส่งออก ด้านเอกชนบอกอยากเห็นบาทนิ่ง แต่ไม่ได้คาดหวังถึงการเข้าไปควบคุมเงินทุนไหลเข้าออก ขณะที่ กนง. มั่นใจ 4 มาตรการ เพียงพอต่อการดูแลค่าเงินในประเทศ

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า การประชุมร่วมกันระหว่างกระทรวงการคลัง คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และภาคเอกชน 3 สถาบันในวันนี้ ได้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลร่วมกันใน 4 เรื่องสำคัญ คือ 1.การใช้จ่ายภาครัฐอย่างมีประสิทธิภาพ 2.การสร้างบรรยากาศการลงทุนให้เกิดการลงทุนใหม่ หรือขยายการลงทุนเดิม 3.ทิศทางและกำลังซื้อของผู้บริโภค 4.สถานการณ์การส่งออกและการท่องเที่ยว

ทั้งนี้ ที่ประชุมฯ เห็นตรงกันว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยปีนี้ยังเติบโตได้ดี แม้ในปี 2555 เศรษฐกิจจะเผชิญความยากลำบากจากการเพิ่งเริ่มฟื้นตัวจากปัญหาอุทกภัยใหญ่ในปลายปี 2554 รวมทั้งปัญหาการเบิกจ่ายงบประมาณที่ล่าช้า ส่วนการส่งออกในปีนี้ เห็นว่าทุกฝ่ายทั้งภาครัฐ และเอกชนควรทำงานร่วมกัน นอกเหนือจากเรื่องการดูแลปัญหาอัตราแลกเปลี่ยน

ส่วนปัญหาเงินบาทแข็งค่านั้น เห็นว่าเงินบาทที่แข็งค่าเกินไป และมีความผันผวนจะทำให้การส่งออกขยายตัวลำบาก ทุกภาคส่วนควรดูแล และทำงานร่วมกันให้เงินบาทเคลื่อนไหวอย่างมีเสถียรภาพไม่มีความผันผวนเมื่อเทียบกับสกุลเงินของทั้งประเทศคู่ค้า และประเทศคู่แข่ง เพื่อให้การส่งออกเติบโตได้ตามเป้าหมาย ซึ่งค่าเงินที่สามารถแข่งขันได้นั้นจึงไม่ควรเทียบเฉพาะสกุลดอลลาร์เท่านั้น แต่ต้องเทียบกับทั้งสกุลเงินของประเทศคู่ค้า และประเทศคู่แข่งด้วย

ส่วนภาคการท่องเที่ยวที่เป็นอีกส่วนสำคัญในการสร้างรายได้เข้าประเทศนั้น จะต้องมีการทำงานร่วมกันระหว่างกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางเข้ามาท่องเที่ยว และพำนักของชาวต่างชาติ ขณะที่ภาคการผลิตเพื่อการส่งออกได้มีการหารือกันถึงการรักษาฝีมือแรงงาน ตลอดจนปัญหาการขาดแคลนบุคลากรที่มีฝีมือ

“วันนี้ไม่ได้พูดเจาะจงเรื่องการส่งออก แต่พูดถึงเป้าหมายว่าจะทำอย่างไรให้ถึง เพราะเมื่อรวมกลจักรเศรษฐกิจอื่นๆ ก็น่าจะขยายตัวได้”

นายกิตติรัตน์ กล่าววา อัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่จะดูแลการไหลเข้าออกของเงินทุน ซึ่งเป็นหนึ่งในหลายเรื่องที่ได้หารือกัน แต่โดยภาพรวมวันนี้ทุกฝ่ายต่างเห็นพ้องว่า เศรษฐกิจไทยยังเติบโตได้อย่างมีเสถียรภาพ และต้องทำให้การส่งออกเติบโตได้ตามเป้าหมาย ดังนั้น จึงต้องมีอัตราแลกเปลี่ยนในระดับเหมาะสม

รมว.คลัง กล่าวอีกวา ภาคเอกชนไม่ได้คาดหวังถึงการเข้าไปควบคุมเงินทุนไหลเข้าออก แต่ต้องการให้หน่วยงานที่กำกับดูแลช่วยพิจารณาแนวทางการดูแลอัตราแลกเปลี่ยนอย่างเหมาะสม ดังนั้น กนง.และ ธปท.ต้องสามารถสื่อสารระหว่างกัน และขอฝากให้มีการพิจารณาให้มากขึ้นเกี่ยวกับมาตรการที่จะนำมาใช้ในการดูแลค่าเงินบาทอย่างรอบคอบระมัดระวัง ซึ่งเชื่อว่าจะสามารถดูแลอัตราแลกเปลี่ยนได้อย่างมีเสถียรภาพ

