xs
xsm
sm
md
lg

อึ้ง! เรียกคืนข้าวโค-โค่ ได้ 29 ถุง จาก 6 พันถุง สธ.ตอกกลับ NGO ลวงโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อึ้ง! เรียกเก็บข้าวถุง “โค-โค่” คืนได้แค่ 29 ถุง จากทั้งหมด 6,000 ถุง คาดจำหน่ายหมดแล้ว ด้าน อย.ยันโบรไมด์ไอออนไม่มีหลักฐานว่าอันตรายต่อสุขภาพ แต่หากตรวจข้าวโค-โค่ ซ้ำยังพบเกินค่ามาตรฐาน สั่งให้ทำลายทันที ส่วนอธิบดีกรมวิทย์ ตอกกลับเอ็นจีโอลวงข้อมูล งัดเอกสารยันจีนไม่กำหนดค่าโบรไมด์ไอออน ที่ 5 ppm ชี้ WHO ระบุอาจเป็นแร่ธาตุที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย
แฟ้มภาพ
วันนี้ (24 ก.ค.) เมื่อเวลา 11.30 น.ที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) นพ.บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการ อย. กล่าวถึงความคืบหน้าการดำเนินการเรื่องข้าวสารถุงยี่ห้อโค-โค่ ที่พบโบรไมด์ไอออน เกินค่ามาตรฐานอาหารระหว่างประเทศ (CODEX) ที่องค์การอนามัยโลกกำหนดที่ 50 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม (ppm) ว่า ข้าวสารถุงยี่ห้อโค-โค่ ซึ่งมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และ อย.ตรวจพบโบรไมด์ไอออนเกินค่ามาตรฐานนั้น อย.ได้ขอให้บริษัท สยามเกรนส์ จำกัด ผู้ผลิตข้าวสารถุงยี่ห้อโค-โค่ เรียกคืนสินค้าล็อตดังกล่าวออกจากชั้นวางในตลาดแล้ว ซึ่งผู้ประกอบการรายดังกล่าวได้แจ้งกลับมายัง อย.ว่า ข้าวสารถุงล็อตที่ผลิตเมื่อวันที่ 11 เม.ย. 2556 สามารถเรียกเก็บได้คืน 29 ถุง จากจำนวนทั้งหมด 3,000 ถุง ส่วนล็อตที่ผลิตเมื่อเดือน มิ.ย. 2556 อีก 3,000 ถุงนั้น ไม่พบสินค้าในแหล่งจำหน่าย ซึ่งคาดว่าน่าจะจำหน่ายสินค้าหมดแล้ว จึงได้เร่งให้ทางผู้ประกอบการตรวจสอบเรื่องนี้ อย่างไรก็ตาม หากผู้บริโภคที่ซื้อข้าวสารถุงยี่ห้อดังกล่าว หากไม่มั่นใจก็สามารถส่งคืนผู้ประกอบการได้ แต่ อย.ขอยืนยันว่า ผู้บริโภคข้าวไม่จำเป็นต้องกังวล เพราะการรับประทานข้าวที่หุงสุก ปริมาณของโบรไมด์ไอออนจะลดลง ที่สำคัญยังไม่มีหลักฐานทางวิชาการที่กล่าวถึงว่าโบรไมด์ไอออนมีอันตรายต่อสุขภาพ

“ผู้ประกอบการรายนี้ให้ความร่วมมือดี มีการเรียกคืนสินค้าอื่นที่เป็นยี่ห้อโค-โค่ทั้งหมด ทั้งข้าวหอมมะลิ ข้าวหอมคัดพิเศษ และข้าวขาวพิมพา โดยแจ้งมายัง อย.ว่า จะทำการแกะข้าวสารถุงทั้งหมดเพื่อระบายสารรมออก และจะมีการตรวจซ้ำว่ายังมีสารตกค้างอยู่หรือไม่ แล้วจึงจะแจ้งผลให้ อย.ทราบ เพื่อรับคำแนะนำจาก อย.ว่าควรจะดำเนินการอย่างไรต่อไป ทั้งนี้ หากตรวจแล้วพบว่ายังคงมีสารตกค้างสูงก็ต้องทำลายข้าวที่มีปัญหาทั้งหมด ส่วนมาตรการต่อไปจะย้ำให้ผู้ประกอบการเลิกรมข้าวหลังบรรจุถุงแล้ว และ อย.จะมีการตรวจสอบเป็นระยะๆ จนมั่นใจว่าไม่มีโบรไมด์ไอออนเกิน 50 ppm” เลขาธิการ อย.กล่าว

