กองทุนทริกเกอร์ฟันด์ฟีเวอร์ บลจ.แห่ขายหวังช่วยรายย่อยจับจังหวะทำกำไรระยะสั้น พบแค่ 6 เดือนเปิดขายแล้วกว่า 63 กองทุนหรือกว่า 5 หมื่นล้านบาท มากกว่าปี 2555 ทั้งปีเปิดขายเพียง 52 กองทุน มูลค่ากว่า 2 หมื่นล้านบาท พบกองทุนที่ยังไม่เข้าเป้าจากปีที่แล้วเหลืออีกถึง 29 กอง ระบุหากเทขายพร้อมกันอาจกระทบตลาดหุ้นได้ พร้อมเตือนระวังดาบสองคมนักลงทุนเสี่ยงขาดทุน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากความผันผวนและปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องของตลาดหุ้นไทยตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ส่งผลให้มีกองทุนทริกเกอร์ฟันด์เปิดขายเป็นจำนวนมากเพื่อรอจังหวะช้อนซื้อทำกำไร และจากการสำรวจตัวเลขตั้งแต่ช่วงต้นปี 2556 ถึง ณ วันที่ 13 มิถุนายน 2556 พบว่ามีกองทุนประเภททริกเกอร์ฟันด์ออกมาจำนวน 63 กองทุน คิดเป็นมูลค่า 52,436 ล้านบาท โดยในจำนวนนี้มีกองทุนที่สามารถทำผลตอบแทนถึงเป้าที่กำหนดไว้จำนวน 14 กองทุน คิดเป็น 17,899 ล้านบาท
ทั้งนี้ เมื่อเทียบกับปี 2555 ที่ผ่านมานั้นมีกองทุนทริกเกอร์ฟันด์ออกมาทั้งหมด 52 กองทุน มูลค่ากว่า 22,000 ล้านบาท โดยมีกองทุนที่ปิดได้ตามเป้า 20 กองทุน มูลค่าประมาณ 6,525 ล้านบาท เหลือกองทุนที่ยังไม่ปิดอีก 29 กองทุน มูลค่า 15,100 ล้านบาท ซึ่งหากดูจำนวนกองทุนที่ออกแล้วจะพบว่าในปีนี้เพียงแค่ระยะเวลาเกือบ 6 เดือนมีจำนวนกองทุนทริกเกอร์ฟันด์ที่เปิดขายรวมถึงมูลค่ากองทุนสูงกว่าในปี 2555 ทั้งปี
นายกิตติคุณ ธนรัตนพัฒนกิจ นักวิเคราะห์กองทุน บจ.มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า กองทุนทริกเกอร์ที่ออกมาส่วนใหญ่ลงทุนในตลาดหุ้นไทยมากที่สุด 89.55% มี 51 กองทุน มูลค่าสินทรัพย์สุทธิรวมกัน 49,068 ล้านบาท รองลงมาเป็นกองทุนทริกเกอร์ฟันด์ที่ลงทุนในหุ้นต่างประเทศ 10.25% จำนวน 11 กองทุน มูลค่าสินทรัพย์สุทธิ 5,616 ล้านบาท และกองทุนทริกเกอร์ที่ลงทุนในทองคำ 1 กองทุน มูลค่า 106 ล้านบาท
โดยช่วงที่ออกมากที่สุดคือในไตรมาส 1/56 มูลค่าทรัพย์สินสุทธิรวมของกองทุนทริกเกอร์ทุกนโยบายรวมกันมากเกือบ 40,000 ล้านบาท ซึ่งดูจะเป็นกองทุนที่ได้รับความสนใจจากผู้ลงทุนไทยพอสมควร ทั้งนี้ มีกองทุนทริกเกอร์ ฟันด์ หุ้นไทยถึงเป้าหมายปิดกองทุนไปแล้ว 13 กองทุน มูลค่า 17,660 ล้านบาท เหลือเงินลงทุนของกองทุนทริกเกอร์ ฟันด์ ในตลาดหุ้นไทยประมาณ 31,408 ล้านบาท
