xs
xsm
sm
md
lg

จับตาลักไก่สภา1สิงหาฯ "ปู"ชิ่งพ.ร.บ.นิรโทษ โพลผวาการเมืองใน-นอกสภาเดือด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


"ยิ่งลักษณ์" ชิ่ง พ.ร.บ.นิรโทษไปต่างประเทศ เมินข้อเสนอฝ่ายค้าน อ้างรัฐบาลเป็นฝ่ายบริหาร ก้าวก่ายสภาไม่ได้ ปชป.จี้ถอนร่างฯ หวั่นประธานสภาฯ ตุกติกยัดใส้ ลักไก่ นำมาพิจารณาในวันที่ 1 ส.ค. เพื่อไม่ให้ฝ่ายค้านตั้งตัว ระดมมวลชนทั่วประเทศเข้ากรุงร่วมเวทีผ่าความจริง 31 ก.ค.นี้ "เด็จพี่" อ้างม็อบต้านถูกจ้างมาหัวละ 2 พัน "ไทยสปริง" เตรียมออกจากโลกออนไลน์สู่กลางแจ้ง สวนดุสิตโพลหวั่น ถกพ.ร.บ.นิรโทษฯ ทำการเมืองเดือดทั้งในสภานอกสภา

วานนี้ (28 ก.ค.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการประกาศชุมนุมในวันที่ 4 ส.ค.นี้ ของคณะเสนาธิการร่วมกองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ ว่า ประชาชนมีสิทธิแสดงออกทางการเมืองตามกรอบกฎหมาย ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์แสดงท่าทีชัดเจนว่า ถ้าเป็นกฎหมายที่ไม่สมเหตุผล หากนิรโทษกรรมเฉพาะประชาชนที่ใช้สิทธิชุมนุมตามปกติ คงไม่มีใครมีปัญหา แต่ที่รัฐบาลเดินหน้าอยู่ในขณะนี้ จะทำให้เกิดปัญหาความขัดแย้ง ทางที่ดีที่สุดรัฐบาลต้องรับฟังเสียงคัดค้านต่างๆ พูดคุยกับทุกฝ่ายว่า ปัญหานิรโทษกรรมทางออกที่ดีที่สุดคืออะไร เพราะรัฐบาลมีฐานข้อมูลจากคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) กลุ่มคนที่ยื่นหนังสือถึงรัฐบาลทั้งญาติผู้เสียชีวิตของผู้ชุมนุม

เมื่อถามว่า มีความกังวลหรือไม่ว่าในการพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม จะสอดไส้ ร่าง พ.ร.บ.ปรองดองด้วย นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ค่อนข้างกังวล เพราะไม่มีหลักประกันอะไรว่าจะไม่มีร่างอื่นเข้ามาร่วมพิจารณา ซึ่งการประกบร่างอื่นเข้ามาร่วมพิจารณาด้วย ตามหลักแล้วต้องเป็นกฎหมายที่มีหลักการในทำนองเดียวกัน จึงกังวลว่า การพิจารณาเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมต่อผ่านการวินิจฉัยของประธานสภาผู้แทนราษฎร

ต่อข้อถามว่า กังวลในการทำหน้าที่ของประธานสภาผู้แทนราษฎร ใช่หรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า เชื่อว่าคงมีแรงผลักดันที่จะเอาฉบับอื่นเข้ามา ไม่เช่นนั้นคงไม่พูดถึงเรื่องนำพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กลับบ้าน

