xs
xsm
sm
md
lg

ธปท. เกาะติดผลกระทบ พ.ร.บ.ความมั่นคง หากประเมินตอนนี้ถือว่าเร็วเกินไป

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ธปท. ชี้รัฐประกาศ พ.ร.บ.ความมั่นคง ไม่กระทบความเชื่อมั่น เพราะเมื่อก่อนก็เคยมีการประกาศมาแล้ว แต่ยอมรับต้องมีการติดตามอย่างใกล้ชิด เพื่อดูว่าสถานการณ์จะเป็นอย่างไร ซึ่งยังถือว่าเร็วเกินไปที่จะประเมิน

นายเมธี สุภาพงษ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. เปิดเผยว่า การที่คณะรัฐมนตรีชุดเล็กประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงใน 3 เขต กรุงเทพมหานคร ประกอบด้วย ดุสิต พระนคร และป้อมปราบศัตรูพ่าย ตั้งแต่วันที่ 1-10 สิงหาคม 2556 นี้ เพื่อดูแลความปลอดภัยเกี่ยวกับการชุมนุมทางการเมืองนั้น ธปท.จะยังต้องติดตามอย่างใกล้ชิดก่อนว่าสถานการณ์จะเป็นอย่างไร

ดังนั้น ยังถือว่าเร็วเกินไปที่จะประเมินผลกระทบ แต่ในเบื้องต้นมองว่ายังไม่น่ามีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน เนื่องจากมีการจำกัดพื้นที่ในการบังคับใช้ พ.ร.บ.ดังกล่าว และที่ผ่านมา เคยมีการประกาศ พ.ร.บ.ความมั่นคงมาแล้ว ดังนั้น ต้องขึ้นอยู่กับสถานการณ์

ส่วนผลกระทบต่อการท่องเที่ยว นายเมธี กล่าวว่า อาจจะมีผลกระทบต่อความรู้สึก และบรรยากาศการท่องเที่ยวบ้าง แต่เชื่อว่าภาคการท่องเที่ยวไทยมีความยืดหยุ่นสูงจึงไม่น่ามีผลกระทบมาก และคงฟื้นตัวได้เร็ว

นายเมธี กล่าวถึงอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2 โดยมองว่า จะต่ำกว่าร้อยละ 4 หากเทียบกับไตรมาส 2 ปี 2555 และหากเทียบกับไตรมาสแรกปีนี้ การขยายตัวจะใกล้เคียงจีดีพี ไตรมาส 1/2556 ที่ขยายตัวร้อยละ 5.3 หลังจากตัวเลขเศรษฐกิจในเดือนมิถุนายน 2556 ชะลอตัวลง เนื่องจากเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าชะลอตัวโดยเฉพาะจีน จึงส่งผลกระทบให้การส่งออกของไทยชะลอตัว โดยการส่งออกในเดือนมิถุนายนติดลบร้อยละ 3.5 รวมถึงการผลิตภาคอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก และการลงทุนหดตัว ขณะที่การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนทรงตัว

ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจในไตรมาส 3/2556 ธปท.เชื่อว่าจะดีขึ้นกว่าไตรมาส 2 เนื่องจากเศรษฐกิจกลุ่มประเทศ จี3 ประกอบด้วย ญี่ปุ่น สหรัฐฯ และยุโรป มีสัญญาณการฟื้นตัว แม้จะยังไม่มั่นคงมาก ซึ่งจะเป็นผลดีต่อภาคการส่งออกของไทยในช่วงปลายปีนี้ และจะมีผลต่อเนื่องไปถึงการลงทุน และการบริโภคกลับมาฟื้นตัวตามไปด้วย แต่ยังมีความเสี่ยงเรื่องการบริโภคในประเทศที่อาจจะยังไม่ฟื้นตัวเร็ว

ขณะที่หนี้ภาคครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้นยังเป็นปัจจัยเสี่ยงที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. ให้ความสำคัญทุกครั้งในการประชุมที่ผ่านมา และได้มอบหมายให้ ธปท. ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อไม่ให้กระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ของประชาชน

อย่างไรก็ตาม จากภาวะเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีแรกมีสัญญาณที่ชะลอตัวลง จึงทำให้ประชาชนระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น ส่งผลให้ภาระหนี้ครัวเรือนไม่เร่งตัวขึ้นมาก ขณะที่หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือเอ็นพีแอล ยังอยู่ในระดับต่ำเพียงร้อยละ 2.2 แต่สินเชื่อภาคครัวเรือนในเดือนมิถุนายนที่เร่งตัวขึ้นมาจากโครงการรับจำนำข้าว ที่มีข่าวเรื่องการปรับราคารับจำนำลดลง จึงทำให้เกษตรกรเร่งนำข้าวเข้าโครงการในเดือนมิถุนายนเป็นจำนวนมาก
กำลังโหลดความคิดเห็น