นพ.บุญชัย กล่าวอีกว่า สำหรับการกำหนดสารพิษตกค้างสูงสุดในข้าว (Maximum Residue Limit : MRL) ในประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง อาหารที่มีสารพิษตกค้าง (ฉบับที่ 2) ตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการอาหารแล้ว โดยกำหนดให้สารไฮโดรเจนฟอสไฟด์ มีปริมาณสารพิษตกค้างสูงสุด ไม่เกิน 0.1 ppm สารเมทิลโบรไมด์ ไม่เกิน 0.01 ppm โบรไมด์ ไอออน ไม่เกิน 50 ppm และสารซัลฟูริลฟลูออไรด์ ไม่เกิน 0.1 ppm ซึ่งสอดคล้องกับมาตรฐานสากลนั้น จะเร่งเสนอ รมว.สาธารณสุข ลงนามภายในสัปดาห์นี้ เพื่อประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา หากข้าวสารถุงใดที่มีปัญหาสารตกค้างเกินที่กำหนด อย.จะสามารถดำเนินคดีได้ง่ายขึ้น หากใครฝ่าฝืน ระวางโทษฐานความผิดกรณีอาหารผิดมาตรฐาน มีโทษปรับ 5 หมื่นบาท ฐานอาหารไม่บริสุทธิ์มีโทษจำคุก 2 ปี ปรับ 20,000 บาท เพราะที่ผ่านมามีการใช้เพียงมาตรฐานสากล ซึ่งไม่ใช่ประกาศที่เป็นกฎหมายภายในประเทศ จึงดำเนินการลำบาก

นพ.บุญชัย กล่าวด้วยว่า แนวทางการตรวจตัวอย่างข้าวนั้น ขณะนี้มีการทำงานร่วมกันระหว่างกระทรวงพาณิชย์ (พณ.) มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค สมาคมผู้ประกอบการข้าวถุงไทย และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) ในการเก็บตัวอย่างข้าวถุงร่วมกัน ซึ่ง อย.พร้อมที่จะเข้าไปร่วมเก็บตัวอย่างตามแผนที่ทั้งสองกระทรวงเสนอ ซึ่งวันนี้ก็ได้มีการลงไปเก็บตัวอย่างข้าวสารถุงที่ จ.นนทบุรี ทั้งนี้ หากได้ผลตรวจตัวอย่างข้าวแล้วก็จะมีการแจ้งให้ทราบต่อไป ซึ่งประชาชนสามารถเข้ามาติดตามผลการตรวจตัวอย่างข้าวถุงได้ในเว็บไซต์ของ อย.

ผู้สื่อข่าวถามถึงผลการตรวจซ้ำตัวอย่างข้าวถุงยี่ห้อโค-โค่ จากแหล่งผลิต และข้าวสารถุงอีก 3 ยี่ห้อที่ผู้ประกอบการรายดังกล่าวเป็นผู้ผลิต นพ.บุญชัย กล่าวว่า ผลเบื้องต้นคือไม่เกิน 50 ppm แต่ขอให้รอทางห้องปฏิบัติการแจ้งผลการตรวจอย่างเป็นทางการอีกครั้ง จึงจะแถลงให้ทราบอย่างเป็นทางการ

ด้าน นพ.นิพนธ์ โพธิ์พัฒนชัย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า การที่ออกมาระบุว่าการกำหนดค่ามาตรฐานโบรไมด์ไอออน ไม่เกิน 50 ppm กระทบต่อการส่งออกข้าวไปยังประเทศจีนที่มีการกำหนดห้ามมีโบรไมด์ไอออนตกค้างเกิน 5 ppm นั้น ข้อเท็จจริงแล้วตามมาตรฐานแห่งชาติ สาธารณรัฐประชาชนจีน เรื่อง ความปลอดภัยของอาหารปริมาณสารพิษตกค้างสูงสุดของวัตถุอันตรายทางการเกษตรในอาหาร ไม่มีการกำหนดค่ามาตรฐานข้าวสารธรรมดา ดังนั้น จึงใช้ตามมาตรฐาน CODEX เช่นกันคือไม่เกิน 50 ppm