“อยากให้ทุกฝ่ายยึดผลประโยชน์ของประเทศ บ้านเมืองควรได้รับโอกาสการพัฒนา ประชาชนควรได้รับการดูแลแก้ปัญหาปากท้อง อย่าสร้างความขัดแย้ง การนิรโทษกรรมประชาชนจำนวนหนึ่ง คงไม่มีใครคัดค้าน แต่อย่าเอาเขาเหล่านั้นมาเป็นตัวประกัน สำหรับการช่วยเหลือแกนนำ พวกใช้อาวุธ พวกที่ฆ่า และพวกที่โกง หวังว่ารัฐบาลจะรับฟังและเคารพสิทธิของประชาชน” นายอภิสิทธิ์ กล่าว
ส่วนกรณีที่แกนนำพรรคเรียกร้องให้ประชาชนเก็บกระเป๋าเดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อร่วมเวทีผ่าความจริง ในวันที่ 31 ก.ค.นี้ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า เวทีดังกล่าวจะปราศรัยว่า กฎหมายที่จะเข้าสู่การพิจารณาของสภา มีลักษณะอันตรายอย่างไร เป็นกฎหมายที่ทำลายหลักกฎหมาย ปล่อยให้ประชาชนใช้อาวุธประทุษร้าย เผาทรัพย์สินของคนอื่นได้ โดยอ้างว่ามีมูลเหตุจูงใจทางการเมือง

** จับตาลักไก่พิจารณากม.นิรโทษ1ส.ค.

นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ ประธาน ส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่วิปรัฐบาลระบุว่า จะมีการพิจารณาร่างกฎหมายของนายวรชัย ในวันที่7 ส.ค.นี้ ว่า จากการติดตามข้อมูลพบว่า มีความเป็นไปได้ที่จะหยิบร่างกฎหมายนี้มาพิจารณา ในวันที่ 1 ส.ค. 56 หลังการพิจารณากระทู้สด และกระทู้ทั่วไป จากนั้นเข้าสู่วาระกฎหมาย ดังนั้นรัฐบาลอาจหยิบยกขึ้นมาพิจารณาในวาระแรกของการเปิดประชุมสภาก็ได้ เพื่อให้ฝ่ายต่อต้านเตรียมตัวไม่ทัน เพราะมีการนัดชุมนุมในวันที่ 4 ส.ค. ดังนั้นการนำร่างกฎหมายของ นายวรชัย มาพิจารณาในวันที่ 1 ส.ค. จะทำให้ฝ่ายต่อต้านรวมพลังไม่พอที่จะคัดค้านรัฐบาล

" มีความเป็นไปได้ที่จะมีการสับขาหลอก นำร่างกฎหมายของนายวรชัย มาพิจารณาในวันที่ 1 ส.ค. แต่ไม่ว่าจะพิจารณาวันที่ 1 ส.ค.หรือ 7 ส.ค. ก็ยังมีเวลามากพอที่นายกรัฐมนตรีจะยับยั้งความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นได้ เพราะพฤติกรรมของคนในรัฐบาลต่างแสดงจุยืนว่า พร้อมใช้อำนาจรัฐอย่างเต็มที่ รุนแรงต่อผู้ที่คัดค้านรัฐบาล นายกฯย่อมรับทราบเรื่องเหล่านี้และเล็งเห็นได้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับบ้านเมือง พรรคอยากเห็นรัฐบาลบริหารประเทศให้ครบ 4 ปี แก้ปัญหาให้ประชาชน มากกว่าแก้ปัญหาให้พี่ตัวเองและพวกพ้อง ดังนั้นประเทศจะเป็นอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับว่านางสาวยิ่งลักษณ์ อยากเห็นบ้านเมืองเดินไปสู่กลียุคหรือให้สงบเรียบร้อย" นายองอาจ กล่าว

** "ปู"ชิ่งไปตปท. อ้างไม่แทรกแซงสภา

เมื่อเวลา 08.10 น. วานนี้ (28ก.ค.) ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ก่อนออกเดินทางไปเยือนประเทศโมซัมบิก แทนซาเนีย และยูกันดา อย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ 28 ก.ค. - 2 ส.ค.นี้ ถึงกรณีที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เรียกร้องให้มีการเลื่อนการพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ออกไปก่อน แล้วมาพูดคุยกันให้เกิดความชัดเจนก่อนว่า ตามหลักเชื่อว่า ท่านผู้นำฝ่ายค้านทราบอยู่แล้วว่า หน้าที่ในการบรรจุ พ.ร.บ.ต่างๆ เป็นหน้าที่ของทางสภาฯ จริงๆ แล้วฝ่ายบริหารคงไม่สามารถจะก้าวก่ายได้ อันต้องสุดแล้วแต่ทางวิปรัฐบาลและทางรัฐสภาจะดีกว่า
ส่วนเรื่องการดูแลความสงบเรียบร้อย ที่อาจมีความรุนแรงเกิดขึ้นนั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า อยากขอความร่วมมือว่า การชุมนุมขอให้เป็นไปโดยสงบ และภายใต้กรอบของกฎหมาย อย่างไรก็ตาม ได้สั่งการผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) แล้ว ในการดูแล คอยระวังเรื่องความปลอดภัยต่างๆ และก็ไม่อยากก่อให้เกิดเหตุรุนแรง ซึ่งได้บอกทางเจ้าหน้าที่ไปแล้ว

