xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ฟัดกันเละ จำอวดข้าวถุง กินตายได้ 20 ล้านบาท

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-จนถึงวันนี้ ความคลางแคลงใจในคุณภาพข้าวสารบรรจุถุงของประชาชนภายหลังจากมีการเปิดเผยผลตรวจสอบข้าวถุงปนเปื้อนสารพิษของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและมูลนิธิชีววิถี ยังไม่ได้ลดน้อยถอยลง กระทั่งล่าสุด “รัฐมนตรีแก๊งไอติม” นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์” รมว.สาธารณสุข ร้อนรนออกมากู้หน้า “โมฆะรัฐบาล” ทว่านอกจากจะไม่ช่วยเรียกความเชื่อมั่นกลับคืนมาแล้ว ยังสร้างความสับสนหนักขึ้นไปอีกโดยอ้างว่าสารเมทิลโบรไมด์ ที่พบปนเปื้อนข้าวถุงนั้นมีประโยชน์ต่อสุขภาพ และที่หนักกว่านั้นก็คือ จำอวดกินข้าวถุงตายได้ 20 ล้าน ของสมาคมผู้ประกอบการข้าวถุง ไอเดียที่ก็อปปี้จากยุค “รัฐบาลแม้ว” กินไก่กินไข่ตายได้ 3 ล้านเมื่อปี 2547 ช่วงไข้หวัดนกระบาด

เวลานี้ จึงไม่รู้ว่าใคร ประชาชนหรือรมว.กระทรวงสาธารณสุข กันแน่ที่สับสน เพราะจู่ๆ นพ.ประดิษฐ์ ก็ออกมาบอกว่า รายงานผลตรวจข้าวเป็นขั้นตอนตามมาตรฐานสากล ไม่ใช่สิ่งบ่งบอกถึงอันตรายของข้าว คำถามคือ การกำหนดปริมาณของสารที่ใช้สำหรับรมควันข้าวคือเมทิลโบรไมด์ไม่ให้เกินค่ามาตรฐานอาหารระหว่างประเทศ (CODEX) จะมีเอาไว้ทำไม ถ้าไม่ใช่เพื่อบอกว่าหากสารเคมีนั้นๆ ปนเปื้อนเกินที่กำหนดคือความเสี่ยงอันตรายต่อสุขภาพ

“ผลกระทบของสารเมทิลโบรไมด์ต่อสุขภาพนั้น องค์การอนามัยโลกยังไม่มีรายงานชัดเจนว่าทำให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ เช่น มะเร็ง แต่บางรายงานขององค์การอนามัยโลก ยังพบว่า เมทิลโบรไมด์ในปริมาณที่พอเหมาะจะเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพด้วย เช่น ช่วยแก้ปัญหานอนไม่หลับ” นพ.ประดิษฐ การันตี แต่จะมีใครเชื่อลมปากของรัฐมนตรีสาธารณสุขคนนี้ หรือไม่ ยังน่าสงสัย

ในขณะที่รัฐมนตรีแก๊งไอติม พยายามอย่างเต็มที่ที่จะกลบเกลื่อนเรื่องนี้ ทาง นพ.บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการองค์การอาหารและยา (อย.) ก็รีบออกมาแสดงบทบาทเป็นขุนพลอยพยักไปกับนายด้วย โดยยืนยันว่า ผู้บริโภคข้าวไม่จำเป็นต้องกังวล เพราะการรับประทานข้าวที่หุงสุก ปริมาณของโบรไมด์ไอออนจะลดลง ที่สำคัญยังไม่มีหลักฐานทางวิชาการที่กล่าวถึงว่าโบรไมด์ไอออนมีอันตรายต่อสุขภาพ

เช่นเดียวกับ นพ.นิพนธ์ โพธิ์พัฒนชัย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ที่บอกว่า สารเมทิลโบรไมด์ CODEX กำหนดค่ามาตรฐานไว้ไม่เกิน 5 ppm ส่วนโบรไมด์ไอออนกำหนดไว้ไม่เกิน 50 ppm ซึ่งโบรไมด์ไอออนนั้นไม่ได้พบแค่การรมควันข้าวเท่านั้น สามารถตรวจพบได้ในดิน น้ำ และสภาพแวดล้อมทั่วไป ดังนั้น หากไม่มีการรมควันก็พบ ได้

