หน.ปชป.แนะ รบ.เปิดสภาฯ เริ่มแถลงผลงานก่อน เรื่องเสี่ยงขัดแย้งแก้ รธน.ล้างผิด ควรพักไว้ หวั่น รบ.ใช้เสียง 2 ใน 3 ลักไก่ คาด พ.ร.บ.กู้ 2 ล้านล้าน แทรกล้างผิดฉบับ “วรชัย” รับเรื่องยากเลื่อนถก พ.ร.บ.งบฯ เร็วขึ้น จับตา รธน.ที่ค้างอยู่ในสภา แจงซ้ำหนุนนิรโทษฯ ฉบับแม่เกด เหตุไม่รวมคดีการเมือง บี้ถอนฉบับอื่นออก ยึดแต่ช่วย ปชช. ไม่ร่วมผิด 112 พวกเผาเมือง แนะคุยนอกรอบให้จบ ยันไม่ตกหลุมพราง
วันนี้ (22 ก.ค.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ในการเปิดประชุมสภาสมัยสามัญทั่วไปในวันที่ 1 สิงหาคมนี้ รัฐบาลควรแถลงผลงานครบรอบ 1 ปีก่อน ส่วนเรื่องที่จะเป็นปมความขัดแย้งมากๆ โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญมาตรา 68 ก็ดี เรื่องของกฎหมายนิรโทษกรรมก็ดีนั้นควรจะพักไว้ก่อน แล้วก็เอาเรื่องอื่นๆ อย่างเช่นเรื่องวิธีการจัดสรรนโยบายงบประมาณ มาว่ากันไปตามปกติ เพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้ง
“เมื่อเปิดสภามาจะตรงกับวันพฤหัสบดี ปกติต้องเป็นเรื่องการตั้งกระทู้ถามสด และกระทู้ทั่วไป จากนั้นในช่วงบ่ายจะเป็นการพิจารณาเรื่องอื่นๆ บางที่วิปเขาจะเสนอเปลี่ยนแปลงระเบียบวาระ ซึ่งอาจจะไม่ได้เปลี่ยนแปลงแล้วก็มีผลในการพิจารณาวันนั้นเลย เพราะว่าข้อบังคับของสภานั้นบอกว่า ถ้าเป็นเรื่องกฎหมายเลื่อนขึ้นแล้วให้พิจารณาในครั้งต่อไป คือ เขาไม่ต้องการให้กฎหมายซึ่งมันเป็นเรื่องที่สมาชิกต้องดูรายละเอียด ก่อนที่จะอภิปราย พิจารณากันนี่ อยู่ดีๆ หยิบขึ้นมาแล้วก็พิจารณากันเลย ถ้าหยิบขึ้นมาก็ต้องเปิดโอกาสให้สมาชิกกลับไปดู แล้วมาประชุมครั้งต่อไป ถึงจะเริ่มต้นได้ แต่ข้อบังคับนั้นก็มีข้อยกเว้นได้ คือ หากอยากจะทำจริงๆ หยิบกฎหมายขึ้นมาพิจารณาเลย ก็ต้องขอยกเว้นข้อบังคับ ซึ่งถ้าเขาขอยกเว้นข้อบังคับนี่ มติเสียง 2 ใน 3” นายอภิสิทธิ์กล่าว
นายอภิสิทธิ์กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตามหากเรียงตามวาระที่เรียงไว้แล้ว เรื่องที่มาอันดับแรกนั้นคือกฎหมายของนายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย ที่สภามีมติเลื่อนขึ้นมาเป็นอันดับแรกในปลายสมัยประชุมครั้งที่แล้ว แต่ปกติหากมีเรื่องที่คณะกรรมาธิการพิจารณาเสร็จแล้ว ก็จะบรรจุไว้ก่อน เพราะถือว่ากฎหมายจะได้เสร็จ และส่งต่อไปให้วุฒิสภาพิจารณา เพราะฉะนั้นกฎหมายที่คาดว่าจะมีรายงานของกรรมาธิการเสร็จ น่าจะเป็นร่าง พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท เพราะว่าได้ประชุมพิจารณาจนเสร็จ เรียบร้อยแล้ว ส่วนร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 2557 นั้นตามกำหนดการเดิมคือ จะพิจารณากันวันที่ 14-15 ส.ค.หากจะเลื่อนมาพิจารณาวันที่ 7-8 ส.ค.นก็ต้องเร่งการทำงานของกรรมาธิการ ซึ่งเป็นไปได้ยาก แต่ก็มีอีก 2 เรื่อง ที่ยังไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นคือว่า เรื่องรัฐธรรมนูญที่ค้างอยู่ แต่เป็นการประชุมร่วมของ 2 สภา ซึ่งไมได้กำหนดตายตัวว่าจะประชุมวันไหน แต่ปกติจะเลี่ยงไม่ให้ตรงกับวันประชุมสภา แต่ล่าสุดก็มีข่าวว่า วันที่ 6-7 ส.ค.จะมีการพิจารณาเรื่องของรัฐธรรมนูญ เรื่องของวุฒิสภา เพราะฉะนั้นเรื่องนี้ก็เป็นอีกประเด็นนึงที่อาจจะเข้ามาได้ในช่วงนี้