เมื่อถามว่า จากการวิเคราะห์เบื้องต้น มีรายงานข่าวบ้างหรือไม่ว่าเหตุการณ์ความรุนแรงจะไปถึงระดับไหน แล้วจะมีการขอความร่วมมือกับกลุ่มที่จะมาชุมนุมหรือไม่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า ยังค่ะ ตนเชื่อมั่นว่า ผู้ชุมนุมจะมาชุมนุมโดยสงบและสันติ อยากขอให้เป็นอย่างนั้น เพราะจริงๆ แล้วเราเองไม่อยากเห็นความรุนแรง หรือการทะเลาเบาะแว้งเกิดขึ้นในประเทศ

เมื่อถามว่า การผ่าน ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมครั้งนี้ นายกฯ เชื่อว่าจะสร้างความปรองดองได้จริงหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า การที่เราอยากเห็นความปรองดองให้เกิดขึ้นนั้น ต้องเรียกว่า เปิดใจด้วย ในการที่จะให้ผู้ที่เดือดร้อนได้รับการดูแลอย่างยุติธรรม อันนี้เป็นเจตนารมณ์มากกว่า ถ้าเราไม่เปิดใจซึ่งกันและกันก็จะไม่มีทางออก ไม่รู้ประเทศจะเดินอย่างไร ก็เห็นใจผู้ที่เขาต้องขอความเป็นธรรมด้วย เพราะบางทีเราต้องค่อยๆ พูด ค่อยๆ คุยกัน และสนับสนุนเวทีรัฐสภา เพราะเป็นเวทีที่ถูกต้องในการที่จะให้ผู้แทนของประชาชนได้พูดคุยแล้วตัดสินกัน

** พท.ปูดกลุ่มต้านจ้างม็อบหัวละ 2 พัน

นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และ โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ ปลุกระดมให้ประชาชนเก็บกระเป๋าแล้วเดินทางเข้ามาในกรุงเทพฯ ร่วมเวทีผ่าความจริงพรรคประชาธิปัตย์ โดยอ้างว่าสภาผู้แทนราษฎรจะลักไก่ นำร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม มาพิจารณาในวันที่ 1 ส.ค.56 นั้น เรื่องนี้วิปรัฐบาลมีมติชัดเจนว่า จะพิจารณากันในวันที่ 7 ส.ค. สำหรับวันที่ 1 ส.ค. จะเป็นแค่กระทู้ถามทั่วไป และกระทู้สด ตนมองว่าสิ่งที่นายสาทิตย์พูด เป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริง เพียงเพื่อให้ประชาชนมาร่วมชุมนุมกับพรรคประชาธิปัตย์ ที่จะจัดหลายเวทีเท่านั้น

ส่วนความเคลื่อนไหวของกลุ่มองค์การพิทักษ์สยาม 2 นั้นตนเห็นว่าบรรดาแกนนำเป็นตัวละครเดิมๆ ที่อยู่ตรงข้ามกับพรรคเพื่อไทย และรัฐบาล กรณีที่บอกว่าจะนัดชุมนุมวันที่ 4 ส.ค. โดยพยายามอ้างเงื่อนไขต่างๆ ตนมองว่าเป็นการตั้งธงเพื่อล้มรัฐบาลมานานแล้ว วันนี้แม้รัฐบาลจะทำดีแค่ไหน คนพวกนี้ก็ทำเป็นหูหนวก ตาบอด ไม่รู้ไม่เห็น คนพวกนี้น่าจะรับงานมาก่อกวนรัฐบาล พยายามทำให้บ้านเมืองตกอยู่ในวังวนความขัดแย้งไปเรื่อยๆ จะได้มีตัวตนในสังคม เพราะหากวันใดที่บ้านเมืองสงบ คนพวกนี้ก็จะไร้ค่า จึงพยายามสร้างความขัดแย้ง ขณะเดียวกันยังทราบว่า มีกลุ่มคนไปว่าจ้างประชาชนให้มาร่วมม็อบหัวละ 2,000 บาท