ส่วนความเป็นพิษของโบรไมด์ไอออน นพ.นิพนธ์ อ้างว่า ตามเอกสารวิชาการขององค์การอนามัยโลก เกี่ยวกับข้อแนะนำคุณภาพน้ำดื่ม ระบุว่า โบรไมด์ไอออนไม่ถือว่าเป็น ปัญหาต่อทางโภชนาการ และยังมีการตั้งข้อสังเกตว่าโบรไมด์ไอออนเป็นแร่ธาตุสำคัญที่ร่างกายมนุษย์ต้องการ อย่างภาวะการนอนไม่หลับในผู้ป่วยที่ทำการฟอกเลือด อาจมีส่วนสัมพันธ์กับการขาดโบรไมด์ไอออน ซึ่งองค์การอนามัยโลกกำหนดให้แต่ละวันร่างกายควรได้รับไม่เกิน 1 ppm แต่การรับประทานข้าวสารหุงสุกในแต่ละวัน ยกตัวอย่าง บริโภควันละ 3 ขีดหรือ 300 กรัม หากข้าวมีโบรไมด์ไอออนอยู่ที่ 50 ppm เราก็จะได้รับโบรไมด์ไอออนอยู่ที่ 0.3 ppm ต่อวันเท่านั้น หรือแค่ 30% จากค่าที่กำหนด ก็ยังไม่เกินที่องค์การอนามัยโลกกำหนดอยู่ดี

ประสานเสียงกันไม่มีพิษภัย แถมดีมีประโยชน์ต่อร่างกายอีกด้วย ถ้าอย่างนั้นกระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานข้างต้น ควรออกคำแนะนำให้ประชาชนได้มีโอกาสรับประทานสารเคมีดังกล่าวเพื่อให้มีสุขภาพที่ดีทุกวัน เป็นการดำเนินการที่สอดคล้องไปด้วยกัน แต่สิ่งที่นพ.บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการ อย. กลับกระทำในทางตรงกันข้าม โดยเลขาธิการ อ.ย. ได้บอกว่าการดำเนินการเรื่องข้าวสารถุงยี่ห้อโค-โค่ ที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และ อย.ตรวจพบโบรไมด์ไอออนเกินค่ามาตรฐานอาหารระหว่างประเทศ (CODEX) นั้น อย.ได้ขอให้บริษัท สยามเกรนส์ จำกัด ผู้ผลิตข้าวสารถุงยี่ห้อโค-โค่ เรียกคืนสินค้าล็อตดังกล่าวออกจากชั้นวางในท้องตลาดแล้ว

อย่างไรก็ตาม คงเป็นเพราะว่าทางผู้ประกอบการเจ้าของข้าวโค-โค่ ได้ไปศึกษาข้อมูลผลกระทบต่อสุขภาพแล้วได้ข้อสรุปว่า ไม่มีปัญหาแถมดีมีประโยชน์อย่างที่รัฐมนตรีแก๊งไอติมกับอย.และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ออกมาการันตีข้างต้น ผลของการเก็บข้าวถุงโค-โค่ ออกจากตลาดที่บริษัทดังกล่าว ได้แจ้งต่อ อย.จึงออกมาว่า ข้าวสารถุงล็อตที่ผลิตเมื่อวันที่ 11 เม.ย. 2556 สามารถเรียกเก็บได้คืน 29 ถุง จากจำนวนทั้งหมด 3,000 ถุง ส่วนล็อตที่ผลิตเมื่อเดือน มิ.ย. 2556 อีก 3,000 ถุงนั้น ไม่พบสินค้าในแหล่งจำหน่าย ซึ่งคาดว่าน่าจะจำหน่ายสินค้าหมดแล้ว

“ผู้ประกอบการรายนี้ให้ความร่วมมือดี มีการเรียกคืนสินค้าอื่นที่เป็นยี่ห้อโค-โค่ทั้งหมด ทั้งข้าวหอมมะลิ ข้าวหอมคัดพิเศษ และข้าวขาวพิมพา โดยแจ้งมายัง อย.ว่า จะทำการแกะข้าวสารถุงทั้งหมดเพื่อระบายสารรมออก และจะมีการตรวจซ้ำว่ายังมีสารตกค้างอยู่หรือไม่ แล้วจึงจะแจ้งผลให้ อย.ทราบ เพื่อรับคำแนะนำจาก อย.ว่าควรจะดำเนินการอย่างไรต่อไป ทั้งนี้ หากตรวจแล้วพบว่ายังคงมีสารตกค้างสูงก็ต้องทำลายข้าวที่มีปัญหาทั้งหมด ส่วนมาตรการต่อไปจะย้ำให้ผู้ประกอบการเลิกรมข้าวหลังบรรจุถุงแล้ว และ อย.จะมีการตรวจสอบเป็นระยะๆ จนมั่นใจว่าไม่มีโบรไมด์ไอออนเกิน 50 ppm” เลขาธิการ อย.กล่าว และยืนยันว่า ผู้บริโภคข้าวไม่จำเป็นต้องกังวล เพราะยังไม่มีหลักฐานทางวิชาการที่กล่าวถึงว่าโบรไมด์ไอออนมีอันตรายต่อสุขภาพ