“ช่วงนี้ยังมีอีกหลายกองทุนที่กำลังเสนอ IPO อยู่ตอนนี้ ซึ่งเป็นช่วงที่ตลาดหุ้นไทยกำลังปรับฐาน ซึ่งเป็นจังหวะให้หลาย บลจ.ทยอยส่งกองทุนทริกเกอร์ฟันด์ ออกมา แต่นักลงทุนต้องไม่ลืมว่ากองทุนทริกเกอร์ฟันด์ไม่มีการรับประกันผลตอบแทนแต่ประการใด และมีโอกาสขาดทุนได้เช่นกัน และในช่วงหลังเป็นที่น่าสังเกตว่าหลายกองทุนมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการให้ผลตอบแทน จากการให้ผลตอบแทนครั้งเดียว ยกตัวอย่าง 8%, 10% เป็นทยอยคืนครั้งละ 3% หรือ 4% สองครั้ง ดังนั้น การลงทุนควรจะศึกษารายละเอียดก่อนลงทุนด้วย”
เตือนระวังดาบสองคม
นายไพศาล ครุฑดำรงชัย รองกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ทหารไทย จำกัด กล่าวว่า กองทุนประเภททริกเกอร์ฟันด์ เมื่อครบกำหนดตามเป้าและออกจากตลาดจะส่งผลให้ดัชนีตลาดมีการแกว่งตัวบ้าง แต่ไม่มากเพราะกองทุนจะมีการทยอยขายออกมา รวมไปถึงในเรื่องของราคาหุ้นด้วย แต่หาก กองทุนมีการครบกำหนด และขายกำไรออกจากตลาดพร้อมกันก็จะทำให้ตลาดแกว่งตัวมากขึ้นเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม กองทุนทริกเกอร์ฟันด์ก็เป็นข้อดีสำหรับนักลงทุนที่ตั้งเป้าผลตอบแทนประมาณ 10% ในระยะสั้น โดยที่ผู้ลงทุนเองไม่ต้องคอยติดตามดูผลตอบแทนด้วยตนเอง ขณะเดียวกันยังกล่าวด้วยว่า ราคาหุ้นที่ตกลงมาในช่วงนี้ก็ถือว่าสะท้อนราคาหุ้นที่แท้จริงพอสมควร ไม่โดนเก็งกำไรจากนักลงทุนมากเกินไป หุ้นกลุ่มที่น่าสนใจก็ยังเป็นหุ้นที่มีผลการดำเนินงานของบริษัทดี มีการจ่ายปันผลที่ดีสม่ำเสมอ
แหล่งข่าวจากบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนแห่งหนึ่ง กล่าวว่า กองทุนทริกเกอร์ฟันด์มีทั้งข้อดี ข้อเสีย อย่างแรกข้อดีคือ แรงซื้อของกองทุนทริกเกอร์จะช่วยหนุนตลาดหุ้นไทยได้ในระยะสั้นๆ ซึ่งหลังจากหมดเเรงซื้อแล้วก็จะนิ่งๆ รอจังหวะดัชนีดีดกลับขึ้นไปเพื่อให้ทริกตามเป้าที่กำหนดไว้ ซึ่งที่ผ่านมาก็มีกองทุนทริกเกอร์ฟันด์ที่ไม่ได้ผลตอบแทนตามเป้าที่วางไว้ บลจ.ก็จะปรับเปลี่ยนนโยบายให้กลายเป็นกองทุนเปิด ซึ่งตรงนี้เองนักลงทุนที่ไม่เข้าใจก็จะเกิดคำถามขึ้นมาว่าทำไมผลตอบแทนไม่เป็นไปตามเป้าที่ บลจ.ตั้งเป้าไว้ แต่ในแง่ของการลงทุนตลาดหุ้นก็ถือเป็นสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูง และมีความเป็นไปได้ที่กองทุนทริกเกอร์เหล่านี้จะไม่เป็นไปตามที่กำหนดไว้
ในส่วนของข้อเสียนั้น หากกองทุนทริกเกอร์ฟันด์ได้ผลตอบแทนตามที่ตั้งเป้าไว้ก็จะเทขายออก ซึ่งหากเป็นเม็ดเงินที่มาก หรือกองทุนที่มีขนาดใหญ่ และหลายๆ บลจ.ขายออกพร้อมๆ กันนั้นก็จะทำให้ตลาดหุ้น ณ ตอนนั้นได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน
“หากซื้อกองทุนทริกเกอร์ฟันด์หลายๆ กองกับ บลจ.เดียวนั้น ผู้จัดการกองทุนก็คนเดียวกัน บริหารหุ้นในพอร์ตก็เหมือนกัน ซึ่งตรงนี้ก็ถือเป็นความเสี่ยงเรื่องของเวลาในการทำให้ถึงเป้าของกองทุน ซึ่งหากซื้อหลายกอง เลือกหลายๆ บลจ.ก็จะช่วยลดความเสี่ยง”