“จุดยืนของพรรคประชาธิปัตย์คิดว่าควรจะพิจารณาเรื่องผลงานก่อน เพราะค้างมานานแล้ว ส่วน เรื่องไหนที่จะเป็นปมความขัดแย้งมากๆ โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญมาตรา 68 เรื่องกฎหมายนิรโทษกรรม ควรจะพักไว้ก่อน แล้วเอาเรื่องอื่นๆ เช่น เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท แม้เราไม่เห็นด้วย แต่ว่าเป็นเรื่องนโยบายงบประมาณเป็นการทำหน้าที่รัฐบาลก็เอาเข้ามา ว่ากันไปตามปกติ มันน่าจะเป็นอย่างนั้นก่อนโดยหลัก ถ้าจะไม่อยากให้เกิดความขัดแย้งกัน” นายอภิสิทธิ์กล่าว
ส่วนร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับของภาคประชาชน ได้มีการชี้แจงกันค่อนข้างชัดว่าทำไมเราถึงให้ความสนใจกับฉบับของญาติผู้เสียชีวิต เพราะเราเห็นว่าเป็นวิธีเขียนกฎหมายที่มีความชัดเจนแน่นอนมากที่สุดในบรรดากฎหมายทุกฉบับ ก็คือไม่มาเหมารวมอ้างว่าเป็นคดีการเมือง หรือไม่การเมือง แต่จำแนกแจกแจงในแง่ของความผิด ว่าคนทำผิดประเภทไหนสมควรได้รับการนิรโทษกรรม
นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ตนยืนยันว่าขั้นตอนขณะนี้คือเราเรียกร้องว่า ฉบับอื่นต้องถอนออกมาให้หมดก่อน แล้วมาไล่เรียงตามฉบับนี้ว่าอะไรที่เราควรนิรโทษกรรม ไม่ควรนิรโทษกรรมต้องเขียนกฎหมายแบบนี้ ตัดเรื่องคดีทุจริตออกไปก่อน แล้วก็ตั้งต้นจากการที่พยายามจะช่วยเหลือประชาชนที่เขาไปแสดงออกทางการเมือง ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ในสถานการณ์ปกติ เพราะฉะนั้นการที่เขาจำแนกเอาไว้ว่า เช่น ผิด พ.ร.ก.นิรโทษกรรม ไปกระทำผิดต่อร่างกาย ชีวิต ใช้อาวุธ ไม่นิรโทษกรรมนั้นตนว่าเป็นหลักที่ดีมาก เราควรจะตั้งต้นจากตรงนี้ที่ยังไม่เห็นด้วยกับเขาก็คือ 1. คนอาจจะไปตีความให้มันรวมมาตรา 112 ตนเห็นคำให้สัมภาษณ์ของผู้เสนอ เขาบอกเขาก็ไม่ได้มีเจตนา ก็ไปเขียนให้ชัดนะครับว่า ผิดมาตรา 112 ไม่นิรโทษกรรมให้ส่วนที่ไว้เฉพาะเผาทรัพย์สินเอกชนนั้น ตนไม่เห็นด้วย ผมว่าการเผาทรัพย์สินราชการก็ต้องนิรโทษกรรมไม่ได้ ซึ่งเป็นประเด็นที่ต้องมาคุยกันเพื่อไม่ให้มีปัญหา ดีที่สุดคือมาคุยกันนอกรอบให้มันจบ แล้วเสนอร่วมกัน
“เพราะฉะนั้นยืนยันครับ ไม่มีตกหลุมพราง ไม่มีอะไรทั้งนั้น ตรงกันข้ามครับ การที่เราไม่ยอมรับเลย ในเรื่องของการนิรโทษกรรมนั้น มันจะทำให้ฝ่ายคุณทักษิณนั้นเอาประชาชนเป็นตัวประกันบังหน้าไม่จบไม่สิ้น นี่เป็นโอกาสดีที่สุดแล้วครับที่จะแยกให้เห็นว่า ระหว่างคนที่ตั้งใจจะช่วยประชาชนธรรมดา กับคนที่จะเอาผลประโยชน์ของตัวเองแล้วก็แอบอยู่ข้างหลังประชาชนนั้น เราจะเลือกอะไร และหากรัฐบาลยังดึงดันเอากฎหมายนิรโทษกรรมเข้าสภาเป็นวาระแรก แล้วเอากฎหมายอื่นๆ เข้าไปผสมด้วย เรายังคัดค้านเต็มที่” ผู้นำฝ่ายค้านกล่าว