น่าสงสัยและสับสนอย่างยิ่งว่า ถ้าสารดังกล่าวไม่มีอันตรายต่อสุขภาพจริง ถ้าดีจริงอย่างว่า ถ้าตรวจพบอีกจะไปทำลายข้าวของบริษัทเอกชนเขาทิ้งทำไม ทำไมรัฐมนตรีประดิษฐ และคุณหมอเลขาธิการอย. รวมทั้งคุณหมออธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ไม่ซื้อเก็บไว้รับประทานเอง หรือจำหน่ายจ่ายแจกให้ญาติพี่น้อง ได้รับประทานข้าวรมสารเคมีที่มีประโยชน์ต่อร่างกายนั้นเสียเองเล่า

แล้วต้องถามต่อด้วยว่า ทำไม อย.ต้องเร่งเสนอการกำหนดสารพิษตกค้างสูงสุดในข้าวให้รีบออกมาประกาศใช้โดยเร็วที่สุด ดังที่นพ.บุญชัย บอกว่า สำหรับการกำหนดสารพิษตกค้างสูงสุดในข้าว (Maximum Residue Limit : MRL) ในประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง อาหารที่มีสารพิษตกค้าง (ฉบับที่ 2) ตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการอาหารแล้ว โดยกำหนดให้สารไฮโดรเจนฟอสไฟด์ มีปริมาณสารพิษตกค้างสูงสุด ไม่เกิน 0.1 ppm สารเมทิลโบรไมด์ ไม่เกิน 0.01 ppm โบรไมด์ ไอออน ไม่เกิน 50 ppm และสารซัลฟูริลฟลูออไรด์ ไม่เกิน 0.1 ppm ซึ่งสอดคล้องกับมาตรฐานสากลนั้น จะเร่งเสนอ รมว.สาธารณสุข ลงนามภายในสัปดาห์นี้ เพื่อประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา

หลังจากนี้ หากข้าวสารถุงใดที่มีปัญหาสารตกค้างเกินที่กำหนด อย.จะสามารถดำเนินคดีได้ง่ายขึ้น หากใครฝ่าฝืน ระวางโทษฐานความผิดกรณีอาหารผิดมาตรฐาน มีโทษปรับ 5 หมื่นบาท ฐานอาหารไม่บริสุทธิ์มีโทษจำคุก 2 ปี ปรับ 20,000 บาท เพราะที่ผ่านมามีการใช้เพียงมาตรฐานสากล ซึ่งไม่ใช่ประกาศที่เป็นกฎหมายภายในประเทศจึงดำเนินการลำบาก

อุตส่าห์รับประกันเป็นของดีมีประโยชน์ แม้กระทั่งข้าวสารถุงโค-โค่ ที่ปนเปื้อนสารดังกล่าวเกินมาตรฐานที่ขายกันไป กินกันไป ก็ไม่ต้องกังวลว่าจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพ แล้วทำไมกระทรวงสาธารณสุข ต้องมาออกประกาศคุ้มเข้ม จับปรับกันด้วยเล่า? พูดอะไร ทำอะไรขัดแย้งกันเองแบบนี้ไม่ห่วงว่าประชาชนจะสับสนหรืออย่างไร

แล้วที่สำคัญ กระทรวงสาธารณสุข จะผลาญงบประมาณรณรงค์ให้ประชาชนกินข้าวกินปลากินผัก ผลไม้ ปลอดสารพิษ หรือให้ล้างแล้วล้างอีกเพื่อชะล้างสารพิษออกไปให้ได้มากที่สุดทำไม หรือจะต้องให้ประชาชนคนไทยเจออย่างอินเดียที่มีนักเรียนกินข้าวตาย เพราะข้าวมีสารเคมีที่ใช้รักษาข้าวให้อยู่ได้นานยิ่งขึ้นเกินค่ามาตรฐานเสียก่อน