นายณรงค์ชัย อัครเศรณี กรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. กล่าวว่า การประชุมนัดพิเศษร่วมกับ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และภาคเอกชน เกี่ยวกับผลกระทบเงินบาทแข็งค่าต่อเศรษฐกิจไทยในวันนี้ ไม่ได้มีการหารือถึง 4 มาตรการดูแลค่าเงินบาท รวมทั้งอัตราดอกเบี้ย แต่เป็นการหารือเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านเศรษฐกิจ ซึ่งส่วนตัวมองว่า 4 มาตรการในการดูแลค่าเงินบาทของ ธปท. เป็นมาตรการที่สามารถจะดูแลเสถียรภาพของค่าเงินบาทได้ เพียงแต่หากจะหยิบมาใช้จะต้องเป็นการแก้ให้ตรงจุด โดยมาตรการแรก คือ การห้ามต่างชาติซื้อพันธบัตร ธปท. ธปท.สามารถดำเนินการได้ทันที ส่วนมาตรการที่ 2-4 ธปท.ต้องทำงานร่วมกับกระทรวงการคลัง และเห็นว่าการประชุมในวันนี้ไม่ได้เป็นการแทรกแซงการทำงานหรือกดดัน กนง. ให้ลดอัตราดอกเบี้ยในการระชุมวันที่ 29 พ.ค. นี้ โดยบรรยากาศการประชุมเป็นไปด้วยดี

ด้านนายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า จากปัญหาค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น เอกชนเป็นห่วงผลกระทบในระยะยาว เพราะศักยภาพในการแข่งขันของเอกชนไทยจะสู้กับประเทศเพื่อนบ้านไม่ได้ โดยเป็นห่วงสินค้าเกษตร และบริการมากที่สุด เนื่องจากมีการใช้แรงงานสูงถึงร้อยละ 60-70 ซึ่งภาคเอกชนต้องการให้ธนาคารพาณิชย์ และธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) ปล่อยวงเงินพิเศษเพื่อดูแลผู้ได้รับผลกระทบเป็นรายกลุ่ม และในวันที่ 16 พฤษภาคมนี้ หอการค้าไทย จะเข้าพบ นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อขอคำแนะนำหามาตรการเพิ่มศักยภาพให้แก่ผู้ประกอบการไทย

ด้านนายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ส.อ.ท.ได้รายงานต่อที่ประชุมว่า ค่าเงินบาทที่แข็งค่าได้ส่งผลกระทบต่อซัปพลายเชนของอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ที่ได้รับกระทบ จากเดิมที่คาดว่าจะไม่ได้รับผลกระทบมากนั้น ซึ่งมองว่าหากค่าเงินบาทมีเสถียรภาพ และเศรษฐกิจขยายตัวได้ดีจะทำให้การผลิตยานยนต์ปีนี้มากกว่า 2.5 ล้านคัน โดยเอกชนภายในตั้งเป้าหมายไว้ที่ 2.8 ล้านคัน จะส่งให้จีดีพีขยายตัวได้มากกว่าร้อยละ 5 ขณะเดียวกัน การหารือในวันนี้เป็นการย้ำถึงแนวทางการดูแลค่าเงินบาทว่าต้องร่วมมือกันทำใหค่าเงินบาทมีเสถียรภาพ และดูแลค่าเงินบาทให้สอดคล้องกับฤดูกาลรับสินค้า เพราะหากเงินบาทแข็งค่ามากเกินไป สินค้าส่งออกแพง คู่ค้าก็จะไปสั่งสินค้าจากคู่แข่งแทน โดยเฉพาะขณะนี้เป็นห่วงเงินบาทเทียบกับเงินเยน เพราะเงินเยนอ่อนค่าลงมาก ทำให้ส่งออกไทยเสียเปรียบ

ส่วนเรื่องที่ภาคเอกชนเคยเสนอให้ กนง.ลดอัตราดอกเบี้ยลงอีกร้อยละ 1 นั้น เห็นว่า เป็นเรื่องของ ธปท. ที่จะเลือกใช้มาตรการดูแลค่าเงินบาท มีทั้งมาตรการเบาไปถึงหนัก ซึ่งดอกเบี้ยเป็นเครื่องมือหนึ่ง แต่เอกชนจะมองที่ผลลัพธ์เป็นหลัก หากค่าเงินบาทมีเสถียรภาพ และใกล้เคียงกับภูมิภาค สินค้าแข่งขันได้เอกชนก็พอใจ อย่างไรก็ตาม มองว่า ยังต้องมีการหารือร่วมกันอย่างต่อเนื่อง เพราะขณะนี้เศรษฐกิจโลกยังมีความผันผวนอยู่ มีแนวโน้มชะลอตัวลงจากเดิมที่คาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ 3.5 มาอยู่ที่ร้อยละ 3.3
กำลังโหลดความคิดเห็น