“เอเซียพลัส” เพิ่มน้ำหนักประเด็นการเมืองมากขึ้น เทียบเท่ากับความเสี่ยงจากภาวะ ศก.จีนชะลอตัว โดยมีน้ำหนักกดดันตลาดหุ้นไทยสูงสุดที่ 30% พร้อมระบุการปรับลด “จีดีพี” ของหลายหน่วยงานไม่กระทบกำไร บจ. พร้อมเป็นห่วงเรื่องการถือครองหุ้นที่มากเกินไปของนักลงทุนสถาบันไทย หากขายออกพร้อมกันจะกดดันดัชนีทรุดได้
นายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซียพลัส เปิดเผยว่า ปัจจัยเสี่ยงตลาดหุ้นไทยช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้ บริษัทได้เพิ่มน้ำหนักประเด็นการเมืองมากขึ้นเทียบเท่ากับความเสี่ยงจากภาวะเศรษฐกิจจีนชะลอตัว ซึ่งมีน้ำหนักกดดันตลาดหุ้นไทยสูงสุด คือ 30% จากเดิมในช่วงครึ่งปีแรก การเมืองในประเทศแทบจะไม่มีน้ำหนักต่อภาวะตลาดหุ้นไทยเลย
ประเด็นที่น่าเป็นห่วง คือ กระบวนการทางสภาฯ ซึ่งจะมีการพิจารณาวาระสำคัญ เช่น โครงการลงทุน 2 ล้านล้านบาท หากขั้นตอนการดำเนินงานสะดุด จะส่งผลให้แรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจลดลง เพราะการใช้จ่ายภาครัฐเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจต่อไป หลังจากช่วงแรกเศรษฐกิจไทยถูกขับเคลื่อนโดยการกระตุ้นการบริโภค
“เป็นห่วงว่าหากภาพการเมืองเปลี่ยน จะทำให้ภาพเศรษฐกิจและตลาดหุ้นเปลี่ยนไปซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่พูดถึงไม่ใช่การปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) หรือการวิพากษ์วิจารณ์โครงการต่างๆ แต่ห่วงขั้นตอนทางสภาฯ สะดุด เช่น มีการยุบสภา กระทบความเชื่อมั่นนักลงทุนไทย และนักลงทุนต่างชาติ โดยต้องจับตาการเปิดประชุมสภาสมัยสามัญในเดือน ส.ค.นี้เป็นต้นไป”
นอกจากนี้ ยังมีความเป็นห่วงเรื่องการถือครองหุ้นที่มากเกินไปของนักลงทุนสถาบันไทย เฉพาะปีนี้ซื้อสุทธิไปแล้ว 7 หมื่นล้านบาท หากรวมการถือครองหุ้นผ่านกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (แอลทีเอฟ) ที่จะครบกำหนด 5 ปี หรือที่ซื้อตั้งแต่ปี 2552 อีก 2.5 หมื่นล้านบาท ที่ต้นทุนเฉลี่ย 670 จุด แต่ราคาหุ้นปรับขึ้นไปมาก ทำให้มูลค่าแอลทีเอฟที่จะครบปีนี้เพิ่มขึ้นเป็น 5-6 หมื่นล้านบาท รวมเป็น 1.2 แสนล้านบาท หากขายออกพร้อมกันจะกดดันดัชนีหุ้นไทย
ขณะนี้ยังไม่เห็นสัญญาณการขายของสถาบันไทยเลย ความกังวลนี้จะลดลงก็ต่อเมื่อเห็นสัญญาณการขายออกมาบ้าง หรือแนวโน้มการออกกองทุนทริกเกอร์ ฟันด์ ที่ลดลง
ส่วนแนวโน้มตลาดหุ้นไทยในช่วงครึ่งปีหลัง ดัชนียังมีโอกาสปรับขึ้นแตะระดับ 1,570 จุดได้ แต่คงไม่ได้ขึ้นแรงเหมือนช่วงที่ผ่านมา เพราะปัจจัยที่จะหนุนการปรับขึ้นไม่ได้อยู่ที่เงินทุนต่างชาติ แต่อยู่ที่การเติบโตของกำไรบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ที่จะยังมีการเติบโตต่อเนื่อง
แม้หน่วยงานต่างๆ จะปรับลดตัวเลขคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจไทยลง แต่กระทบกับกำไร บจ.น้อย เพราะตัวเลขเศรษฐกิจ หรือผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ไทย มีภาคการส่งออกเป็นตัวขับเคลื่อนหลัก แต่กำไร บจ.ส่วนใหญ่กลุ่มที่มีน้ำหนักมากที่สุด คือ กลุ่มพลังงาน มีน้ำหนัก 30% ในตลาดหุ้นไทย รองลงมาคือ กลุ่มธนาคาร มีน้ำหนัก 20%
พร้อมกันนี้ ยังคาดว่ากำไร บจ.ปีนี้ จะเป็นไปตามเป้าหมายที่คาดการณ์ไว้ คือ มีการเติบโต 23% หรือมีกำไรรวม 8-9 แสนล้านบาท เฉพาะในช่วงไตรมาสแรกกำไรไปแล้ว 2.42 แสนล้านบาท เติบโต 26% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่แนวโน้มในช่วงที่เหลือของปียังไม่เห็นสัญญาณใดที่จะทำให้ผลตอบแทน บจ.โตต่ำกว่าที่คาดการณ์ โดยเฉพาะในกลุ่มพลังงาน ที่ราคาน้ำมันยังยืนอยู่เหนือระดับ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
ทั้งนี้ กลุ่มอุตสาหกรรมที่แนะนำลงทุน คือ กลุ่มพลังงาน กลุ่มสื่อสาร หรือไอซีที และกลุ่มรับเหมาก่อสร้าง โดยมีแนวโน้มการเติบโตของกำไรสูง กลุ่มพลังงานมีแนวโน้มโต 30% ไอซีที 40% ส่วนกลุ่มก่อสร้างมีงานในมือ 4.9 แสนล้านบาท และยังมีโครงการประมูลต่อเนื่อง สำหรับกลุ่มพัฒนาที่อยู่อาศัย แนะนำให้เทรดดิ้ง เพราะการเติบโตของกำไรในช่วงไตรมาส 2 จะดีดตัวเร็วและแรง ส่วนกลุ่มที่แนะนำให้ลดน้ำหนักการลงทุน คือ กลุ่มการแพทย์ เพราะราคาแพงมาก กลุ่มขนส่งทางอากาศ และยานยนต์ เพราะปัจจัยในการขับเคลื่อนการเติบโตน้อยลง