อาจเป็นเพราะมีข่าวกินข้าวตายที่อินเดียก็เป็นไปได้ สมาคมผู้ประกอบการข้าวถุงไทย ถึงไอเดียกระฉูด ออกมาประกาศจ่ายทันที 20 ล้าน หากคนไทยกินข้าวแล้วตายเพราะสารเมทิลโปรไมด์ เป็นจำอวดที่หวังแสดงเรียกศรัทธาเชื่อมั่นในข้าวถุงคืนมา หลังจากอ้ำๆ อึ้งๆ หลบเลี่ยงไม่กล้าเผชิญหน้ากับกองทัพสื่อ และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ที่ออกมาแถลงผลการตรวจสอบข้าวถุงเมื่อสัปดาห์ก่อนหน้า ซึ่งจะว่าไปแล้ว การประกาศจ่ายทันทีที่กินแล้วตายนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นมุกเก่าๆ ที่ใช้หากินมาตั้งแต่สมัยรัฐบาลทักษิณ 1 ช่วงที่ไข้หวัดนกระบาด ครั้งนั้น พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี โชว์เต็มที่ว่ากินไก่ กินไข่ ตายจ่ายทันที 3 ล้าน แต่พอมีคนตายจริง ไปทวงจริง ก็ไม่ให้

ภายใต้แคมเปญกินตายจ่ายทันที ตามโครงการตรวจสอบและยกระดับความเชื่อมั่นให้แก่การบริโภคข้าวสารบรรจุถุงไทย นายสมเกียรติ มรรคยาธร นายกสมาคมผู้ประกอบการข้าวถุงไทย ร่วมกับสมาชิก 128 บริษัทที่มีตราสินค้าข้าวบรรจุถุงกว่า 800 ตราสินค้า บอกว่า ทางสมาคมฯ จะนำตัวอย่างข้าวสารทุกบริษัทไปตรวจสอบที่ห้องปฏิบัติการตามหลักสากล โดยจะออกค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบทั้งหมด เริ่มตรวจสอบครั้งแรกวันที่ 1 สิงหาคม 2556 นี้เป็นต้นไป จนครบ 1 ปี โดยจะตรวจสอบทุกระยะ 3 เดือน จากนั้นจะประเมินผลโครงการดังกล่าวต่อไป พร้อมกันนี้ยังจะประชาสัมพันธ์ให้ผู้บริโภคเข้าใจผ่านเว็บไซต์ของสมาคมฯ ด้วย

“เพื่อเป็นการเรียกความเชื่อมั่นของผู้บริโภคกลับมา สมาคมฯ พร้อมชดเชยเงินค่าเสียหายในกรณีบริโภคข้าวสารบรรจุถุงที่เป็นของสมาชิกสมาคมและเสียชีวิตจากสารเมทิลโบรไมด์ในวงเงิน 20 ล้านบาททันที โดยเชื่อว่ามาตรการนี้จะสามารถเรียกความเชื่อมั่นของผู้บริโภคได้แน่นอน” นายสมเกียรติ กล่าว

ต้องรอดูกันต่อไปว่า จำอวดกินข้าวตายจ่ายทันที กับสารเคมีเมทิลโบรไมด์ ดี มีประโยชน์ต่อสุขภาพ จะช่วยเรียกความเชื่อมั่นหรือช่วยซ้ำเติม สร้างความสับสน หมดสิ้นศรัทธาหมดความน่าเชื่อถือต่อรัฐบาลยิ่งลักษณ์ที่ล้มเหลวในทุกภารกิจ เพราะแม้แต่ราคารับจำนำข้าวที่ป่าวประกาศยืนราคาตันละ 1.5 หมื่นบาท สุดท้ายฤดูกาลผลิต 56/57 นี้ ก็กลืนน้ำลายตัวเองหักดิบชาวนาเคาะที่ตันละ 1.2 หมื่นล้านบาทเท่านั้น ไม่นับว่าการทุจริตคอร์รับชั่นในโครงการนี้ที่ยังไม่ได้แก้ไขให้อะไรดีขึ้นเพราะเจอพวกเดียวกันเองทั้งนั้น


กำลังโหลดความคิดเห็น