**"ไทยสปริง"เตรียมออกมาสู้บนถนน

พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร รองอธิบดีกรมตำรวจ กล่าวในเพจไทยสปริงฟอรั่ม ถึงแนวทางการ “แข็งข้อ พวทรยศ”ว่า ไทยสปริงจะไม่หยุดอยู่เพียงเท่านี้ เพราะระบอบทักษิณไม่หยุด รัฐบาลที่อยู่ภายใต้บังเหียนของทักษิณ ก็ไม่หยุด ยังรังแกบ้านเมืองอย่างไม่หยุดยั้ง และกำลังจะเปิดสภาก็เห็นแล้วว่าเขาจะทำอะไร เราไม่ได้เป็นผู้กำหนด แต่สถานการณ์เป็นผู้กำหนด เราจะไม่คอยให้อะไรเกิดขึ้นกับบ้านเมือง แต่จะเริ่มเลยด้วยการพบปะกันในลักษณะ สันนิบาต คือ การประชุมร่วมกันเพื่อกำหนดแนวทางเคลื่อนไหว และยืนยันว่าเราไม่หยุด ตราบใดที่อันตรายยังปรากฏต่อบ้านเมือง เราพร้อมเสียสละเวลา ร่างกาย จิตใจเพื่อทำกิจกรรม ซึ่งตนย้ำว่าอาวุธทางปัญญาต้องติดต่อไป ไทยสปริงไม่หยุดเพียงเท่านี้ และวันหนึ่งต้องถึงเวลาออกกลางแจ้ง เพราะฝ่ายตรงข้ามบังคับ เหตุการณ์ที่จะเป็นกุญแจไขไปสู่การตัดสินใจออกกลางแจ้งคือการประชุมสภาที่กำลังจะเปิด เพราะมีเงื่อนไขแล้ว เหลือเงื่อนเวลา ซึ่งตนได้หารือกับนายสุริยะใสว่าการออกกลางแจ้งควรทำอย่างไร จึงต้องมีผู้แทนจากกลุ่มต่าง ๆ ที่มีความเห็นตรงกันว่าต้องต่อสู้กับระบอบทักษิณมาคุยกันว่าจะทำอย่างไร

นายแก้วสรร อติโพธิ อดีตกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) กล่าวว่า ตนขอให้ประชาชนจับตาเงินกู้ 2 ล้านล้านบาท และโครงการบริหารจัดการน้ำ ซึ่งมีความไม่โปร่งใสตั้งแต่การประมูล อีกทั้งยังมีการกำหนดเส้นทางระบายน้ำที่ผิดปกติด้วย โดยยกตัวอย่างน้ำท่วมในปี 2554 ว่าไม่มีการผันน้ำไปทางคลองด่าน จึงต้องถามว่าใครใหญ่อยู่ตรงนั้น ใช่พวกที่สุมหัวอยู่โฟร์ซีซั่นส์ หรือไม่ การเอานักการเมืองที่มีผลประโยชน์ไปบริหารประเทศเปลี่ยนได้แม้กระทั่งทางน้ำ โดยหลังจากโฟร์ซีซั่นส์ ความจริงก็เปิดเผย ส่วนการนิรโทษกรรมนั้น ต้องแยกคดีทุจริตคอร์รัปชันออกไป พ.ต.ท.ทักษิณ จะไม่สามารถเอาคนเสื้อแดงมาเป็นตัวประกันได้ แต่ความอุบาทว์คือ พยายามเอาการนิรโทษเสื้อแดงมาอยู่ในฉบับเดียวกับ คดีคอร์รัปชัน พอนาง พะเยาว์ อัคฮาด เสนอเฉพาะเรื่องม็อบไม่เอาคอร์รัปชันมาเกี่ยว ก็ไม่ยอม เพราะหลอกเสื้อแดงมาเป็นตัวประกัน ดังนั้นเดือนส.ค.นี้ ต้องชัดเจนว่าไม่เอาคดีทุจริต ส่วนคดีม็อบต้องมาดูเป็นเรื่องๆ ไป ถ้าเป็นชีวิตทรัพย์สินจะนิรโทษกรรมไม่ได้ ขัดหลักนิรโทษกรรม