นพ.นิพนธ์ กล่าวอีกว่า สำหรับสารเมทิลโบรไมด์ CODEX กำหนดค่ามาตรฐานไว้ไม่เกิน 5 ppm ส่วนโบรไมด์ไอออนกำหนดไว้ไม่เกิน 50 ppm ซึ่งโบรไมด์ไอออนนั้นไม่ได้พบแค่การรมควันข้าวเท่านั้น สามารถตรวจพบได้ในดิน น้ำ และสภาพแวดล้อมทั่วไป ดังนั้น หากไม่มีการรมควันก็พบได้ ส่วนความเป็นพิษของโบรไมด์ไอออน ตามเอกสารวิชาการขององค์การอนามัยโลก เกี่ยวกับข้อแนะนำคุณภาพน้ำดื่ม ระบุว่า โบรไมด์ไอออนไม่ถือว่าเป็นปัญหาต่อทางโภชนาการ และยังมีการตั้งขอสังเกตว่าโบรไมด์ไอออนเป็นแร่ธาตุสำคัญที่ร่างกายมนุษย์ต้องการ อย่างภาวะการนอนไม่หลับในผู้ป่วยที่ทำการฟอกเลือด อาจมีส่วนสัมพันธ์กับการขาดโบรไมด์ไอออน ซึ่งองค์การอนามัยโลกกำหนดให้แต่ละวันร่างกายควรได้รับไม่เกิน 1 ppm แต่การรับประทานข้าวสารหุงสุกในแต่ละวัน ยกตัวอย่าง บริโภควันละ 3 ขีดหรือ 300 กรัม หากข้าวมีโบรไมด์ไอออนอยู่ที่ 50 ppm เราก็จะได้รับโบรไมด์ไอออนอยู่ที่ 0.3 ppm ต่อวันเท่านั้น หรือแค่ 30% จากค่าที่กำหนด ก็ยังไม่เกินที่องค์การอนามัยโลกกำหนดอยู่ดี

วันเดียวกัน นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สาธารณสุข กล่าวว่า ประชาชนอาจสับสนในข้อมูลคือ 1.การตรวจพบโบรไมด์ไอออนตกค้างในข้าว 2.โบรไมด์ไอออนปนเข้าไปอยู่ในโมเลกุลของข้าว และ 3.โบรไมด์ไอออนอาจจะทำให้เกิดความเป็นพิษได้ ทั้งนี้ ตนขอยืนยันว่า รายงานผลตรวจข้าวเป็นขั้นตอนการตรวจตามมาตรฐานสากล ไม่ใช่สิ่งบ่งบอกถึงอันตรายของข้าว โดยการตรวจหาสารเมทิลโบรไมด์มี 2 วิธี คือ การตรวจหลังรมควันภายใน 24 ชั่วโมง ปริมาณมาตรฐานตามที่ CODEX กำหนดต้องไม่เกิน 5 ppm และภายหลังรมควันเกิน 24 ชั่วโมง จะใช้วิธีการตรวจหาโบรไมด์ไอออน ซึ่งกำหนดต้องไม่เกิน 50 ppm ฉะนั้น การรายงานผลการตรวจจึงต้องระบุเวลาการเก็บตัวอย่างให้ชัดเจนด้วย เพื่อให้เกิดความเข้าใจตรงกัน

นพ.ประดิษฐ กล่าวอีกว่า การตกค้างของโบรไมด์ไอออน อาจเกิดจากกระบวนการรมข้าว และมาจากการดูดซึมสารนี้จากแร่ธาตุในดิน ซึ่งสามารถพบได้ในพืชอื่นเช่นกัน ซึ่งแต่ละชนิดก็มีการกำหนดค่ามาตรฐานเอาไว้แตกต่างกัน สำหรับผลกระทบของสารเมทิลโบรไมด์ต่อสุขภาพนั้น องค์การอนามัยโลกยังไม่มีรายงานชัดเจนว่าทำให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ เช่น มะเร็ง แต่บางรายงานขององค์การอนามัยโลกยังพบว่า เมทิลโบรไมด์ในปริมาณที่พอเหมาะจะเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพด้วย เช่น ช่วยแก้ปัญหานอนไม่หลับ หรือโรคอินซอมเนีย (Insomnia)

“ขอให้ประชาชนเข้าใจผลการตรวจสอบและกระบวนการเก็บตัวอย่างว่าเป็นไปตามขั้นตอน ผลการตรวจแม้จะพบโบรไมด์ไอออนก็ตาม แต่ค่าที่พบไม่เกินค่ามาตรฐานและข้อสรุปผลการตรวจที่ผ่านมา ทั้งของรัฐและเอกชนได้ผลตรงกันคือ ไม่พบสารตกค้างอื่น และขอย้ำจุดยืนรัฐบาลจะให้ความสำคัญกับสุขภาพของประชาชนผู้บริโภคเป็นอันดับแรก ถึงแม้ว่าประเทศจะมีรายได้จากการขายข้าวเป็นรายได้ของชาวนา และความทุกข์ของชาวนาก็เป็นความทุกข์ของแผ่นดินก็ตาม” รมว.สาธารณสุข กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น