นายแก้วสรร ยังกล่าวถึงการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนว่า เป็นเรื่องของการประสานงาน จะใส่เสื้อสีไหนมาชุมนุมก็ได้ ซึ่งตนเห็นว่าอาจมีกลุ่มผู้ประสานงานให้กับประชาชนที่จะรวมตัวกันได้มีพื้นที่แสดงตน โดยไม่ต้องมีพันธมิตรฯ ไม่มีประชาธิปัตย์ สลายสี ทุกคนมีจุดร่วมในการรับใช้ประชาชน ยืนอยู่ข้างประชาชน มาเป็นผู้ประสานงาน เพราะประชาชนก็ไม่ได้อยากให้มานำเท่าไร แต่ต้องมีการจัดการ ให้เขาปรากฏตัวอย่างสบายใจ สามัคคีกัน ดูแลอย่าให้มีคนมาทำร้าย บ้านเมืองไม่วุ่นวาย แต่จุดใหญ่คือ ต้องเปิดใจตัวเองก่อน เพราะประชาชนรออยู่แล้ว และถ้าชุมนุมโดยสงบเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ ไม่น่าจะมีปัญหา

“ความฉิบหายแบ่งไม่ได้ เจ็บกันหมดทุกกลุ่ม ประเทศเจ็บ ประชาชนเจ็บ ทำยังไง ลืมกลุ่ม ลืมสี เอาความเป็นประชาชนมาเป็นพลังร่วมกันให้ได้ จะฝ่าด่านอคติ เหม็นหน้ากัน เพื่อร่วมกันเป็นประชาชน ถ้ามีจิตใจแบบนี้ก็ต้องสื่อกับพี่น้องเสื้อแดง เพราะเป็นปัญหาประเทศ เสื้อก็แค่เสื้อ ถ้าได้สปิริตนี้ไม่จำเป็นต้องพันธมิตร คนไทยทั่วไปมีใจทั้งนั้น เสื้อแดงก็คิด แต่ใจดำที่มีอยู่แล้วจะแทงเข้าไปยังไง ตัวอย่างหน้ากากขาว คือคนไทยที่มีใจเดือด ออกมาไม่ต้องการเวที แต่ขาดแค่ผู้ประสานงาน”
สำหรับในส่วนของไทยสปริง จะยังใช้ช่องทางออนไลน์ต่อไป เพื่อเผยแพร่ความจริง โดยจะมีโครงการ 3 คือ จับตาระบอบทักษิณ เปิดโปงการปิดบังข้อมูลของรัฐบาลที่แหกตาประชาชน และอาจจะใช้การถ่ายทอดสดผ่านไลฟ์สตรีมทางอินเตอร์เน็ต โดยจะมีการลงพื้นที่เป็นไทยสปริงสัญจร เพื่อแกะรอยโครงการบริหารจัดการน้ำของรัฐบาล ซึ่งกลางสิงหาคมจะแถลงรายละเอียดที่สภาอีกครั้ง

ขณะที่นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานกลุ่มกรีน กล่าวว่า แม้จะมีความหวาดระแวงมาก แต่ยังเชื่อว่ามวลชนจะรวมตัวกันได้ โดยยกตัวอย่างจุดเริ่มต้นของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เพราะเห็นว่าสถานการณ์คล้ายกับปี 2548 แต่รอบนี้เราไม่คิดว่าจะเป็นแบบนั้น ความเดือดร้อนจะเป็นตัวทำลายป้อมค่าย ถ้าสลายแว่นให้มาอยู่ห้องเดียวกัน และหากเฟื่องฟูได้รัฐบาลก็คิดมากเพราะมาจากประชาชนจริงๆ ซึ่งอาจจะมีการประชุมกลุ่มใหญ่ในส่วนของชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนจากการบริหารงานของรัฐบาล เพื่อขยายไปถึงข้างล่าง ตนเชื่อว่าจะมีคนเข้ามาร่วมมาก อาจใช้สวนลุมพินี หรือสนามม้านางเลิ้ง น่าจะเปิดสภาประชาชนในยามที่บ้านเมืองวิกฤต ซึ่งอาจไม่ได้รับคำตอบในวันนั้น แต่ใช้เป็นจุดที่คลายความระแวง เชื่อว่าบารมีของ พล.ต.อ.วสิษฐ ว่าทำให้คนหวาดระแวงน้อยที่สุด น่าจะเป็นผู้ริเริ่มได้ เพื่อให้แต่ละกลุ่มได้มาคิดร่วมกัน โดยไทยสปริงเป็นเจ้าภาพเปิดประชุมฝ่ายต้านทักษิณทุกภาคส่วน ซึ่งตนยอมรับว่า มีความอึดอัดต่อระบอบทักษิณมาก แต่ระยะหลังก็อึดอัดพลังที่ไม่เอาทักษิณเหมือนกัน ว่าจะเดินกันอย่างไร ทั้งนี้ตนมีความหวังว่าเราต้องลงสู่กลางแจ้ง เพราะถึงเวลาที่เราจะไม่ปล่อยให้เดือนสิงหาคมเป็นเวทีฟอกระบอบนี้อีกต่อไป

**โพลหวั่นนิรโทษเดือดทั้งใน-นอกสภาฯ

“สวนดุสิตโพล”มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ เรื่อง“การเมืองไทย”ในช่วงเปิดสภาฯ ที่จะมีการเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรสมัยสามัญ ปี 56 ในวันที่ 1 ส.ค.นี้ และจากที่มีการนำ ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมให้กับผู้กระทำผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมืองและการแสดงออกทางการเมือง ขึ้นมาพิจารณา นั้น เพื่อเป็นการสะท้อนความคิดเห็นและเพื่อให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมทางการเมือง ซึ่งจากผลสำรวจ1,613 คน ระหว่างวันที่ 23-27 ก.ค. 56 สรุปผลดังนี้

เมื่อถามว่าสิ่งที่ประชาชนวิตกกังวล /กลัวว่าจะเกิดขึ้นในการเปิดประชุมสภาฯ ต้นเดือนส.ค.นี้ คือ อันดับ 1 ร้อยละ 46.75 มองว่าการโต้เถียง ทะเลาะเบาะแว้งที่รุนแรง ทั้งในสภาและนอกสภา อันดับ 2 ร้อยละ 40.94 มองว่าประชาชนออกมาชุมนุม ต่อต้านหรือมีการเคลื่อนไหวในพื้นที่ต่างๆ อันดับ 3 ร้อยละ 6.52 มองว่าการพูดพาดพิงบุคคลอื่น พูดนอกประเด็น จนกลายเป็นเรื่องใหญ่ อันดับ 4 ร้อยละ 3.62 มองว่าการวอล์คเอ๊าท์ หรือปิดประชุมก่อนเวลาที่กำหนด และอันดับ 5 ร้อยละ 2.17 มองว่าการทำหน้าที่ของประธานสภาฯ

ส่วนคำถามว่าประชาชนคิดอย่างไร กับการที่จะออกร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ให้กับผู้กระทำผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมืองและการแสดงออกทางการเมือง อันดับ 1 ร้อยละ 58.16 ระบุว่า ขอให้ผู้เข้าร่วมประชุมสภาฯ ทุกท่านยึดปฏิบัติในสิ่งที่ถูกต้อง เห็นแก่ส่วนรวมเป็นสำคัญ อันดับ 2 ร้อยละ 28.01 ระบุว่า เป็นเรื่องสำคัญที่ควรพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบและอยู่ในขอบเขตของกฎหมาย อันดับ 3 ร้อยละ 6.74 ระบุว่ารัฐบาลควรให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาเรื่องเศรษฐกิจ ความเป็นอยู่ของประชาชนก่อน อันดับ 4 ร้อยละ 3.90 ระบุว่าควรรับฟังกระแสสังคม /ผลที่ออกมาจะต้องเป็นไปตามประชามติ จากเสียงส่วนใหญ่ที่แท้จริง และอันดับ 5 ร้อยละ 3.19 ระบุว่าน่าจะชะลอเรื่องนี้ไว้ก่อน หรือรอเวลาที่เหมาะสมกว่านี้

ขณะที่คำถามว่า ถ้าจะออก“พ.ร.บ.นิรโทษกรรม” ประชาชนคิดว่าน่าจะออกแบบใด อันดับ 1 ร้อยละ 68.15 คิดว่า นิรโทษกรรมทุกคนทุกฝ่ายทั้งหมด โดยไม่ยกเว้นใคร อันดับ 2 ร้อยละ 16.78 คิดว่านิรโทษกรรมผู้กระทำผิดทางการเมืองยกเว้นแกนนำ อันดับ 3 ร้อยละ 15.07 คิดว่านิรโทษกรรมผู้กระทำผิดทางการเมืองยกเว้นเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน

ทั้งนี้สิ่งที่ประชาชนอยากฝากบอกกับผู้ที่เกี่ยวข้องต่างๆ ในช่วงเวลาของการเปิดประชุมสภาฯ ต้นเดือนส.ค.นี้ โดยสิ่งที่ประชาชนอยากฝากบอก “รัฐบาล”อันดับ 1 ร้อยละ 40.38 ระบุว่าการจัดลำดับความสำคัญของปัญหาบ้านเมืองที่มีอยู่ในขณะนี้ ว่าเรื่องใดควรทำก่อนหลัง อันดับ 2 ร้อยละ 37.50 ระบุว่า ขอให้รัฐบาลตั้งใจทำงานอย่างเต็มที่ ยึดมั่นในความซื่อสัตย์สุจริต เห็นแก่ส่วนรวมเป็นสำคัญ อันดับ 3 ร้อยละ 22.12 ระบุว่า ไม่ปิดบังข้อมูลข้อเท็จจริงต่างๆ กับประชาชน /ไม่ใช้อำนาจในทางที่ผิด ไม่เห็นแก่พวกพ้อง
ส่วนสิ่งที่ประชาชนอยากฝากบอก “ฝ่ายค้าน” อันดับ 1 ร้อยละ 45.83 ระบุว่า ขอให้เป็นฝ่ายค้านที่ดี ตั้งใจทำงานอย่างเต็มที่ ยึดมั่นในความถูกต้อง ยุติธรรม อันดับ 2 ร้อยละ 38.10 ระบุว่า การค้านเรื่องต่างๆควรมีเอกสาร หลักฐานยืนยัน ไม่ใช่เป็นเพียงการกล่าวหาลอยๆ อันดับ 3 ร้อยละ 16.07 ระบุว่า หยุดค้านทุกเรื่อง หยุดการตอบโต้หรือกล่าวหากัน

สำหรับสิ่งที่ประชาชนอยากฝากบอก “ผู้ชุมนุม”อันดับ 1 ร้อยละ 44.90 ระบุว่า ขอให้การชุมนุม เคลื่อนไหวต่างๆ อยู่ในความสงบ หลีกเลี่ยงการปะทะ หรือใช้ความรุนแรงต่อกัน อันดับ 2 ร้อยละ 38.27 ระบุว่า ขอให้ทุกคนเห็นแก่บ้านเมืองและส่วนรวมเป็นสำคัญ อันดับ 3 ร้อยละ 16.83 ระบุว่า ขอให้รับฟังข้อมูล ข่าวสารต่างๆ อย่างมีสติ มีเหตุและผล ไม่ฟังความข้างเดียว.
กำลังโหลดความคิดเห็น